Skip to main content
sharethis

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.)  เปิดเผยว่า   ในช่วงประมาณสิ้นเดือน  พ.ย.นี้ นายณอคุณ สิทธิพงศ์  รองปลัดกระทรวงพลังงาน  จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นและข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ  และองค์กรพัฒนาเอกชน  (เอ็นจีโอ)  เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาผลิตกำลังไฟฟ้าระยะยาวฉบับใหม่  (พีดีพี)  ที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าระหว่างปี  2550-2564


 



"หลังจากนั้นจึงจะเปิดรับฟังข้อคิดเห็นส่วนใหญ่ในช่วงเดือน  ธ.ค.   เพื่อให้ได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในสิ้นปีตามนโยบายของนายปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน   ส่วนที่ต้องฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและเอ็นจีโอก่อน  เพราะคาดว่าจะมีข้อเสนอที่ต้องใช้เวลา   หากไปเสนอในช่วงเปิดรับฟังใหญ่อาจมีเวลาน้อยเกินไป   การทำความเข้าใจอาจลำบาก"  แหล่งข่าวกล่าว


 



แหล่งข่าวกล่าวว่า   คาดว่าประเด็นที่น่าจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ  ได้แก่  สัดส่วนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าที่ กฟผ.เสนอว่าควรใช้ถ่านหิน 40% ก๊าซธรรมชาติ 40%  และรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีก 20%   โดยสัดส่วนดังกล่าวเอ็นจีโอค่อนข้างไม่เห็นด้วย  เนื่องจากมองว่าใช้ถ่านหินมากเกินไป  ซึ่งขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้  กฟผ.ไปศึกษาต้นทุนค่าไฟทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อเตรียมไว้ชี้แจง


 



"ต้องยอมรับว่า ในระยะยาวจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ   ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าหากเทียบตลอดอายุโรงไฟฟ้าใหม่ กับถ่านหินที่ราคาจะต่ำกว่ามาก"  แหล่งข่าวกล่าว


 



นายไกรสีห์ กรรณสูต  ผู้ว่า กฟผ.  กล่าวว่า  ในวันที่  17  พ.ย.นี้  กฟผ.จะประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการซื้อไฟฟ้าจากลาว ในโครงการน้ำเทิน  1  กำลังผลิต  530  เมกะวัตต์  น้ำงึม  3  กำลังผลิต 46 เมกะวัตต์  รวมถึงโครงการอื่นๆ  อาทิ  น้ำเงี๊ยบ   และการซื้อไฟฟ้าจากพม่า  เป็นต้น  แต่คาดว่าคงยังไม่มีการพิจารณาแผนพีดีพีในครั้งนี้   เพราะต้องรอรับฟังความคิดเห็นเสร็จก่อน.--จบ--



 


 


 


ที่มา: http://www.thaipost.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net