รายงานจากเวทีแม่น้ำโขง-สาละวิน: รุมสับรัฐไทย-พม่า-จีน จอมละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประชาไท - 25 พ.ย. 2549 วานนี้ (24 พ.ย. 49) ซึ่งเป็นวันที่สองของการสัมมนาหัวข้อ "แม่น้ำโขง-สาละวิน : ผู้คน ผืนน้ำ และสุวรรณภูมิของอุษาคเนย์" ที่โรงแรมเซ็นทรัลดวงตะวัน จ.เชียงใหม่ โดยในช่วงเช้ามีการเสวนาหัวข้อ "แม่น้ำโขง-สาละวิน : สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน" ซึ่งมีประเด็นเรื่องโครงการสร้างเขื่อนและปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนที่น่าสนใจ

 

เรามีสิทธิมนุษยชนเพราะเราเป็นมนุษย์

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ประธานหลักสูตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตหลักสูตรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวนำการเสวนาว่า ความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชนทำให้เราเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไร้พรมแดน สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เรามีมาแต่กำเนิด และเรามีสิทธิเพียงเพราะว่าเราเป็นมนุษย์ไม่มีเหตุผลเป็นอย่างอื่น

 

สิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลเป็นเพราะทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน สิทธิไม่ได้มีเฉพาะคนที่เป็นพลเรือน ผู้คนที่อยู่บนผืนแผ่นดินล้วนแต่มีสิทธิเท่ากัน ไม่ว่าจะมีสถานะอะไรก็ตาม เรื่องเพศทั้งเพศหญิง เพศชาย หรือไม่ใช่ทั้งสองเพศ ก็มีสิทธิจะเลือกเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น หรือมีความคิดทางการเมืองต่างกัน

 

มีข้อโต้แย้งต่อคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเธอเคยโต้แย้งกับนักการทูตจีนกับสิงคโปร์ ซึ่งบอกว่าในเอเชียไม่ต้องพูดเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเราไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเธอเห็นว่าพอพูดแบบนี้ก็ไม่รู้จะพูดต่อด้วยอย่างไร แต่ขอตั้งคำถามสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องสากลได้อย่างไร ถ้าคุณหิวคุณก็อยากทานอาหารเหมือนคนอื่นหรือชาวอเมริกัน นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า Right to food หรือสิทธิในอาหาร คนอเมริกันคิดอะไรก็อยากพูด คนไทยคิดอะไรก็อยากพูดอยากแสดงออก แบบนี้มันจะไม่เป็นสากลได้อย่างไร แต่ละคนต่างก็มีสิทธิเท่ากัน

 

ทุกคนมีสิทธิกินอาหาร มีสิทธิที่จะได้รับความมั่นคงทางอาหาร แต่แน่นอนที่สุด วิธีกินของเราอาจต่างกัน บางคนอาจใช้ส้อม บางคนอาจใช้มือ บางคนอาจใช้ตะเกียบ อาหารที่กินอาจไม่เหมือนกัน แต่ทุกอย่างคืออาหาร แต่มาตรฐานเดียวกันคือเราทุกคนต้องกินอาหาร ดังนั้นมันจะไม่สากลได้อย่างไร จึงอยากจะเรียนว่าสิทธิมนุษยชนจึงมีความเป็นสากลและไม่มีสัญชาติ

 

แม่น้ำก็เหมือนกัน เราพูดถึงทั้งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำที่ไหลผ่านสองฝั่งอาจถูกจับจอง เป็นของประเทศนั้นประเทศนี้ ตั้งชื่อแตกต่างกันได้ แต่น้ำที่ไหลไม่มีสัญชาติ มันหล่อเลี้ยงผู้คนที่อยู่ริมฝั่ง จะบอกว่าแม่น้ำเป็นของจีน แม่น้ำเป็นของพม่า จะบอกว่าเราอยากจะสร้างเขื่อนในแม่น้ำเมื่อไหร่ก็ได้คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

 

จวกจีนศึกษา EIA สร้างเขื่อน "ขอแค่เรือผ่านไปได้" เมินศึกษาผู้คน สิ่งแวดล้อม

วสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีของแม่น้าโขงมีการศึกษา แก่งของแม่น้ำโขงมี 10 แก่ง ระบบนิเวศ สัตว์น้ำก็มีลักษณะต่างกันไป แต่ตอนจีนทำการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงในส่วนของจีนประมาณเกือบ 10 แก่ง อ้างว่ามีการศึกษาผลกระทบคือศึกษาว่า "เรือสามารถเดินได้ในแม่น้ำโขงตามปกติโดยไม่ล่ม แต่ไม่ศึกษาว่าวิถีชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำโขงจะต้องอพยพโยกย้าย หรือมีผลกระทบสัตว์ต่อสัตว์น้ำที่คนใช้ดำรงชีวิตจะเป็นอย่างไรไม่มี"

 

ดังนั้นจึงเหลือแก่งในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวในฝั่งไทยคือแก่งคอนผีหลง ในส่วนของแม่น้ำสาละวิน แม้จะยังเป็นสายน้ำที่คงความบริสุทธิ์ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ แต่ในขณะนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ทำบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่าปลายปี 2548 จะสร้างเขื่อนฮัดจ์ยี

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบ กฟผ. ว่ามีกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในลุ่มน้ำสาละวิน ที่มีความหลากหลายของสัตว์น้ำ สัตว์ป่า ป่าไม้ และวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับแม่น้ำหรือไม่ คำตอบของ กฟผ. บอกว่าเขื่อนฮัดจ์ยีกั้นฝั่งพม่า ควรต้องให้พม่าเป็นคนศึกษา ทั้งที่แม่น้ำสาละวินนั้นมีพรมแดนที่กั้นไทย-พม่า ยาวกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งเขาเห็นว่าขอให้ดูกรณีเขื่อนปากมูน พอสร้างเขื่อนเสร็จ ปลาไม่สามารถว่ายน้ำไปวางไข่โดยสะดวก ทำให้พันธุ์ปลาสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกัน สัตว์ป่า ป่าไม้เป็นระบบนิเวศรวม กลับไปบอกให้คนพม่าไปศึกษาเอง แล้วคนไทยที่อาศัยแม่น้ำสาละวินในการทำประมงล่ะ การเกษตรริมแม่น้ำ วิถีชีวิตเขาจะเปลี่ยนไหม เขาไม่ตอบ เขาบอกว่าเป็นหน้าที่ของพม่า

 

ขอถามว่าถ้าหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสากล มันเหมาะสมไหมถ้าประเทศอื่น มาจัดการทรัพยากรธรรมชาติในประเทศเรา อย่างเช่นตั้งแต่ปี 2543 บริษัทของออสเตรเลียมาทำเหมืองทองในเขตภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนจึงได้รับการงดเว้นภาษีเงินได้จาก BOI ถึง 8 ปี ซึ่งทำเหมืองกว้างกว่า 2,000 ไร่ มีการขุดหินเพื่อแยกทองหนัก 2 กรัม ออกจากก้อนหิน 1 ตัน ดังนั้นทอง 1 บาทใช้หิน 7 ตัน ซึ่งทำให้มีการทิ้งบ่อไซยาไนด์หลังการผลิตทองคำไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเรา เขาได้ทองเป็นหมื่นล้านบาท แต่เราได้ค่าภาคหลวงแค่ 300 ล้านบาท แต่ชุมชนต้องถูกย้าย

 

ถ้าต่างชาติทำกับเราอย่างนี้ เป็นธรรมไหมที่เขามาตักตวงทรัพยากรจากเรา ดังนั้นก็ไม่ต่างจากเราไปสร้างเขื่อนในพม่า

 

เขื่อนฮัดจ์ยี ร่วมทุนโดย กฟผ. 45% รัฐวิสาหกิจจีน 40% และของรัฐบาลพม่า 15% ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายกับไทย บทเรียนในอดีตทำท่อก๊าซข้ามมาจากพม่า ทำให้คนพม่าอพยพเข้าไทยจำนวนมากมาย

 

วันนั้นเราจึงพยายามถาม กฟผ. ว่าบริเวณนั้นมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธไหม เขาว่าไม่มี เราถามว่าที่คนงาน กฟผ. สำรวจบริเวณสร้างเขื่อนจนเหยียบกับระเบิดตายนั้นมันกองกำลังที่ไหนล่ะ เขาจึงจนด้วยคำถาม ว่าจริงๆ แล้วตรงนั้นมีกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กับพม่า การก่อสร้างเขื่อนนอกจากจะทำลายระบบนิเวศริมแม่น้ำ ตลอดจนยังทำลายชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เท่ากับเราเองไปอุดหนุนรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเข้มแข็งด้วยการสร้างเขื่อนฮัดจ์ยี

 

ถ้าเรามองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากลและคำว่า "มนุษย์ทั้งปวงคือผองเพื่อนมันจะเป็นจริงได้หรือไม่ ถ้ายังปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนต่อไป"

 

เผย "การข่มขืน" เป็นอาวุธทหารพม่าใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน

จ๋ามตอง จากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Shan Women Action"s Network - SWAN) ระบุว่านับตั้งแต่ปี 1948 มาแล้วที่พม่าอยู่ในสภาวะสงคราม พม่าถูกละเมิดมานาน สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ปัจจุบันในพม่ามีทหารกว่า 150 กองพัน หรือ 1 ใน 4 ของทหารพม่าประจำการอยู่ในรัฐฉาน ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ของรัฐฉานคือแม่น้ำสาละวินเต็มไปด้วยกำลังทหารพม่า

 

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าเป็นไปอย่างมีระบบและกว้างขวาง เช่นมีการจับกุม การเข่นฆ่า การทรมาน การใช้แรงงานทาส การขับไล่ชาวบ้านเพื่อยึดที่ทำกิน ชาวบ้านก็ลำบากยังเป็นเช่นทุกวันนี้ แม้จะมีองค์กรนานาชาติหลายองค์กรที่เช่นองค์กรกาชาดสากล องค์กรของสหประชาชาติหลายๆ องค์กร ได้รับการอนุญาตเข้าไปทำงานในบางพื้นที่ แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังเกิดขึ้น

 

การละเมิดทำให้มีการอพยพ เพราะทหารพม่าไม่ต้องการให้ชาวบ้านไปสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อย ทำให้ชาวบ้านต้องหลบหนีและโยกย้ายถิ่นฐาน นับตั้งแต่ปี 1993 กว่า 2,500 หมู่บ้านที่ติดชายแดนไทย มีประชากรกว่า 800,000 คน ถูกทหารพม่าประกาศให้ย้ายเข้ามาในเมืองภายใน 3-7 วัน

 

โดยในปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวพม่าในอินเดียประมาณ 70,000 คนที่ไม่ได้ลงทะเบียน อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบังคลาเทศ 20,000 คน อยู่นอกค่าย 100,000 คน ส่วนในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยประมาณ 158,000 คน โดยมี 1.5 ล้านคนเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงค่ายผู้ลี้ภัย โดยชาวไทใหญ่จากพม่าจะไม่มีสถานภาพผู้ลี้ภัยจาก UNHCR (คณะกรรมการข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) จึงไม่ได้อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแต่จะเป็นแรงงานอพยพ

 

ทั้งนี้ การอพยพโยกย้าย มีผลกระทบต่อผู้หญิงมาก ทำให้ผู้หญิงคุมกำเนิดยากขึ้น เป็นโรคมาลาเรียและขาดสารอาหาร มีแม่เสียชีวิตจากการคลอดบุตร 1 ใน 12 คน และมีการการทารุณกรรมทางเพศ การข่มขืน เป็นอาวุธที่ใช้ปราบปรามควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า เพื่อควบคุมพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ

 

จากรายงานใบอนุญาตข่มขืน (License to Rape) ของ SWAN และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน กว่า 600 คนจาก 173 เหตุการณ์ ระหว่างปี 2539-2544 83% ของการข่มขืนกระทำโดยนายทหารระดับสูง ส่วนมากเหยื่อผู้หญิงจะถูกทรมานโดยวิธีต่างๆ เช่น รัดคอ ทุบตี เผาอวัยวะเพศให้ตายทั้งเป็น มีบางศพที่พบถ่านยังคาอยู่ในอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิง โดยพบว่า 25% ทารุณจนเสียชีวิต และจากรณีทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีทหารถูกลงโทษเพียงกรณีเดียว คือสั่งให้นายทหารที่ข่มขืนไปประจำการที่หนึ่ง ถ้าผู้หญิงไปฟ้อง ผู้หญิงคนนั้นอาจถูกทหารพม่าลงโทษ หรือผู้ใหญ่บ้านอาจถูกลงโทษจนถึงแก่ความตาย ซึ่งทำให้เห็นว่ามันไม่มีความยุติธรรม หรือจะไปเรียกร้องความยุติธรรมจากที่ไหนได้

 

"ผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อ เธอกับสามีหลบอยูในป่าเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons - IDPs) แอบซ่อนอยู่ในป่าเพื่อทำกินไปวันๆ ก่อนที่ทหารพม่าจะมาพบ จึงจับภรรยาข่มขืน และได้จับสามีมัดแล้วเอาผ้าผูกตาไว้ที่ต้นไม้ใกล้ๆ กระท่อม เพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภรรยาของเขา ทหารข่มขืนผู้หญิงคนนั้นตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น พอเธอตื่นมาก็ไม่พบสามีของเธออีกเลย หลังจากนั้น 5 วันเธอก็ต้องคลอดลูกตามลำพังเองในป่า โชคดีที่ชาวบ้านที่หลบซ่อนในป่าแถวนั้นไปพบเข้า จึงพามาที่ชายแดนไทย วันที่องค์กรของดิฉันไปพบนั้น เด็กตัวเล็กมากและคงจะไม่รอด ร่างกายและจิตใจของแม่ก็แย่มาก และเธอไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของหลายร้อยกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในรัฐฉานและผู้หญิงในพม่า" จ๋ามตองกล่าว

 

มีการอนุญาตให้ทหารข่มขืนโดยไม่มีการทำโทษ ในพื้นที่สู้รบ ทหารบางกองพันจะลาดตระเวนตลอดเวลา และข่มขืนผู้หญิงเยอะมากหลายพื้นที่ ผู้หญิงบางคนถูกทหารพม่าจับไปเป็นลูกหาบ ตอนกลางคืนก็ถูกข่มขืน อายุมากที่สุด 52 ปี (อ่านบทความประกอบเรื่องใบอนุญาตข่มขืน)

 

นี่เป็นประสบการณ์ของผู้หญิงลุ่มน้ำสาละวิน อยากให้ได้รับการเผยแพร่มากๆ การข่มขืนไม่ได้มีแค่ในรัฐฉาน เขาถูกข่มขืนไม่ใช่เพราะเขาเป็นผู้หญิงแต่เพราะเป็นผู้หญิงของอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ใช้การข่มขืนเป็นการข่มขู่ ควบคุม ประชาชนในพื้นที่ให้เขารู้สึกว่าช่วยตัวเองไม่ได้และไม่มีที่ไหนที่เขาจะไปหาความยุติธรรมได้

 

หลังจากที่นานาชาติได้ออกมาประณาม แต่จนถึงทุกวันนี้ในรัฐมอญ แม้จะมีสัญญาหยุดยิง แต่ก็มีการข่มขืนอีกรูปแบบหนึ่งคือทหารพม่าให้เดินแคทวอล์คแล้วข่มขืน

 

การมีทางผ่านของท่อก๊าซ (จากแหล่งยาดานาในพม่ามายังราชบุรี) เราจะเห็นได้ว่าในเมื่อมีท่อก๊าซ ก็ทำให้มีทหารมากขึ้น ซึ่งสำหรับประชาชนและผู้หญิงอาจหมายถึงจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และจะมีการข่มขืนมากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ

 

การข่มขืนในพื้นที่ๆ จะสร้างเขื่อนท่าซ่างในตอนใต้ของรัฐฉานห่างจากชายแดนไทย 120 กิโลเมตร ในพื้นที่ดังกล่าวจะพบว่ามีรายงานการข่มขืนโดยทหารมากขึ้น แม้จะยังไม่มีการสร้างเขื่อนที่ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ผลกระทบทางสังคม และชีวิตที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านก็มากเกินที่จะสร้างเขื่อน

 

"ดิฉันคิดว่าแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขง น่าจะเป็นผืนน้ำและบ้าน ที่สามารถอยู่ สามารถที่จะมีสิทธิอยู่ในสันติภาพร่วมกันกับหลายๆ ประเทศ หลายๆ ชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำสาละวินร่วมกัน ผู้หญิงที่ข่มขืนบอกดิฉันว่าเวลาเขาเล่าเรื่องการข่มขืนเหมือนเขาถูกข่มขืนซ้ำ เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขาก็มีบ้าน มีที่ทำกิน และเขาอยากกลับไปอยู่บ้านไปมีชีวิตอย่างสันติ ซึ่งเราทุกคนในที่นี้ทำให้ฝันของพวกเธอเป็นจริงได้" จ๋ามตองกล่าวในที่สุด

 

สื่อชี้ไทยทำตัวเป็นพี่เลี้ยงพม่า ทำอาเซียนตกต่ำในสายตาชาวโลก

สุพัตรา ภูมิประพาส ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation ผู้สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและผู้แปลหนังสือ License to rape กล่าวว่า แม้พม่าจะเป็นประเทศยากจนแต่กลับมีทหารประจำการกว่า 480,000 คนทั่วประเทศ มีขนาดเป็นอันดับ 10 ของโลก ใช้งบประมาณทางทหารอันดับที่ 15 ของโลกจาก 159 ประเทศ

 

โดยรัฐบาลทหารพม่ามีจุดเริ่มของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในเหตุการณ์ 8888 หรือเหตุการณ์ที่ประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หลังจากนั้นทำให้คนอพยพ ส่วนหนึ่งข้ามมาฝั่งไทย โดยที่ทุกวันนี้ประเทศไทยชอบมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงแนะนำพม่าด้านประชาธิปไตย ย่อมถูกนานาประเทศด่าเพื่อพาพม่าเข้าสู่การเป็นสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ในปี 1997 กระทั่งการประชุมอาเซียนที่ผ่านมาจึงออกมาบอกว่าทนไม่ไหวแล้ว พม่าทำให้เราตกต่ำเหลือเกิน ขณะที่อาเซียนพยายามช่วยเหลือ แต่พม่าไม่ยอมช่วยเพื่อนเลย ซึ่งทุกวันนี้ทำให้อาเซียนถูกชาวโลกมองในสายตาที่ไม่ดีว่า อาเซียนต้อนรับเผด็จการอยู่ นี่คือภาพรวมของสถานการณ์พม่า 18 ปี ขณะที่ของไทยเราเพิ่ง 3 เดือน ซึ่งดิฉันภาวนาว่าเราคงอยู่ไม่ถึง 18 ปี สุพัตรากล่าวในที่สุด

 

 

 

บทความประกอบจากประชาไท

ทำความรู้จัก "ใบอนุญาตข่มขืน" : เมื่อผู้หญิงไทใหญ่ทำวิจัยเปิดโปงอาวุธประหัตประหารของรัฐบาลทหารพม่า, 16/10/2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท