Skip to main content
sharethis


องอาจ เดชา : รายงาน



 



 



 



 


หลายคนคงจำภาพรายงานข่าวเหตุการณ์บริเวณหน้าศาลปกครองเชียงใหม่ ในบ่ายวันที่ 8 ก.ย.2548 นั้นได้ดี เมื่อศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้ชาวบ้านแม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จำนวน 866 คน ชนะคดีถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้านโดยกรมการปกครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจของชาวบ้านกว่า 500 คน ในขณะที่หลายคนต่างกอดคอกันร่ำไห้ด้วยความยินดีปรีดา หลังจากต้องต่อสู้คดียืดเยื้อมายาวนานหลายปี


ในวันนั้น ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 นายประทีบ วรนิติ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองเชียงใหม่ ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.117/2548 ระหว่าง น.ส.ผ่องศรี อินหลู่ กับพวกรวม 866 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมการปกครองที่ 1 จ.เชียงใหม่ ที่ 2 นายอำเภอแม่อาย ที่ 3 เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 คือนายอำเภอแม่อาย ได้มีประกาศอำเภอลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 ให้จำหน่ายชื่อและรายการบุคคลรวม 1,243 คน ซึ่งรวมผู้ฟ้องคดีออกจากทะเบียนบ้านนั้น เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกคำสั่งอันมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลเป็นการถาวร


ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวทำให้บุคคลซึ่งเดิมมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน(ท.ร.14) เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ไม่มีสัญชาติและต้องคืนบัตรประจำตัวประชาชนให้กับทางราชการ เกิดผลต่อการถูกเพิกถอนชื่อและเปลี่ยนสถานะจากสัญชาติไทยไปเป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีโอกาสได้โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกาศของอำเภอแม่อาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนประกาศอำเภอแม่อาย วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 ทั้งฉบับ และให้มีผลต่อผู้ถูกกระทบจากประกาศทุกคน


ระหว่างการอ่านคำพิพากษาจบลงนั้น ราษฎรชาวแม่อายกว่า 500 คน ที่เดินทางมารวมตัวรอคำพิพากษาอย่างใจจดจ่อนั้น ต่างไชโยโห่ร้องออกมาด้วยความดีใจ ต่างกอดกันร่ำไห้ด้วยความดีใจ หลังจากต่อสู้เรียกร้องกันมายาวนาน


วิถีชีวิตคนแม่อายหลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ได้สัญชาติไทยคืนมา


นับตั้งแต่หลังมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ยกเลิกคำสั่งประกาศอำเภอแม่อาย ทางกรมการปกครองได้เร่งดำเนินการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านและคืนสถานะ คืนสัญชาติไทยให้กับชาวบ้านแม่อายที่ถูกเพิกถอนชื่อและเปลี่ยนสถานะ


 


แต่การดำเนินการใช่ว่าจะเป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะต้องติดขัดในหลายๆ เรื่อง เช่น ปัญหาของการทำงานของบุคลากรระดับอำเภอไม่มีความต่อเนื่อง นายอำเภอ ปลัดอำเภอที่รับผิดชอบมีการโยกย้ายไปประจำที่อื่น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมีไม่เพียงพอ อีกทั้งมีการปรับเปลี่ยนเอกสารทะเบียนกันใหม่ จึงทำให้มีการคืนสถานะเป็นไปด้วยความล่าช้า


 


นอกจากนั้น ในกรณีที่ชาวบ้านได้รับคืนสถานะบุคคล ได้กลับเข้าทะเบียนบ้านแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาที่ยังคั่งค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาในด้านสิทธิบุคคลที่สูญเสียไประหว่างถูกเพิกถอนสัญชาติ


 


เปิดเวทีถอดประสบการณ์ : ชาวบ้านแม่อายร่วมกับนักวิชาการ นักกฎหมาย


สรุปการทำงานให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิชาวบ้านแม่อาย


ล่าสุด เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีประชุมทางวิชาการ เรื่อง "การร่วมถอดประสบการณ์และการระดมความคิดเห็นในการให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด" ขึ้นที่ โรงแรมท่าตอนชาเล่ท์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่



 



เวที"การร่วมถอดประสบการณ์และการระดมความคิดเห็นในการให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด"


 


โดยคณะทำงาน "โครงการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด" ซึ่งสนับสนุนโดย องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ได้สรุปความคืบหน้าถึงการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะบุคคล เช่น การเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร(ทร.14) การทำบัตรประจำตัวประชาชน การทำและแก้ไขสูติบัตร การทำหนังสือรับรองสถานที่เกิด เป็นต้น


 


นอกจากนั้น ยังสรุปผลการติดตามและการให้ความช่วยเหลือในเรื่องการทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องการรับราชการทหาร การถูกปลดออกกลางครัน รวมไปถึงกรณีที่ชาวบ้านแม่อายถูกธนาคารสหกรณ์เพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สาขาแม่อาย เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเงินในจำนวนที่สูงกว่าตอนที่ยังไม่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร


 




เด็ก เยาวชนแม่อายเข้ารับฟังการให้ความรู้เรื่องกฎหมาย


 


พบเด็ก เยาวชน ตกหล่น-ก่อนหลังถูกเพิกถอนสัญชาติจำนวนมาก


และที่สำคัญ ก็คือการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิของเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด


 


บุญ พงษ์มา ชาวบ้านแม่อาย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดดังกล่าว ได้รายงานความคืบหน้าในการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลของเด็ก เยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย ในที่ประชุมว่า จากการติดตามและให้ความช่วยเหลือ ทั้งจากกรณีที่เจ้าของปัญหามาร้องขอความช่วยเหลือด้วยตนเอง และในกรณีที่คณะทำงานได้ลงไปสอบถามปัญหา โดยการเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามและให้ความช่วยเหลือ พบว่า มีเด็ก เยาวชน และชาวบ้านที่ได้รับการสำรวจข้อมูลด้านสถานะบุคคลไปแล้ว จำนวน 607 คน โดยเป็นเด็ก เยาวชนและชาวบ้านแม่อายที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) จำนวน 384 คน และเป็นเด็ก เยาวชนแม่อายที่เกิดจากบิดา มารดาที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) จำนวน 223 คน


 


"ซึ่งในจำนวนของเด็ก เยาวชน และชาวบ้านแม่อายในกลุ่มนี้ ปรากฎว่าได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร(ทร.14) ไปแล้วจำนวน 597 คน รวมทั้งมีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว จำนวน 469 คน ที่เหลืออายุยังไม่ถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนเด็ก เยาวชน อีก 10 คน กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการช่วยเหลือ"


 




เด็ก เยาวชนแม่อาย เข้าขอความช่วยเหลือจากคลินิกกฎหมายชาวบ้าน


 


คณะทำงานฯ ยังพบอีกว่า มีเด็ก เยาวชนแม่อายที่เกิดจากบิดามารดาที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) แต่เด็ก เยาวชนกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร ตามบิดา มารดา ซึ่งในจำนวนนี้ มีเด็ก เยาวชนแม่อายที่เกิดก่อนวันที่อำเภอแม่อายจะมีคำสั่งประกาศจำหน่ายรายชื่อ (ก่อนวันที่ 5 ก.พ.2545) จำนวน 155 คน


 


และมีเด็กที่เกิดในระหว่างที่นายอำเภอแม่อายถอนชื่อชาวบ้านแม่อายออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) จนถึงการฟ้องคดีในศาลปกครอง (นั่นคือระหว่างวันที่ 5 ก.พ.2545 - 8 ก.ย.2548) อีกจำนวน 7 คน


 


ในขณะเดียวกัน ยังมีเด็กที่เกิดหลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อีกจำนวน 14 คน


 


นอกจากนั้น ยังมีเด็ก เยาวชนแม่อายที่เกิดจากบิดามารดาที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) โดยเด็ก เยาวชนดังกล่าวไม่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร ตามบิดามารดา ซึ่งต่อมา คณะทำงานได้ดำเนินการติดตามและให้ความช่วยเหลือ ดังนี้


 


มีเด็ก เยาวชนแม่อายที่เกิดก่อนวันที่อำเภอแม่อายจะมีคำสั่งประกาศจำหน่ายรายชื่อ (ก่อนวันที่ 5 ก.พ.2545) ไม่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร(ทร.14) ตามบิดามารดา จำนวน 25 คน โดยคณะทำงานได้ติดตามและให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 15 คน ยังคงเหลืออีกจำนวน 10 คน กำลังอยู่ในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ แลมีเด็กที่เกิดในระหว่างที่นายอำเภอถอนชื่อชาวบ้านออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14)- การฟ้องคดีในศาลปกครอง (วันที่ 5 ก.พ.2545 - 8 ก.ย.2548) อีกจำนวน 13 คน นอกจากนั้น ยังพบเด็กที่เกิดหลังคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่ไม่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร(ทร.14) จำนวน 2 คน และมีเยาวชน ชาวบ้านแม่อายที่เกิดจากบิดามารดาที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) แต่เด็ก เยาวชนกลุ่มนี้ไม่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) ตามบิดามารดา แต่ทำบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ จำนวน 7 คน


 


ซึ่งเด็ก เยาวชนกลุ่มดังกล่าวนี้ ทางคณะทำงานได้ติดตามและให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งมีเด็กได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร(ทร.14) เป็นที่เรียบร้อยหมดแล้ว


 


 




ทรงทรัพย์ พิริยคุณธร นายอำเภอแม่อาย


 


นายอำเภอแม่อายโอดครวญ ล่าช้าเพราะขาดงบและเจ้าหน้าที่ไม่พอ


นายทรงทรัพย์ พิริยคุณธร นายอำเภอแม่อาย กล่าวในงานเปิดคลินิกกฎหมายชาวบ้านแม่อาย ว่า ที่ผ่านมายอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เรื้อรังหมักหมม และหลังจากมีการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้กรมการปกครอง ดำเนินการคืนสัญชาติให้กับชาวบ้านทั้ง 1,243 คนนั้น ในส่วนของอำเภอแม่อาย ก็ได้เร่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ล่าช้าก็เพราะว่ามีปัญหาติดขัดในเรื่องการตรวจสอบ รวมทั้งทางอำเภอติดขัดในเรื่องงบประมาณและเจ้าหน้าที่บุคคลากรในการทำงานไม่เพียงพอ จึงทำให้การทำงานล่าช้า


 


"ในขณะนี้ได้ทำการคืนสัญชาติให้เกือบครบแล้ว คงเหลืออีกประมาณ 7 คน ที่มีการตกหล่น และกำลังดำเนินการอยู่ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ จากการสำรวจล่าสุดยังพบอีกว่า ยังมีเด็กจำนวนร่วม 2,000-3,000 คน ที่ตกหล่น ยังไม่ได้แจ้งเกิด ทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นคนไม่มีสถานะ ทั้งที่พ่อแม่ของเด็กนั้นมีบัตร มีสถานะเป็นคนไทยชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผมตั้งเป้าเอาไว้ภายใน 3 ปี จะเร่งดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการให้แล้วเสร็จ" นายอำเภอแม่อายกล่าว


 


เผยถูกถอนสัญชาติ กระทบต่อการรับราชการทหารถึง 304 คน


จากรายงานความคืบหน้าในการติดตามและให้ความช่วยเหลือเรื่องการรับราชการทหาร สำรวจพบว่า มีเยาวชนชาวบ้านแม่อายที่เป็นชายไทยทั้งที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14)  และเยาวชนชาวบ้านแม่อายที่เกิดจากบิดามารดาที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) จำนวน 304 คน ปรากฏว่า มีเยาวชนและชาวบ้านแม่อายทีเป็นชายไทย ที่มีอายุ 17-46 ปี จำนวน 231 คน ได้ไปขึ้นบัญชีทหารกองเกินใหม่(ส.ด.9) ซึ่งพบว่า บางคนก็อยู่ต่างจังหวัด บางคนอยู่ต่างประเทศ บางคนติดคุก เป็นต้น


 


นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านแม่อายที่เป็นชายไทย อายุ 46 ปีขึ้นไป มีจำนวน 73 คน ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ไม่ต้องไปขึ้นบัญชีทหารกองเกินใหม่ แต่ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มชาวบ้านแม่อายที่เป็นชายไทยที่ถูกเกณฑ์ทหารจำนวน 17 คน แต่ต่อมาต้องถูกพักการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากอำเภอแม่อายได้ถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) และอยู่ในระหว่างการรอปลดประจำการ(ส.ด.8) 6 คน ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนสับสนทั้งต่อตัวชาวบ้านกลุ่มนี้ ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร สัสดีอำเภอที่รับผิดชอบในเรื่องการเกณฑ์ทหารเป็นอย่างยิ่ง


 


สัสดีอำเภอแม่อาย ยอมรับเป็นปัญหาที่พบแห่งแรกในประเทศไทย


รอ.สุขฉัตระวัฒน์ พรมพัง สัสดีอำเภอแม่อาย กล่าวในเวทีประชุมว่า ปัญหานี้ตนถือว่าเป็นปัญหาที่เคยเจอเป็นครั้งแรกในชีวิตราชการทหารของประเทศไทย หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ประกาศอำเภอแม่อาย ที่เพิกถอนสถานะบุคคลของชาวบ้านแม่อายเป็นโมฆะ จึงเป็นปัญหาที่ตนจะทำอย่างไร ไม่ได้นิ่งนอนใจ ช่วงนั้นก็ได้หารือกับผู้บังคับบัญชา แต่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องผ่านไปตามลำดับชั้น


 


"ในส่วนของแนวแนวทางปฏิบัติต่อเยาวชน และชาวบ้านแม่อายทั้ง 231 รายนั้น สรุปการดำเนินการและแก้ไขได้ 2 แนวทาง คือ 1.ให้เปรียบเสมือนไม่ได้ลงทะเบียนทหารกองเกินมาก่อน และให้ลงใหม่ 2. คนที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร และถูกพักการการเกณฑ์ทหาร ให้บุคคลกลุ่มนี้ เมื่อได้เข้าทะเบียนราษฎร(ทร.14) ตามเดิมแล้ว ไม่ต้องไปเข้ารับราชการต่อ แต่ให้รอพักการปลด ตามขั้นตอน แต่ผมไม่สามารถยืนยันว่า ข้างบนจะออกหลักฐานให้เมื่อไหร่"


 


สัสดีอำเภอแม่อาย กล่าวถึงกรณีของกลุ่มที่เป็นทหารผลัดที่ 2/2545 และยังไม่ได้เข้าเป็นทหาร แต่เจอปัญหาดังกล่าว ก็ไม่ต้องเข้ารับราชการอีก แต่ในกลุ่มเยาวชนที่เคยเรียน รด. ให้เด็กได้เข้าเรียนต่อ และได้รับสิทธินั้นต่อไป


 


"มาจนถึง ณ บัดนี้ การดำเนินการ ยังมีคนค้างอยู่อีก 31 ราย นี่คือปัญหาที่ทางทหารได้แก้ไข


ให้ปฏิบัติภายใน 90 วัน ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาก็สั่งการมาว่า ไม่ต้องให้ชาวบ้านได้รับความยุ่งยาก ปล่อยเขา ไม่มีคดี  มาแจ้งเมื่อไหร่ก็ได้"


 


ทั้งนี้ นายสิทธิพร ภู่นริศ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้ลุกขึ้นถามว่า กรณีที่เยาวชนชายไทยชาวบ้านแม่อายที่รับราชการทหาร แต่ต่อมาถูกถอดออกจากการเป็นทหาร โดยที่ยังไม่ได้ปลดประจำการ ถามว่า เบี้ยหวัดจะได้หรือไม่


 


ซึ่ง รอ.สุขฉัตระวัฒน์ พรมพัง สัสดีอำเภอแม่อาย สัสดี ได้กล่าวว่า ตอบไม่ได้ในกรณีนี้ เพราะตนไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องงบประมาณสวัสดิการ


 


ต่อกรณีดังกล่าว รศ.ดร.พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราต้องพยายามแก้ไขปัญหาตรงนี้ ว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือน ซึ่งทางคณะทำงาน "โครงการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด"คงจะทำหนังสือ ถึงกระทรวงกลาโหม เลยว่า จะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรต่อไป


 




 


โวยกรณี ธกส.ขูดเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ชาวบ้านแม่อายแพงกว่าคนอื่น


บุญ พงษ์มา ยังบอกเล่าถึงปัญหาผลกระทบของชาวบ้านที่เคยเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส.สาขาแม่อาย ว่า ในขณะที่ทางอำเภอแม่อาย ได้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อชาวบ้านออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) นั้น ปรากฏว่า ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) สาขาแม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินการยกเลิกสัญญากู้ยืมเงินของชาวบ้านแม่อายจำนวน 19 ราย (จากจำนวน 35 รายที่ธนาคารรับขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำสาขาแม่อาย)


 


ต่อมา หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอำเภอแม่อาย ทาง ธกส.ได้ให้ชาวบ้านสามารถกลับเข้ามากู้เงินกับทาง ธกส.ได้ตามปกติเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมา แต่ในการกู้เงินกับ ธกส.ในครั้งนี้ สถานะทางการเงินของชาวบ้านกลุ่มนี้กลับเปลี่ยนไป กล่าวคือ กลับกลายมีสถานะเป็นเพียงลูกค้าใหม่เท่านั้น


 


ดังนั้น ชาวบ้านจึงต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าการเป็นลูกค้าเก่าที่มีสถานะทางการเงินเป็นลูกค้าชั้นดีหรือดีมาก หรื่อเรียกกันว่า 1A หรือ 2A


 


"ตอนแรกคิดว่าคงไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายก็ได้รับผลกระทบมาก เพราะน้องชายไปเข้าเป็นลูกค้าของ ธกส. ปีแรกๆ ไม่มีปัญหา พอถูกถอนสัญชาติ เขาให้คืนเงินทั้งหมด พอกลับเข้าสัญชาติ ดอกเบี้ยแพง 1.50 พอไปถาม ทำไมถึงดอกเบี้ยแพง ก็บอกว่า คุณอยู่ในฐานะอะไร ตัวเลขในบัญชีก็ถูกลบหมดแล้ว ซึ่งตนก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นจะไปปรึกษาข้างบน ต่อมาทางหัวหน้า ธกส.ก็เต้น รีบมาเจรจา พร้อมรับปากว่าจะเร่งตรวจสอบ แก้ไข เป็นลูกหนี้ชั้น 1"




ใสแดง แก้วธรรม


 


เช่นเดียวกับที่ "ใสแดง แก้วธรรม" หนึ่งในชาวบ้านแม่อายที่เคยถูกถอนสัญชาติ บอกเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้น โดนกันเต็มๆ เลย สิทธิ์หมดทุกอย่าง เคยเป็นลูกค้าชั้นดีมีทั้ง 1A 2A สุดท้ายกลายเป็นไม่มีสิทธิ์สักอย่าง ไม่มีสัก A ก็ยกเลิกไว้ก่อน พักไว้ก่อน ใช้สิทธิ์อะไรไม่ได้สักอย่าง จะกู้เงิน หรือทำอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง


 


อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) สาขาแม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้แก่ชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยการปรับสถานะจากลูกค้าใหม่ เป็น สถานนะลูกค้าเก่า(ลูกค้าชั้นดีหรือดีมาก หรือ 1A และ 2A) นอกจากนั้น ทาง ธกส.ยังได้คืนดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนที่เรียกเก็บไว้เกินชั้นลูกค้าเก่าให้แก่ลูกค้าดังกล่าวแล้ว


 


"ทางคลินิกกฎหมายชาวบ้านด้านสถานะและสิทธิบุคคลแม่อาย ได้เดินหน้าเรียกร้องสิทธิในความเป็นสมาชิก ธกส. ซึ่งหาก ธกส.ยังไม่รีบดำเนินการ  ทาง ธกส.จะต้องมีความผิดทางกม.อาญา เนื่องจากขัดคำสั่งศาลปกครองสูงสุด" รศ.ดร.พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็น


 


สรุปปัญหาที่ยังคั่งค้าง -ชาวบ้านยังหวาดระแวงกลัวถูกถอนสัญชาติอีกครั้ง


ทั้งนี้ คณะทำงาน "โครงการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด" ยังได้สรุปถึงปัญหาที่ยังคั่งค้างในการติดตามและให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน คนไร้สัญชาติ ในเขตพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยระบุไว้ว่า ในขณะนี้ การสำรวจข้อมูลของเด็ก เยาวชน และชาวบ้านแม่อายที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) ยังไม่ครบทั้ง 1,243 คน


 


ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ เพราะว่าเด็ก เยาวชน และชาวบ้านแม่อายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ยังไม่มีเอกสารการเกิด เด็กเยาวชนบางคนเกิดในประเทศไทย แต่ไม่มีเอกสารการเกิด บ้างยังไม่ได้มีการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร เนื่องจากอยู่ในระหว่างการขอหนังสือรับรองสถานที่เกิด เป็นต้น


 


นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านแม่อายที่เป็นชายไทย ซึ่งถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) และถูกพักจากการเป็นทหารเกณฑ์ซึ่งอยู่ระหว่างการรอปลดประจำการ แต่ยังไม่ได้รับการปลดประจำการอีกจำนวน 17 คน รวมไปถึงเยาวชนที่เป็นชายไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้มาขึ้นบัญชีทหารกองเกิน(สด.9) ใหม่


 


ปัญหาที่สำคัญที่มองเห็นในขณะนี้ ก็คือ ปัญหาของผู้ประสานงานในพื้นที่ และปัญหาความไม่เข้าใจในการทำงานของคนในชุมชน กล่าวคือ ยังมีชาวบ้านบางคน หวาดกลัวว่าตัวเองจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) เมื่อมีเจ้าหน้าที่หรือทางคณะทำงานฯเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่ประสบปัญหา ชาวบ้านบางคนยังมีความหวาดระแวง เนื่องจากเป็นฝ่ายถูกกระทำให้กลายเป็นคนไร้สัญชาติมานานหลายปี



 



 


ด้าน นายสุริยาวุฒิ สร้อยสวิง องค์กรเครือข่ายสิทธิชุมชนจ.พะเยา (คชพ.) ซึ่งเป็นคนทำงานภายในศูนย์อพยพข้าหลวง UN จ.พะเยา ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลให้กับชาวบ้านภายในศูนย์อพยพ จ.พะเยา ว่า ชาวบ้านกลุ่มที่ตนทำงานให้ความช่วยเหลือนี้แต่เดิมเป็นคนไทย แต่หลักฐานเอกสารถูกเผาทิ้ง สูญหาย กระทั่งต้องกลายเป็นคนต่างด้าว ซึ่งตนทำงานต่อสู้เรียกร้องให้คนกลุ่มนี้มาสิบกว่าปี จนถึงขณะนี้ชาวบ้านได้รับสัญชาติไทยทั้งหมด จำนวน 2594 คน


 


"เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่กันกระจัดกระจาย ดังนั้น เราต้องสืบค้นหา และสร้างกระบวนการความรู้  สร้างเครือข่ายไปทั่วทุกพื้นที่ ถ่ายทอดเรื่องกฎหมายให้ชาวบ้าน รวมทั้งการจัดเก็บเอกสารเอาไว้ให้ครบถ้วน ตนคิดว่าเป็นอาวุธอย่างเดียวที่จะช่วยป้องกันชาวบ้านได้ คือการเรียนรู้เรื่องกฎหมาย ดังนั้น การมีคลินิกกฎหมายชาวบ้านด้านสถานะและสิทธิบุคคลแม่อาย จึงเป็นการช่วยชาวบ้านได้มาก"


 


ในขณะที่นางจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ได้กล่าวในเวทีประชุมวันนั้นว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีการเปิดคลินิกกฎหมายชาวบ้านแม่อาย และเปิดห้องเรียนกฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคลให้กับชาวบ้านแม่อายในครั้งนี้ ปัญหาแม่อายทั้งหมดที่ผ่านมา คงจะเป็นบทเรียน และเป็นจุดเริ่มต้นในศึกษาเรียนรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เกียรติ ศักดิ์ศรี ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนทั่วไปในสังคม


 


"ต่อไปชาวบ้านไม่ต้องกังวล และนับจากนี้ นอกจากที่เราจะต้องดูแลตนเองแล้ว ในส่วนของราชการก็ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน หากมีนโยบายไม่ชอบมาพากล ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรมิชอบ ชาวบ้านก็สามารถดำเนินการตรวจสอบได้"


 


นอกจากนั้น รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ยังได้กล่าวในเวทีประชุมทางวิชาการ เรื่อง การถอดประสบการณ์และการระดมความคิดเห็นในการให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขึ้นที่ห้องประชุม โรงแรมท่าตอนชาเล่ท์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่


 


โดยในตอนหนึ่งของการประชุมทางวิชาการ รองเลขาธิการ สมช.ได้กล่าวขอโทษต่อคนแม่อายว่า ขอยอมรับผิดทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ และคิดว่าคงจะต้องรับผิดชอบในส่วนการดำเนินการที่ผ่านมา เนื่องจากว่า ครม.ชุดที่แล้ว ได้มีมติอนุมัติให้เร่งทำการสำรวจ แต่ไม่ได้เร่งรัดอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงาน ทั้งๆ ที่เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสิทธิทางการศึกษา สิทธิการเกิด การเดินทาง การรักษาพยาบาล เรื่องเหล่านี้ล้วนอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของ สมช.ชัดเจน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่จำเป็นตามหลักของมนุษยธรรม


 


"การจัดเวทีครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการกระตุ้นการทำงานของภาครัฐ และขอยอมรับผิดแทนภาครัฐด้วย และหวังว่าทุกคนคงให้อภัย" รองเลขาการสมช.กล่าว


 


ปัญหานี้อาจถือเป็นกรณีศึกษาถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่ของภาครัฐ ที่กระทำต่อประชาชนคนไทยด้วยกันเอง อาจจะโดยเลินเล่อไม่ตั้งใจหรือตั้งใจเนื่องจากมีกรอบความคิด มีอคติทางชาติพันธุ์ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้ ย่อมส่อให้เห็นถึงกระบวนการ การบริหารราชการของเจ้าหน้าที่รัฐ นโยบายรัฐที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง


 


ข่าวประกอบ


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=797&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=762&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2576&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1115&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net