Skip to main content
sharethis

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)และโฆษก ตร. แถลงการจัดสรรรเงินรางวัลให้ตำรวจประจำปีงบประมาณ 2548 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนว่า คณะทำงานกำหนดแนวทางและวิธีการในการสร้างแรงจูงใจเพื่อเสริมสร้างการบริหารกิจการของ ตร.ประจำปี 2549 สรุปผลการจัดสรรเงินรางวัลจากรัฐบาลให้กับ ตร.597,844,437 บาท ซึ่ง ตร.นับว่าเป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับเงินรางวัลมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ จากกว่า 300 หน่วยงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินของสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (กพร.)


 



ทั้งนี้ ตร.ได้จัดสรรเงินรางวัลทั้ง 598 ล้านบาท เป็น 2 ส่วน ร้อยละ 98 หรือ 586 ล้านบาท ให้กับตำรวจตั้งแต่ระดับรอง ผบก.ลงมาและลูกจ้างประจำ โดยผู้ที่ได้รับการพิจารณาความชอบประจำปี 1 ขั้น ได้ 2,600 บาท ผู้ที่ได้รับการพิจารณาความชอบประจำปี 1.5 ขั้น ได้ 2,800 บาท ผู้ที่ได้รับการพิจารณาความชอบประจำปี 2 ขั้น ได้ 2,900 บาท โดย ตร.มีนโยบายเน้นจัดสรรรางวัลให้ผู้น้อยก่อน ขณะที่หน่วยราชการอื่นมีหลายหน่วยงานที่ได้จัดสรรเงินสูงถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของเงินรางวัลที่ได้รับ ให้ผู้บริหาร


 



อีก 2 เปอร์เซ็นต์ 11.9 ล้านบาท จัดสรรเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 8 ล้านบาท ให้หน่วยงานที่ดีรับการยกย่องประเมินผลการปฏิบัติงานว่าเป็นหน่วยงานดีเด่น หรือประหยัดพลังงาน 41 หน่วย แต่ละหน่วยต้องไปหารกับกำลังพลในหน่วย คาดว่าจะได้รับคนละ 1,000-1,500 บาท ที่เหลือประมาณ 3.7 ล้านบาท จัดสรรให้กับผู้บริหาร หน่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ตร. ประกอบด้วยศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองพัฒนาการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม นอกจากนี้ยังจัดสรรให้หน่วยที่รับผิดชอบ 18 ตัวชี้วัด อาทิ กองการเงิน กองกำลังพล ฯลฯ  คาดว่าบุคลากรที่ร่วมกันทำงานด้านนี้จำได้รับจัดสรรเงินรางวัลเพิ่มอีกคนละ 2,000-2,500 บาท และยังจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริหารอื่นๆ ด้วย


 



โฆษก ตร.กล่าวว่า การจัดแบ่งเงินรางวัลของ กพร.มีคำตอบบางอย่าง ข้อแรกคือหน่วยงานตำรวจที่ถูกตำหนิติเตียนมาโดยตลอด แต่ผลการประเมินจากหน่วยงานกลาง (กพร.) ผลออกมาว่าตำรวจมีผลการปฏิบัติงาน ผลการประหยัดพลังงาน การปฏิบัติราชการ อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบสำหรับสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน



 


"การวิพากษ์วิจารณ์กันในลักษณะนึกเอาเองนั้นเราทราบดีว่าเนื่องจากเราเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ทำให้การทำงานของเราไม่เป็นที่พอใจ แต่จากครั้งนี้ผลการปฏิบัติงานของเราโดยรวมเรามีคำตอบให้ทุกท่าน" โฆษก ตร.กล่าว



 


พล.ต.อ.อชิรวิทย์กล่าวด้วยว่า ในการตรวจสอบด้านการคอร์รัปชั่นในหน่วยงาน  โดย กพร.ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจซึ่งจากการตรวจสอบบัญชีส่วนทุจริตตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา พบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ติดใน 5 อันดับแรกที่พบความทุจริตคอร์รัปชั่น แม้แต่การบังหลวง-ฉ้อราษฎร์ ก็ไม่ติดอันดับ ในส่วนของการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชน ตร.ติดอันดับสูงเกือบจะที่สุดในระบบราชการ เพราะฉะนั้นใครที่ปรามาสตำรวจว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ให้ไปตรวจสอบได้ที่ กพร. อยากให้ไปดูหน่วยงานบางหน่วยที่เคยขึ้นกับตำรวจแล้วโอนไปสังกัดหน่วยอื่น ว่าหลังออกไปแล้ว ดีขึ้นหรือว่าทุจริตน้อยลงหรือไม่



 


รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ยอมรับว่ามีทั้งตำรวจดีและไม่มี แม้แต่สื่อมวลชนเองก็ต้องลองถามดูว่าใน 100 คน มีคนดีคนไม่ดีปะปนกันอยู่กี่คน ยกตัวอย่างถ้ามีตำรวจไม่ดี 3 เปอร์เซ็นต์จาก กว่า 200,000 นายก็ 6,000 นายแล้ว แต่ตอนนี้ตำรวจกำลังถูกตราหน้าว่าเป็นรัฐตำรวจ เป็นตำรวจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ตำรวจทำหน้าที่ไปตามปกติ ทุกคดีก็ว่าไปตามหลักฐาน โดยเฉพาะในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตำรวจถูกกล่าวหาที่สุดว่าไม่เป็นกลาง ได้เสนอแนวทางไปแล้วว่าขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขกฎหมาย ให้มีหน่วยงานเฉพาะ อาจจะเป็นสำนักพระราชวังเป็นหน่วยงานเฉพาะในการดำเนินการร้องทุกข์ในกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาแจ้งเพื่อดิสเครดิตอีกฝ่าย



 


โฆษก ตร.ยังตอบโต้ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และ พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยว่า การที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจนั้น ขอถามว่ารู้จักตำรวจดีแล้วหรือ พล.อ.ปานเทพเองรู้จักทหารดีแล้วหรือ ขณะที่ นายสังศิตที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รู้จักอาจารย์ในมหาวิทยาลัยดีพอหรือ ที่มาตำหนิ ติเตียน ยกตนข่มท่าน ขอยกคำพูด ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ที่ว่า "นิค คัณเห นิคคหารหิ ปัคคัณเห ปัคคหารหิ" มาชี้ให้เห็นว่าหากทั้ง 2 คน ไม่รู้จักงานตำรวจจริงก็อย่ามาพูด



 


พล.ต.อ.อชิรวิทย์ยังกล่าวถึงแนวคิดการปรับโครงสร้างตำรวจใหม่ โดยโอนงานบางส่วนไปสังกัดท้องถิ่นว่า "ต้องพิจารณาว่าท้องถิ่นใดบ้างที่เลี้ยงตัวเองได้ นอกจาก กทม. เพราะแค่ กทม.เอาดับเพลิงไปบริหารก็จะแย่แล้ว หากลองเอาตำรวจนครบาลไปให้ กทม.บริหาร รับรอง กทม.จะไม่มีเงินดูแลคนใน กทม. ต้องยอมรับไม่มีท้องถิ่นใดในประเทศไทยเลี้ยงตัวเองได้ ระบบเนชั่นแนลโพลิสเป็นระบบที่ดีที่สุด และเป็นที่ยอมรับ แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็กำลังทบทวนนำระบบนี้กลับมาใช้  โดยปรับจากระบบตำรวจท้องถิ่นมาเป็นตำรวจแห่งชาติ



 


ปัญหาท้องถิ่นของฝากรัฐบาลดูด้วยในฐานะที่ศึกษาเรื่องท้องถิ่น ขณะนี้ในภาครัฐบาล ก.พ. จำกัดบุคลากรในรัฐมีการเออร์ลี่รีไทร์ออกก่อนกำหนด แต่ท้องถิ่นรับไม่อั้น ภายใน 3 ปีข้างหน้าท้องถิ่นจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดเป็นเงินเดือนค่าจ้าง ตำรวจเองพยายามจำกัดบุคลากรให้น้อยลงทุกวัน งบประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ยังเป็นเงินเดือนตำรวจ ที่เหลือคือเงินลงทุนซึ่งน้อยมากเราก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ อีกหน่อยท้องถิ่นก็เป็นอย่างเดียวกันเลี้ยงตัวเองให้ได้แล้วค่อยเลี้ยงคนอื่น ถ้าท้องถิ่นยังต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อไหร่ตำรวจไปอยู่กับท้องถิ่นแผ่นดินนี้ลุกเป็นไฟ จะเอาขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ถามข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ว่าอยากไปอยู่ไหม ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งค่อยน่าฟังหน่อย ผมว่าหน้าที่ใครก็ควรทำให้ครบถ้วนอย่าดูหมิ่นถิ่นแคลนองค์กรอื่นส่วนราชการอื่น เราก็เป็นข้าราชการด้วยกัน การให้เกียรติ การยกย่องนับถือเป็นเรื่องที่ควรทำ" พล.ต.อ.อชิรวิทย์



 


ขณะที่นายสังศิตกล่าวถึงกรณี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบงานตำรวจ ตามการเสนอของกระทรวงยุติธรรมโดยมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีนายสังศิตเป็น 1 ในคณะทำงานว่า ทราบว่ามีคำสั่งออกมาแล้วแต่ยังไม่เห็นหนังสืออย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ประมาณ 4 สัปดาห์ได้คุยกับนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ โดยเสนอไปว่าควรตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นกลาง อาจประกอบด้วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า) และควรเร่งดำเนินทำงานให้เสร็จใน 3 เดือน ทั้งนี้ คณะทำงานคงต้องมีคนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยอยู่แล้ว



 


"ระบบปัจจุบันให้อำนาจคนเดียวหรือไม่กี่คน ดูแลตำรวจ 2.4 แสนนาย ทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ มีการวิ่งเต้นคดี วิ่งเต้นตำแหน่ง มีเส้นสาย มีคดีค้าง คดีที่อ่อนไหวก็ล่าช้า กรอบการทำงานในการปฏิรูปคือ ทำให้ตำรวจเล็กลง จากอำนาจรวมศูนย์ก็ให้มีการกระจายออกไป โดยให้ตำรวจนครบาลขึ้นกับผู้ว่าฯกทม. ส่วนตำรวจอีก 75 จังหวัดก็ขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ต้องมีกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ส่วนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจกองปราบปรามก็ให้ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนกลางเพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ทั้งนี้โครงสร้างที่ผมเสนอจะทำให้ตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้ง่ายขึ้น และการทุจริตของตำรวจ รวมทั้งระบบการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งจะทำได้ยากกว่าเดิม และต่อไปจะทำให้ยกเลิกการแต่งตั้งนายพลได้มหาศาล ประหยัดงบประมาณ สามารถนำภาษีไปสนับสนุนด้านการศึกษาได้ " นายสังศิตกล่าว



 


สมาชิก สนช.กล่าวว่า  การกระจายอำนาจแบบนี้ไม่ได้ให้อำนาจผู้ว่าฯเพียงคนเดียว แต่จะต้องมีคณะกรรมการเข้ามา เช่น ภาคประชาชน สภาทนายความ คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน


 


 



เรียบเรียงจาก: เว็บไซต์มติชน                                                            

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net