Skip to main content
sharethis

 


เม็กซิโก ซิตี้ - นายเฟลิปเป คาลเดรอนขึ้นสู่การเป็นประธานาธิบดีในวันศุกร์ที่ 1 ธ.ค. ผ่านมา พร้อมๆ กับการปะทะกันในสภาคองเกรสและผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายซึ่งกล่าวหาว่าเขาขโมยการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมและประกาศจะยึดทำเนียบของเขา


 



อดีตประธานาธิบดีวิเซ็นเต้ ฟ็อกซ์ (ซ้ายมือ) และประธานาธิบดีเม็กซิโกคนใหม่เฟลิปเป คาลเดรอน(สวมสายสะพาย) ระหว่างพิธีสาบานตัว 4 นาที! (ที่มา : REUTERS/Henry Romero)



 



ท่ามกลางการต่อต้าน การโห่ จาก ส.ส.ฝ่ายซ้ายจากพรรค PRD ซึ่งเห็นว่าเขาโกงการเลือกตั้ง (ที่มา : REUTERS/Tomas Bravo) 


 


พิธีสาบานตน 4 นาที แถมเข้ามาจากประตูหลังสภา


ห้อมล้อมไปด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัว นายคาลเดรอนจากพรรคกิจประเทศ (PAN) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมเม็กซิโกลอบเข้าสภาคองเกรสทางประตูหลัง พร้อมกล่าวคำสาบานอย่างห้วนๆ และสวมสายสะพายรับตำแหน่งประธานาธิบดี ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายซ้ายในสภาต่างตะโกน "ออกไปๆๆ"


 


พิธีการที่ว่านี้ รวมกับการร้องเพลงชาติเม็กซิโก ก็กินเวลาเพียง 4 นาทีเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน จากนั้นเขารีบจ้ำออกจากสภาคองเกรสทันที อย่างไรก็ตามพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีครั้งนี้ คาลเดรอนไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์ตามธรรมเนียมปฏิบัติของพิธีสาบานตนแต่อย่างใด


 


ในสภา ส.ส.พรรคกิจประเทศ (PAN) ก็ตะโกนคำขวัญสนับสนุน ขณะที่ ส.ส.พรรคปฏิวัติประชาธิปไตย (PRD) พรรคฝ่ายซ้ายซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายค้านก็เริ่มต้นหน้าที่ฝ่ายค้านในวันแรกด้วยการเป่าปากและโห่ฮา


 


ในวันนี้มี ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่ายประมาณ 12 คนชกต่อยและต่างฝ่ายต่างฟ้องให้ประธานสภาเอาผิดกับอีกฝ่าย นอกจากนี้ ส.ส.ฝ่ายซ้ายยังสร้างเครื่องกีดขวางหน้าประตูหลักของสภาคองเกรสเพื่อไม่ให้คาลเดรอนเข้ามาทำพิธีสาบานตน แต่คาลเดรอนก็ยังอุตสาห์เข้ามาทางประตูหลัง


 


แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของคาลเดรอนจะได้เปรียบคู่แข่งทางการเมือง แต่ฉากโกลาหลนี้ได้แบ่งแยกเม็กซิโกออกเป็นเสี่ยง และสร้างความคลางใจว่าคาลเดรอนซึ่งเอาชนะการเลือกตั้งมาอย่างเส้นยาแดงผ่าแปดเพียง 0.6% นี้จะจัดการความขัดแย้งทางการเมืองนี้ได้อย่างไร


 


คาลเดรอนวัย 44 ปี ต้องการผ่านกฎหมายปฏิรูปเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเข้าสู่สภาคองเกรส แต่พรรค PAN ของเขามีที่นั่งเพียงร้อยละ 40 ของสภาและต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่น


 


คาลเดรอนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแทนวิเซ็นเต้ ฟ็อกซ์อดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดียวกัน


 



นายโลเปซ โอบราดอร์ ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายซ้าย PRD ปราศรัยกับมวลชนในวันเดียวกับที่มีพิธีสาบานตัว (ที่มา REUTERS/Jennifer Szymaszek)



 



บรรยากาศการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา : REUTERS/Daniel Aguilar)


 


การชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดี ในวันแรกของการทำงาน


ด้านนายโลเปซ โอบราดอร์ (Andres Manuel Lopez Obrador) คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายคาลเดรอนจากพรรคปฏิวัติประชาธิปไตย (PRD) ผู้ชูนโยบายต่อต้านความยากจน นำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนชุมนุมในเมืองหลวงในวันนี้ (1 ธ.ค.)


 


"พวกเขาทำร้ายรัฐธรรมนูญและกระทืบศักดิ์ศรีคนเม็กซิโกด้วยการกระทำราวการรัฐประหาร และพวกเราชาวเม็กซิโกเป็นผู้ได้รับผลกระทบนี้" โอบราดอร์กล่าวกับผู้สนับสนุนของเขาที่เซ็นทรัลแสควร์กลางกรุงเม็กซิโก ซิตี้


 


โดยก่อนหน้านี้โอบราดอร์ได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดี "ตัวจริง" และตั้งคณะรัฐมนตรีตัดหน้ามาก่อนแล้ว


แม้ตลาดหุ้นของเม็กซิโกจะปิดในวันศุกร์นี้ แต่ค่าเงินเปโซในตลาดซื้อขายต่างประเทศก็อ่อนค่าลงหลังจากที่มีข่าวการต่อสู้ในสภาคองเกรส แต่ค่าเงินก็กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเมื่อคาลเดรอนรอดตัวจากพิธีสาบานตน


 


นอกจากนี้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ บุชผู้พ่อและเจ้าชายฟิลิปเปแห่งสเปนได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีสาบานตนอันโกลาหลนี้ด้วย


 


"เป็นการต่อสู้ที่ดี" อาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอเนีย อดีตนักแสดงภาพยนตร์ฮอลีวูดผู้มีชื่อเสียงกล่าวอย่างชืดๆ เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ส.ส.เม็กซิโกฟาดปากกัน


 


คาลเดรอนเปรียบดังพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคลาตินอเมริกาแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ของภูมิภาคแห่งนี้ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกำลังมาแรงและชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศต่างๆ


 


คาลเดรอน ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard ในสหรัฐอเมริกา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสมัยวิเซ็นเต้ ฟ็อกซ์ ต้องเผชิญกับปัญหาหนักอกในการควบคุมสถานการณ์ในประเทศเม็กซิโกในขณะนี้


 


ตั้งแต่สงครามกับผู้ฆ่ายาเสพย์ติดซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คนเมื่อ 2 ปีก่อน เมืองอัวฮากา (Oaxaca) ซึ่งรอการบูรณะหลังจากเหตุจลาจลยึดเมืองกว่า 6 เดือนเพื่อต่อต้านผู้ว่าการรัฐท้องถิ่น


 


รัฐมิโชอากัน (Michoacan) บ้านของคาลเดรอนก็มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนจากสงครามปราบปรามยาเสพย์ติด


 


เม็กซิโกก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบในปี 2543 เมื่อฟ็อกซ์ชนะการเลือกตั้ง นับเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบพรรคเดียวของพรรคปฏิวัติสถาบัน (PRI) ที่มีอิทธิพลยาวนานกว่า 70 ปี


 


ที่มาของข่าว


Mexico's Calderon takes power as fists fly, By Kieran Murray, Reuters, Dec 01, 2006


 


 







 


รายงานเกี่ยวกับเม็กซิโกในประชาไทย้อนหลังของ ภควดี วีระภาสพงษ์


 


สองนคราเม็กซิโก: ทางแพร่งของประชาธิปไตยและซาปาติสตา (1) 15 ส.ค. 49


สองนคราเม็กซิโก: ทางแพร่งของประชาธิปไตยและซาปาติสตา (จบ)13 ส.ค. 49


รายงาน "ภัควดี" : ปชต.ไม่มีทางงอกจากปากกระบอกปืน ประชาชนต้องสังเวยชีวิตอีกครั้งที่ "อัวฮากา" 11 พ.ย. 49


 


ข่าวย้อนหลังจากประชาไท


สภาเม็กซิโกวุ่น ส.ส.ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวาแย่งกันชิงแท่นปราศรัยก่อนพิธีสาบานตนประธานาธิบดี 30 พ.ย. 49


ผู้นำฝ่ายค้านเม็กซิโกแก้เผ็ดเลือกตั้งสกปรก สาบานตนเป็นประธานาธิบดีตัวจริง  22 พ.ย. 49


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net