Skip to main content
sharethis


ผศ.ชิดชนก ราฮีมมูลา


 


กลายเป็นประเด็นร้อนไปเสียแล้ว กับข้อมูลที่ออกจากปาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ว่าแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากเครือข่ายร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้ง"


 


ล่าสุดรัฐบาลมาเลเซีย รวมถึงเครือข่ายร้านอาหารไทยในมาเลย์ ตลอดจนผู้นำศาสนา นักธุรกิจ และนักวิชาการด้านสันติวิธี ได้ออกมาตำหนิการให้ข้อมูลของ พล.อ.สุรยุทธ์ อย่างกว้างขวาง


 


เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีท่านนี้ที่ถูกวิจารณ์ในแง่ลบเกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังได้รับกระแสสนับสนุนอย่างสูงกับการเอ่ยคำ "ขอโทษ" จากความผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต


 


จริงๆ แล้วองค์ความรู้เกี่ยวกับ "เครือข่ายต้มยำกุ้ง" ที่นอกเหนือจากข้อมูลด้านลบของหน่วยข่าวกรอง ในบ้านเราเองก็มีศึกษาวิจัยอยู่พอสมควร โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดคือ "โครงการวิจัยแนวทางการจัดสวัสดิการการกำหนดค่าธรรมเนียมที่มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานร้านอาหารไทยผันเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย" ซึ่งมี ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหัวหน้าโครงการ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


ผศ.ชิดชนก เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจร้านอาหารไทยในมาเลเซียที่เรียกกันติดปากว่า "ร้านต้มยำ" นั้น ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเมนูเด็ด "ต้มยำกุ้ง" ที่ถูกปากถูกใจ ประกอบกับวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูอย่างยิ่งในมาเลเซีย


 


ทั้งนี้ จากที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่าคนไทยที่อยู่ในธุรกิจร้านต้มยำมีไม่ต่ำกว่า 80,000 คน และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ


 


1.เจ้าของร้านต้มยำ ซึ่งเดิมเป็นคนไทย แต่เข้าไปบุกเบิกธุรกิจนี้เป็นรุ่นแรกๆ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนปัจจุบันได้สัญชาติมาเลเซีย และมีฐานะร่ำรวยไปแล้ว โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่พื้นเพเดิมมาจากจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง แต่ไม่มีคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้



 


2.กลุ่มแรงงานสตรีในร้านต้มยำ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นคนจาก 3 จังหวัดชายแดน โดยเจ้าของร้านติดต่อผ่านทางเครือญาติ แล้วดึงๆ กันไป บางหมู่บ้านไปกันหลายสิบคน เพราะรายได้ดี


 


3.กลุ่มแรงงานชายในร้านต้มยำ ซึ่งคนกลุ่มนี้เข้าไปทำงานหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวดชายแดนภาคใต้แล้ว แต่ทำงานไม่ค่อยทน ไม่เหมือนกับแรงงานผู้หญิง


 


ผศ.ชิดชนก กล่าวต่อว่า แรงงานในร้านต้มยำเกือบ 100 % เป็นคนสัญชาติไทยที่ข้ามแดนไปยังประเทศมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย แต่ใช้วีซ่าท่องเที่ยว มีอายุ 1 เดือน ซึ่งวีซ่าประเภทดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการประกอบอาชีพได้ ฉะนั้นเมื่อคนกลุ่มนี้ไปลักลอบทำงาน ก็จะต้องมาจ๊อบพาสปอร์ตทุกเดือน บางรายต้องยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อขอโอกาสทำงานต่อไป


 


"ถ้าแรงงานเหล่านี้ต้องการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เรียกว่าค่า privy เป็นเงินถึง 20,000 บาทต่อคน หลายคนจึงไม่ยอมจ่าย ก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ถือเป็นกลุ่มที่น่าสงสารมาก"


 


"ต่อมา หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตากใบ เมื่อปลายปี 2547 มีคนจาก 3 จังหวัดข้ามฝั่งไปทำงานในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ทางการมาเลย์จึงเห็นใจ และลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้ ซึ่งถือเป็นสิทธิพิเศษที่คนจาก 3 จังหวัดได้รับเหนือกว่าแรงงานจากประเทศอื่นๆ"


 


ผศ.ชิดชนก กล่าวอีกว่า จากที่ได้ไปสัมภาษณ์แรงงานในร้านต้มยำ ทำให้ได้ข้อมูลว่าแรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับมายังฝั่งไทย ให้พ่อแม่ ครอบครัว ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อสวนยาง หรือแม้แต่สร้างมัสยิด โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีฝากกันมา ไม่ได้ส่งผ่านธนาคาร ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจึงถูกเพ่งเล็งจากทางการไทย เพราะเห็นว่าไม่ได้ทำมาหากินอะไร แต่กลับมีบ้านมีรถ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเงินจากหยาดเหงื่อแรงงานร้านต้มยำที่ส่งกลับไปให้


 


"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาการว่างงานสูง และรัฐบาลก็แก้ปัญหาไม่ได้ คนที่ว่างงานก็ต้องข้ามฝั่งไปหางานทำในมาเลเซีย ถือเป็นการแสวงหาโอกาส และลดปัญหาการว่างงานตามแนวชายแดนไทยด้วยซ้ำ"


 


ส่วนข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า เครือข่ายร้านต้มยำในมาเลเซีย เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อความไม่สงบนั้น ผศ.ชิดชนก ยืนยันว่า หากจะมีอยู่จริงก็เป็นส่วนน้อยมาก


 


"จากการสัมภาษณ์แรงงานร้านต้มยำ ก็ถามเขาว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลบ้าง เขาตอบว่าไม่ต้องการเลย นอกจากความเข้าใจ อย่าคิดว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เพราะคนที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนน้อยมาก เป็นการต่อสู้ในยุคเก่า ตั้งแต่สมัย นายสะมะแอ ท่าน้ำ ที่มาเปิดร้านอาหารไทยอยู่ในรัฐหนึ่งของมาเลเซีย แต่เมื่อ สะมะแอ ท่าน้ำ ถูกจับกุม ขบวนการพูโลที่อยู่นอกประเทศก็กระจัดกระจายกันไป ก็ถือว่าหมดยุคของผู้ที่เกี่ยวพันกับการก่อความไม่สงบ"


 


ผศ.ชิดชนก บอกด้วยว่า สถานการณ์ในปัจจุบันต้องถือว่าเป็นความน่าสงสารของแรงงานไทยในมาเลเซียมากกว่า เพราะทุกคนต้องทำงานหนัก ต้องแอบไปจ๊อบพาสปอร์ต ต้องเสียเงินใต้โต๊ะ ซึ่งทั้งหมดก็ทำไปเพื่อหาเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว แต่กลับถูกมองในแง่ลบจากรัฐบาล ทั้งๆ ที่เป็นช่องทางบรรเทาความยากจนในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง


 


"ดิฉันอยากเสนอรัฐบาลว่า การจะบอกว่าเงินสนับสนุนการก่อความไม่สงบมาจากตรงไหน ต้องอาศัยข้อมูลที่มาจากภาคสนามมากพอสมควร และไม่สามารถนำประเด็นเล็กๆ มาขยายให้เป็นภาพกว้างได้ มิฉะนั้นจะคลุมเครือ และส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้คนจำนวนมาก"


 


000


 


เรื่องเล่า "มะสะกรี ดอเลาะ" หนีบัญชีดำซุกเครือข่ายต้มยำกุ้ง


 


แม้หลายฝ่ายจะออกมาตำหนิการให้ข้อมูลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่พาดพิงเครือข่ายร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้ง" ว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนเงินทุนสำหรับก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้อย่างเต็มปากว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงเอาเสียเลย


 


เพราะเรื่องเล่าของ มะสะกรี ดอเลาะ ผู้ต้องหาคดีก่อความไม่สงบ รางวัลนำจับถึง 500,000 บาท ที่เข้ามอบตัวต่อทางการไทยในรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็ยอมรับว่า หลังเขาถูกออกหมายจับ และถูกขึ้น "บัญชีดำ" เป็นผู้ก่อความไม่สงบระดับ "ตัวเอ้" เขาได้ตัดสินใจหลบหนีข้ามแดนไปยังฝั่งมาเลเซีย


 


ข้อมูลจากปากคำ มะสะกรี ดอเลาะ ในห้วงที่กลับคืนสู่แผ่นดินเกิดแล้ว อ้างว่า เมื่อเขารู้สึกคับอกคับใจกับความผิดที่ไม่ได้ก่อขึ้น เขาจึงหนีข้ามฝั่งไปกบดานอยู่ในรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ในย่านชุมชนคนไทยที่มีร้านอาหารไทยเปิดกันอย่างหนาแน่น เรียกว่า "ร้านต้มยำกุ้ง"


 


เมื่อไปถึง ผู้คนทางฝั่งโน้นให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี โดยที่เขาเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับการต้อนรับมากถึงขนาดนั้น แถมยังหางานให้ทำ โดยเปิดร้านคาร์แคร์แห่งหนึ่งให้ในย่านชุมชนในเขตเมืองอีกด้วย


 


แต่คำถามที่ มะสะกรี ตอบไม่ชัดเจนนักก็คือ ผู้คนที่เขาอ้างถึงนั้น คือใคร และเหตุใดถึงมีเงินใช้สอยมากมายถึงขั้นเปิดร้านคาร์แคร์ไว้รอบุคคลที่ถูกตีตราว่า เป็นผู้ก่อความไม่สงบที่ทางการไทยต้องการตัว!


 


สุริยะ ตะวันฉาย ประธานมูลนิธิดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ ผู้ประสานงานพาตัว มะสะกรี กลับมามอบตัวกับทางการไทย กล่าวว่า ถ้าจะถามว่าที่ฝั่งมาเลเซียมีเครือข่ายต้มยำกุ้งหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี และ มะสะกรี ดอเลาะ ก็เคยอยู่ที่นั่น แต่หากพูดเรื่องนี้แล้วเกิดการกระทบกระทั่งกัน ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่ควรพูดจะดีกว่า เพราะข้อมูลต่างๆ ก็ไม่ได้มีความชัดเจนอะไร


 


"ผมว่ามันก็ไม่ต่างกับสภากาแฟในบ้านเรานี่แหละ ผมก็เคยไปมา มีร้านที่เป็นแหล่งนัดพบกันระหว่างคนไทยด้วยกัน แล้วก็นั่งคุยกันถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเคแอล (กัวลาลัมเปอร์) จริงๆ แล้วที่นั่นมีหมู่บ้านของคนที่หลบหนีจากฝั่งไทยเลยด้วยซ้ำ เวลาคนไทยหนีร้อนไป ก็ช่วยเหลือกัน ก็อาจจะหรี่ตากันข้างหนึ่ง"


 


"ส่วนเรื่องเก็บค่าคุ้มครองมันก็มี เรื่องแบบนี้ที่ไหนๆ ก็มีกันทั้งนั้น แต่จะมากมายมหาศาลถึงขั้นนำมาเป็นเงินทุนก่อความไม่สงบหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ"


 


ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net