WHO คาดอีก 14 ปี ทั่วโลกมีคนตาบอดเพิ่มเป็น 46 ล้านคน

27 พ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การป้องกันการตาบอดในภูมิภาคอินโดจีนและเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 6 และการประชุมองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการป้องกันตาบอดของประเทศสมาชิกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก ที่โรงแรมราชพฤกษ์ แกรนด์ โฮเทล จังหวัดนครราชสีมา จัดโดย ศูนย์จักษุสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยจูเทนโด ประเทศญี่ปุ่น และองค์กรสนับสนุนการป้องกันตาบอดนานาชาติ (IAPB)

 

มีจักษุแพทย์ประมาณ 120 คน จากกว่า 20 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก เข้าร่วมประชุม อาทิ กัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาว อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อวางแผนการจัดระบบข้อมูลข่าวสารและการจัดบริการด้านจักษุวิทยา รวมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของ 2 ภูมิภาคนี้

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก คาดว่าทั่วโลกมีคนตาบอด 37 ล้านคน จำนวนนี้เป็นเด็กถึง 1.4 ล้านคน และมีผู้สายตาเลือนราง 124 ล้านคน ร้อยละ 90 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยคนตาบอดส่วนใหญ่ร้อยละ 82 มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบมากที่สุดในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 10 ประเทศ ประมาณ 12 ล้านคน รองลงมาคือภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก จำนวน 9 ล้านกว่าคน

 

โดยครึ่งหนึ่งของผู้ที่ตาบอดมีสาเหตุสำคัญมาจากโรคต้อกระจก ร้อยละ 9 จากโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัยในผู้สูงอายุ รวมทั้งมีสาเหตุมาจากโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ เช่น ต้อหิน ร้อยละ 12 เบาหวานขึ้นจอประสาทตา ร้อยละ 5 และจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ริดสีดวงตา แผลที่กระจกตา รวมทั้งความผิดปกติแต่กำเนิดในเด็ก เช่น ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อมจากการคลอดก่อนกำหนดและการขาดวิตามินเอ เป็นต้น และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีคนตาบอดทั่วโลกเพิ่มเป็น 46 ล้านคน

 

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2537 พบมีอัตราตาบอดสนิทเพียงร้อยละ 0.3 ซึ่งจัดว่าต่ำที่สุดในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าไทยมีคนตาบอดสนิทประมาณ 200,000 คน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุหลักมาจากโรคต้อกระจก สูงถึงร้อยละ 70

 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จะทำให้โอกาสเกิดความพิการทางสายตาเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมทั้งปัญหาตาบอดที่เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โดยผู้มีปัญหาทางสายตากว่าร้อยละ 75 สามารถป้องกันไม่ให้เกิดตาบอดได้ จึงต้องวางแผนเพื่อป้องกันผลกระทบในอนาคตเป็นการด่วน

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการตาบอดของไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคตาต้อกระจก และการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัย สธ.ได้จัดทำแผนผ่าตัดผู้ป่วยโรคตาต้อกระจก และโครงการแก้วตาดวงใจ เทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2547 รักษาได้ประมาณ 130,000 คนทั่วประเทศ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ซึ่งมีปีละประมาณ 80,000-100,000 รายนั้น ในปี 2550 จะทำโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกอีก 80,000 ราย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิ พอ.สว. ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาตาบอดจากโรคตาต้อกระจกของคนไทยหมดไปในที่สุด

 

 

 

…………………..

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท