Skip to main content
sharethis

มีรายงานแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐนำโดยเจ้าหน้าที่โครงการหลวงแปะแซม ชุดทหาร จาก ร.7 พัน 2 ประจำแปะแซม  พร้อมด้วยชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ประมาณ 8 คน ได้ขึ้นไปที่หมู่บ้านนาอ่อน ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านเปียงหลวงกับหมู่บ้านแปกแซม หมู่ที่ 1 .เปียงหลวง .เวียงแหง จ.เชียงใหม่ พร้อมกับแจ้งให้ชาวบ้านว่า ขอให้ชาวบ้านทั้งหมด 13 หลังคาเรือน จำนวน 52 คน ให้เตรียมตัวอพยพออกจากหมู่บ้านนาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป หากขัดขืน ยังไม่อพยพออกจากหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำการรื้อถอนและเผาบ้านทั้งหมู่บ้าน พร้อมจะดำเนินคดีทั้งหมด


โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว ได้กล่าวอ้างว่า ชาวบ้านหมู่บ้านนาอ่อน มีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้ป่าอุทยานแห่งชาติเชียงดาวถูกทำลายมากไปกว่านี้ จึงจำเป็นต้องอพยพหมู่บ้านนาอ่อนเป็นการเร่งด่วน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ เคยอยู่อาศัยทำกินมานานกว่า 42 ปีแล้ว


นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) ซึ่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านเปิดเผยว่า ตอนนี้ทุกคนต่างหวาดกลัว หวาดวิตก รู้สึกไม่มั่นคงต่อครอบครัวและวิถีชีวิต เนื่องจากจู่ๆ จะให้ชาวบ้านอพยพออกจากหมู่บ้านในชั่วข้ามคืน โดยยังไม่รู้ว่าจะไปอาศัยหลับนอนที่ไหน ทั้งลูกเล็กเด็กแดง ผู้หญิงและคนชราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวอีกด้วย อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ใดๆ เลย 


ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านหมู่บ้านนาอ่อน กรณีชาวบ้านถูกบีบออกจากพื้นที่แห่งนี้ ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว กระทั่งเมื่อวันที่ 16 .ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐนำโดยปลัดอำเภอเวียงแหงฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายทหาร จาก ร.7 พัน 2 กองกำลังผาเมือง โดย พ.อ.เกษม วังสุนทร (ไม่รู้สังกัด)  เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติเชียงดาว อส.อำเภอเวียงแหง ตำรวจภูธรจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเวียงแหง ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านแปะแซมและผู้ใหญ่บ้านเปียงหลวง หมู่ รวมประมาณ 20 คน ได้ขึ้นไปหมู่บ้านนาอ่อน และแจ้งให้ชาวบ้านว่า นายอำเภอเวียงแหงมีคำสั่งให้ราษฎรทั้งหมด 13 หลังคาเรือน จำนวน 52 คน ให้เตรียมตัวอพยพออกจากหมู่บ้านนาอ่อนก่อนวันที่ 1 .ค. 2549 นี้ เมื่อถึงเวลาหากชาวบ้านยังไม่อพยพออกจากหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำการรื้อถอนเผาบ้านทั้งหมู่บ้าน พร้อมดำเนินคดีราษฎรในหมู่บ้านทั้งหมด ซึ่งมีรายงานแจ้งว่า ขณะที่แจ้งให้ชาวบ้านทราบนั้น เจ้าหน้าที่รัฐชุดดังกล่าว ไม่ได้แสดงหลักฐานตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด


กระทั่ง ในวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่าน ตัวแทนชาวบ้าน นำโดยนายแอะต๊ะเป สินโล่ และนายอาหวู่ โนรี  ได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย และศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกดดันและขีดเส้นตายให้ย้ายอพยพออกจากหมู่บ้านก่อนวันที่ 1 ธ.ค.นี้  


หลังจากนั้น ตัวแทนชาวบ้านและเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทยจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้มีการร้องขอความเป็นธรรม 2 ข้อคือ 1. ขอให้ทำหนังสือเร่งด่วนไปยังนายอำเภอเวียงแหง ชะลอดำเนินการอพยพหมู่บ้านนาอ่อน หมู่ที่ 1 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2549 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อน จนกว่าคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาข้อสรุปที่เป็นแนวทางออกที่ชัดเจน


และ 2. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้อำนาจรัฐ ละเมิดสิทธิมนุษยชนราษฎรบ้านนาอ่อนครั้งนี้และคืนความยุติธรรมให้แก่ราษฎรทั้ง 13 หลังคาเรือน พร้อมยกเลิกคำสั่งอพยพหมู่บ้านนาอ่อนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 


อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ชาวบ้านกำลังรอคำตอบจากกรรมการสิทธิอยู่นั้น เจ้าหน้าที่โครงการหลวงแปะแซมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ขึ้นไปแจ้งให้ราษฎรทราบเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ว่า จะทำการอพยพหมู่บ้านนาอ่อนภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 เวลา 9.00 น. จึงขอให้ราษฎรทั้งหมู่บ้านอย่าเพิ่งไปไหนและให้อยู่รอเจ้าหน้าที่


ล่าสุด วันนี้(30 พ.ย.2549) ทางกลุ่มชาวบ้านนาอ่อน ได้เข้าเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยขอให้ระงับยับยั้งการอพยพหมู่บ้านนาอ่อนครั้งนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบในปัญหาและข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนก่อน


นอกจากนั้น ชาวบ้านยังเสนอ กรณีหากจะทำการอพยพหมู่บ้านให้ได้ ทางโครงการหลวงแปะแซม อุทยานแห่งชาติเชียงดาวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดหาพื้นที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินเพียงพอรองรับ พร้อมให้มีการสร้างบ้านกึ่งถาวรและสาธารณูปโภคพร้อมใช้ประโยชน์ได้ทันทีด้วย  โดยในเบื้องต้นขอให้มีการเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก่อน ราษฎรทั้งหมดก็ยินดีที่จะอพยพออกจากพื้นที่ 


ด้านนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ในขณะที่ภาคประชาชนยังไม่มีอำนาจการต่อรอง และเจ้าหน้าที่อาจเห็นว่าชาวบ้านไม่มีทางสู้ หรือไม่มีกลุ่มพวก จึงฉวยโอกาสรังแกคนไม่มีทางสู้


 


"อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ ก็คงจะเข้าไปติดตามให้ความช่วยเหลือ กรณีในพื้นที่ อาจขอพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหารือแนวทางป้องกันการอพยพชาวบ้าน ในสถานการณ์พิเศษ


นอกจากนั้น เราคงต้องรวบรวมสถานการณ์ทุกกรณี ทั้งกรณีที่ดินลำพูน กรณีป่าไม้ที่ดิน และกรณีคดีชนเผ่าทั้งหมด ทั้งกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปิดล้อมจับกุมชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว และชาวบ้านห้วยโก๋น อ.พร้าว เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมและนายกรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคมปีหน้า" นายสุริยันต์ กล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net