Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (14 พ.ย.49) ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าที่ประชุมเห็นชอบในหลักการปรับเปลี่ยนอัตราเหมาจ่ายรายหัว จากประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ 2550 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยปรับลดจากอัตรา 2,089 บาท เป็น 1,899.69 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสิทธิประโยชน์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยอัตราเหมาจ่ายดังกล่าวไม่นับรวมกับผู้ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่มีกว่า 2 ล้านคน ส่งผลให้มีประชากรที่ใช้ในการคำนวณเพียง 46 ล้านคน


         


ทั้งนี้  โครงการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ ปี 2544 ในขณะนั้นอัตราต่อหัวอยู่ที่ 1,197 บาท และเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ จนถึง ปี 2549 อยู่ ที่ 1659.30 บาทต่อหัว


 


ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.ได้พิจารณาทบทวนปรับกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 โดยกำหนดให้รายได้อยู่ที่ 1.42 ล้านล้านบาท งบรายจ่ายจากเดิม 1.52 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 1.5662 ล้านล้านบาท ทำให้งบประมาณขาดดุล 146,200 ล้านบาท จากเดิมขาดดุล 100,000 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ดูแลได้ เนื่องจากรัฐบาลตรวจพบว่า มีภาระหนี้จากโครงการต่าง ๆ ของรัฐที่ผ่านมา เช่น การรับจำนำข้าวเปลือกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ภาระหนี้กองทุนหมู่บ้าน ภาระหนี้ของคณะกรรมการและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) องค์การสวนยาง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมกันประมาณ 101,761 ล้านบาท


 


โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อการชำระหนี้ในปี 2550 จำนวน 85,000 ล้านบาท โดยเฉพาะหนี้ ธ.ก.ส.ที่ใช้รับจำนำข้าวเปลือก จนมีภาระขาดทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจะชำระหนี้ให้ครั้งเดียว 23,000 ล้านบาท และยังได้ตัดงบฯ สำหรับพัฒนาผู้ว่าฯ ซีอีโอ ตลอดจนงบกองทุนเอสเอ็มแอล จะให้ใช้เฉพาะยอดเงิน 9,000 ล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติไว้แล้วเป็นงบผูกพัน ส่วนงบกลางปี 2550 ได้ตั้งไว้ 44,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ที่ 81,000 ล้านบาท โดยงบประจำของปี 2550 อยู่ที่ 607,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นในการพัฒนาบุคลากร


 


ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การใช้งบประมาณปี 2550 จะเน้นพัฒนาบุคลากรของกระทรวงต่าง ๆ และดูแลด้านสังคม สูงถึง 593,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.9 ของงบประมาณ รองลงมาคือ งบประมาณด้านความมั่นคงและธรรมาภิบาล 343,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 22 โดยภาระหนี้ของกองทุนหมู่บ้าน จะชดเชยไว้ในปี 2550 จำนวน 13,000 ล้านบาท ส่วนอีก 16,000 ล้านบาท ให้ชำระในปี 2551-2552


 


สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรมากที่สุด 282,666 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย 179,373 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 173,007 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 115,000 ล้านบาท ขณะที่งบกลางอยู่ที่ 194,113 ล้านบาท โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายน เตรียมนำงบประมาณเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net