คำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจัดตั้งขึ้นในปี 2546

 

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่ทางกระทรวงฯ เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชน ทางกระทรวงฯ ได้ทำการใช้อำนาจรัฐในการปิดเว็บไซต์ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม มีภาพลามกหรือข้อมูลที่ผิดกฎหมาย โดยในเดือนมกราคม 2547 ทางกระทรวงได้ทำการปิดเว็บไซต์ถึง 1,247 แห่ง โดยยูอาร์แอล (URL - Uniform Record Locator) หรือหมายเลขไอพี (IP - Internet Protocol)

 

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่มีความสามารถทางเทคนิคในการที่จะไปปิดกั้นการเข้าสู่เว็บไซต์ ดังนั้นวิธีการที่ทางกระทรวงฯ ทำคือ การส่งจดหมายเวียนอย่างไม่เป็นทางการไปตามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ของไทยและหน่วยงานเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายในสถาบันการศึกษาต่างๆ

 

โดยภายใต้ใบอนุญาตการประกอบกิจการของไอเอสพี ที่ออกโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม ไอเอสพีจะต้องทำตามที่กระทรวงร้องขอ โดยมีมาตรการลงโทษในการไม่ปฏิบัติตามที่ร้องขอคือ การจำกัดแบนด์วิธ (ความกว้างของช่องข้อมูล) ซึ่งส่งผลสู่การจำกัดรายได้ของไอเอสพี หรืออาจจะถูกยกเลิกใบอนุญาต

 

การสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่อง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของไทยกับโลกภายนอก ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าร่วมมือการปิดกั้นการเข้าสู่เว็บไซต์ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย อย่างไรก็ดีเนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด ทำให้เราไม่แน่ใจนักในเรื่องกระบวนการ

 

ถึงแม้ว่าทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะได้ให้ข่าวในบทความ ThaiDay ในหนังสือพิมพ์ The International Herald Tribune เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ว่าทางกระทรวงฯ มีแผนที่จะปิดเว็บไซต์เพิ่มเติมอีกกว่า 10,000 แห่ง ที่เข้าข่ายเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร แต่ว่าข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าเว็บไซต์ 32,467 แห่ง ได้ถูกปิดเนื่องจากเป็นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย นับแต่การเซ็นเซอร์เริ่มขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2545 โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดหมวดหมู่และระบุว่า มากกว่าครึ่งของเว็บไซต์ที่ถูกปิดเป็นเรื่องภาพลามก และอีก 3,571 เว็บไซต์หรือร้อยละ 11 ถูกจัดอยู่ในเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

 

ในขณะที่มากกว่าร้อยละ 76 ของเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นนั้น อยู่ในประเภทของภาพลามกอนาจาร หรือที่เกี่ยวกับธุรกิจโสเภณีและการขายบริการทางเพศ เราในฐานะประชาชนควรได้รับการชี้แจงที่เต็มรูปแบบอย่างชัดเจนและโปร่งใสจากทางกระทรวงฯ โดยเฉพาะในเรื่องเว็บไซต์ที่ถูกปิดจำนวนที่เหลือที่ว่ากระทบต่อความมั่นคงนั้นกระทบต่อความมั่นคง ถึงขนาดในระดับที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยคุ้มครองประชาชนจากสิ่งนั้นหรือ

 

เป็นที่ชัดเจนกับประชาชนว่า เว็บไซต์บางแห่งที่ถูกประกาศว่าปิดนั้น ไม่ได้ถูกปิดแต่ประการใด ในขณะที่เว็บไซต์จำนวนมากไม่ได้อยู่ในรายการที่ถูกสั่งปิดกลับถูกปิด

 

นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ทางกระทรวงฯ ได้ทำการปิดกระดานแสดงความคิดเห็น ไม่ว่ากระดานนั้น จะมีข้อความที่รุนแรงกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ก็ตาม เช่น ประชาไท, พันทิป และ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เราเห็นว่าการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารนั้น เป็นเรื่องที่น่าเย้ยหยันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการกระทำของกระทรวงแห่งข้อมูลข่าวสาร ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้นำเรื่องการปิดเว็บไซต์ร้องต่อศาล (คดีหมายเลขที่ 1811/2549) และทางศาลได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว บังคับให้ทางกระทรวงฯ หยุดการปิดเว็บไซต์ดังกล่าว ต่อมาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายไกรสร พรสุธี ผู้มีบทบาทสำคัญในการปิดเว็บไซต์ได้รับการแต่งตั้งเข้าร่วมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

ทางกระทรวงฯ ได้ประกาศว่า เว็บไซต์ที่จะถูกพิจารณาสั่งปิดจะถูกจัดออกเป็น 9 ประเภท จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 รายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดนั้นไม่ได้เปิดเผยโดยทางกระทรวงฯ แต่โดยทางไอเอสพีรายหนึ่ง โดยให้ข้อมูลว่า ไม่มีเว็บไซต์ใดเข้าประเภท 1-3 แต่ว่ามีเว็บไซต์สองสามแห่งที่เข้าประเภท 4 และ 5 อย่างไรก็ดีการจัดประเภทดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน

 

โดยก่อนวันที่ 13 ตุลาคม นั้นการจัดประเภทนั้นค่อนข้างที่จะชัดเจน แต่ปัจจุบันเกิดกรณีการทับซ้อนขึ้น ทำให้เว็บไซต์ที่ถูกพิจารณาจะถูกนำไปจัดเข้าประเภทไหนก็ได้

 

และเป็นตามที่คาดการณ์ว่าประเภทที่ใหญ่สุดนั้นคือ ประเภทที่ 6 ที่เกี่ยวกับเรื่องลามกอนาจารและสิ่งล่อลวงอื่นๆ ภาพลามกนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ว่าการเผยแพร่ภาพดังกล่าวนั้นปรากฏในทุกห้างสรรพสินค้าและถนนหนทาง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

กระบวนวิธีการที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้อยู่นั้น คือการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานตำรวจสากล เพื่อที่จะให้ไปดำเนินการเอาส่วนที่ผิดกฎหมาย ออกจากเว็บไซต์ในต่างประเทศที่ตัวเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ ซึ่งวิธีการนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแต่อย่างใด ส่วนวิธีการที่ทางกระทรวงฯ ใช้ในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะไปหยุดการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารในประเทศไทยหรือที่ไหนๆ ก็ตาม เพราะว่าในขณะนี้มีเว็บไซต์มากกว่าสองพันล้านเว็บไซต์ และมีเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับภาพอนาจารอย่างต่ำกว่าสิบล้านเว็บไซต์ จึงมีคำถามว่า ก) การที่จะไปปิดกั้นเว็บไซต์นับล้านนั้น ทางกระทรวงมีความสามารถที่จะทำได้หรือ ข) มันคุ้มค่ากับจำนวนค่าใช้จ่ายมากมายที่จะเสียไปหรือ ค) หรือเป็นแค่การสร้างกระแสเพื่อปกปิดความเลวร้ายด้านการเมือง

 

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ทางกระทรวงฯ (โดยนางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงฯ) กล่าวว่าประเทศไทยนั้นติดอยู่อันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่มีเว็บไซต์ภาพลามกมากที่สุด แต่ไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลทางสถิติหรือรายละเอียดของคำกล่าวอ้างนั้น นอกจากนี้ทางกระทรวงฯ ยังได้สรุปออกมาว่า วิธีการแก้ไขคือ จะต้องมีการออกกฎหมายและกฎกระทรวงมากยิ่งขึ้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ทางกระทรวงฯ (โดยนายสุชัย เจริญรัตนกุล รักษาการรัฐมนตรี) ได้แสดงความกังวลในเรื่องที่อินเทอร์เน็ตเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมแก่เยาวชน ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมได้

 

เราคงจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า การพนันก็เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยทางกระทรวงฯ ได้จัดให้เว็บไซต์เหล่านี้ อยู่ในรายการที่ต้องถูกสั่งปิดในประเภทที่ 6 ที่ออกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549

 

ในประเภทที่ 7 ใช้กับพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ที่ปกปิดตัวผู้ใช้ (Anonymous Proxy Server) ซึ่งมาตรการนี้ใช้ได้ผลเป็นอย่างมากในประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ในการที่จะเลี่ยงการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ประเภทเดียวกันกับที่เราเห็นจากกระทรวงฯ มาตรการเหล่านี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นนโยบายสังคมที่ขัดแย้งกับมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม เมื่อเร็วๆ นี้คือในเดือนตุลาคม 2549 ทางกระทรวงฯ ได้ร้องขอให้กูเกิลในไทย และกูเกิลในสหรัฐอเมริกาทำการเซ็นเซอร์ด้วยตนเอง โดยในขณะนี้ทางกูเกิลได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อดูว่าการปิดกั้นนั้นจะมีประสิทธิภาพเพียงใดกับหน้าเว็บที่ถูกทดบันทึกไว้ (หน้าแคช) จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ทางกูเกิลได้นำเสนอแก่กระทรวงฯ ว่า ทางบริษัทจะทำการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ค้นหาโดยการใช้คำสำคัญ ซึ่งเป็นวิธีการที่บริษัทใช้อยู่กับกรณีการปราบปรามความเห็นทางการเมืองในประเทศจีน

 

ในประเภทที่ 8 เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ที่ว่าด้วยการเมืองไทย โดยจะเน้นในเรื่องปัญหาทางใต้ โดยเฉพาะกรณีที่องค์กรปลดปล่อยปัตตานี หรือ พูโล คำถามคือ ถึงแม้ว่าพูโลจะเป็นองค์กรที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการถูกกฎหมายหรือที่จะไปปิดช่องทางการเรียกร้องของพูโลต่อสหประชาชาติ นี่จึงเป็นนโยบายสาธารณะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และยังละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 37 และพระราชบัญญัติกิจการโทรคมนาคมอีกด้วย

 

ประเภทที่ 9 เป็นเว็บไซต์ที่มีข้อความเกี่ยวกับราชวงศ์ไทย เนื่องจากเราไม่สามารถที่จะเข้าไปดูข้อความในเว็บไซต์เหล่านั้น เราอาจจะดูจากการกระทำของกระทรวงฯ ที่เคยสั่งปิดเว็บไซต์ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเยล โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เนื่องจากไม่ปรากฎว่ามีข้อความหมิ่นต่อพระราชวงศ์แต่อย่างใด อีกทั้งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีพระราชวงศ์ไทยเป็นจำนวนมากเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

 

เป็นที่น่าสนใจว่าจากเว็บไซต์ทั้งหมด 50 แห่งในประเภท 8 และ 9 มีเพียง 7 เว็บไซต์เท่านั้นที่ยังเปิดอยู่ โดยเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ไทย แต่เป็นเรื่องการวิจารณ์อดีตรัฐบาลไทยรักไทยและอดีตรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับสถานการณ์นองเลือดในสี่จังหวัดชายแดนใต้ และข้อความที่เกี่ยวกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ทางกระทรวงฯ ได้กล่าวอ้างว่าทางหน่วยงานได้ทำการปิดกั้นน้อยกว่า 20 เว็บไซต์โดยคำสั่งที่ 5/2549 ใครในรัฐบาลขณะนี้ที่ออกคำสั่งให้ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทำการปิดกั้นเว็บไซต์เหล่านั้น

 

โดยปกติเมื่อผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยพยายามที่จะเข้าเว็บไซต์ที่ถูกปิดนั้น คำสั่งดังกล่าวจะถูกส่งมายังหน่วยงานตรวจสอบไซเบอร์ / ไซเบอร์คลีน ของกระทรวงไอซีที ทางกระทรวงไอซีทีอ้างว่าการปิดกั้นไม่ได้ทำเป็นความลับ เพราะผู้ใช้จะเห็นประกาศการปิดกั้นเมื่อพยายามค้นหาเว็บไซต์ที่ถูกปิด หลังจากที่อ้างว่าการปิดกั้นไม่ได้ทำเป็นความลับ ทางกระทรวงฯยังปฏิเสธที่จะให้รายชื่อของเว็บไซต์ที่ถูกปิด โดยอ้างว่ารายชื่อดังกล่าว อาจถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เราขอยืนยันว่าถ้าทางกระทรวงฯ ไม่เปิดเผยรายชื่อเว็บไซต์ทั้งหมดแก่สาธารณชนที่ทางกระทรวงได้ร้องขอให้ทางไอเอสพีปิดกั้นนั้น เท่ากับว่าจริงๆ แล้ว มันก็คือความลับนั่นเอง

 

อย่างไรก็ดี วิธีการของทางกระทรวงฯ ที่ไม่ใช่การกระทำโดยตรงเหมือนวิธีการของวันที่ 13 ตุลาคม ผู้ใช้จะได้รับข้อความการปฏิเสธการให้บริการเมื่อมีการพยายามที่จะเข้าเว็บไซต์ที่ถูกปิดนี้ รวมถึง Access Denied (policy_denied) (improper/obscene website), Network Error (tcp_error) (Operation timed out) และข้อความผิดพลาดทางเบราว์เซอร์ เช่น Can't find the server, Can't open the page (กรณีที่เซิร์ฟเวอร์ไม่ดี) และ Can't open the page (ในกรณีที่เซิร์ฟเวอร์หยุดการส่งข้อมูลกลับ)

ข้อความเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้เชื่อว่าปัญหานั้นเกิดจากไอเอสพี หรือเว็บเบราว์เซอร์ มากกว่าที่จะเป็นการปิดเว็บไซต์

 

คำถามสำคัญที่ยังไม่ได้รับคำตอบมีดังต่อไปนี้

 

1. กรอบแห่งกฎหมาย กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือคำสั่งทางปกครองของไทยฉบับใดที่ให้อำนาจกระทรวงฯในการที่ปิดเว็บไซต์ในประเทศไทย

 

ถ้าไม่มีกรอบกฎหมายดังกล่าว ถือว่ากระทรวงฯได้กระทำการละเมิดต่อมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญไทยปี 2540 ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามกระทำการใดๆ ที่ไปขัดขวางการติดต่อสื่อสาร "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจ... สิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"

 

ทางกระทรวงได้ทำการว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อทำการวิจัยหาวิธีการที่จะใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการบังคับการปิดเว็บไซต์ ความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษานั้น ทางกระทรวงฯ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์นั้นไม่เคยได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล การสื่อสารเสรีนั้นได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญไทยปี 2540 อันเป็นกฎหมายหลักพื้นฐาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำลังพยายามที่จะกลับและทำลายหลักการดังกล่าวโดยมิชอบ

 

2. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ปฏิเสธที่จะเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการปิดกั้นเว็บไซต์ ดังนั้นใครคือบุคคลที่ทำการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว

 

3. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังปฏิเสธที่จะอธิบายคำจำกัดความ เช่น "ไม่เหมาะสม", "ลามก" หรือ "ผิดกฎหมาย" คำว่า "ไม่เหมาะสม" นั้นเป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับการจำกัดความของแต่ละบุคคล ส่วนคำว่า"ลามก" ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของสังคมนั้นๆ เช่น เป็นเวลาหลายปีที่ภาพของสะดือเคยถูกพิจารณาว่าเป็นภาพลามกในญี่ปุ่น คำว่า "ผิดกฎหมาย" เป็นคำกล่าวอ้างที่รุนแรงที่จะประกาศว่าข้อความในเว็บผิดกฎหมาย ทางกระทรวงฯจะต้องสามารถที่จะแสดงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียก่อนที่จะถือว่าสิ่งนั้นละเมิดกฎหมาย ส่วนคำว่า "ไม่สมควร" นั้นไม่มีผลในทางกฎหมาย

 

4. บุคคลใดในกระทรวงฯ ที่มีอำนาจในการพิจารณาว่าเว็บไซต์ไหนควรจะปิด

 

5. การพิจารณาว่าเว็บไซต์ไหนควรปิดหรือไม่นั้น ทำโดยบุคคลๆ เดียวหรือเป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบพิจารณา และกำหนดนโยบาย

 

6. บุคคลใดในกระทรวงฯที่มีอำนาจเหนือบุคคลหรือคณะกรรมการ และมีอำนาจตัดสินเป็นครั้งสุดท้ายว่าเว็บไซต์ไหนควรถูกปิด

 

7. และบุคคลใดจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในกระทรวงฯ สำหรับการตรวจตราเว็บไซต์ต่างๆ นี้

 

8. การปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่ถามข้างต้นของกระทรวงฯ จะเป็นการชัดเจนว่าขัดต่อพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของรัฐ พ.ศ.2540

 

ตัวอย่างที่ดีคือกรณี IPIED Internet Server ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าสัญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำกับบริษัทสามารถ จะระบุชัดเจนว่าห้ามการปิดกั้นเว็บไซต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ทางบริษัทสามารถได้ติดต่อกับทาง IPIED ว่าจะทำการปิดกั้นเว็บไซต์ตามคำขอของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำมาซึ่งการละเมิดข้อสัญญากับมหาวิทยาลัย

 

9. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยังปฏิเสธที่จะระบุเจาะจงตำรวจไทยและตำรวจระหว่างประเทศ กฎเกณฑ์และหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนร่วมในการปิดกั้นเว็บไซต์และรูปแบบของการร่วมมือดังกล่าว

 

มีเว็บไซต์แบบไม่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่อนุญาตให้ใครๆ ก็ได้เอาข้อมูลมาแสดงไว้โดยไม่มีข้อจำกัด เช่น เว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษจำพวก Angelfire, Geocities และอื่นๆ ที่ให้บริการลักษณะนี้ ซึ่งรองรับหน้าเว็บนับล้าน ซึ่งแต่ละอันสามารถเข้าไปชมได้ด้วย URL และ IP address ส่วนตัว การที่จะทำการปิดกั้นโดเมนเหล่านี้ทั้งหมดเท่ากับว่าเป็นการปิดระบบอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของไทย

 

วิธีการของกระทรวงฯ คือปิดโดเมนทั้งหมดเพื่อที่จะปิดหน้าเว็บที่มีปัญหาอันเดียว กระทรวงจะต้องทำการพิจารณาอย่างมีสติว่าจะอนุญาตให้คนไทยตัดสินว่าสิ่งใด ไม่ดี สำหรับพวกเขาในระดับไหน

 

10. กระทรวงฯ จะต้องแยกเหตุผลการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตพวกกระดานแสดงความคิดเห็น โดยต้องระบุอย่างชัดเจนถึงเหตุผลในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของสาธารณะ

 

11. เนื่องจากเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลอย่างกูเกิล กำลังถูกร้องขอให้ปิดกั้นเว็บไซต์โดยการใช้คำสำคัญ จะต้องระบุให้ชัดว่า คำสำคัญเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

 

กระบวนการเหล่านี้มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด และการใช้อำนาจในทางที่ผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น มีบริษัทจำนวนมากที่อาจจะต้องการที่จะทำการกีดกันคู่แข่งทางธุรกิจบางราย หรือบุคคลใดบางคนในสาธารณะด้วยความริษยา เป็นการง่ายดายอย่างมากที่จะร้องต่อทางกระทรวงฯ ให้ทำการปิดกั้นเว็บไซต์ซึ่งการกระทำลักษณะนี้จะเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ในการที่จะมีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเนื่องจากการร้องขอเช่นนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการเปิดเผยตัวตนแต่อย่างใด

 

เป็นเวลานานแล้วที่ทางไซเบอร์คลีน / ไซเบอร์อินสเป็กเตอร์ ไม่เปิดโอกาสที่จะร้องขอต่อทางกระทรวงฯ ให้ถอนการปิดกั้นเว็บไซต์ อย่างไรก็ตามในขณะนี้ บุคคลทั่วไปสามารถที่จะร้องขอให้มีการถอนการปิดกั้นแต่ว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นก็ช่างยากเย็นนักที่จะทำ นอกจากนี้ผู้ร้องขอให้เปิดเว็บไซต์ยังจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและอีเมลด้วย ส่งผลให้การปิดกั้นทำได้ง่ายในขณะที่การเพิกถอนการปิดกั้นนั้นทำได้ลำบากมาก

 

เราคาดว่าอย่างน้อยร้อยละ 40 ของนักศึกษาไทยที่จะไม่สามารถค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์หรือรายงานทางวิชาการที่มีประสิทธิภาพเพราะผลจากการปิดกั้นเว็บไซต์ นี่หมายความว่าบัณฑิตเหล่านี้จะไม่สามารถที่จะไปแข่งขันกับบัณฑิตต่างชาติได้ เราควรจะรับรู้ว่าประเทศไทยนั้นขาดแคลนห้องสมุดเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด อินเทอร์เน็ตสำหรับหลายคนจึงเป็นช่องทางเดียวในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อทำการวิจัย

 

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนในไทยต้องเผชิญกับปัญหาเว็บไซต์นับร้อยถูกปิดโดยไม่มีเหตุผลอธิบายที่แน่ชัด สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ การแข่งขันทางธุรกิจ และเสรีภาพสื่อมวลชน รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ ผลโดยตรงที่เกิดขึ้นคือสาธารณชนไม่มีช่องทางที่จะได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์จากมุมมองของโลกภายนอก

 

ทางกระทรวงได้ทำการปิดกั้นเว็บไซต์ ของสองมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา คือ Yale และ Tufts ดูเหมือนว่าเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัย Yale จะถูกถอดจากการปิดกั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่จะถือได้ว่าเป็นคุณประโยชน์แก่สังคมไทย นักเรียน และนักศึกษา ในการที่ไปปิดกั้นเว็บไซต์ของหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก ที่มีสมาชิกในราชวงศ์เป็นศิษย์เก่า

 

ถ้าทางกระทรวงฯ เชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้ เป็นเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนชาวไทย ที่เว็บไซต์บางแห่งจำเป็นที่จะต้องถูกปิดกั้นไม่ให้คนไทยได้เห็น ทั้งๆ ที่เว็บไซต์เหล่านี้สามารถเข้าชมได้อย่างง่ายดายจากต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางกระทรวงฯ จะต้องทำให้วิธีการเหล่านี้โปร่งใสและสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยโดย 1) เปิดเผยว่าใช้กฎหมายอะไร 2) เปิดเผยว่าใช้เหตุผลอะไร 3) เปิดเผยรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้น

 

สิ่งที่สำคัญที่สุด ของนโยบายการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือการปิดเว็บไซต์ที่มีข้อความดูหมิ่นพระราชวงศ์ เป็นที่แน่แท้ว่าพวกเรานั้นมีความเคารพรักต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดีจากการศึกษาการจัดประเภทเว็บไซต์ของกระทรวงฯ ไม่มีเว็บไซต์ไหนเลยในประเภท 9 ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ แต่ขอถามว่าข้อความในเว็บไซต์เหล่านี้ จะส่งผลต่อความจงรักภักดีของเราต่อราชวงศ์จริงหรือ

 

ข้อแก้ตัวอันดับที่สอง ที่ทางกระทรวงฯ ใช้ในการเซ็นเซอร์คือเรื่อง ภาพลามกอนาจาร แต่เราคิดว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ครอบคลุม และทางตำรวจก็มีอำนาจที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้ โดยใช้กฎหมายเป็นหลัก ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เรารู้สึกว่าทางที่ดีสังคมไทยควรได้รับการบอกกล่าวว่า เรื่องปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของทางกฎหมายและปัญหาทางสังคม ไม่ใช่เรื่องการเซ็นเซอร์ปิดกั้นอินเทอร์เน็ต

 

ถ้าเราสามารถขจัดเหตุผลทั้งสองอัน ที่นำมาอ้างใช้ในการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต เหตุผลเดียวที่ยังเหลืออยู่คือ การปิดกั้นโดยเหตุผลเรื่องการเมือง เราถือว่าเหตุผลทั้งสองที่กล่าวอ้างข้างต้นนั้น จริงๆแล้ว เปรียบเสมือนการสร้างกระแสปกปิดเรื่องการควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั่นเอง

 

เราจึงต้องการที่จะสามารถที่จะได้รับข้อมูล ที่มีการแลกเปลี่ยนอย่างมีอิสระทางความคิดและความคิดเห็น

 

การปิดกั้นเว็บไซต์ หรือในทางที่จริงแล้วคือ การที่รัฐบาลทำการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งปกติจะเป็นวิธีการที่ใช้โดยรัฐบาล ที่รู้สึกว่าตนไม่มั่นคงในการที่จะพยายามควบคุมประชาชน โดยปกติแล้ววิธีการเซ็นเซอร์เช่นนี้ จะใช้กับความคิดเห็นที่ต่อต้านรัฐบาล หรืออาจส่งผลกระทบต่อฐานอำนาจ เฉกเช่นที่ใช้ใน พม่า หรือ จีน หรือ เกาหลีเหนือ ซึ่งที่จริงแล้วก็คือสิ่งเดียวกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา แต่อยู่ในรูปที่เรียกว่า พระราชบัญญัติรักชาติ หรือ Patriot Act ประเทศไทยไม่ใช่พม่า หรือ จีน หรือ เกาหลีเหนือ (ตอนนี้) บางทีคำกล่าวของอองซาน ซูจี ดูจะเหมาะสมกับเรื่องนี้มากที่สุด "เราไม่มีสิ่งใดที่จะต้องกลัว เว้นแต่ตัวความกลัวเอง"

 

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหน่วยงานเพื่อประชาชน และบุคลากรก็เป็นผู้ที่ทำงานให้ประชาชน ประชาชนคนไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของกระทรวงฯ ดังนั้นเราจึงมีสิทธิพื้นฐานที่จะรู้

 

ถ้าเรายอมให้สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยเหล่านี้มาค่อยๆ ลดทอนสิทธิเสรีภาพของเราโดยการเซ็นเซอร์ปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ในที่สุดเสรีภาพอื่นๆ ของเราก็อาจจะถูกลดทอนลงไปด้วยในที่สุด เราเชื่อว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต เป็นการพยายามที่น่าหวาดหวั่นของพวกเหล่าข้าราชการที่รับใช้นักการเมือง ในการที่จะทำลายเสรีภาพทางความคิดและความเห็นของเรา

 

ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เป็นทางแยกที่สำคัญของประวัติศาสตร์ เราสามารถที่จะเลือกเสรีภาพและการสร้างสรรค์ หรือเราจะเลือกการปกปิดและการกดขี่

 

อินเทอร์เน็ตในขณะนี้เป็นที่เดียวที่ความเห็นทั้งหมดต่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นการสมควรหรือที่จะมีบุคคลใดมาตัดสินความเห็นเหล่านี้ เราไม่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตสมควรที่จะมีการปกปิด ปิดกั้น หรือจัดการในทุกรูปแบบ

 

การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ไม่สมควร น่ารังเกียจ และผิดกฎหมายในประทศไทยอันเป็นประชาธิปไตย

 

เราขอร้องให้ท่านเข้ามาทำหน้าที่ และ ตรวจสอบการทำลายสิทธิมนุษยชนขึ้นพื้นฐานและเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทยอย่างชัดเจนครั้งนี้ อย่างละเอียดถี่ถ้วนและสมบรูณ์ที่สุด

 

ขอบคุณ

 

CJ Hinke, Thammasat University

Roby Alampay, Southeast Asian Press Alliance

Dr. Charnvit Kasetsiri, Thammasat University

Pro.Dr.Nidhi Eoseewong, Midnight University

Dr. Chintana Sandilands, Australian National University 

Chiranuch Premchaiporn, Prachatai

Easterwood Press, Canada 

Dr. Giles Ungpakorn, Chulalongkorn University 

Dr. Jittat Fakcharoenphol, Kasetsart University

Junya Yimprasert, Thai Labour Organisation

Kanet Kongsaiya, Norway

Dr. Kasian Tejapira, Thammasat University Pravit Rojanaphruk, The Nation

Jan McGirk, Open Democracy

Dr. Rangsun Thanaporpun, Thammasat University

Dr. Craig J. Reynolds, Australian National University

Dr. Rom Hiranpruk, National Science & Technology Development Agency

Sombat Boonngamanong, 19sep.net 

Dr. Somkiat Tangnamo, Midnight University

Southeast Asian Press Alliance

Supinya Klangnarong, Campaign for Popular Media Reform (CPMR)  The Office of Human Rights and Social Development,Mahidol University

Sirote Klampaiboon, East-West Center, University of Hawaii at Manao,

Thai Labour Campaign

Dr. Thongchai Wichakul, University of Wisconsin 

John Twigg, Publisher, Metro Magazine

Mr. Suthep Wilailerd, Campaign for Popular Media Reform (CPMR)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท