Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 พ.ย.2549  สืบเนื่องจากประชาไทได้รายงานข่าว "กลุ่มอนุรักษ์อุดรพบสสจ. หวั่นข้าราชการรับจ้างบริษัทเหมืองโปแตช" ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยพาดพิงถึงบริษัท โกลเด้น แพลน จำกัด และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่โครงการสัมปทานเหมืองแร่โปรแตช ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ประชาไทได้รับเอกสารชี้แจงจากทางบริษัทฯ ถึงกรณีดังกล่าว


 


ทั้งนี้ ในรายงานข่าววันที่ 9 พ.ย.ระบุว่ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ยื่นหนังสือถึงนพ.นภดล ปฏิทัศน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรฯ เพื่อขอคำชี้แจงเรื่องบุคลาการสาธารณสุขบางรายได้ใช้เวลาราชการเข้าร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลรับจ้างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพกับทางบริษัท พร้อมทั้งขอให้ข้าราชการสาธารณสุข ถอนตัวออกจากขบวนการจัดทำรายงานของโครงการเหมืองแร่โปรแตชด้วย


(อ่านรายละเอียดใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5758&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai)


 


 


ทางบริษัทโดย นายเรืองศักดิ์ วัชรพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการ ได้ส่งเอกสารชี้แจงดังรายละเอียดต่อไปนี้


 


1.บริษัท โกลเด้น แพลน จำกัด ทำสัญญากับ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีขอบเขตความรับผิดชอบร่วมกับศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.งานศึกษาด้านการทำเหมืองและเทคนิควิศวกรรม 2.งานศึกษาด้านธรณีวิทยา ธรณีแหล่งแร่ รวมทั้งน้ำใต้ดิน 3.งานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4.งานศึกษาผลกระทบทางสังคม 5.งานศึกษาผลกระทบด้านสุขอนามัย


 


2.วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน คือ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการทั้ง 4 ด้าน โดยไม่ได้ตั้งเป้าว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปว่ามีความเหมาะสม แต่เป็นการดำเนินงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง แบบเน้นการมีส่วนร่วมของทั้งภาคราชการและภาคประชาชน


 


3.บริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างเปิดเผย โปร่งใส และกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงเข้าใจว่ามีกลุ้มคนคัดค้านโครงการอยู่จำนวนหนึ่ง แต่การดำเนินงานเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงจำเป็นต้องทำในวงกว้าง และเป็นตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่ม จึงมีการดำเนินงานรวบรวมข้อมูลจากหลายภาคส่วน และต้องมีการระดมความเห็นเริ่มตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลที่เป็นกลาง (การหารือเรื่องแบบสอบถามกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข) ซึ่งเมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้วก็จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในเวทีประชาชนต่อไป


 


4.การดำเนินงานดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จ ถ้าประชาชนในพื้นที่ ข้าราชการ รวมถึงกลุ่มคนที่คัดค้านโครงการร่วมกันพิจารณากรอบการดำเนินงาน เช่น เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้คณะทำงานบริษัทฯ และคณะทำงานศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าถึงประชาชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวัถตุประสงค์สำคัญของการดำเนินงาน  


 


 


 


 


ข่าวย้อนหลัง


 


"กลุ่มอนุรักษ์อุดรพบสสจ. หวั่นข้าราชการรับจ้างบริษัทเหมืองโปแตช"

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5758&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net