Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 



ปราณม สมวงศ์ จากMAP Foundation


 


จากการเสวนา "ก้องมาจากสาละวิน" โครงการสัมมนาสร้างความเข้าใจต่อสถานการ


ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์พม่า จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)


Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACB) ร่วมกับ สื่ออิสระล้านนา (Lanna


Independent Media) และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ภาคเหนือ ณ ร้านเล่า กาดเชิงดอย จังหวัด


เชียงใหม่


 


โดยในหัวข้อ "สถานการณ์แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์พม่าในไทย" ปราณม สมวงศ์ วิทยากรจาก MAP


Foundation ได้อธิบายถึงสถานการณ์และข้อเสนอแนะดังนี้ ...


 


พื้นที่อำเภอแม่สอดในจังหวัดตากและที่อำเภอมหาชัยจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเขตอุตสาหกรรมที่


พัฒนาขึ้นมาในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา เพราะได้รับผลประโยชน์จากการใช้แรงงานราคาถูกจากประเทศ


พม่า


 


ในปี พ.ศ. 2548 - 2549 มีแรงงานมาจดทะเบียนทั้งหมด 889,468 คน ซึ่งแยกมาจดทะเบียนในเดือน


มิถุนายน 2548 - 2549 จำนวน 668,576 และเดือนมีนาคม 2549 - 2550 จำนวน 220,892 คน แรงงาน


เหล่านี้มาจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทำงานในโรงงานเสื้อผ้า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานประดิษฐ์ของใช้


ต่างๆ รวมถึงแรงงานทำงานตามบ้าน แรงงานที่ทำงานก่อสร้าง ร้านอาหาร ฯลฯ


 


การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์


 


ในพื้นที่อำเภอแม่สอด หรือชายแดนอื่นๆ ที่ดูเหมือนเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ถูกจัดตั้งขึ้นในบาง


จังหวัดและเขตชายแดน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทย โดยการจ้างแรงงานข้ามชาตินับแสนคน ใน


เขตพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เคยเป็นพื้นที่ชนบท และแต่เดิมมามีการจัดสรรการให้การบริการตามความเหมาะสม


ของประชากรในพื้นที่นั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์ในพื้นที่เหล่านี้บ่งบอกถึงความต้องการการบริการ


ใหม่ ที่ต้องมีเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มใหม่ที่พึ่งเข้ามา


 


ประชากรเหล่านี้คือแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งได้รับการเชิญให้เข้ามาทำงาน แก้ไขปัญหา


การขาดแคลนตลาดแรงงานของไทย โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน พื้นที่ในประเทศไทย


ซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีในจังหวัด ตาก ระนอง พังงา ภูเก็ต


สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติหญิงนับแสนคนที่ทำงานเป็นผู้ช่วย


ทำงานบ้านในเขตของนายจ้างในกรุงเทพมหานคร แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการต่างๆ ได้


 


ความต้องการด้านสุขภาพ


 


ในหลายๆ พื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง ในแรงงานอุตสาหกรรมตัด


เย็บเสื้อผ้าในอำเภอแม่สอด แรงงานมากกว่าร้อยละ 70 เป็นแรงงานหญิง พวกเธอไม่สามารถเข้าถึง


บริการสุขภาพผู้หญิงที่มีประสิทธิภาพ หรือบริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงเอดส์ , เด็กที่เกิดมาแล้วมีอาการผิดปกติ (โรคเพดานปากแหว่ง) ซึ่งโรคเหล่านี้หลีกเลี่ยงได้ หากขณะที่แม่ตั้งครรภ์มีการส่งเสริมสุขภาพอย่างเหมาะสม มีการป้องกัน การรักษาและการบริการดูแล


 


แรงงานข้ามชาติหญิงได้รับความทุกข์ทรมานจากโรค อะนีเมีย ภาวะโภชนาการบกพร่อง โรคติดต่อ โรคติดเชื้อจากการทำแท้ง ความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ


 


ข้อเสนอแนะของความต้องการด้านสุขภาพ


 



  • รัฐออกกฎหมายเพื่อจ้างและอบรมแรงงานข้ามชาติทั้งหญิงและชายเพื่อทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สุขภาพเต็มเวลา
  • กระทรวงสาธารณะสุขและกระทรวงแรงงานควรสั่งให้เจ้าหน้าที่จดทะเบียนจ้างแรงงานข้ามชาติ ให้แรงงานข้ามชาติมีวันหยุดและได้รับการจ่ายเงินค่าจ้าง เพื่อใช้เวลานั้นในการเข้าอบรมและให้บริการการให้การปรึกษาด้านสุขภาพ

 


พื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัยในชุมชน


 


ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ แต่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้จัดให้มีพื้นที่สาธารณะหรือที่อยู่อาศัยในชุมชนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ แรงงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ในห้องพักที่นายจ้างจัดให้ อาจจะเป็นโรงพักที่อยู่ในบริเวณโรงงาน กระท่อมที่สร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ในพื้นที่ก่อสร้าง หรือพื้นที่เล็กๆ ภายในบ้านหากแรงงานทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน เมื่อแรงงานหญิงไปหานายจ้างไม่ใช่แค่งานที่ทำอย่างเดียวแต่เป็นที่อยู่อาศัยของเธอด้วย


 


สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถเปรียบเทียบได้กับภาวะความรุนแรงในครอบครัว เธอไม่สามารถที่จะหนีจากการละเมิดได้ เนื่องจากสูญเสียความปลอดภัยและกรณีของแรงงานข้ามชาติ เธอจะสูญเสียสถานภาพด้านกฎหมาย


 


ข้อเสนอพื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัยในชุมชน


 



  • แต่ละจังหวัด ใช้สถิติตัวเลขของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดทำการพัฒนาที่อยู่อาศัยทางเลือกที่ถูก ปลอดภัย เหมาะสมแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหญิงและชาย

 


สถานภาพการทำงาน


 


สภาพการทำงานของแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานในโรงงาน ทำงานตั้งแต่เวลาแปดนาฬิกาถึงสิบเจ็ดนาฬิกา ในช่วงเวลาที่มีการผลิตสูงสุด ต้องทำงานล่วงเวลาตั้งแต่สิบแปดนาฬิกาถึงเช้าของอีกวัน แรงงานจะได้รับค่าแรงประมาณ 50-70 (เป็นจำนวนแค่หนึ่งในสามของค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย) และประมาณ 30 บาทต่อการทำงานล่วงเวลาหกชั่วโมง


 


นอกจากนี้นายจ้างยังหักเงินประมาณ 100-300 บาท เป็นค่าที่อยู่อาศัย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พักแคบๆ ที่แออัดในหอพัก) หักค่าทำใบอนุญาตทำงาน ดังนั้นค่าแรงที่แรงงานหญิงเหลืออยู่ประมาณ 1200 - 1500 ต่อเดือน ยังมีการหักค่าอื่นๆ ในที่ทำงาน เช่น กรณีโรงงาน บี บี ทอป โรงงานรีล้ง กฎและระเบียบต่างๆ ในภาษาพม่าได้ถูกปิดอยู่ในบริเวณโรงงาน ซึ่งรวมการหักเงิน 50 บาทหากแรงงานเข้าห้องน้ำนานเกินไป หรือการมาทำงานสาย 5 นาที หากแรงงานขาดงานครึ่งวันจะถูกหักเงิน 200 บาท ซึ่งหมายถึงค่าแรง 4 วันของแรงงาน สภาวะเหล่านี้แรงงานหญิงได้ให้การในชั้นศาลแรงงานจังหวัดแม่สอด ซึ่งรวมถึงนายจ้างได้ยึดเอกสารส่วนตัวเช่นบัตรอนุญาตทำงานของพวกเธอ พวกเธอต้องอยู่โดยไม่มีเอกสารประจำตัว


 


ทำให้ตนเองไม่มีความปลอดภัย หรืออาจจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเข้าตรวจค้น จับกุมหรือส่งพวกเธอกลับประเทศข้างต้นเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งนี้พวกเธออยู่โดยปราศจากบัตรประกันสุขภาพ พวกเธอไม่สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพ 30 บาท ถึงแม้ว่าพวกเธอจะซื้อประกันสุขภาพ 1900 บาท ระหว่างที่ขอจดทะเบียนอนุญาตทำงาน


 


ข้อเสนอสภาพการทำงาน


 



  • กระทรวงแรงงานควรจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ในการจัดตั้ง การดำเนินการ และการตรวจสอบกลไกสำหรับแรงงานข้ามชาติในกระบวนการการใช้สิทธิและการร้องทุกข์ในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ
  • กระทรวงแรงงานควรจัดจ้างและฝึกอบรมล่ามแปลภาษาเพื่อทำงานในสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและในศาลแรงงาน รวมถึงการพัฒนาพจนานุกรมภาษากฎหมาย ภาษาพม่า ลาว กัมพูชา
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นควรสร้างหลักประกันเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องประสบกับการคุกคาม ข่มขู่ จับกุม หรือบังคับส่งคนกลับประเทศต้นทาง ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย
  • คณะกรรมการบริการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กระทรวงแรงงานควรจะขยายโอกาสให้ตัวแทนแรงงานข้ามชาติเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้

 


 


อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน


 


แรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ในประเภทงานที่มีหลากหลายในประเทศรวมถึง การฉีดพ่นสารเคมีในสวนส้ม สวนลิ้นจี่ในอำเภอฝาง งานก่อสร้างทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย โรงงานผลิตเสื้อผ้า ไหมพรม โรงงานแหอวน อุตสาหกรรมประมง และงานผู้ช่วยแม่บ้าน งานส่วนใหญ่เหล่านี้แรงงานต้องทำกับสารเคมี การยกของที่หนัก การยืนทำงานและการเคลื่อนไหวที่ซ้ำกันต่อเนื่องหลายชั่วโมง ถูกจำกัดการใช้ห้องน้ำ ไม่มีแรงงานข้ามชาติคนไหนเลยที่ให้ข้อมูลว่าพวกเขาได้รับการอบรมเรื่องอาชีวะอนามัย และความปลอดภัยในที่ทำงาน ความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถให้ข้อมูลและเป็นที่ปรึกษาและไม่มีกลไกสำหรับแรงงานหญิงที่จะร้องทุกข์ได้โดยปราศจากผลกระทบที่สะท้อนกลับมา เช่น การถูกไล่ออกทันที การข่มขู่ที่กระทบต่อความปลอดภัยส่วนบุคคล การถูกแทรกแซงพื้นที่ส่วนบุคคล โดยการจ้างกลุ่มอันธพาลเพื่อมาทำร้ายแรงงาน เป็นต้น


 


ข้อเสนอเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน


 



  • นายจ้างทุกคนต้องจัดอบรมเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน ให้แก่แรงงานที่ทำงานกับตน แรงงานข้ามชาติที่เข้ารับการอบรมดังกล่าวควรได้รับการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับเวลาที่พวกเขาได้เข้าการอบรม
  • กระทรวงแรงงานควรจัดการอบรมที่แยกออกมาจากการอบรมข้างต้น เพื่อพัฒนาให้มีแรงงานข้ามชาติที่สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างต้องจัดให้มีเวลาและจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในที่ทำงาน สามารถปฏิบัติงานได้
  • กระทรวงสาธารณะสุขควรจะมีการสำรวจสุขภาพของแรงงานข้ามชาติหญิงที่เกี่ยวเนื่องจากสภาพการทำงานและโรคที่เกิดจากการทำงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะให้กับนายจ้าง
  • กระทรวงยุติธรรมควรจะอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการชดเชยค่าเสียหายในกรณีอุบัติเหตุจากการทำงานอุตสาหกรรม และปัญหาสุขภาพที่มีผลจากการทำงานในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย

 


การถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง


 


จนถึงปัจจุบันนี้ แรงงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชาและลาวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารเข้าเมือง ภายใต้นโยบายเรื่องแรงงานในประเทศไทย แรงงานที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานไม่สามารถที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดเขตที่จดทะเบียนได้ แรงงานสามารถที่จะย้ายนายจ้างหรือสถานที่ทำงานได้ ต้องแจ้งกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด แรงงานต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจดทะเบียนขออนุญาตทำงานและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ใหม่ ส่วนนายจ้างที่จดทะเบียนจ้างผู้ช่วยแม่บ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติ มีอภิสิทธิ์ที่จะพาผู้ช่วยแม่บ้านคนนั้นไปกับตนที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย


 


การถูกจำกัดการเดินทางก่อให้เกิดความเปราะบางและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นกับแรงงานหญิงข้ามชาติ ถ้าแรงงานต้องการที่จะเดินทางไปยังจังหวัดอื่นเพื่อความสำเร็จส่วนตัว พวกเธอไม่มีทางเลือกแต่พยายามเคลื่อนย้ายโดยไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย ผู้หญิงหลายคนต้องจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อแลกกับการช่วยเหลือ ให้พวกเธอเคลื่อนย้ายและผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร


 


กระบวนการใช้นายหน้านั้น เริ่มจากหาเงินเพื่อจ่ายนายหน้า , เดินทางโดยการซ่อนตัวหรือปลอมตัว , ไม่มีการทำสัญญาหรือปกป้องใดๆ , ผู้หญิงไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยในการจัดการเดินทาง หรือจุดหมายปลายทางที่จะไปถึง ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงในการที่จะถูกขู่ กรรโชก จากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ความรุนแรง (ทางกาย, ทางเพศ, ทางอารมณ์) , อันตรายจากการขาดอากาศหายใจขณะที่ซ่อนตัวอยู่ในรถ, การดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย , การถูกลักพาตัว และท้ายที่สุด ต้องตกอยู่ในภาวการณ์บังคับใช้แรงงาน


 


แรงงานที่ย้ายพื้นที่ข้ามจังหวัดตามกระบวนการดังกล่าวตามบรรยายขั้นต้นนั้น ต้องตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก หากมีการเอารัดเอาเปรียบครั้งที่สองในสถานที่ทำงาน พวกเธอต้องตกอยู่ในสภาพเดิมอีกครั้ง รวมถึงการจ่ายค่าบัตรอนุญาตทำงาน เพื่อย้ายกลับไปที่สถานที่ทำงานเดิม หรือย้ายไปจังหวัดอื่น เจ้าหน้าที่ที่แทบจะทั้งหมดในทุกพื้นที่ไม่มีการอำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าวเลย เช่น กรณีแรงงานพม่าที่ทำงานในโรงงานแหอวนเดชาพานิช จังหวัดขอนแก่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง แรงงานมีความหวาดกลัวหลังจากที่มีกรณีพิพาทกับนายจ้างเรื่องสภาพการทำงานและขอให้กลับไปที่อำเภอแม่สอด แรงงานถูกส่งกลับไปที่อำเภอแม่สอด และบังคับส่งกลับประเทศพม่า แรงงานทั้งหมดต้องสูญเสียสถานภาพทางกฎหมายและไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้


 


ในกรณีคล้ายกันที่เกิดขึ้นกับแรงงานที่ได้ย้ายจากอำเภอแม่สอด ซึ่งถูกข่มขู่และใช้กำลังจากนายจ้างพื้นที่หาดใหญ่ แรงงานได้รับอนุญาตให้ใช้กระบวนการในการกลับจังหวัดเดิมที่เคยจดทะเบียน แต่ไม่มีความหมายของการเคลื่อนย้ายทางกายภาพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แรงงานถูกทำให้กลายเป็นคนผิดกฎหมายและภัยคุกคาม ดังนั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่ในที่สาธารณะจะถูกขัดขวางและสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง


 


ในกรณีแรงงานจากหาดใหญ่นั้น แรงงานต้องขึ้นอยู่กับการส่งตัวของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อส่งตัวพวกเขาจากอำเภอหาดใหญ่มาที่อำเภอแม่สอด พวกเขาต้องเดินทางในรถบรรทุกที่ไม่มีหลังคาจากอำเภอหาดใหญ่มาที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงในขณะที่มีฝนตกหนัก และหลังจากนั้นแรงงานต้องอยู่ในห้องกักของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอีกหลายวัน


 


ถึงแม้ว่าการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในห้องกัก สมเหตุสมผล แต่แรงงานเหล่านี้ไม่ได้ทำการใดที่เป็นการผิดกฎหมายเลย ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สมควรที่จะต้องทนทุกข์ต่อสภาวะการที่ไร้มนุษยธรรมในการต้องถูกกักตัว ทั้งนี้ก็เพราะว่าไม่มีที่อยู่อาศัยของชุมชน การบริการรถสาธารณะที่พวกเขาจะใช้ได้ ทางเลือกเดียวที่มีอยู่ก็คือการตกในภาวะดังกล่าว


 


ข้อเสนอแนะเรื่องการถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง


 



  • ต้องยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและเดินทางของแรงงานที่จดทะเบียน
  • ควรมีการจัดตั้งที่พักค้างคืน เกตเฮาส์ ที่อยู่ระหว่างทาง ซึ่งอาจจะดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชนโดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ในประเทศไทย

 


การถูกจำกัดสิทธิในการรวมตัวเจรจา


 


แรงงานข้ามชาติถูกจำกัดตามกฎหมายไทยไม่ให้มีสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานของตนเอง กฎหมายเฉพาะเจาะจงว่าบอร์ดของแต่ละสหภาพแรงงานต้องเป็นคนไทยมีสัญชาติไทย และเกิดในประเทศไทยเท่านั้น (พรบ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 101) แรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้รับอนุญาตให้เป็นสมาชิกสหภาพได้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่แรงงานข้ามชาติทำงาน (โรงงานการ์เม้นท์ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า) แม่สอด ได้ตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อว่าจ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสหภาพแรงงาน และไม่มีสหภาพแรงงานไทยในพื้นที่นี้สำหรับให้แรงงานเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้


 


นอกจากนั้น มีแรงงานไทยแค่ร้อยละสามที่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน ดังนั้นแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายอย่าง ด้วยตัวแทนอันน้อยนิดในการรณรงค์เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของพวกเขา แรงงานถูกจำกัดด้านกายภาพในการจัดตั้งคณะกรรมการ เนื่องจากพวกเขาไม่มีเวลา ไม่มีพื้นที่ชุมชนในการปกครองตนเอง และมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเพื่อพบปะกับเพื่อนแรงงานในพื้นที่อื่นได้ยาก


 


ข้อเสนอแนะสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง


 



  • กระทรวงแรงงานควรจะบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับชั่วโมงการทำงาน วันหยุดประจำปี และวันหยุดตามประเพณี
  • กระทรวงแรงงานควรสั่งการให้นายจ้างทุกคนที่จ้างผู้ช่วยแม่บ้านให้มีการเซ็นสัญญาการจ้างงาน ซึ่งเฉพาะเจาะจงไปที่ชั่วโมงการทำงานและสภาพการทำงานซึ่งมีหลักประกันว่าต้องมีวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ต่อผู้ช่วยแม่บ้าน
  • องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องสร้างพื้นที่ในชุมชนให้เปิดรับและแรงงานข้ามชาติสามารถใช้ได้

 


กรณีผู้ลี้ภัยไทใหญ่


 


ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ มีการประมาณการกันว่าในจำนวนประชากรที่เป็นผู้พลัดถิ่นนั้น มีผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ประมาณ 200,000 คนซึ่งต้องการที่พักที่ปลอดภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม


 


ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 ทหารไทยได้ผลักดันผู้ลี้ภัยไทใหญ่กว่า 400 คน ซึ่งรวมถึงเด็กกำพร้า 280 คน ในบริเวณชายแดนไทย - ไทใหญ่ ดอยไตแลงบริเวณตอนเหนือของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยกว่า 1,800 คน ที่หลบภัยในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543


 


พื้นที่นี้ได้ถูกจัดให้อยู่ในความปกครองของ UWSA มาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2548 มี 68 ครอบครัวที่ถูกบังคับให้ย้ายกลับไปที่ชายแดนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548


 


ข้อเสนอแนะกรณีผู้ลี้ภัยไทใหญ่


 



  • อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยไทใหญ่ได้เข้าถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรช่วยเหลือต่างๆ ในประเทศไทย
  • รัฐไทยต้องไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ไปสู่น้ำมือรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะผู้หญิง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net