Skip to main content
sharethis

 

ปกป้อง พงศาสนองกุล

 

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการสนับสนุนหรือไม่สนันสนุนโอเพ่นซอร์สของ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถูกหยิบมาเป็นประเด็นถกเถียงพร้อมกับวิจารณ์วิสัยทัศน์ของเจ้ากระทรวงอย่างรุนแรงในแวดวงไอที

เอาเข้าจริงเรื่องนี้ ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะวงการไอทีเท่านั้น แต่ส่งผลถึง "การเมือง" ตั้งแต่ระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ไล่เรื่อยไปถึงเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสังคมของประเทศในระยะยาวอย่างน่าวิตก โดยไม่ควรให้เรื่องนี้เงียบหายหรือถูก "จำกัด" การเคลื่อนไหวแค่ในระดับของวงการไอทีเท่านั้น

การที่กลุ่มนักพัฒนาและผู้ใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์สจำนวนมากได้ออกมาเคลื่อนไหว ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.ไอซีที ให้ทราบและเข้าใจ "ความสำคัญ" ของโปรแกรมโอเพ่นซอร์ส ว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มคน 2-3 คนแล้วนำมาแจกจ่ายให้ทดลองใช้โดยขาดซึ่งการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม แต่โอเพ่นซอร์ส หมายถึงโปรแกรมที่ได้รับความนิยมและมีกลุ่มนักพัฒนาช่วยกันพัฒนาต่อยอดอยู่มากมายทั่วโลก ปัจจุบันมีโปรเจคโปรแกรมโอเพ่นซอร์สอยู่มากกว่า 100,000 โครงการทั่วโลก (อ้างอิงจากเว็บไซต์ sourceforge.net) โดยภายหลัง รมว.ไอซีที ต้องออกมายอมรับว่า "เข้าใจผิด" ซึ่งสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สไทยจะเข้าพบเพื่อทำความเข้าใจ ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ เพราะสิ่งที่สมาคมฯ เป็นห่วงก็คือความเข้าใจผิดของคนที่ดูแลในระดับนโยบาย

กระนั้นก็ตาม ยังมีเสียงตั้งคำถามเชิงบ่อนเซาะความเข้มแข็งของผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ในทำนองว่า "กลัวเดือดร้อนว่ารัฐจะไม่สนับสนุนงบประมาณ" ด้วยมุมมองที่คับแคบและไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ 

คำตอบจากเหล่านักพัฒนาโปรแกรมก็คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "เปล่าเลย"

การสนับสนุนโอเพ่นซอร์สนั้นทำได้หลายทาง และเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่เป็นเรื่องของนโยบายในการสนับสนุนมากกว่า

สำหรับผู้ที่ยังไม่ค่อยทราบว่า ทำไมเราต้องมีโปรแกรมโอเพ่นซอร์ส?  อธิบายอย่างง่ายดังนี้ครับ

การที่เราใช้ชุดโปรแกรมสำนักงานแบบมีลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียว เช่น Microsoft Office เป็นการผูกขาดทางการค้าแถมยังผูกขาดทางการเรียนรู้ไม่ให้นักพัฒนาโปรแกรมได้แสดงฝีมืออีกด้วย โดยเมื่อถึงเวลาหนึ่ง Microsoft จะทำการอัพเดทเวอร์ชั่นชุดโปรแกรม Office ให้ทันสมัย แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกับโปรแกรมเวอร์ชั่นเก่าได้ ทำให้ผู้ใช้งานจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อชุดโปรแกรมรุ่นใหม่ๆ เสมอ แต่ถ้าหากเราใช้ชุดโปรแกรมสำนักงานที่เป็นโอเพ่นซอร์ส เมื่อเราพบปัญหาในการทำงาน นักพัฒนาโปรแกรมก็จะสามารถเข้าไปแก้ไขคำสั่งในการทำงานเพื่อให้โปรแกรมยังคงสามารถทำงานได้และทำให้โปรแกรมนั้นใหม่อยู่เสมอ

"จุดเด่นของโปรแกรมโอเพ่นซอร์สอีกอย่างหนึ่งคือ เราสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมโอเพ่นซอร์สจากอินเตอร์เนตได้เลย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงโปรแกรมเวอร์ชั่นใหม่ๆ ได้เสมอ ซึ่งต่างจากโปรแกรมลิขสิทธิ์ที่ต้องหาซื้อในราคาที่สูงมากอยู่เป็นระยะ"

สถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้ บริษัท ไมโครซอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด กำลังขยายขุมกำลังและแผนการครอบงำไปในทุกภาคส่วนอย่างหนัก เช่น การมอบซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์ให้แก่โรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้ทางโรงเรียนนำไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนได้รับบริจาค โดยทางบริษัทฯ ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และภายใต้ข้อตกลงของโครงการนี้ โรงเรียนจะได้สิทธิในการใช้โปรแกรมในราคาพิเศษประมาณ 100 บาทต่อเครื่อง ต่อปี (ซึ่งฟรีในครั้งแรก???) รวมทั้งแถมการอบรบการใช้งาน จนทำให้บางครั้งโปรแกรมโอเพ่นซอร์สแทบจะไม่มีที่ให้แสดงฝีมือเลย และเมื่อ Microsoft ขยับตัวอัพเดทชุดโปรแกรมแต่ละครั้ง ประเทศไทยจะต้องสูญเสียเม็ดเงินมากมายขนาดไหนเพื่อทำการอัพเดทโปรแกรมในแต่ละคราว

มิพักต้องกล่าวถึง การที่นายสิทธิชัยยังได้หารือกับผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ถึงการทำ E-Government (วิธีการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่) และผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติรายนี้ ก็ต้องการขอพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่ไปร่วมประชุมเอเปคด้วย

ทั้งนี้ การสนับสนุนจากทางภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เมื่อปี 2546 ทำหน้าที่สนับสนุนผลักดันให้มีการส่งเสริม พัฒนาของซอฟต์แวร์ โดยมุ่งหวังจะให้เป็นตัวช่วยให้ประเทศสามารถยืนหยัดได้ด้วยซอฟต์แวร์ของเราเอง อีกทั้ง SIPA ยังสนับสนุนให้มีการจัดทำชุดซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบนวินโดวส์แจกจ่ายให้ประชาชน ในชื่อโครงการ Chantra พร้อมกันนี้ก็สนับสนุนการพัฒนา

 

การพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สในประเทศไทย ปัจจุบันแบ่งออกเป็นหลายระดับ

ระดับระบบปฏิบัติการได้มีนักพัฒนาคนไทย โดยการสนับสนุนจาก NECTEC ได้ทำการพัฒนา Linux ให้สามารถใช้งานภาษาไทยได้สมบูรณ์ โดยตั้งชื่อโครงการว่า LinuxTLE โดยนำ Fedora Linux มาเป็นแกนในการพัฒนา ส่วนระดับชุดโปรแกรมสำนักงาน ได้เคยมีนักพัฒนาในประเทศไทยได้นำชุดโปรแกรม OpenOffice.org มาพัฒนาให้สามารถใช้ภาษาไทยได้ดีในชื่อ OfficeTLE แต่ปัจจุบันนักพัฒนาไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับนักพัฒนาทั่วโลกผลักดันให้ตัว OpenOffice.org ตัวหลักสามารถใช้ภาษาไทยได้ทันทีไม่ต้องมาทำการอัพเดทภายหลัง

ลองคิดดูว่า ถ้าท่าน รมว.ไอซีที ผลักดันให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ทุกคนในประเทศรู้จักและใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์สกันมากๆ ประเทศไทยจะลดการนำเข้าของโปรแกรมลิขสิทธิ์ไปได้อีกเท่าไหร่ โปรแกรมลิขสิทธิ์แต่ละชุดราคาไม่น้อยเลยทีเดียว รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานของราชการหันมาใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์ส เช่นชุดโปรแกรม OpenOffice.org โดยไม่ผูกขาดกับชุดโปรแกรม Office ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น

การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในเรื่องของโอเพ่นซอร์ส ว่าการใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์สทั้งหลายนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์หรือเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์แบบลึกซึ้ง เพียงแค่ผู้ใช้งานมีความสนใจและใส่ใจเท่านั้น ก็สามารถเสาะหาและนำโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมาใช้ได้แล้ว แถมยังไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย

การสนับสนุนโรงเรียนให้สอนการใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์ส สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรการพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สอย่างกว้างขวาง ให้เยาวชนของชาติซึมซับคุณประโยชน์จากการค้นคว้าหาความรู้ ไม่ใช่ติดหล่มกับโปรแกรมสำเร็จรูปที่ไม่สามารถเข้าไปเรียนรู้อะไรได้เลย

อย่างช่วงนี้ปีที่ผ่านมาก็มีข่าวการสนับสนุนการใช้งานโอเพ่นซอร์ส จากรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เบลเยียม ออสเตรเลีย โครเอเชีย เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศในยุโรป หรือแม้กระทั่งกระทรวงกลาโหมและรัฐเมสซาชูเซ็ตส์ ของสหรัฐอเมริกา

 

แล้วโอเพ่นซอร์สอยู่ได้อย่างไร?

ในจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.ไอซีที โดยคุณเทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์ อธิบายว่า "เรื่องรายได้ของนักพัฒนาที่ท่านเป็นห่วงนั้น เราซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ย่อมเป็นห่วงไม่น้อยกว่าท่าน แต่เราเชื่อว่าเมื่อโอเพนซอร์สมีการเติบโต ย่อมเกิดช่องทางของความอยู่รอดอย่างที่เกิดในต่างประเทศเองเป็นธรรมชาติ"

แต่กระนั้นการสนับสนุนโปรแกรมโอเพ่นซอร์สก็ต้องมาพร้อมกับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจังมากขึ้น โดยหากการละเมิดโปรแกรมลิขสิทธิ์ยังมีอยู่อย่างกว้างขวาง การที่ผู้ใช้จะมองเห็นคุณค่าของโปรแกรมโอเพ่นซอร์สก็คงจะลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน เหมือนอย่างที่คุณวสันต์ ลิ่วลมไพศาล ได้เคยยกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้บางคนสามารถหาโปรแกรมของไมโครซอฟต์ครบชุดในราคาเพียง 150 บาท แต่เมื่อมันกลายเป็นชุดละ 15,000 เมื่อไหร่นั่น เขาก็จะเห็นคุณค่าของโอเพ่นซอร์สทันที

ถึงแม้ว่าในชีวิตจริงของเรานั้นจะยังตัดขาดจากไมโครซอฟต์ผู้ผลิตโปรแกรมลิขสิทธิ์เจ้าใหญ่ที่สุดของโลกไม่ได้ในเวลาอันสั้น แต่ก็เริ่มลดการใช้งานให้เหลือไว้แต่เพียงระบบปฏิบัติการ Windows เท่านั้น ส่วนโปรแกรมอื่นๆ ให้ใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์สทั้งหมดก็คงจะดี

เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า "อะไรดีกว่ากัน" แต่อยู่ที่ว่า "เคยใช้กันหรือยัง" ต่างหากครับ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net