Skip to main content
sharethis


อุดรธานี - 16 พ.ย. 49 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี 4 ตำบล ได้แก่ ต.โนนสูง,ต.หนองไผ่ อ.เมือง และ ต.ห้วยสามพาด,ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จำนวนกว่า 300 คน ได้ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าว "นารวม" ในพื้นที่ กว่า 25 ไร่ ในบริเวณ หมู่บ้านวังขอนกว้าง ต.ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม โดยใช้ข้าวจ้าวพันธุ์ กข. 15 และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูก


 


ทั้งนี้ การทำนารวมดังกล่าวของกลุ่มอนุรักษ์ฯ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการนำเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้ไปขายแล้วนำเงินรายได้ทั้งหมดมาเป็นกองทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมการต่อสู้โครงการเหมืองแร่โปแตช  อีกทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่วิถีการผลิตที่ปราศจากสารเคมี สารพิษ ดังแนวพระราชดำริเกษตรพอเพียง เกษตรอินทรีย์ ด้วยขวัญว่า "พลิกฟื้นแผ่นดินด้วยเกษตรอินทรีย์  ไร้ปุ๋ยเคมีในนาเรา ไม่เอาเหมืองแร่โปแตช"


 


การลงแขกเกี่ยวข้าวครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยชาวบ้านในพื้นที่แต่ละหมู่บ้านเดินทางออกมารวมกันที่นารวมแล้วร่วมกันลงไม้ลงมือเกี่ยวข้าว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จำนวนกว่า 30 คน มาร่วมเกี่ยวข้าวช่วยกลุ่มชาวบ้านด้วย บรรยากาศค่อนข้างสนุกสนาน เป็นกันเอง ท่ามกลางแสงแดดที่ค่อนข้างร้อน จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. จึงเสร็จ จากนั้นมีการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันและแยกย้ายเดินทางกันกลับ



นายเคน  บุญรอด  กรรมการนารวมกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า "มีความรู้สึกพึงพอใจที่เห็นพี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เสียสละเวลาออกมาร่วมกันเกี่ยวข้าวนารวม  ซึ่งมีเนื้อที่นากว่า 25 ไร่ กับการใช้เวลาไม่ถึงครึ่งค่อนวันก็แล้วเสร็จ จึงเป็นการบ่งบอกถึงความสามัคคีของกลุ่ม ส่วนเรื่องข้าวนั้นถือว่าได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ น้ำท่าปีนี้ก็ถือว่าพอใช้ได้  ซึ่งคาดหมายว่ารวมแล้วจะได้ข้าวเปลือกปริมาณกว่า 3 ตัน อย่างไรก็ดี ข้าวที่ได้ทั้งหมดกรรมการได้หารือกันแล้วว่าจะนำไปจัดงานบุญประเพณีกุ้มข้าวใหญ่ต้านภัยเหมืองแร่เสียก่อน โดยการเอาไปกอง ในส่วนข้าวชาวบ้านก็ยังจะมีการรับบริจาคเหมือนเดิมแล้วทำเป็นอีกกอง และมีพิธีกรรมตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้เคยจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี แล้วค่อยนำไปขายเอาเงินมาเข้ากองทุนการต่อสู้ต่อไป" พ่อเคนกล่าว


 


นายเคน ยังกล่าวอีกว่า "ชาวบ้านในพื้นที่ได้ยึดมั่นในแนวทางเกษตรอินทรีย์โดยการลงมือปฏิบัติให้รู้เห็นอย่างแท้จริงและมีความตั้งใจจริงที่จะไม่นำปุ๋ยเคมีมาใช้ ซึ่งถือเป็นการคัดค้านเหมืองโปแตชอีกด้านหนึ่ง  อย่างไรก็ดี เกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่เพียงการไปจัดงาน จัดนิทรรศการ เอาพืช เอาสัตว์มาประกวดแล้วก็โฆษณาบอกคนอื่นว่านี่คือเกษตรอินทรีย์ โดยต้องขอฝากไปถึงภาครัฐที่บอกว่าจะดำเนินการ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปแล้วถึงหลายหน่วยงานด้วยกันเพื่อให้มีการผลักดันประเด็นเกษตรอินทรีย์ อย่างจริงจังแต่พบว่าก็ยังเงียบเฉย หรือเพียงแค่ทำตามกระแสเท่านั้นเอง" พ่อเคนกล่าว


                                                                                                              


ด้านน.ส.ณัฐมณฑ์  พุกหน้า นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสาขาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่มาเกี่ยวข้าวร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน ได้กล่าวว่า ตนเองพร้อมกับเพื่อนๆ ได้มาช่วยตั้งแต่การปักดำแล้ว ถือว่าเป็นการเรียนรู้กับกลุ่มชาวบ้าน  เป็นการศึกษานอกห้องเรียนและตำราเรียน อีกทั้งเป็นการมาเพื่อติดตามดูผลผลิตด้วย ซึ่งก็พบว่ากลุ่มชาวบ้านก็ยังมีความสามัคคี แน่นแฟ้นกันดี  ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลผลิตข้าวที่ได้มันอาจจะไม่มาก  สู้เงินของบริษัทเหมืองแร่ไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือชาวบ้านได้มีความสามัคคี ยึดมั่น และตระหนักในประเพณี  วิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำนาขายข้าวส่งลูกเรียน ซึ่งดีกว่าการเป็นลูกจ้างในบริษัทเหมืองแร่ที่เสี่ยงภัยอยู่ตลอดเวลา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net