Skip to main content
sharethis

ประชาไท -22 พ.ย. 49      วันที่ 22 พ.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม ตัวแทนสภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากการฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด พ.ศ. 2546 มาพบ นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม


 


นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ กล่าวว่า ในช่วงที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามยาเสพติด มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน จากการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว รัฐบาลตอนนั้นได้อ้างว่าผู้เสียชีวิตเป็นนักค้ายาเสพติดรายย่อยถูกนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ฆ่าตัดตอน


 


แต่จากการตรวจสอบของสภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่า ผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวจำนวนมากเป็นผู้บริสุทธิ์และครอบครัวก็ตกระกำลำบากไปด้วย ในวันนี้ได้พาครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสงครามยาเสพติดตอนนั้น 4 คดี มาร้องเรียนกับปลัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้ได้ทราบเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น


 


นายสมชาย กล่าวต่อว่า คดีที่มาร้องเรียนเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.- เม.ย. 2546 หรือช่วงประกาศสงครามกับยาเสพติด ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องไว้พิจารณาและมีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้รับความยุติธรรมทั้งในทางคดีอาญาและคดีแพ่ง


 


ทั้งนี้ ทางกระทรวงยุติธรรมน่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดในแต่ละคดีจากทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว เพราะเคยทำรายงานเสนอรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว ประมาณ 40 คดี แต่ไม่ได้รับความใส่ใจแต่อย่างใด และเข้าใจว่าตอนนี้เมื่อคดีเหล่านี้ปรากฏขึ้น ทางกระทรวงยุติธรรมจะไปตรวจสอบเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ส่งเข้ามาก่อนหน้านี้ว่าตกไปอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม จะให้ญาติแจ้งทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ส่งรายละเอียดของแต่ละคดีมาที่กระทรวงยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง


 


เมื่อถามว่าคดีที่เกิดขึ้นตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยทำรายงานไว้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีหรือไม่ นายสมชายตอบว่า เนื่องจากเป็นอนุกรรมการในการสอบสวนด้วย พบว่ามีพยานหลักฐานและสิ่งบอกเหตุหลายประการในแต่ละคดีว่าน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าน่าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายสงครามยาเสพติด


 


"ได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่บางคน ซึ่งก็อาจจะไม่ได้พูดตรงๆ แต่ก็พูดยอมรับว่า ตอนนั้นรู้สึกอึดอัดต่อนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างมาก ถ้าไม่ได้ทำตามอย่างเข้มงวดก็จะถูกลงโทษทางวินัย เพราะการสั่งการมาจากหน่วยเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงมหาดไทยออกมาชัดเจนว่าเดือนไหนจะต้องลดเป้าในบัญชีดำกี่เปอร์เซ็น การลดเป้าวิธีหนึ่งก็คือคนที่อยู่ในบัญชีดำนั้นเสียชีวิตหรือไม่ก็ต้องถูกจับกุม ก็เกิดเหตุโศกนาฏกรรมทั่วประเทศ"


 


นายสมชาย ระบุว่าความหวังในการดำเนินคดีกับผู้อยู่เบื้องหลังในการดำเนินนโยบายสงครมยาเสพติดอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมพอสมควร ส่วนหนึ่งเพราะมีอำนาจหน้าที่ระดับหนึ่งที่จะสืบสาวเรื่องนี้ทั้งในทางวินัยและในทางคดีอาญาได้ เนื่องจากทางกระทรวงยุติธรรมมีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในทางอาญาได้


 


นอกจากนี้ นายสมชายยังแสดงความมั่นใจว่า จะดำเนินการผิดให้ถึงที่สุดไปถึง "จอมบงการ" ด้วย คือ คดีทางอาญามีตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน และผู้โฆษณาให้คนกระทำความผิด ซึ่งมีผู้นำบางคนในช่วงนั้นก็ประกาศหลายครั้งหลายหนให้ดำเนินสงครามยาเสพติด


 


สำหรับญาติของผู้เสียหาย 4 ราย ประกอบด้วยคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดตาก คดีในอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก คดีในอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และคดีในจังหวัดอ่างทอง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อรับโอนเป็นคดีพิเศษก่อน



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net