มองโลกผ่านกระบอกปืนของ James Bond

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย ซาเสียวเอี้ย

 

 

 

 

ผู้ชายหลายคนอาจจะเคยฝันถึงการเป็นยอดมนุษย์-ซูเปอร์ฮีโร่...แต่พอถึงช่วงวัยหนึ่ง เขาก็จะลืมไปหมดว่าตัวเองเคยฝันอะไรไร้สาระแบบนั้นมาก่อน

 

แต่ผู้ชายอีกครึ่งโลก ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน เขาไม่เคยลืมว่าตัวเองใฝ่ฝันอยากจะมีประสบการณ์แบบ "เจมส์ บอนด์" สักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งก็หมายถึงการเสี่ยงอันตรายไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ และมีตัวช่วยเป็นอุปกรณ์ไฮเทคที่หาซื้อกันไม่ได้ง่ายๆ แถมด้วยเรื่องรักระหว่างรบที่มีสาวๆ สวยๆ เข้ามาพัวพันอยู่ไม่ขาด

 

และสำหรับผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยอาจฝันไกลถึงขั้นจะเป็น "ผู้หญิง (ในหนัง) ของบอนด์" ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันความสวยเซ็กซี่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี

 

แต่เมื่อข่าวประชาสัมพันธ์หนังเจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุด (Casino Royale) ที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้สักพัก มีการพูดถึงฉากที่สายลับรหัส 007 ของแฟนๆ ต้องประกบปากกับผู้ชายด้วยกัน แถมด้วยภาพเซ็กซี่ที่เจมส์ บอนด์คนใหม่สวมกางเกงว่ายน้ำตัวเดียว โชว์กล้ามล่ำ อาจทำใครหลายคนที่เป็นแฟนหนังเริ่มสงสัยขึ้นมาตะหงิดๆ ว่าเจมส์ บอนด์ยุคใหม่ชักจะยังไงๆ อยู่...

 

 

 

เดเนียล เครก ในหนังเจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุด

 

 

ยิ่งถ้าตามข่าวมาก่อนหน้านี้สักระยะก็จะรู้ว่า เดเนียล เครก ที่มารับบทเจมส์ บอนด์ แทน เพียร์ซ บรอสแนน ถูกกระแสต่อต้านในอินเตอร์เน็ต ถึงขั้นที่มีการตั้งเวบไซต์เฉพาะกิจ www.craignotbond.com หรือ "เครกไม่ใช่บอนด์" ไม่ใครก็ใครคงอดคิดไม่ได้ว่าเจมส์ บอนด์คนนี้คงมีอะไรที่ไม่น่าพิสมัยสักอย่างแน่ๆ

 

ในความเป็นจริง เดเนียล เครก เป็นเจมส์ บอนด์คนแรกที่มีผมสีบลอนด์ แถมยังหน้าไม่ค่อยหล่อ และสูงไม่ค่อยเข้าขั้นมาตรฐานชาวยุโรป (หรือจะเรียกว่าเตี้ยก็ได้) แต่เขาก็ได้รับแรงสนับสนุนจากแฟนๆ บางกลุ่มที่อ้างถึงฝีมือการแสดงที่น่าสนใจ (www.givecraigachance.com) แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะได้รับบทรองในหนังเรื่องอื่นๆ ก็ตามที แต่ประเด็นที่ทำให้เครกโดนสับเละมากที่สุดก็เป็นเพราะบทที่เขาเคยแสดงมาก่อนเช่นกัน

 

คนดูจำนวนมากติดภาพว่าเขาคืออันธพาลข้างถนน (จากหนังเรื่อง Layer Cake) หรือไม่ก็ภาพชาวอังกฤษธรรมดาๆ ที่ทื่อและเคร่งครัดจนขาดเสน่ห์ (Enduring Love) ซึ่งทั้งหมดนั้นสะท้อนภาพความเป็น "สามัญชน" ของเครก ที่ไม่เหมาะสมกับการเป็น "ขว้ญใจมหาชน" อย่างยิ่ง

 

และเมื่อบวกเข้ากับการขายภาพเรือนร่างอันกำยำของเครก แทนที่จะมุ่งเน้นถึงตัวละครหญิงที่แสดงร่วมในหนังบอนด์ตอนล่าสุด หลายคนจึงตีความไปไกลถึงขั้นที่ว่านี่อาจจะเป็นการปฏิวัติภาพลักษณ์เจมส์ บอนด์ยุคใหม่ที่เน้นขายกลุ่มสาวสมัยใหม่และชายเมโทรเซ็กชวลแทนที่จะเอาใจผู้ชาย Macho แบบเดิมๆ

 

แต่จะมีใครกล้าทำอย่างนั้นกับตัวละครที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและมีแฟนคลับนับล้านคนทั่วโลกได้ลงคอเชียวหรือ?

 

0 0 0

 

ก่อนที่ "เอียน เฟลมมิ่งส์" นักประพันธ์ชาวอังกฤษจะสร้างตัวละครอย่างเจมส์ บอนด์ขึ้นมา ภาพลักษณ์ของ "จารชน" จากประเทศมหาอำนาจที่แย่งชิงข้อมูลข่าวสารระหว่างกันในยุคสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็น KGB, CIA, MI6 หรือแม้แต่จารชนเกาหลีเหนือที่ลักพาตัวคนเป็นว่าเล่น จารชนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น "ภัยเงียบ" ที่ไม่อาจรับมือกับมันได้ง่ายดายนัก และเป็นเพียงเครื่องมือไร้จิตใจที่พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้งานที่ได้รับคำสั่งจากหน่วยที่ตัวเองสังกัดสำเร็จลุล่วงไป

 

จนกระทั่ง นิยายเรื่อง เจมส์ บอนด์ ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1954 ภาพของจารชนชาวอังกฤษสุดหล่อ รหัส 007 ที่เก่งกาจทุกเรื่อง ตั้งแต่บู๊ไปจนถึงบุ๋น (รวมถึงเรื่องบนเตียง) ทำให้ผู้คนในโลกตะวันตกค่อยๆ คลายความหวาดกลัวของการแทรกแซงโดยจารชนไปได้บ้าง

 

และเมื่อเจมส์ บอนด์ ถือกำเนิดอีกครั้งในโลกภาพยนตร์ ค่านิยมทางการเมืองและนัยยะทางเพศที่แฝงอยู่ในนั้นก็ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่องค์ประกอบของการเป็น "หนัง (เจมส์) บอนด์" มีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง…

 

กฏข้อที่ 1

"ภารกิจของบอนด์จะต้องยิ่งใหญ่เสมอ"

 

กฎข้อที่ 2

"สาวๆ ของบอนด์ต้องสวย เซ้กซี่ และนุ่งน้อยห่มน้อยให้คนดูเห็นอย่างน้อย 1 ฉาก"

 

กฏข้อที่ 3

"ประเทศที่บอนด์ไปปฏิบัติภารกิจ จะต้องเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีใครเข้าถึง หรือมีความเป็น Exotic สูง"

 

ถ้าเป็นเนื้อหาในหนังสือ ภารกิจที่เจมส์ บอนด์ ต้องรับมือในแต่ละตอน จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ หรือไม่ก็ต้องมีความเกี่ยวพันโยงใยในระดับโลก และจารชนคนเก่งของเราจะต้องฝ่าฟันผ่านอุปสรรคไปได้ด้วยความช่วยเหลือของ Q นักประดิษฐ์คนสำคัญขององค์กร ที่ประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือช่วยจารกรรมออกมาให้ใช้ บวกกับเสน่ห์และไหวพริบเฉพาะตัวของบอนด์ที่ (กะล่อน?) เอาตัวรอดไปได้เรื่อยๆ

 

เมื่อบอนด์ถูกจับเข้ามาอยู่ในโลกของภาพยนตร์ องค์ประกอบที่เพิ่มเข้ามาก็คือฉากบู๊สุดระทึกใจ และภาพการไล่ล่าที่ทำให้คนดูลุ้นตาม และแน่นอนว่า-ถึงมันจะมีฉาก "ระเบิดภูเขาเผากระท่อม" เหมือนหนังไทยยุคหนึ่งอยู่บ้าง แต่เม็ดเงินและเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำสเปเชียลเอฟเฟกต์ก็ช่วยทำให้บรรยากาศในการล้างผลาญแตกต่างกันอยู่เยอะ...

 

ขณะเดียวกัน บรรดาสาวๆ ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับหนัง เจมส์ บอนด์ ล้วนถูกยกไห้เป็นแม่แบบของความงามเย้ายวนใจ แบบที่ "เออร์ซูลา แอนเดรส" กลายเป็นตำนานมากว่า 40 ปี นับตั้งแต่วันที่เธอสวมชุดบิกินีสีขาวเดินขึ้นมาจากท้องทะเล ในหนังเจมส์ บอนด์ ภาค Dr.No   

 

ส่วนประเทศ Exotic ในเจมส์ บอนด์ ภาคแรก คือ "จาเมกา" ซึ่งถ้าเทียบกับเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา คงไม่ผิดความจริงนักถ้าจะพูดว่าจาเมกา ณ เวลานั้น เปรียบเสมือนดินแดนอันห่างไกลที่ไม่ค่อยมีใครเข้าถึง มันจึงดูลึกลับ ท้าทาย และน่าค้นหา ส่วนประเทศเอ็กซอติกล่าสุดในหนังบอนด์ตอน 21 ที่เพิ่งออกฉายก็คือ "มาดากัสการ์" นั่นเอง

 

0 0 0

 

กฏ 3 ประการที่ว่ามา คือสูตรผสมที่ทำให้หนังเจมส์ บอนด์ประสบความสำเร็จ (แม้จะมีฟอร์มตกไปบ้างในช่วงปี 80"s) แต่ในความเป็นจริงแล้ว การถือกำเนิดของเจมส์ บอนด์ สะท้อนให้เห็นภาวะแห่งความไม่มั่นใจของอังกฤษ ในฐานะประเทศมหาอำนาจที่กำลังเผชิญกับความตกต่ำของตัวเองอย่างเงียบๆ และหวาดหวั่นเท่านั้นเอง...

 

การที่เอียน เฟลมมิ่งส์ เขียนถึงเรื่องราวของจารชนอังกฤษที่แสนจะเก่งกาจในยุคสงครามเย็น และนิยายที่ว่าได้รับความนิยมไปทั่วประเทศได้นั้น เนื่องมาจากความรุนแรงถึงพริกถึงขิงของการปฏิบัติภารกิจและฉากที่ชวนวาบหวามระหว่างบอนด์และสาวๆ ที่เป็นตัวประกอบแต่ละตอนเป็นสำคัญ

 

องค์ประกอบเหล่านั้นตอบสนองความค้องการของชาวอังกฤษที่พยายามจะลืมๆ ไปว่า ถึงแม้อังกฤษและฝ่ายพันธมิตรจะเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สถานการณ์หลังจากนั้นเรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเย็นตอนปลาย "ความเป็นประเทศมหาอำนาจ" ของอังกฤษก็แทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว

 

เศรษฐกิจของอังกฤษตกต่ำลง ประชาชนตกงานกันมากขึ้น และขั้วอำนาจใหม่ของโลกก็ตกไปอยู่ในมือสหรัฐอเมริกาเสียแล้ว จินตนาการว่าด้วย "จารชนชาวอังกฤษ" ที่แสนจะเก่งกาจและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ถึงร้อยเอ็ดเจ็ดคาบสมุทรจึงเป็นเครื่องจรรโลงใจชั้นดีที่จะสร้างความบันเทิงให้แก่ชาวอังกฤษในยุคนั้น

 

นิยายเรื่องนี้ถูกแพร่กระจายต่อๆ กันไป เรื่องราวของเจมส์ บอนด็ จึงถูกส่งไปถึงฝั่งอเมริกาที่เป็นเสมือน "บ้านพี่เมืองน้อง" ของอังกฤษในเวลาไม่นาน

 

เมื่อจินตนาการผสมผสานเข้ากับแนวคิดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่ต้องการ "ฮีโร่" เป็นจุดขาย มันจึงกลายเป็นความร่วมมือร่วมใจที่แสนจะลงตัว และสายลับรหัส 007 ที่ถือกำเนิดจากอังกฤษจึงต้องปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือชาวอเมริกันอยู่เนืองๆ ในขณะที่ผู้ร้ายที่ต้องการสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกมักจะมาจากฝ่ายที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับอังกฤษและอเมริกาทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ร้ายในแต่ละภาคของเจมส์ บอนด์ จึงมาจากรัสเซีย (อดีตสหภาพโซเวียตที่เป็นไม้เบื้อไม้เมากันมาตลอดในยุคสงครามเย็น) เกาหลีเหนือ จีน บ้างก็มาจากตะวันออกกลาง หรือไม่ก็จากประเทศยุโรปที่เคยเป็นสังคมนิยมมาก่อน...

 

การมองโลกผ่านภารกิจต่างๆ ของเจมส์ บอนด์ จึงเป็นการมองปัญหาด้วยสายตาของคนที่คิดอยู่เสมอว่าตัวเองคือผู้จัดระเบียบโลก ซึ่งก็คือแนวคิดแบบเดียวกับ "ภาระของคนผิวขาว" นั่นเอง การมองโลกเช่นนี้มิได้ถูกลดทอนลงไปเลย แม้ว่ามันจะถูกทำให้ผ่านกระบวนการสร้างความบันเทิงมาแล้วก็ตาม เพียงแต่การแบ่งขั้วแบบฝ่ายเขา-ฝ่ายเรา ถูกทำให้ดูแนบเนียนขึ้นก็เท่านั้น

 

คนดูจึงรู้สึกมีอารมณ์ร่วมและเอาใจช่วยไปกับภารกิจของเจมส์ บอนด์ มากกว่าจะคำนึงถึงเหตุผลในการก่อเหตุของฝ่ายผู้ร้าย ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมากเท่าไหร่ นอกจากเหตุผลเดิมๆ ที่ฮอลลีวู้ดใช้จนเกร่อ นั่นก็คือ ความบ้าคลั่งอุดมการณ์ อยากเป็นผู้ครองโลก และต้องการเป็นมหาเศรษฐีจากการค้าอาวุธ ซึ่งเป็นเพียงการแบ่งฝ่ายด้วยตรรกะง่ายๆ ที่ใครคิดไม่เหมือนเราก็คือศัครู และเหตุผลของศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามก็มีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง จึงไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องค้นไปยังรากเหง้าของปัญหาเหล่านั้นอย่างจริงจัง

 

0 0 0

 

 

 


 

สาวๆ ของเจมส์ บอนด์ ก็เช่นกัน เธอเหล่านั้นคือมายาคติที่ฮอลลีวู้ดสร้างขึ้นทั้งนั้น แม้ตัวละครหญิงในหนังบอนด์ยุค 90"s (ที่เพียร์ซ บรอสแนน รับบทนำ) จะต้องมีความเก่งและร้ายกาจร่วมด้วยอีกแรง นัยว่าเป็นการสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้หญิงของบอนด์ ซึ่งแต่ก่อนถูกมองว่ามีดีที่สวยอย่างเดียว แต่การเพิ่มความเก่งกาจหรือสถานะความเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" หรือตำแหน่ง "ศาสตราจารย์" ลงไปข้างหน้า ไม่ได้ทำให้ความยากง่ายในการต่อรองกับเจมส์ บอนด์ เพิ่มหรือลดระดับลงแต่อย่างใด และผลสุดท้ายก็คือบทสรุปที่คนดูเดาได้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อผู้หญิงของบอนด์ก็ต้อง "เป็นของบอนด์" วันยังค่ำ

 

ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่ผลัดกันมาเป็นฉากหลังให้กับหนังบอนด์แต่ละตอน ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ไม่มีทัวร์ไปลงเยอะๆ แน่นอน แต่จะต้องเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีคนเข้าถึง นัยหนึ่งที่แฝงอยู่กับการเลือกฉากหลังเช่นนี้ก็คือความท้าทายเพื่อให้สมปรารถนาในการเป็น "ผู้บุกเบิก" ที่เข้าไป "ปฏิบัติภารกิจ" จนสำเร็จเสร็จสิ้น... นัยยะแบบนี้สามารถเชื่อมโยงไปได้ทั้งการล่าอาณานิคมและการเข้าไปครอบครองพื้นที่ส่วนที่หวงแหนของหญิงสาวสักคนหนึ่งก็ได้เช่นกัน

 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่หนังอย่าง "เจมส์ บอนด์" จะเป็นที่นิยมในสังคมแบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ (ซึ่งมีมากกว่าครึ่งโลกเห็นจะได้) และแม้ว่าหนังบอนด์ตอนล่าสุด "Casino Royale" จะถูกมองว่าเป็นการล้มล้างกรอบคิดเดิมๆ ด้วยการทำเจมส์ บอนด์ ให้ดูใกล้เคียงกับคนธรรมดามากขึ้น และเพิ่มฉากที่เจมส์ บอนด์บาดเจ็บฟกช้ำดำเขียวไปจนถึงขั้นเลือดออกจากการต่อสู้

 

และแม้ว่าหนัง เจมส์ บอนด์ ตอนใหม่ จะเป็นการย้อนกลับไปพูดถึงภารกิจแรกในการเป็นจารชนของบอนด์ ซึ่งประจวบเหมาะกันดีกับการเปิดตัวบอนด์คนใหม่ และนำเสนอภาพลักษณ์ด้านใหม่ของบอนด์ แต่แนวคิดทั้งหมดก็ยังคงอยู่ภายใต้องค์ประกอบ หรือกฏเหล็กทั้ง 3 ประการของเจมส์ บอนด์ อย่างครบถ้วน ความแปลกใหม่ในนังบอนด์ตอนล่าสุดจึงเป็นแค่ "เปลือกนอก" เท่านั้น แต่ในส่วนของโครงเรื่องอาจเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย…

 

นักดูหนังทั่วโลกยังสามารถมองผ่านรูกระบอกปืนเข้าไปเห็นเจมส์ บอนด์หันหลังกลับมายิงคู่ต่อสู้เช่นเดิม

 

พอๆ กันกับที่เราจะได้เสพความบันเทิงที่เต็มไปด้วยสารเดิมๆ และกลับไปเคยชินกับความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า "ผู้ร้ายย่อมตายตอนจบ และผู้ชนะคือพระเอกเสมอ..."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท