Skip to main content
sharethis

มุทิตา  เชื้อชั่ง


 


 


เร็วๆ นี้จะมีเรื่องใหญ่ด้านพลังงานเกิดขึ้นสองเรื่องที่น่าสนใจ


 


1. แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี ฉบับใหม่ กำลังจะถูกผลักดันให้ผ่าน ครม. ในปีนี้ 


 


2. ต้นปีหน้ากระทรวงพลังงานจะเปิดให้มีการประมูลไอพีพี หรือ บริษัทเอกชนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่  แบ่งเค้กกันสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดสัดส่วน


 


ประเด็นที่น่าจับตามองคือ แผนพีดีพีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 10,570 เมกกะวัตต์ โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิง "ถ่านหิน" ในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมร้อยละ 15  เป็นร้อยละ 40  


 


เอาง่ายๆ ว่า ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกประมาณ 4,000 เมกกะวัตต์ (หรือ 4 โรงเป็นอย่างน้อย)


 


ขณะที่โลกพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยกลับเดินสวนทางอย่างมาดมั่น โดยเหตุผลที่กฟผ. ผู้จัดทำแผนระบุคือ 1.เป็นการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง 2.ถ่านหินมีราคาถูก 3.พลังงานหมุนเวียนราคาแพง


 


แน่นอน ทั้งสามประเด็นมีผู้พยายามโต้แย้งถกเถียงในข้อเท็จจริง - - - (โปรดติดตามตอนต่อไป)


 


เหตุผลของกฟผ. ตลอดจนกระทรวงพลังงานและรัฐบาล อาจฟังขึ้นในมุมผู้บริโภคที่จะควักกระเป๋าจ่ายน้อยลงหน่อย แต่สำหรับ "ชาวแม่เมาะ" และ "ชาวมาบตาพุด" นี่นับเป็นการลงดาบอีกครั้งบนร่างสะบักสะบอมของชาวบ้าน


 


"ปัญหาสำคัญสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคือการปะทะกับชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นมันเป็นไปได้มากกว่าการขยายกำลังการผลิตจะมุ่งสู่พื้นที่เดิมที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่แล้ว อย่างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่มาบตาพุด หากไปประมูลได้อีก ก็สามารถถมทะเลขยายต่อไปได้" ธารา บัวคำศรี เจ้าหน้าที่จากกรีนพีซ กล่าว


 


วันนี้*  ชาวบ้านทั้งสองแห่งในนามของ "เครือข่ายชุมชนไม่เอาถ่านหินและสนับสนุนพลังงานสะอาด" ** จึงออกมาเรียกร้องให้หยุดการขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน และหันมาพิจารณา แก้ไขปัญหาเดิมที่ค้างอยู่อย่างกล้าหาญ จริงใจ เลิกโฆษณาชวนเชื่อ


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา สุขภาพผู้คนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โรงไฟฟ้าคือต้นทุนที่รัฐ-นายทุนไม่ยอมนับรวม ขณะเดียวกันเพื่อนรวมชาติก็พยายามทำเป็นมองไม่เห็น


 


ชาวบ้านแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เล่าว่า ทุกวันนี้คนในพื้นที่ยังคงทนทุกข์อยู่กับมลพิษทางอากาศที่มาจากโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินแม่เมาะ  กลางคืนยังต้องเอาผ้าชุบน้ำอุดช่องประตูหน้าต่าง ทนนอนหายใจแสบคอ หลายหมู่บ้านลงขันกันซื้อถังออกซิเจนเตรียมไว้กรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่มีอยู่จำนวนมาก ...ใครรอดก็รอด ใครตายก็ตาย


 


เรื่องราวเหล่านี้ถูกพูดถึงมานานแล้ว และมันยังคงทันสมัยอยู่จนปัจจุบัน เพราะปัญหาถูกแก้โดยคำสัญญา ทั้งปากเปล่าและมติครม. แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจ


 


"ที่ผ่านมามติครม.หลายต่อหลายมติก็ดี คณะกรรมการต่างๆ ไตรภาคี อะไรก็ดีหมด แต่ที่ไม่ดีอย่างเดียวคือ ไม่เคยมีการทำตามที่บอกไว้" มะลิวัลย์ นาควิโรจน์ ชาวบ้านจากแม่เมาะกล่าวพร้อมท้าให้ผู้ที่คลางแคลงสงสัยไปเยี่ยมเยียนบ้านเธอในพื้นที่  เพื่อดูว่าฤดูหนาวผสมมลพิษได้เพิ่มเลวร้ายเพียงใดสำหรับสุขภาพ


 


ในมาบตาพุด จังหวัดระยอง พื้นที่นี้เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 50 แห่ง ล่าสุด มีโอกาสต้อนรับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ "บีแอลซีพี" (การร่วมทุนคนละครึ่งของบริษัทบีแอลซีของฮ่องกง กับบริษัทบ้านปูของไทย) กำลังการผลิต 1,430 เมกกะวัตต์


 


มลพิษทั้งทางอากาศ น้ำ เป็นปัญหาใหญ่อยู่ก่อนการเข้ามาของโรงไฟฟ้าแล้ว สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เองก็เคยมีการศึกษา "ความสามารถในการรองรับมลพิษ" พบว่าในพื้นที่มาบตาพุดนั้น โรงงานเท่าที่มีก็ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานแล้ว ยังไม่นับรวมปล่องระบายมลพิษอีกกว่า 200 ปล่องของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี


 


การคัดค้านเกิดขึ้นมาตลอดการก่อสร้าง กระทั่งปัจจุบันได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตัวแรก (700 กว่าเมกกะวัตต์) ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


 


อย่างไรก็ตาม บีแอลซีพี นับเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยลดมลพิษ-นำเข้าถ่านหินคุณภาพจากต่างประเทศ เรียกรวมๆ กันได้ว่าเป็น "ถ่านหินสะอาด" ซึ่งอาจถือเป็นต้นแบบของว่าที่โรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามพีดีพีฉบับใหม่ก็ได้ ท่ามกลางช่องโหว่ของวาทกรรมถ่านหินสะอาด


 


"เทคโนโลยีใหม่หรือ clean coal technology มันเป็นเชื่อเรียก ไม่ได้แปลว่าถ่านหินมันจะสะอาดได้ เพียงแต่มีการเผาไหม้ที่ทำให้ระดับไนโตรเจนออกไซด์ไม่มี และยังติดตั้งเครื่องกรองซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วย แต่ตัวชี้วัดเท่านี้ไม่พอ ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครตรวจวัดปรอท หรือมลพิษตัวอื่นๆ ซึ่งโรงไฟฟ้าอ้างว่า ประเทศไทยไม่ได้เรียกร้องให้ตรวจ" ธารากล่าว


 


นอกจากความเจ็บป่วยของชาวบ้านซึ่งเป็นข้อมูลในเชิงประจักษ์ ในมุมวิชาการ งานวิจัยระดับปริญญาเอกของเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก็ระบุว่า แผนพัฒนาพีดีพีที่ใช้ถ่านหินเป็นหลัก จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชากรในท้องถิ่น


 


โดยคาดการณ์ว่า ปี 2546-2558 มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีส่วนทำให้โรคหลอดลมเรื้อรังในเด็กเพิ่มขึ้นจาก 7,500 เป็น 20,000 กรณี การเสียชีวิตแบบสะสมเรื้อรังจาก 800 เป็น 2,250 กรณี การเจ็บป่วยเฉียบพลันที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลจาก 260 เป็น 680 กรณี การเสียชีวิตเฉียบพลันจาก 70 เป็น 250 กรณี


 


ทั้งหมดคือปัญหาที่ดำรงอยู่อย่างเงียบกริบภายใต้คำ "ไฟฟ้าราคาถูกเพื่อผู้บริโภค" ซึ่งราคาถูกจริงหรือไม่ ส่วนต่างมหาศาลไปอยู่ไหนก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน  - - - (โปรดติดตามตอนต่อไป)


 


เรื่องเหล่านี้ชาวบ้านเห็นว่า กระทรวงพลังงานควรรับฟังข้อมูลอีกด้านหนึ่ง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ประกาศจะเปิดในเร็วๆ นี้ก็ควรต้องให้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แม้ในภาคประชาสังคมก็มิใช่เฉพาะนักวิชาการและเอ็นจีโอ


 


ที่สำคัญ หวังเหลือเกินว่า การประชาพิจารณ์ก็ดี การรับฟังความเห็นก็ดี ฯลฯ จะไม่ใช่เพียงพิธีกรรมอย่างที่เป็นมา ไม่ใช่สิ่งที่ล่องลอยไร้แก่นสารอยู่ในสายลม


 


 


เพราะชาวแม่เมาะและชาวมาบตาพุดรู้ดีว่า คำตอบในสายลม  นั้น มันเลวร้ายแค่ไหน....


 


 


 


 


- - - - - - - - - - - - - - - - -


 


* การแถลงข่าวของเครือข่ายชุมชนไม่เอาถ่านหินและสนับสนุนพลังงานสะอาด (ประเทศไทย) ร่วมกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันที่ 15 พ.ย.2549 หลังจากแถลงข่าวได้มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ ดร.ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


 


** เครือข่ายชุมชนไม่เอาถ่านหินและสนับสนุนพลังงานสะอาด (ประเทศไทย) หรือ People Against Coal เป็นเครือข่ายของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงานขนาดใหญ่ กลุ่มประชาสังคมและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย รวมตัวกันครั้งแรกในช่วงการประชุมถ่านหินโลกที่จัดขึ้น ณ จังหวัดลำปาง ในเดือนมกราคม 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net