Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท -  13 พ.ย.2549 ศูนย์ข่าวประชาสังคมจ.อุบลราชธานีรายงานถึงการจัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ของโรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์)


 


นายโกวิท บุญเฉลียว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคูเมือง ให้รายละเอียดว่า การจัดรูปแบบการเรียนการสอนจะแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 นักเรียนที่มีผลการเรียนค่อนข้างดี กลุ่มที่ 2 นักเรียนที่มีผลการเรียนปานกลาง และกลุ่มที่ 3 นักเรียนที่มีผลการเรียนอ่อน เพื่อเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายให้สามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วตามความถนัดของแต่ละบุคคล แต่จะยังไม่รวมระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เนื่องจากเป็นนักเรียนที่เพิ่งจะได้รับการเลื่อนชั้น และไม่สามารถที่จะแยกได้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสมองค่อนข้างที่จะเร็ว


 


เขากล่าวเสริมว่า การแยกนักเรียนออกเป็นกลุ่มตามความถนัดนั้น จะมีการสอบวัดระดับความรู้ การสอบถามความสมัครใจของนักเรียนว่ามีความพร้อมที่จะอยู่ในกลุ่มใด ความเห็นของผู้ปกครอง ส่วนรูปแบบการเรียนการสอน คือ นักเรียนที่มีระดับผลการเรียนที่ค่อนข้างดีจะเน้นในเรื่องวิชาการ มีการเสริมในรายวิชาที่นักเรียนให้ความสนใจ ส่วนนักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับปานกลาง จะเน้นในเรื่องกิจกรรม โดยยึดวิชาฐานการเรียนรู้ทั้ง 8 วิชา ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก และสำหรับกลุ่มที่มีผลการเรียนค่อนข้างที่จะอ่อน จะเน้นการเรียนการสอน 2 วิชาหลัก คือ วิชาภาษาไทย เนื่องจากเป็นทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเป็นฐานของความคิด นอกจากนั้นจะเน้นเรื่องของการประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ อาทิ การจักสาน การเย็บปักถักร้อย


 


"การจัดการเรียนการสอนแบบแบ่งกลุ่มนี้เราได้เริ่มมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 ซึ่งปีนี้ถือเป็นปี ที่ 2 ส่วนผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ"ผอ.กล่าวและว่าขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่สนใจจะนำรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนคูเมืองไปบูรณาการใช้กับโรงเรียนของตนเอง


 


เด็กหญิงจิราภรณ์ แก้ววงษา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 กล่าวว่า การเรียนแบบแบ่งกลุ่มเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจาก นักเรียนกล้าแสดงออก มีความสุขกับการเรียนในสิ่งที่ตนถนัด ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าตนไม่ด้อยกว่าเพื่อนในห้อง และไม่เกิดความรู้สึกเบื่อและไม่อยากที่จะเรียนส่วนผู้ปกครองก็เห็นด้วยกับการเรียนการสอนแบบนี้


           


"เพื่อน ๆ ทุกคน ก็รู้ไม่รู้สึกว่าน้อยใจ ที่ไม่สามารถทำได้เหมือนคนอื่น ตั้งใจเรียนมากขึ้น เพราะเขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ในห้อง เหมือนในอดีตที่มีการเรียนรวมกัน"เด็กหญิงจิราภรณ์กล่าว


 


นางพรทิพย์ มายุศิริ อาจารย์ประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 ให้ความเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนแบบแบ่งกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ดี ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น และเป็นการ พัฒนานักเรียนอย่างเต็มศักยภาพ โดยครูจะเป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำ และสังเกตพัฒนาการของนักเรียนไปในตัว ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นทั้งครูและนักเรียนไปพร้อมกัน ที่สำคัญครูผู้สอนจะต้องเอาใจใส่กับนักเรียนของตนอย่างดีที่สุด


 


"จากที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้รู้สึกว่าเด็กมีความสุขกับการเรียนมากยิ่งขึ้น นักเรียนสามารถแสดงออกได้เต็มที่กว่าการเรียนรวมในสมัยก่อน "อาจารย์ระบุ


 


ทั้งนี้ ผอ.โรงเรียนบ้านคูเมืองระบุด้วยว่า ทางโรงเรียนร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รวมทั้งผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง จึงได้จัดทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กที่มีความสนใจแตกต่างกัน เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนทางการวิจัย หรือ สกว. ได้ให้เงินสนับสนุนในการวิจัยครั้งนี้จำนวน 300,000 บาท ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2550 จะสามารถสรุปผลการวิจัยได้อย่างชัดเจน


           


อนึ่ง โรงเรียนบ้านคูเมืองก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2461 บนพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่ในเขตชุมชนบ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีนักเรียนทั้งหมด 614 คน มีครู34 คน และอาจารย์พิเศษจากประเทศไอซ์แลนด์ 1 คน สอนภาษาอังกฤษ


 


 


 


 ที่มา : ศูนย์ข่าวประชาสังคมจ.อุบลราชธานี


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net