อดีตคนงาน "ฝุ่นฝ้าย" ปัดคำท้านายจ้างให้ตรวจใหม่ เผยหมอยันเป็นโรค แต่กลัวขึ้นศาล

ประชาไท - 18 พ.ย. 2549 คดีอดีตคนงาน 38 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ฐานละเมิดทำให้ลูกจ้างป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย หรือบิสซิโนซิส เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 38 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าเสียหายคนป่วยเป็นรายๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 46 แต่จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 49 ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางสืบข้อเท็จจริงใหม่อีกครั้ง นัดแรกในวันที่ 17 และ 27 พ.ย. 49 ทั้งนี้ นับแต่ยื่นฟ้องคดีจนถึงปัจจุบันซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด รวมแล้วเป็นเวลา 11 ปี

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 15 ศาลแรงงานกลางสืบพยานจำเลย เนื่องจากศาลฎีกามีคำสั่งให้สอบข้อเท็จจริงใหม่ใน 3 ประเด็น คือ 1.ผ้าปิดจมูกที่จำเลยที่ 1 จัดให้ลูกจ้างได้มาตรฐานตามที่ทางราชการกำหนดหรือไม่ 2.มีการออกระเบียบและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่ผ้าปิดจมูกในขณะทำงานหรือไม่ และ 3.อายุความของคดี

 

กรณีที่ฝ่ายจำเลยได้มีคำท้าในนัดที่แล้วให้โจทก์ทั้ง 38 คน ไปตรวจใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากแพทย์มีคำวินิจฉัยว่าเป็นโรคบิสซิโนซิส จะจ่ายเงินให้ 2 เท่าของจำนวนที่ศาลแรงงานกลางเคยตัดสินให้โจทก์ทั้ง 38 คนชนะคดี นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลแรงงานกลาง สอบถามโจทก์ทั้ง 38 คนเป็นรายคน ทั้งนี้ โจทก์ทั้ง 16 คนที่มา ไม่รับคำท้าดังกล่าว ส่วนโจทก์อีก 22 คนที่ไม่ได้มา จะมีการสอบถามในนัดหน้า โดยนางสาวจรรยา สุขใหญ่ โจทก์ที่ 9 กล่าวว่า จะไม่ไปตรวจ เพราะทราบอยู่แล้วว่าเป็นโรคบิสซิโนซิส และเรื่องนี้ก็ได้มีการสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว

 

นายเดือน สีคำดอกแค โจทก์ที่ 20 กล่าวว่า ไม่ตกลงรับคำท้า เนื่องจากไปรักษาหลายแห่ง แพทย์ก็บอกว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา เมื่อไปตรวจกับ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล เธอจึงบอกว่า เป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย อย่างไรก็ตาม เขาออกจากโรงงานมานานแล้ว ไม่ได้สัมผัสฝุ่นฝ้ายอีก และได้รักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว ทั้งนี้ เขาไม่แน่ใจว่า หมอในประเทศจะตรวจพบโรคนี้ไหม เนื่องจากรพ.บางแห่งยังไม่รู้จักโรคนี้

 

นางเตือนใจ บุญที่สุด โจทก์ที่ 21 กล่าวว่า สามีของเธอเสียชีวิตไปแล้ว โดยแพทย์ของกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยว่าเป็นบิสซิโนซิส ทั้งนี้ แม้ว่าพวกเธอจะเดือดร้อนเรื่องเงิน แต่เธอก็ต้องการคำพิพากษาเป็นเครื่องยืนยันมากกว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่ไปตรวจและพบว่าเป็นโรค จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยเอ่ยคำว่า เสียใจ หรือดำเนินการอะไรเลย นอกจากนี้ จากการไปตรวจโรคหลายครั้ง แพทย์ต่างก็ยืนยันว่า เป็นโรคบิสิโนซิส แต่แพทย์ก็ได้ขอร้องว่าอย่าเอาหมอไปพัวพันด้วย เธอจึงไม่มีศรัทธาในตัวแพทย์อีก

 

เมื่อโจทก์ไม่ตกลงตามคำท้า ศาลจึงให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อ โดยเบิกความสืบจำเลย นายชูชีพ เกื้อกาญณ์ ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่สอง กล่าวว่า มีการแจกผ้าปิดจมูกให้ลูกจ้างมานานแล้ว แต่พบเอกสารในปี 2518 ในข้อตกลงสภาพการจ้างงาน ทั้งนี้ จากการสอบถาม ได้ข้อมูลว่า ก่อนปี 2518 ผ้าปิดจมูกเป็นผ้า 2 ชั้น โดยในข้อตกลงสภาพการจ้างงานระบุเพียงแต่ให้สวมใส่ผ้าปิดจมูก แต่ไม่ได้กำหนดรูปแบบเอาไว้ ทั้งนี้ นับแต่ปี 2536 ที่เขาเข้าทำงาน มีการเปลี่ยนผ้าปิดจมูกมาแล้ว 8 รุ่น

 

จากการทำงานร่วมกับผู้จัดการฝ่ายบุคคลคนเก่าเป็นเวลา 1 ปี มีการประชุมร่วมระหว่างสหภาพแรงงานกับจำเลยที่ 1 ทุกเดือน โดยเมื่อมีการพูดคุยเรื่องผ้าปิดจมูก ก็ได้ปรึกษากันและหารูปแบบที่พนักงานพอใจมากที่สุด มีการปรึกษากับนายจ้างในคณะกรรมการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ปรับปรุงผ้าปิดจมูกโดยมีผ้าสองชั้นทบเข้าด้วยกันและมีฟิลเตอร์อยู่ตรงกลาง ทดสอบโดยใช้กระบอกแป้งฉีดดูว่าป้องกันได้ไหม และพนักงานสวมใส่สบายหรือไม่

 

ในปี 2536 เจ้าหน้าที่จากกองตรวจความปลอดภัยในการทำงาน เข้ามาตรวจและแนะนำว่าน่าจะไม่เหมาะสม จึงถามถึงแบบที่ได้มาตรฐาน แต่ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่เป็นทางการไว้ จากนั้น จำเลยได้ปรับปรุงพัฒนาผ้าปิดจมูกเรื่อยมา จนปี 2543 ได้ทำหนังสือถามไปที่กองอาชีวอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับการตอบกลับว่า ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน

 

ทั้งนี้ ระหว่างปี2536-2538 ที่มีการฟ้องคดี มีหนังสือที่แสดงต่อศาลได้ว่า จนถึงวันที่เบิกความยังไม่มีหน่วยงานใดกำหนดมาตรฐานผ้าปิดจมูกแต่อย่างใด โดยในปี 2545 มีการจัดสัมมนาและพูดคุยถึงเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานอย่างเป็นทางการออกมา

 

ในประเด็นที่สอง เขากล่าวว่า มีการออกระเบียบระบุว่า เป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ต้องสวมใส่เครื่องป้องกัน โดยมีหัวหน้างานควบคุมดูแลให้ใส่ โดยในหนังสือข้อตกลงสภาพการจ้างงาน ได้พูดถึงการกำหนดโทษไว้ด้วย

 

สำหรับการลงโทษทางวินัยในกรณีที่ไม่ใช้ผ้าปิดจมูก หัวหน้าเก่าบอกว่าจะมีการเรียกมาว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น ทั้งนี้ หัวหน้างานมักมองว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎเป็นเรื่องเล็กน้อย โดยตั้งแต่เขาเข้าทำงานไม่พบกรณีที่หัวหน้างานทำโทษพนักงานด้วยการทำหนังสือแจ้งฝ่ายบุคคล เพียงแต่เรียกไปตักเตือน อย่างไรก็ตาม การตักเตือนมีผลต่อการให้คะแนนในการประเมินผลเพื่อพิจารณาขึ้นเงินเดือน อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 ได้มีการรณรงค์ในสถานที่ที่ลูกจ้างต้องสวมผ้าปิดจมูก และหลังจากลูกจ้างเข้าทำงานได้ 2 เดือนจะมีการอบรมและแจกเอกสารให้ความรู้เรื่องการรักษาความปลอดภัยด้วย

 

สำหรับการสืบพยานจำเลยในนัดนี้ สืบพยานได้ไม่จบปาก ศาลจึงนัดอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย. เวลา 13.00น. ที่ศาลแรงงานกลาง กรุงเทพฯ

 

อนึ่ง ขณะศาลซักถามโจทก์ หน้าบัลลังก์ได้หันมาถามผู้สื่อข่าว ว่าเป็นนักข่าวใช่หรือไม่ พร้อมบอกให้แจ้งที่บัลลังก์ก่อนทุกครั้งเมื่อมารับฟังคดี จากนั้น ผู้พิพากษาได้บอกให้เสนอข่าวอย่างเป็นธรรม ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นำเก้าอี้เสริมมาให้โจทก์คนอื่นๆ ซึ่งนั่งกับพื้นเนื่องจากที่นั่งไม่เพียงพอ ทั้งนี้ โจทก์หลายคนกล่าวว่า ในครั้งก่อนๆ ไม่เคยมีเก้าอี้เสริม

 

 

อ่านข่าวประกอบ

ผู้ป่วยโรคฝุ่นฝ้ายชี้ 11 ปีผ่านไปยังไม่ได้รับการคุ้มครองสุขภาพ

 

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ร้องรมว.ยุติธรรม-แรงงาน ยื่นมือช่วยคดีฝุ่นฝ้ายที่ยืดเยื้อนาน 11 ปี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท