Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 16 พ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. เวลา 13.30 น. กลุ่มเสรีภาพต้านการเซ็นเซอร์ (Freedom Against Censorship Thailand -FACT) จัดแถลงข่าว เรื่อง การระดมรายชื่อผู้สนับสนุนเสรีภาพต้านการเซ็นเซอร์ และการเสวนาเรื่อง สื่ออินเตอร์เนทกับการฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516


 


นายซี.เจ. ฮิงเก้ (C.J. Hinke) ผู้จัดพิมพ์วรรณกรรมเด็ก และพนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้ร่างข้อเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการแบนหนังสือ อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า หนังสือที่ถูกแบนในไทยกลับเป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่ฉบับแปลกลับไม่มีการแบน นอกจากนี้ พบว่า ในตอนแรกหนังสือที่ถูกแบนอาจไม่มีใครสนใจอ่าน แต่หลังจากถูกแบนก็ยิ่งทำให้คนอยากอ่านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านแล้วก็พบว่า ไม่มีอะไรที่สร้างความเสียหายต่อสถาบัน หรือเป็นสิ่งที่น่ากังวล


 


ทั้งนี้ จากการทำวิจัยเมื่อเดือนมกราคม พบว่า หนังสือที่ถูกแบนเป็นหนังสือเกี่ยวกับอ.ปรีดี พนมยงค์ซึ่งเป็นบิดาของระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นผู้อภิวัฒน์การปกครอง 2475 และเป็นผู้ประศาสน์การของ มธ. ที่ต้องเสียชีวิตลงขณะลี้ภัยอยู่ต่างแดน นอกจากนี้ เมื่อค้นหาข้อมูลของอ.ปรีดีในอินเตอร์เนท ก็พบว่า มีการบล็อกเว็บไซต์ภาษาสเปนโดยขึ้นเป็นหน้าจอสีเขียว และแจ้งว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ต้องปิดเว็บ เพราะมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 


 


ต่อมาเมื่อเขาทำวิจัยเกี่ยวกับสงครามเวียดนามและอ.ปรีดีก็พบหน้าจอสีเขียวนี้อีก ซึ่งรบกวนการทำวิจัยทางวิชาการมาก จึงติดต่อไปทางผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ของมธ. เพื่อสอบถาม ซึ่งได้คำตอบว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ทำสัญญากับISPไว้ว่า จะไม่บล็อกเว็บใดๆ ปัญหาจึงไม่ใช่จุดนั้น จากนั้นได้โทรไปที่เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของ True เพื่อขอดูรายชื่อของเว็บที่ถูกบล็อก โดย 3 สัปดาห์ต่อมาได้โทรไปสอบถามอีกครั้ง ทาง True ได้อ้างว่า หน่วยงานราชการห้ามไม่ให้แจกลิสต์ เมื่อขอเอกสารห้ามของราชการ โดยให้เหตุผลว่า จะฟ้อง ทาง True จึงบอกให้เขาติดต่อไปที่กระทรวงไอซีที


 


เมื่อติดต่อไปที่กระทรวงไอซีที เจ้าหน้าที่ได้บอกให้เขาทำหนังสืออย่างเป็นทางการมา แต่เมื่อทำหนังสือไปปรากฏว่า ไอซีทีปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อเว็บที่ถูกบล็อก ทั้งยังไม่เคยตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษร


 


"การไม่ให้รายชื่อเหมือนกับพยายามซ่อนอะไรบางอย่าง ที่มากกว่าการบล็อกเว็บ"


 


เขาเกิดคำถามขึ้นหลายข้อ อาทิ กระทรวงไอซีทีใช้กฎหมายหรืออำนาจใดในการบล็อกเว็บไซต์ ซึ่งทุกครั้งที่เขาถามเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีใครตอบได้ นั่นแปลว่า ไม่มีกฎหมายรองรับการกระทำนี้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเมื่อเขาส่งคำถามไปที่กระทรวงไอซีที ก็ได้รับจดหมายตอบกลับจากนายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที ว่า สาเหตุที่บล็อกเว็บไซต์เนื่องจากเว็บเหล่านั้นขัดกับความสงบเรียบร้อยและวัฒนธรรมอันดีของบ้านเมือง


 


"แต่นั่นเท่ากับเขาใช้อำนาจนอกกฎหมาย ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 37 ซึ่งออกแบบเพื่อรักษาสิทธิ์ในการสื่อสาร" นายฮิงเก้ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังน่าตกใจที่ต่อมานายไกรสร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นผู้เขียนกฎหมาย


 


หลังได้รับจดหมายตอบ เขาเริ่มชวนเพื่อนร่วมงานเพื่อฟ้องไอซีที แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขาได้รับการแนะนำให้ตั้งกลุ่มและยื่นเรื่องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจปัญหานี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครมาร่วม


 


หลังการรัฐประหาร เขาคิดว่า ปัญหาที่มาจากกระทรวงไอซีทีซึ่งเกิดจากความคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะหมดไปด้วยและทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ทุกอย่างกลับแย่ลง โดยพบว่า มีเว็บถูกบล็อก 20 เว็บ ตามประกาศของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ให้กระทรวงไอซีทีบล็อกเว็บที่มีเนื้อหาขัดกับรัฐบาล ซึ่งน่าตกใจว่า รัฐบาลมองว่า อินเตอร์เนทเป็นภัยอย่างยิ่งต่อรัฐบาล ซึ่งเหตุนี้ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการบล็อกเว็บมาร่วมลงชื่อกับเขามากขึ้น 


 


ที่แย่คือเริ่มมีการบล็อก proxy server ซึ่งเป็นทางลัดเข้าไปยังเว็บที่ถูกบล็อก เริ่มบล็อกเว็บบอร์ด เช่น เว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยิ่งในช่วงหลังๆ เมื่อเข้าเว็บจะหาเว็บไม่เจอ ทั้งยังไม่ redirect ไปยังหน้าสีเขียวของไอซีทีที่จะแจ้งว่ามีการบล็อก แต่ทำให้เหมือนว่า คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้มีปัญหา


 


"บางเว็บไม่สมควรถูกบล็อกก็ยังบล็อก บางเว็บที่ไม่อยู่ในรายชื่อว่าถูกบล็อกก็ยังโดนบล็อก" นายฮิงเก้ กล่าวและว่า มีสถิติว่า ประเทศจีนใช้คนในรัฐบาลประมาณ 1 แสนคนทำหน้าที่เซ็นเซอร์เว็บไซต์ โดยมีเว็บที่ถูกเซ็นเซอร์ 2 พันล้านเว็บไซต์ ถามว่า ประเทศไทยต้องใช้ข้าราชการประจำเท่าไหร่ ต้องใช้งบประมาณเท่าใดในการเซ็นเซอร์ ในขณะที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถปิดเว็บได้หมด ทำไมจึงไม่ปล่อยให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่หลากหลายและมากพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง


 


ทั้งนี้ เขาจะเปิดให้มีการระดมชื่อผู้ที่เห็นด้วยกับการต่อต้านการเซ็นเซอร์ผ่านทาง petition online รวมทั้งสร้างเว็บไซต์ให้ข้อมูลเรื่องการบล็อกเว็บต่อไป


 


"ต่อไปคนก็จะมีภูมิต้านทานและเกิดการเรียนรู้เอง


ในเมื่อรู้ว่าข้อมูลในอินเตอร์เนทตรวจสอบไม่ได้


การรับข้อมูลเหล่านั้นก็อาจต้องใช้วิจารณญาณ"


 


ด้านนายจิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อ กล่าวว่า ผู้ใช้อินเตอร์เนทกตระหนักว่ามีการบล็อกเว็บ เช่น เว็บอนาจาร มานานแล้ว ในขณะเดียวกันก็รู้วิธีเข้าไปดูเช่นกัน ถ้าเช่นนี้แล้วจะมีการบล็อกเว็บไปทำไม


 


นอกจากการบล็อกเว็บไซต์แล้ว ยังมีการบล็อกโปรแกรม Tor ที่คิดค้นขึ้นโดย Electronic Frontier Foundation (EFF) ซึ่งใช้สำหรับเข้าถึงเว็บที่ถูกบล็อก อีกทั้งในระยะหลังนี้ ก็มีการบล็อกแบบหลบๆซ่อนๆ ทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เนทไม่รู้ตัวว่าถูกบล็อก ซึ่งนับว่าเลวร้ายกว่าเดิมเพราะทำให้คนไม่ตระหนักว่ามีการบล็อกเกิดขึ้น


 


จิตร์ทัศน์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการบล็อก โดยให้เหตุผลว่า การบล็อกไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะอย่างไรก็ไม่สามารถบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการบล็อกเว็บที่ให้บริการอีเมล เช่น ฮอทเมล เนื่องจากผู้ใช้อินเตอร์เนทก็จะส่งข้อมูลการเข้าถึงเว็บด้วยวิธีต่างๆ ถึงกันทางอีเมล


 


ต่อประเด็นสิทธิในการแสดงความเห็นและการถูกตรวจสอบได้นั้น เขามองว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระนั้นมาพร้อมกับความเป็นนิรนาม หากให้ตรวจสอบได้ก็ต้องยอมรับว่าการแสดงความเห็นอย่างอิสระจะหายไป ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีการหยิบยกมาพูดกันในประเทศไทย


 


ทั้งนี้ ได้เสนอทางแก้ว่า อาจทำได้โดยให้ผู้ใช้อินเตอร์เนทสามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องมีตัวตน แต่ให้มีองค์กรอิสระตรวจสอบแกะรอยได้ในกรณีที่มีปัญหาจำเป็น


 


อย่างไรก็ดี หากเปิดให้มีการแสดงความอย่างอิสระ แล้วเป็นการกระทบต่อบุคคลที่สาม เขามองว่า ถ้าเราเห็นเหตุการณ์อย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปคนก็จะมีภูมิต้านทานและเกิดการเรียนรู้เอง ในเมื่อรู้ว่าข้อมูลในอินเตอร์เนทตรวจสอบไม่ได้ การรับข้อมูลเหล่านั้นก็อาจต้องใช้วิจารณญาณ เพราะอาจเป็นข่าวลือ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ที่เราอ่านแล้วก็เชื่อในระดับหนึ่ง


 


สุดท้ายแล้ว หากจะต้องเซ็นเซอร์จริง ควรทำให้ระบบการเซ็นเซอร์เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ซิกแซก โดยแสดงรายการให้เห็นว่า มีการบล็อกเว็บใดบ้างและให้ตรวจสอบได้ว่า บล็อกเพราะอะไร ซึ่งอาจทำได้โดยการเปิดให้ดูหน้าแรกของเว็บที่ถูกบล็อกได้ เพราะหากสมเหตุสมผลก็เป็นหลักฐานที่เพียงพอและคนก็จะยอมรับได้มากกว่า นายจิตร์ทัศน์ กล่าว


 


"รัฐขาดความโปร่งใสในการกำกับดูแลสื่ออินเตอร์เนท


ไม่มีกติกาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมออกแบบ


และอำนาจทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงไอซีทีอย่างเต็มที่ ทั้งแบบเปิดเผยและปิดลับ"


 


นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า ก่อน 19 กันยา มีการพูดถึงกระแสบล็อกเว็บกันในช่วงต่อสู้กับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังไม่ชัดเจนว่า มีเว็บไซต์อะไรบ้างที่ถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ แต่หลังเหตุการณ์ 19 กันยา พบว่า แม้แต่สื่ออินเตอร์เนทที่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารชัดเจน แต่มีเวทีถกเถียงกันอย่างเปิดเผยก็ยังถูกมองเป็นเป้าหมาย


 


สถานการณ์การปฏิรูปสื่อนั้น สื่ออินเตอร์เนทเป็นแนวรบสำคัญมากขึ้นในเรื่องของเวทีประชาธิปไตยและพื้นที่สาธารณะ เพราะสื่อวิทยุโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาลเสรีภาพทางการเมืองก็ยังถูกคุมเหมือนเดิม แม้ไม่เซ็นเซอร์ตัวเองก็จะถูกเซ็นเซอร์โดยอำนาจรัฐ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร รัฐยิ่งควบคุมการให้ข้อมูลหรือการวิจารณ์มากขึ้น


 


ส่วนสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลัก ในบางสถานการณ์ที่สื่อเห็นด้วยกับอำนาจรัฐ เราเองก็ต้องการข้อมูลทางเลือกว่าได้ความเห็นต่างมีอะไรบ้าง จากข้อจำกัดตรงนี้ เมื่อต้องการข้อเห็นต่างจากอำนาจรัฐ คนจึงไปใช้เวทีอินเตอร์เนตมากขึ้นเพื่อเปิดชุมชน ถกเถียงแง่มุมที่แตกต่าง และค้นคว้าข้อมูล แต่ก็พบปัญหาว่า เว็บต่างๆที่เข้าไปใช้อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเว็บที่ให้ข้อมูลทางวิชาการก็ยังโดนเป็นรายแรกๆ


 


เธอมองว่า รัฐขาดความโปร่งใสในการกำกับดูแลสื่ออินเตอร์เนท ไม่มีกติกาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมออกแบบ และอำนาจทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงไอซีทีอย่างเต็มที่ ทั้งแบบเปิดเผยและปิดลับ ภายใต้ความไม่ชัดเจนในเรื่องกติกาที่ถูกจำกัดโดยรัฐนี้ ทำให้ภาคประชาสังคมต้องตั้งคำถามว่า รัฐจะรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร หากจะใช้มาตรฐานอินเตอร์เนท เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ เมื่อสื่อหนังสือพิมพ์ไม่ควรถูกปิดกั้นทางการเมือง อินเตอร์เนทก็ควรอยู่ในระดับนั้นเช่นกัน อินเตอร์เนทที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ควรถูกเซ็นเซอร์โดยวัฒนธรรมแบบเดียวกับวิทยุโทรทัศน์ที่ถูกควบคุมโดยรัฐมากว่าหลายสิบปี แต่ความลงตัวจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกัน


 


ยกตัวอย่างกรณีของหนังสือพิมพ์ เมื่อเราเห็นว่า รัฐไม่ควรเข้ามาควบคุม ประชาสังคมก็มีการสร้างกติกาควบคุมกันเอง มีการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ขึ้น ดังนั้น หากเห็นว่า รัฐไม่ควรเข้ามาควบคุมสื่ออินเตอร์เนท ก็อาจประยุกต์โดยสร้างวัฒนธรรมแบบนั้นขึ้นมาบ้าง เพื่อให้สื่ออินเตอร์เนทนำไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย


 


ต่อวิสัยทัศน์ของรศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที่ว่า ให้พาคนที่ชอบสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่มาลองดูภาพลูกสาวของตัวเองถูกตัดต่อภาพโป๊ไปลงเว็บไซต์ และถามว่ารู้สึกอย่างไร ต้องเจอกับตัวเองก่อนถึงรู้ ดังนั้นจึงต้องขจัดเว็บแบบนั้นให้หมด เธอเห็นว่า ถ้ารัฐใช้หลักในการเซ็นเซอร์ทุกสิ่งทุกอย่างก่อน โดยบอกว่าเพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่ดี จะไปกระทบเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะสิทธิเสรีทางการเมืองด้วย


 


เธอมองว่า หากสื่ออยู่บนฐานของจรรยาบรรณการกำกับดูแลที่เกิดจากการกำหนดร่วมกันจะแก้ปัญหาได้ อะไรที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีมาตรการทางกฎหมายจัดการต่อไป เช่น บางเว็บที่มีการขายเด็ก ผู้หญิงก็ผิดกฎหมายอาญาก็ดำเนินการเป็นคดีไป ไม่ใช่ขี่ช้างจับตั๊กแตน โดยเหวี่ยงแหเพื่อกันความชั่วร้ายไม่ให้หลุดรอด แต่ไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก


 


จากนั้น เวลา 17.00น. กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 

 


ข่าวประกอบ


จับมือตั้ง "กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย" เรียกร้องหยุดปิดกั้นการแสดงความเห็น


  


'สิทธิชัย โภไคยอุดม' เขียนแผน โครงการไอซีทีไทย ยุครัฐปฏิรูป -ไทยรัฐ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net