นักศึกษา 5 สถาบัน ยื่นหนังสือต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

 

ประชาไท - 28 พ.ย.2549  ตัวแทนนิสิตนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.รามคำแหง ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) นำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)ได้เดินทางมาที่กระทรวงศึกษาฯ และทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ และขอให้นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกลับมาเป็นมหาวิทยาลัยรัฐเหมือนเดิม

 

นายนิธิวัต วรรณศิริ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ฯ ในฐานะกรรมการบริหาร สนนท. กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยรัฐที่ออกนอกระบบราชการไปแล้ว 4 แห่ง คือ ม.วลัยลักษณ์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และม.แม่ฟ้าหลวง ได้ส่งผลกระทบกับนักศึกษาอย่างมาก เนื่องจากบางแห่งขึ้นค่าเทอมถึง 107 เปอร์เซ็นต์ ส่วน ม.วลัยลักษณ์ นักศึกษาถูกจัดตารางเรียน 7 วันต่อสัปดาห์ เพราะอาจารย์ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว เป็นแค่พนักงานมหาวิทยาลัย จึงจัดตารางสอนในมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับงานนอกเพื่อให้สามารถวิ่งไปรับสอนที่อื่นได้

 

นายนิธิวัต กล่าวต่อว่า สนนท.ได้คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ แต่การผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบฯ จะทำให้ประชาชนที่ยากจนไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการอุดมศึกษา จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายนี้ 

 

 

ในวันเดียวกัน นายษัฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกลุ่มของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ได้รวมตัวกันออกหนังสือ คัดค้านการออกนอกระบบฯ พร้อมกับนัดชุมนุมอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต นักศึกษา เพื่อแสดงพลังคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ที่คณะรัฐศาสตร์

 

ด้านนายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือคัดค้าน จากเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฎิรูปการศึกษาและ สนนท.แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ล้มนโยบายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เนื่องจากขณะนี้มีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว 6 แห่ง และขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้บังคับแต่ให้ยึดความสมัครใจ หากมหาวิทยาลัยใดไม่พร้อมก็ไม่ต้องออก

 

"ที่นักศึกษากังวลว่า มหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วจะทำให้ค่าเทอมแพงขึ้นนั้น ก็ต้องดูว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยเก็บต่ำอยู่แล้วหรือไม่ พอมีการปรับให้เหมาะสม นักศึกษาจึงรู้สึกว่าแพง การเรียนระดับอุดมศึกษาจะให้เรียนฟรีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานรัฐยังอุดหนุนให้ไม่ค่อยจะเพียงพออยู่แล้ว และแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่ว่ารวย ๆระดับอุดมศึกษายังไม่เรียนฟรี" ศ.ดร.วิจิตร กล่าว

 

 

เอกสารประกอบ

แถลงการณ์ สนนท. คัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท