Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 28 พ.ย.2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เปิดประชุมในวันที่ 27 พ.ย. ที่กองบัญชาการทหารบก เพื่อหารือและเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณายกเลิกการใช้กฏอัยการศึกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยที่ประชุมมีมติว่าเห็นสมควรที่จะให้มีการยกเลิกกฏอัยการศึกในพื้นที่ 40 จังหวัด ยกเว้นบริเวณแนวชายแดนและพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นเป็นประจำ


 


ทางด้านการพิจารณายกเลิกกฏอัยการศึกในเขตกรุงเทพและปริมณฑล คมช.จะเสนอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้ตัดสินใจ โดยโฆษกของ คมช.ได้ประกาศเพิ่มเติมด้วยว่ามติดังกล่าวยังไม่ถูกต้องตามกฏมาย จะต้องมีการรับรองจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง


 


ทั้งนี้ พื้นที่ที่ยังไม่ประกาศยกเลิกกฏอัยการศึก รวมทั้งสิ้น 30 อำเภอ จาก 18 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นแนวเขตที่ติดกับชายแดน จึงต้องระมัดระวังเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของชาติเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน คมช.ระบุชัดเจนว่าไม่หวั่นเกรงต่อความเคลื่อนไหวของคลื่นใต้น้ำ โดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลินกล่าวว่า คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะทุกคนก็รักชาติบ้านเมืองและคงไม่อยากให้เกิดความแตกแยก


 


พล.อ.สนธิ กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า หลังจากมีการยกเลิกกฏอัยการศึกแล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา อำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพราะการทำข้อเสนอแนะได้ผ่านขั้นตอนของ คมช.ไปแล้ว แต่ขณะนี้ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ถึงมือนายกรัฐมนตรี และหากเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย กองทัพสามารถประกาศกฎอัยการศึกได้อีกตามความเหมาะสม


 


นอกจากนี้ ที่ประชุม คมช.ยังชี้แจงถึงความคืบหน้าในการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) อีกด้วย โดยระบุว่าการทำงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินไปอย่างครอบคลุมและสามารถหาผู้มีคุณสมบัติไดทั้งหมด 1,768 คน แต่ยังขาดอยู่อีก 232 คน จึงจะครบ 2,000 คน ตามที่กำหนด คาดว่า กดส.จะส่งรายชื่อให้ คมช.และ ครม.เพื่อนำจำนวนที่ขาดมาคัดสรรสมาชิกเพิ่มเติมภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้แต่เดิม คือจะได้สมาชิกสภาร่าง รธน.จำนวน 100 คน ภายในสิ้นปี 2549


 



นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติว่าควรจัดให้มีการพบปะระหว่าง คมช.กับสื่อมวลชนด้วย เพื่อตอบข้อซักถามและเพื่อชี้แจงการดำเนินการในระยะเวลาที่ผ่านมา และถือโอกาสที่ คมช.ดำเนินการปฏิรูปการปกครองมาจนครบกำหนด 3 เดือน ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.2549 นี้ด้วย


 


การพบปะดังกล่าวควรจะมีการเชิญผู้แทนขององค์กร หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในอำนาจนิติบัญญัติบริหาร และ ยุติธรรม อันเป็นกลไกที่ คมช. ได้จัดตั้งขึ้น มาร่วมชี้แจงด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net