Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (13 พ.ย.2549) เวลา 14.30 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และ รมว.การคลัง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้พบปะกับสื่อมวลชนตามรูปแบบ รายการ "นายกรัฐมนตรี พบสื่อทำเนียบรัฐบาล" เป็นครั้งแรก ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล


 



พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีการแต่งตั้งคนใกล้ชิด หรือพวกพ้องเข้าไปเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้เกิดข้อครหาและอาจกระทบต่ออายุรัฐบาลว่า รัฐบาลตระหนักในเรื่องนี้ดีและการที่ทหารเข้าไปทำหน้าที่ก็คงไม่ใช่เป็นการให้รางวัล และไม่ใช่ไปโดยไม่มีความรู้ความสามารถ อย่างในระดับ ผบ.ทอ.ที่เข้าไปเป็นบอร์ดของการบินไทย ตนเชื่อว่าคงทำอะไรได้มากพอสมควร เพราะมีรุ่นน้องทหารอากาศทำงานอยู่ในการบินไทยจำนวนมาก ก่อนหน้านี้การบินไทยก็เกิดปัญหามากมาย เวลาแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ดีดี) แต่ละครั้งก็มีปัญหามาโดยตลอด เมื่อ ผบ.ทอ.เข้าไปทำงานก็คงจะช่วยงานได้ บอร์ดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เช่น การสื่อสารฯ ก็มีเจ้ากรมการสื่อสารแต่ละเหล่าทัพ เข้าไปทำงาน ถ้าระดับเจ้ากรมไม่รู้เรื่องอะไรก็ไม่รู้ว่าจะจ้างให้เสียเงินทำไม


 



"ผมขอให้ดูการทำงานสักนิดหนึ่ง อย่าคิดว่าทหารเข้าไปเพื่อรับเงิน บางคนมีมารยาทก็ไม่รับเงินแต่บางคนก็มีความจำเป็นส่วนตัวเพราะฐานะแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนต้องการค่าน้ำมัน มันเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนอะไรเลยอย่าไปมองว่าทหารเข้าไปทำงานมากมาย เพียงแต่ขอเวลาให้บุคคลเหล่านั้นได้พิสูจน์ตัวเอง อย่ามองว่าทหารทำอะไรไม่เป็น ไม่เก่ง เพราะยังมีคนทำงานได้มากกว่าผมอีกมาก โดยเฉพาะด้านเทคนิค ทหารหลายคนเก่งและทำงานได้ดีด้วย" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวและว่า การตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นความร่วมมือระหว่าง คมช.กับรัฐบาล ซึ่ง คมช.ก็ส่งคนมาส่วนหนึ่ง รัฐบาลก็มีคนอยู่ส่วนหนึ่ง ถือเป็นการทำงานร่วมกัน


 



 ปัดมีต้นทุนคนดี เผย "ทักษิณ" ไม่พูดชัด


ผู้สื่อข่าวถามถึงแผนที่ชัดเจนในการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่ง 1 เดือนกว่านายกฯ ใช้ต้นทุนการเป็นคนดีไปมากพอสมควร แต่หลายอย่างไม่ได้อยู่ในทิศทางที่สังคมคาดหวังจะแก้ปัญหาได้ และจะเลิกอุ้ม คมช. และ ครม. เมื่อไร รวมทั้งรัฐบาลและ คมช. กลัวอะไรในความเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเสียสมาธิในการบริหารประเทศทุกครั้งที่มีข่าวความเคลื่อนไหว


 



พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบว่า ตนตระหนักดีว่าต้นทุนที่ตนมีอยู่ไม่สามารถไปช่วยอุ้มใครต่อใครได้ ตัวเองก็ยังเอาไม่รอด เพราะตนไม่ได้เป็นคนดีมากมาย คนอาจจะมองว่าตนดี แต่ตนรู้ว่าตนไม่ได้ดีมากมาย ตนคงไม่ต้องไปทำแผนงานเรื่องความปรองดองแห่งชาติ เพราะประชาชนต้องการสิ่งนี้มากกว่าตนเองเสียอีก ตนเพียงแต่สะกิดว่าภาครัฐจะมีวิธีการอย่างไรเท่านั้น ซึ่งตนจะใช้วิธีการเจรจาและพูดกันด้วยสันติวิธีในทุกๆ เรื่อง


 



"แม้กระทั่งคุณทักษิณเอง ผมก็พูดกันทางโทรศัพท์ แต่อย่าไปคิดว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนอย่างที่เรานึกว่าผมไม่กลับ มันไม่ใช่ หรือจะได้คำตอบว่าผมจะเลิกก่อการร้าย มันต้องใช้เวลาทำอย่างไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาในสังคมของเราและช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผมไม่คิดว่าจะทำสำเร็จได้ด้วยตนเองคนเดียว ผมเพียงแต่พูดในภาพกว้างๆ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องเป็นการทำงานของทุกภาคส่วนร่วมกัน รัฐมนตรีทุกคนต้องมาทำงานตามที่ตัวเองรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้แต่ละกระทรวงก็เริ่มทำงานกันแล้วในเรื่องการสร้างความปรองดอง เช่น ในวันที่ 17 พฤศจิกายน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเปิดโครงการสังคมอยู่ดีมีสุข ซึ่งต้องให้เวลาท่านบ้าง อย่างที่พูดว่ารัฐมนตรีแก่ๆ ก็ต้องรอให้ท่านทำงานบ้าง" นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า


 



รัฐบาลขอเวลาอีกนิด เมื่อมีการนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณใช้จ่ายประจำปี 2550 เข้าสู่สภาฯ แล้ว ก็จะเริ่มเปิดตัวให้เห็นว่าเราทำอะไรบ้าง พร้อมกับเม็ดเงิน


 



ดีใจ "จิ๋ว"- คมช.เลิกทะเลาะบนนสพ.


ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมปัจจุบันมิตรของรัฐบาลจึงกลายเป็นศัตรู เช่น ความเห็นของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กลายเป็นคลื่นใต้น้ำเสียเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งพล.อ.ชวลิตและกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้มาสนับสนุนรัฐบาล เพราะรัฐบาลเกิดภายหลัง แต่ต่างคนต่างมีจุดยืนของตัวเอง มีสิ่งใดที่จะเดินไปด้วยกันได้ ตรงส่วนนี้สำคัญเพราะบ้านเมืองไม่ใช่ของตนคนเดียว ตนต้องเข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยก ตนไม่ได้คิดจะไปสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งตนคงไม่ต้องไปนั่งวิเคราะห์ว่าทำไมจึงมีศัตรูเพิ่มขึ้น แต่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความปรองดอง


 



เมื่อถามว่าแล้วการที่เย็นวันเดียวกันนี้ ทาง คมช.จะเข้าพบพล.อ.ชวลิต สื่อให้เห็นภาพอะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ก็ส่อให้เห็นภาพถึงความปรองดอง พูดกันทานข้าวกันไม่ดีหรือ? หรือว่าต้องการให้ทะเลาะกันทางหน้าหนังสือพิมพ์ ผมว่า พูดกันดีกว่าหากท่านมีปัญหากับ คมช.ก็ไปพูดกับ คมช. ถ้าท่านมีปัญหากับผมก็มาพูดกับผม ซึ่งผมยินดีรับฟัง เพราะท่านก็เป็นนายทหารรุ่นพี่ เราก็นับถือและเรียกท่านว่าพี่อยู่แล้ว"


 



รับฟังโพลล์แต่ขอให้อดใจรอผลงาน


เมื่อถามว่าลำบากใจหรือไม่ที่เวลาทำงานต้องหารือกับทาง คมช.ก่อนทุกครั้ง ทั้งที่ คมช.ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ไม่หนักใจ เพราะตนทำตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตนพูดหลายครั้งว่าจะทำงานตามกรอบและยึดกฎหมายเป็นหลัก ไม่ทำงานนอกกรอบ


 



ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ผลสำรวจความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลลดลง พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ภาพที่สะท้อนกลับมาเป็นสิ่งที่เราอยากรับฟัง ซึ่งสะท้อนมาว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน และทำงานช้านั้น ตนก็ขอให้อดใจรออีกนิด รอให้แผนงานออกมาเป็นรูปร่าง พร้อมกับเม็ดเงินก่อน เนื่องจากเราไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเอง เราต้องทำงานตามกรอบและแนวทางที่ได้กำหนดไว้


 



เมื่อถามว่าเมื่อไรรัฐบาลจะบริหารงานด้วยตนเองโดยไม่ใช้กฎหมายพิเศษ หรือกฎอัยการศึก พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องนี้จาก คมช. การตัดสินใจต้องรอพบกันก่อน ซึ่งมีการประชุม ครม.ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ก็คงจะมีความชัดเจน


 



ยืนยันไม่ได้ไล่ "เช็คบิล" ใคร


เมื่อถามว่ารัฐบาลมีวิธีการและมาตรการดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะส่วนหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็สร้างความแตกแยกในสังคม ขณะที่รัฐบาลพยายามเช็คบิลกับคนที่อยู่ในรัฐบาลทักษิณ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคนเป็นปัญหายากที่สุดเพราะต่างคนต่างคิด และอย่าใช้คำว่าเช็คบิล มันไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่เข้ากับบรรยากาศในการสร้างความปรองดอง เราคงต้องช่วยดูกันว่าอะไรที่สามารถประนีประนอมได้ เราต้องเดินในทางนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะให้รางวัลใคร แต่ต้องดูว่าแต่ละคนมีขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างไร


 



"จะใช้คำว่าเช็คบิลมันไม่ถูกต้อง อย่างนายวีระชัย วีระเมธีกุล รองเลขาธิการนายกฯ ก็เป็นคนที่เคยทำงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ ผมก็ยังเอาเข้ามาช่วยงาน ผมดูที่คนมากกว่าและไม่อยากให้เกิดบรรยากาศขุ่นมัว หลายคนเข้ามาคุยและเข้ามาทำงาน ผมไม่เคยคิดว่าคนเหล่านั้นเป็นศัตรูต้องเช็คบิล หรือล้างให้หมดจากแผ่นดินนี้ เราคนไทยด้วยกัน ควรจะปรับความเข้าใจและทำงานร่วมกัน" นายกฯ กล่าว



 


 


ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net