Skip to main content
sharethis

องอาจ  เดชา    รายงาน


 


                                                            


                      


 


"ทุกวันนี้ เฮาถือว่าหมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก..." พ่อปรีชา ศิริ ปราชญ์ปกาเกอะญอ ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านห้วยหินลาดใน เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข อารมณ์ดี


           


"ทำไมถึงชื่อบ้านห้วยหินลาดใน!?" ผมเอ่ยถามเป็นประโยคแรก


           


"คือบริเวณนี้ เป็นต้นกำเนิดลำห้วยสำคัญ ๆ กว่า 14 ห้วย ที่ไหลมารวมกัน เราจึงเรียกบริเวณนี้ว่าแม่หินลาดโกล็ะ หรือ ห้วยหินลาดใน"


 


หมู่บ้านห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  เป็นชุมชนชนเผ่าปวาเก่อญอ หรือชนเผ่ากะเหรี่ยง ที่หลายคนเรียกกัน  เป็นชุมชนในหุบเขาที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยน้อยใหญ่14 สาย และด้วยพลังของชุมชน จึงเกิดการอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ได้กว่า 10,000 ไร่


 


แน่นอน จำนวนชาวบ้านเพียงกว่าร้อยชีวิต แต่สามารถรักษาผืนป่ากว่า 10,000 ไร่เอาไว้อย่างสมบูรณ์ จึงถือว่าไม่ธรรมดา และต้องมีอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ จนทำให้ชาวบ้านที่นี่มีแรงผลักดัน จนสามารถดูแลต้นน้ำลำห้วย 14 สาย รักษาป่าไม้ในพื้นที่จำนวน 10,000 กว่าไร่ได้เช่นนี้


 


 


                               


 


"จริงๆ แล้ว กว่าเราจะดูแลป่า รักษาต้นน้ำเอาไว้ได้ แต่ก่อนนั้นเราต้องเจออุปสรรคปัญหามามากต่อมาก และยังได้ต่อสู้กันมายาวนานมาก" ชัยประเสริฐ พะโค ชาวบ้านห้วยหินลาดใน เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงจริงจัง


 


หากย้อนกลับในห้วงอดีตจะเห็นได้ว่ากว่าจะพ้นผ่านบ่วงปัญหาอันทับซ้อน หมู่บ้านห้วยหินลาดในต้องผ่านร่องรอยประวัติยาวนานมากว่า ชั่วอายุคนมาแล้ว จากการสอบถามผู้แก่แม่เฒ่า ชาวบ้าน พวกเขาบอกว่า สามารถแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ ได้ ยุคดังนี้ คือ ยุคก่อนสัมปทานป่าไม้ ยุคสัมปทานป่าไม้ และยุคหลังสัมปทานป่าไม้


 


และเชื่อว่า  หลายคนคงแปลกใจว่า ทำไมชาวบ้านที่นี่ถึงได้ใช้การสัมปทานป่าไม้เป็นเกณฑ์แบ่งยุคสมัย


 


"ก็เพราะว่า การสัมปทานป่าไม้ คือผลพวงของความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านเราอย่างเห็นได้ชัด ถือว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่เป็นอย่างมาก" นั่นคือคำอธิบายของคนในหมู่บ้าน


 


หมู่บ้านหินลาดใน เป็นชุมชนในหุบเขาที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยน้อยใหญ่14 สาย และด้วยพลังของชุมชน จึงเกิดการอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ได้กว่า 10,000 ไร่โดยได้นำความเชื่อ พิธีกรรมและวัฒนธรรมชนเผ่ามาปรับใช้ในการดูแลป่าอีกทั้ง ชุมชนแห่งนี้ยังดำรงชีพด้วยวิถีเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีรูปแบบการผลิตของชาวบ้าน เป็นระบบเกษตรบนพื้นที่สูงที่ผสมผสานระหว่างความอุดมทรัพยากร และเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เข้าด้วยกัน


 


อาชีพหลักของคนบ้านหินลาดใน ก็คือการทำนาขั้นบันได ทำไร่หมุนเวียน


 


"ในทุ่งนา ทุ่งไร่เราไม่ได้เพียงแค่ปลูกข้าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรายังใช้พื้นที่นาปลูกพืชผัก เก็บกินได้ตลอดปี ไม่ว่า แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ จนเราพูดได้เต็มปากเลยว่า เราไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก เพราะเราเอาทุ่งนาเอาไร่หมุนเวียนเป็นตลาดสด คนที่นี่จึงไม่เคยอดตาย..."


 


ครั้นว่างจากการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านก็จะเก็บ "ชาป่า" ซึ่งเป็นชาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านและเก็บได้ตลอดทั้งปี


 


การทำสวนชาของชุมชนแห่งนี้  จึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้านอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และที่โดดเด่นมากก็คือ ชาที่เก็บกันนั้น เป็นชาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณเนินเขาสองฝากฝั่งลำห้วยมานานหลายชั่วเกิดอายุคนแล้ว


 


 


                                      


 


ว่ากันว่า ชาเป็นชาพันธุ์พื้นเมือง ที่เหมาะสมสอดคล้องกับหุบห้วยแถบนี้เป็นอย่างมาก ปล่อยให้เติบโตขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก บางต้นใหญ่โตสูงท่วมหัว จนต้องแหงนมองดู


 


แต่เดิมนั้น ชาเป็นเพียงเครื่องดื่มรับรองแขกและดื่มกันภายในครอบครัว ต่อมาในสมัยพ่อทาดู เริ่มมีการเก็บเมี่ยงและทำเมี่ยงชาย แต่ประสบปัญหาเกี่ยวกับกรรมวิธีในการผลิตที่ยุ่งยาก ทำเมี่ยงขายได้เพียงสองปี จึงเริ่มหันมาเก็บชา ประกอบกับช่วงเวลานั้น ชาเริ่มเป็นที่นิยมของชาวเขาเผ่าม้ง คนจีนอพยพ และคนพื้นเมืองในละแวกใกล้เคียงในเขต อ.พร้าว ของ จ.เชียงใหม่  


 


กระทั่งในช่วงปีพ..2516  ชาวจีนได้เข้ามาตั้งโรงชาภายในหมู่บ้านและรับซื้อชาดิบจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 4 - 5 บาท แต่การรับซื้อชาดิบดังกล่าวได้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โรงชาตั้งได้ประมาณ 7 - 8 ปี ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ในช่วงดังกล่าวชาวบ้านไม่สามารถขายผลผลิตได้ นายปรีชา ศิริ จึงได้เดินทางไปติดต่อเพื่อขายชา ให้กับชาวไทยลื้อที่บ้านดินดำ อ.แม่สรวย จ.เชียงรายแทน  หลังจากนั้นก็เริ่มขยายตลาดไปยัง อ.แม่จัน อ.แม่ขะจาน จนในที่สุดกลายมาเป็นตลาดที่สำคัญในปัจจุบัน


 


ชาป่าบ้านหินลาดในจึงเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านและเก็บได้ตลอดทั้งปี


 


 


                                       


 


พ่อปรีชา ศิริ ผู้นำธรรมชาติ บอกเล่าให้ฟังว่า ในแต่ละปีจะมีชาดิบออกจากหมู่บ้านกว่า 60,000 กิโลกรัม โดยขาหนึ่งต้นสามารถเก็บได้กว่าสามครั้งต่อปี โดยครั้งแรกจะเก็บในเดือน เมษายน เรียกว่า "ชาหัวปี" เป็นชาที่มีคุณภาพดีที่สุด และราคาดีที่สุด โดยจะตกประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท หลังจากนั้นก็จะเริ่มเก็บชากลาง ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นชาที่แตกหน่อจากชาต้นเดิมหลังการเก็บชาหัวปีหมดไปแล้ว ซึ่งราคาจะตกประมาณกิโลกรัม 6 บาท และในช่วงสุดท้ายจะเป็นการเก็บชาเหมย หรือชาหน้าหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปริมาณชามีน้อย แต่ราคาดีเท่าชาหัวปี


 


ปัจจุบัน ยังมีการขยายพันธุ์ชา  ควบคู่กับปลูกพันธุ์ไม้พันธุ์พืชผสมผสาน เช่น ไผ่หก หวาย มะแขว่น มะนาว พลับ มะขามป้อม มะเขือ แตง บวบ  ลำไยป่า มะม่วงป่า ผักกูด มะแคว้ง มะก่อ มะขม มะไฟ และอีกหลากหลายนานาพันธุ์นานาชนิด ที่สามารถเก็บขายสร้างรายได้ให้อีกทางหนึ่งด้วย


 


นอกจากนั้น พะตีชัยประเสริฐ  โพคะ ตัวแทนชาวบ้านหินลาดในอีกคนหนึ่ง บอกกับผมว่า ได้ให้ความสำคัญในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น  โดยได้ร่วมกันถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนซึ่งเป็นลูกหลาน  ได้ร่วมกันสืบสานแนวคิดในการใช้วิถีชีวิตที่พอเพียง โดยไม่ต้องใช้เงินทองเป็นตัววัดความรวยหรือความสุข 


 


เมื่อเขาเดินทางออกไปเผยแพร่ความรู้ให้กับคนข้างนอก เราจึงมักเห็นเขาชักชวนพาเยาวชนติดตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง


 


"เราพยายามส่งเสริมให้เด็กๆ เยาวชนที่นี่ ได้เรียนรู้และนำความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ได้นำไปปรับใช้ และเป็นตัวแทนให้กับคนในหมู่บ้าน เพราะเด็กๆ เยาวชนกลุ่มนี้ คือตัวแทนของหมู่บ้านที่จะต้องสืบสานและรักษาสิ่งดีงามนี้เอาไว้"


 


และที่สำคัญ เด็กเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน รู้และเข้าใจ และพร้อมที่ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่มีคุณค่าเหล่านี้เอาไว้ให้ยั่งยืนสืบไป


 


บุญยศ  เวชกิจ เยาวชนห้วยหินลาดใน บอกว่า เยาวชนที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่ออกไปทำงานข้างนอกกัน แม้กระทั่งเรียนหนังสือ ก็เรียนอยู่ที่บ้าน 


 


"ผมจบประถมที่ ร.ร.ห้วยหินลาดใน แล้วก็เรียนต่อมัธยม ของ กศน. ตอนนี้จบแล้ว และกำลังเรียนระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ของ มสธ. เพื่อเอาไว้ปรับใช้และนำมาพัฒนาชุมชน และที่ผมไม่ออกไปเรียนข้างนอก ก็เพราะผมถือว่าความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่หมู่บ้าน"           


                       


เช่นเดียวกับ ดาวใจ ศิริ หญิงสาวชาวปกาเกอะญอวัย 15 ปี หนึ่งในกลุ่มเยาวชนห้วยหินลาดใน ที่ได้ร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาความรู้ ทั้งในเรื่องการทอผ้า การจักสาน รวบรวมคำสอนอื่อทาของคนเฒ่าคนแก่  รวมทั้งในเรื่องการรักษาป่า การสืบค้นหาพันธุ์ไม้พรรณพืชสมุนไพร


 


 


 


                          


 


"ตอนนี้กลุ่มเยาวชนได้ทำอะไรกันบ้าง" ผมเอ่ยถาม ดาวใจ ขณะที่เธอกำลังนั่งทอผ้าอยู่บนเรือน


 


"นอกจากกิจกรรมเรื่อง การจักสาน การอื่อทา รวมทั้งเรื่องการจัดการป่า การทำแนวกันไฟ พวกเรามีการประชุมกันประจำทุกเดือน เรายังมีการศึกษาภูมิปัญญาความรู้จากปราชญ์ชุมชน โดยเราจะจัดทำเป็นเอกสารเพื่อรับเป็นผู้สืบทอดให้กับเยาวชนรุ่นจิ๋วต่อไป"


           


"ตอนนี้เยาวชนรุ่นจิ๋วมีจำนวนมากมั้ย"


"เยาวชนรุ่นจิ๋วตอนนี้มีทั้งหมด 67 คน"


 


เธอบอกว่า ถึงแม้ว่าในยามนี้ เยาวชนรุ่นจิ๋ว จะมีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็ให้ความสนใจเรื่องการเล่านิทานอึทา  เรียนรู้ในสิ่งต่างๆจากปราชญ์ชาวบ้าน  ซึ่งเป็นพื้นฐานเรียนเช่นเดียวกับการเรียนรู้การเขียนตัวหนังสือปวาเก่อญอ


 


"ตอนนี้กลุ่มเยาวชนได้ รวบรวมความรู้ต่างๆ ทำเป็นเอกสารเป็นเล่ม มีทั้งเรื่องพืช สมุนไพร ทั้งที่มีในป่า และที่ปลูกเองเช่นขิง ข่า ตระไคร้ ปูเลย ขมิ้น อย่างเช่นสมัยก่อน  คนในหมู่บ้านจะใช้ปูเลยในการคลอดลูก จะไม่ใช้ยาชนิดอื่นเลย โดยจะต้มน้ำปูเลยกินกับข้าว และจะไม่กินเนื้อ ประมาณ 3 ถึง 4 วัน จะใช้ปูเลยขับสิ่งต่าง ๆออก"


           


นอกจากนั้น ดาวใจ ยังบอกอีกว่า  ถ้ามีการเก็บใบชาได้มากๆ ก็จะแบ่งเอามาเก็บไว้ที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อจำหน่าย  ส่วนรายได้จะเก็บไว้ในส่วนของเยาวชนเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่อไป


 


นี่เป็นบางส่วน บางเรื่องราวของกิจกรรมของเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งมีคุณค่าและงดงามอย่างมาก กับแนวคิดกิจกรรมของเยาวชนกลุ่มนี้  สมกับที่พวกเขาได้รับรางวัล "เยาวชนลูกโลกสีเขียว" เมื่อปีที่ผ่านมา


 


นอกจากนั้น เธอยังบอกด้วยว่า หมู่บ้านเราไม่ได้ปิดกั้นจากโลกภายนอก  อยากให้มีเยาวชนข้างนอกเข้ามาแลกเปลี่ยน  การที่มีคนเข้ามาในหมู่บ้านมากๆ เป็นสิ่งดี เพราะจะได้เผยแพร่ให้รับรู้ว่าเราดูแลรักษาป่าอย่างไร เราดูแลป่าเหมือนดูแลชีวิตเขา ไม่เคยโกรธเวลาที่ถูกว่าเป็นคนป่า ไม่เคยอายที่จะพูดภาษาปวาเก่อญอ


 


"ดาวใจมองเยาวชนที่ใช้ชีวิตในเมืองเป็นอย่างไรบ้าง"


 


"มีความสับสนวุ่นวาย แต่เราอยู่ในหมู่บ้านที่นี่ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร  แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือก็ไม่ต้องการ  ไม่จำเป็นต้องใช้"


 


"มีความสุขไหม!?"


           


"มีความสุขดี ทุกวันนี้ ไม่วุ่นวาย ไม่ต้องออกไปดิ้นรนข้างนอก ตอนนี้ก็กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน เรียนมัธยมของ กศน. และอยากจะบอกว่า ป่าไม้เหมือนบิดามารดา ความเจริญเหมือนโจรขึ้นบ้าน ดังนั้น เราต้องป้องกัน ระมัดระวังในการใช้จ่าย การอยู่การกินให้รอบคอบ"          ผมรู้สึกทึ่งกับคำพูดของเธอ ตัวแทนเยาวชนแห่งบ้านห้วยหินลาดใน          


 


ทำให้นึกไปถึงคำพูดของ ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ที่คุ้นเคยกับบ้านห้วยหินลาดใน และบอกว่า ชุมชนบ้านหินลาดในมีศักยภาพในการปกป้องและ รักษาป่า อย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านจำนวน 20 ครัวเรือน ดูแลรักษาป่าประมาณ 10,000 ไร่ โดยไม่ต้องใช้ งบประมาณ ใดๆ เป็นภูมิปัญญา เป็นวิถีชีวิตจริงๆ การดำรงชีวิตของพี่น้องปว่าเก่อญอ เป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนว พระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง                 


 


และทำให้นึกไปถึงคำพูดของ พะตีชัยประเสริฐ โพคะ ที่บอกทุกคนในงานเวทีแลกเปลี่ยนวันนั้น


"หมู่บ้านนี้ ไม่มีคนจน  มีแต่คนรวย รวยกว่า(อดีต)นายกฯ ทักษิณเสียอีก..."


           


ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายของ พ่อปรีชา ศิริ ที่อธิบายของความหมายของคำว่า รวย เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า


           


"หมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก..."


 


นั่นทำให้หลายๆ คนไม่รู้สึกแปลกใจกันเลยว่า เหตุใดผู้คนชุมชนปวาเก่อญอแห่งนี้จึงไม่ยอมรับเอาเงินกองทุนเงินล้านที่รัฐบาลชุดก่อนได้แจกให้แม้แต่บาทเดียว ชุมชนแห่งนี้จึงปลอดจากหนี้ และร่ำรวยความสุข


 


นี่คือบางส่วนของวิถีของคนปวาเก่อญอ หรือคนกะเหรี่ยงแห่งบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นี่แหละ...คือหมู่บ้านของความสุขและความพอเพียงอย่างแท้จริง


 


มิใช่ "ความพอเพียง" เหมือนกับที่บางองค์กร บางหน่วยกำลังพยายามเสแสร้งแกล้งทำดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้


 


 


 


 


 


ที่มา : "ชีวิตพอเพียง" รวมเรื่องราว "นวัตกรรมการสร้างสุขภาพ" ที่ดำเนินชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง : สำนักงานปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข,ตุลาคม 2549                                         


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net