Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 พ.ย.2549 องค์การหมอไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์ระหว่างประเทศระบุว่า ราคายาทั่วโลกกำลังมีราคาสูงขึ้นทุกขณะตลอดระยะเวลา 5 ปีหลังการลงนามคำประกาศโดฮาว่าด้วย "ข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข" (Doha Declaration on TRIPS and Public Health)


ขององค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2544 ที่ประเทศกาตาร์ โดยวิธีการที่จะทำให้ราคายาลดลงได้นั้น


ประเทศต่างๆ ต้องใช้มาตรการยืดหยุ่น (TRIPS Flexibilities) มากขึ้น ดังที่ระบุไว้ในคำประกาศโดฮา


"เพื่อปกป้องสาธารณสุข และสนับสนุนการเข้าถึงยาของทุกคน"


                           


ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุดคือกรณีของโรคเอดส์ การแข่งขันอย่างดุเดือดของยาชื่อสามัญทำให้ราคายาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานราคาลดลงถึงร้อยละ 99 จากราคา 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อผู้ป่วยต่อปี เหลือเพียงประมาณ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อผู้ป่วยต่อปี ตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่ยาต้านสูตรสำรอง (second-line drugs) ยังมีราคาแพงมากเพราะติดสิทธิบัตร ทำให้เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมยาในหลายประเทศ เช่น ในอินเดีย และไทยไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้


 


ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้องค์การหมอไร้พรมแดนให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อฯ มานานกว่า 5 ปี สามารถรักษาผู้ติดเชื้อที่ใช้ยาต้านไวรัสสูตรสำรองได้เพียง 58 คน ในราคายาที่รักษาผู้ติดเชื้อที่ใช้ยาต้านสูตรพื้นฐานได้ถึง 550 คน


 


ยิ่งไปกว่านั้นหากใช้ยาต้านไวรัสที่ใหม่กว่าตามสูตรที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และในประเทศนั้นๆสามารถหาซื้อได้ จะมีราคาสูงกว่าอีก 50 เท่า ยาเหล่านี้ไม่มีทางที่จะมีใช้ในประเทศต่างๆ ถ้าไม่มียาชื่อสามัญมาผลักดันให้ผู้ผลิตลดราคา และเพิ่มยาให้หาซื้อได้ในประเทศต่างๆ


 


"ในโครงการของเรา ราคายาที่สูงกำลังกระทบโดยตรงกับงบประมาณของเรา" นายแพทย์ Tido von Schoen-Angerer ผู้อำนวยการการรณรงค์การเข้าถึงยาที่สำคัญขององค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว


 


"เราเห็นหลายประเทศใช้มาตรการยืดหยุ่นในคำประกาศโดฮานำเข้ายา แต่จะมีประโยชน์อะไร


หากไม่มียาชื่อสามัญให้ซื้อ ดังนั้นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญจะต้องอนุญาตให้มีการผลิตยาชื่อสามัญและส่งออกได้ ไม่เช่นนั้น เราจะกลับไปสู่จุดที่ศูนย์อีก เมื่อครั้งที่การรักษานั้นไกลเกินเอื้อม"


 


ทางด้านนายพอล คอว์ธอร์น ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาหรือนำเข้ายา มีความจำเป็นอย่างยิ่ง


จากรายงานของธนาคารโลกที่นำเสนอในงานเอดส์โลก ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้นำเสนอรายงาน "การประเมินผลทางเศรษฐกิจของความมีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายให้การรักษาเอชไอวีเอดส์ในประเทศไทย" (The Economic of Effective AIDS Treatment Evaluating


Policy in Thailand) ที่ชื่นชมโครงการการให้ยาต้านไวรัสในไทย ทั้งยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลไทยหากลไกทางกฎหมายเพื่อทำให้ราคายาต้านไวรัสสูตรสำรองที่ต้องใช้ในโครงการหลักประกันสุขภาพมีราคาลดลง โดยระบุว่าถ้ารัฐบาลไทยไม่ดำเนินการใดๆ จะต้องเพิ่มงบประมาณในโครงการถึง 5 เท่าในระยะเวลา 15 ปี


 


"สิ่งที่ธนาคารโลกเสนอแนะคือ ให้ไทยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory License) หรือการใช้สิทธิโดยรัฐ (Government Use) เพื่อผลิตยาหรือนำเข้ายาซึ่งเป็นสิทธิของทุกประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก จากตัวเลขของธนาคารโลกชี้ว่า ด้วยการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิจะสามารถลดราคายาต้านไวรัสสูตรสำรองถึง 90% สามารถลดภาระงบประมาณแผ่นดินถึง 127,000 ล้านบาทในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า" พอลระบุ


 


การบังคับใช้สิทธิเป็นเรื่องถือปฏิบัติทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในประเทศกำลังพัฒนาเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่เกรงการแซงชั่นจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของแต่ละประเทศ


 


ทั้งนี้ ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม(ประเทศไทย) กล่าวว่า การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือการใช้สิทธิโดยรัฐ กำลังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมทั่วโลก และที่ผ่านมากรณีของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่มีน้อยมากในโลกที่ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อฯ นักวิชาการ เภสัชกร ทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในประเทศและระดับสากลร่วมมือกันทำงานเพื่อผลักดันการเข้าถึงยา


 


"แต่สิ่งที่ไทยยังขาดอยู่ คือ รัฐบาลที่มุ่งมั่นและกล้าหาญ ซึ่งเราหวังจะเห็นรัฐบาลเช่นนั้นในภาวะการณ์ปัจจุบัน" พอลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net