Skip to main content
sharethis

กิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกผนวกรวมให้เป็น "พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง" ภายใต้การกำกับดูแลของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" หรือ "อพท."


 


ภายใต้แนวคิดสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวระดับ "เวิลด์คลาส" เน้นการลงทุนขนาดใหญ่ วันนี้และแนวโน้มในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น เป็นคำถามที่ผู้คนหลายฝ่ายให้ความสนใจ


 


ต่อไปนี้ เป็นคำตอบจาก "สุรชัย จันทร์อบ" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด ที่ฉายภาพให้เห็นถึงวิธีคิดและมุมมองแบบคนท้องถิ่นแท้ๆ ต่ออนาคตของคนเกาะกูด ภายใต้ทิศทางการพัฒนาที่ถูกวางไว้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก


 




 


แผนพัฒนาเกาะกูดมีอยู่กี่แผน


ทั้งหมดมีอยู่ 5 แผน


แผนแรก เป็นของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: สศช.) ทำเมื่อปี 2545


แผนที่ 2 คือ ยุทธศาสตร์จังหวัด มีสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด เป็นเจ้าภาพ


แผนที่ 3 เป็นของ อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน)


แผนที่ 4 เป็นของกรมธนารักษ์


แผนที่ 5 เป็นขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด ซึ่งยึดตามแนวทางยุทธศาสตร์จังหวัด และแผนของสภาพัฒน์


 


ปัจจุบันทั้ง 5 แผนนี้ มาผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับแผนของกรมธนารักษ์ เป็นแผนแม่บท ขณะนี้ทางกรมธนารักษ์ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเสร็จเรียบร้อยแล้ว


 


มีประเด็นหลักๆ อะไรบ้าง


หลักๆ ก็เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกาะกูด ซึ่งจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เรื่องสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างสาธารณูปโภค เรื่องถนนหนทาง สะพาน ท่าเทียบเรือ น้ำ ไฟฟ้า สำหรับท่าเทียบเรือ จะมีจุดใหญ่ๆ อยู่ที่อ่าวสลัด เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะต้องมีการพิจารณากันอีกที


 


มีข่าวอบต.เกาะกูด ขัดแย้งกับ อพท. กรณี อพท. ขอให้ท้องถิ่นแก้ไขข้อบังคับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ


อบต. เกาะกูด ไม่ได้ขัดแย้งกับ อพท. เป็นการพูดหารือกันด้วยวาจา เขาขอให้แก้ไขข้อบัญญัติท้องถิ่น แต่ทาง อบต. ไม่เห็นด้วย


 


ประเด็นที่จะแก้คืออะไร


เรื่องระยะถอยร่นจากชายฝั่ง ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พอดีมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเกาะกูด เขาจะสร้างอาคารลงมาติดชายทะเล อบต.อนุญาตให้ก่อสร้างไม่ได้ ต้องร่นตัวอาคารขึ้นไปบนฝั่ง ตามระยะที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบการบอกว่ามันห่างจากฝั่งมากไป ทางเราก็ให้แก้แบบใหม่ ตีกลับคืนไป ทางบริษัทที่ออกแบบกับ อพท. ก็ปรึกษากับ อบต. ว่าจะให้ทำอย่างไร อบต. ก็บอกว่า เรายินดีส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เขาก็ยอมถอยร่นออกมาจากชายฝั่ง


 


โครงการฯ นี้ ไปถึงไหนแล้ว


โซนแรกสร้างบ้านตัวอย่างไปแล้ว 2 หลัง เป็นบ้านพักตากอากาศสร้างเพื่อขาย 64 หลัง ใช้พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ กำลังจะเริ่มสร้างบ้านจริงทั้งโครงการ อีกโซนเป็นโรงแรม พื้นที่ประมาณ 200 กว่าไร่ ขณะนี้ทางผู้ประกอบการ ได้ซื้อที่ดินบนเกาะไม้ซี้ 50 ไร่ สำหรับทำสนามบินแบบเช่าเหมาลำ ให้แขกของโรงแรมมาลง


 


นอกจากกลุ่มเอวาซอน ที่เข้ามาลงทุนในโครงการข้างต้นแล้ว ยังมีกลุ่มทุนต่างชาติ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาอีกกี่กลุ่ม


2 - 3 กลุ่ม เป็นกลุ่มทุนในประเทศ ตอนนี้มีที่ขออนุญาตไปแล้ว เป็นโครงการขนาด 200 ห้อง ของกลุ่มทุนจากกรุงเทพฯ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ยังอยู่ในขั้นประสานงาน


 


มีบางกลุ่มจะมาลงที่อ่าวพร้าว ซึ่งในแผนพัฒนากำหนดให้เป็นเอ็กคลูซีฟโซน


ใช่


 


ดูตามแผน จะมีการจัดตั้งเขตอุทยานฯ บนเกาะกูด อบต.เห็นด้วยหรือไม่


การกำหนดเขตอุทยานฯ มีการทำประชาพิจารณ์กันไปแล้ว ชาวบ้านบอกว่า ขอให้พิสูจน์สิทธิ์เรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านก่อน สรุปง่ายๆ ก็คือ ออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านก่อน แล้วที่เหลือค่อยนำไปประกาศเป็นอุทยานฯ ตอนนี้ จึงยังไม่มีการประกาศเขตอุทยานฯ


 


ขืนประกาศเขตอุทยานฯ ตอนนี้ ชาวบ้านไม่เห็นด้วยแน่ๆ เพราะถ้าประกาศไปแล้วไปทับที่ชาวบ้าน จะมีปัญหาเหมือนที่เกาะช้าง ประกาศเมื่อไหร่ชาวบ้านคัดค้านอยู่แล้ว


 


แต่ถ้าภาครัฐเข้ามาดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินให้จบ แล้วออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านได้ทำกิน ได้รู้ว่าที่ดินของนาย ก. นาย ข. มันอยู่ตรงไหน ทุกคนก็โอเค เพราะแต่ละคนอยากอนุรักษ์ธรรมชาติเกาะกูดอยู่แล้ว แต่คนเกาะกูดส่วนหนึ่งก็กลัวเหมือนกัน กลัวว่าอุทยานฯ มา แล้วป่าจะหมด


 


ปัจจุบันที่เห็นว่าป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เพราะคนเกาะกูดรักษาหวงแหนเอาไว้นั่นเอง ไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาดูแล คิดดูก็แล้วกัน ถ้าอุทยานเข้ามาแล้วป่าหมด อะไรจะเกิดขึ้น เรื่องแบบนี้ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน มันเคยมีประวัติมาแล้ว


 


อันนี้ เราไม่ได้ว่าอุทยานฯ แต่ว่ามันเคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เรากลัว ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน ทีวีก็ดี หนังสือพิมพ์ก็ดี ที่เขาตัดไม้กัน เป็นไม้ในป่าอุทยานฯ ทั้งนั้น ผมคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศเขตอุทยานฯ บนเกาะกูด


 


ถ้าปล่อยให้อยู่เหมือนเดิม ผมเชื่อว่าคนเกาะกูด 100 เปอร์เซ็นต์ รักป่าและหวงแหนป่า เพราะป่าเป็นแหล่งทำมาหากินของเขา เขาต้องอยู่กับป่า อาชีพประมงก็ต้องอาศัยป่า ตัดไม้รวกมาทำลอบเล็กๆ เกี่ยวใบไม้มาทำลอบ เอาไม้ ใบไม้จากป่า มาทำเชื้อล่อหมึก


 


มันเป็นการเกื้อกูลระหว่างป่ากับชาวประมง ระหว่างป่ากับชาวบ้าน ผมเชื่อว่าคนเกาะกูดรักและหวงแหนป่า มันมีบทพิสูจน์อยู่แล้ว นั่นคือ ป่าเกาะกูดยังอุดมสมบูรณ์ถึง 99 เปอร์เซ็นต์


 


เอกสารของ อบต. เสนอทำป่าชุมชน แล้วถ้าเกิดทางกรมอุทยานฯ ประกาศเขตอุทยานฯ จะทำอย่างไร


ก็ต้องกันพื้นที่ที่จะทำป่าชุมชนออกมาก่อน ต้องกันพื้นที่ของชาวบ้านออกมาก่อน จึงจะประกาศเขตอุทยานฯ ถ้าไม่กันพื้นที่ป่าชุมชน ไม่กันพื้นที่ของชาวบ้านออกมาก่อน เราค้านอยู่แล้ว เราจะปล่อยให้รัฐประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่ชาวบ้านไม่ได้


 


เห็นทางกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเข้ามาทำที่พักแล้ว


แผนจะประกาศให้เกาะกูดเป็นอุทยานฯ เป็นแผนของ อพท. เขาก็ส่งเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ เข้ามาดำเนินการ ถามว่าชาวบ้านตกใจไหม ตกใจ อุทยานฯ เข้ามาทำอะไร


 


ตอนหลังก็มีการชี้แจงในที่ประชุมชาวบ้านว่า เขาเข้ามาสร้างศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน ตรงหมู่ที่ 2 อ่าวคลองเจ้า สร้างเสร็จแล้วจะมอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ให้ชาวบ้านบริหารกันเอง ชาวบ้านก็เลยสบายใจ หลังจากนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไป


 


ถามว่ามันดีหรือไม่ดี ผมว่ามันก็เป็นดาบ 2 คม เพราะพื้นที่ที่ตั้งมันเป็นป่าชายเลน อาคารที่สร้างเป็นคอนกรีต ดูแล้วไม่เหมาะ คำว่าศึกษาป่าชายเลน มันต้องสร้างให้สอดรับกับธรรมชาติ เช่น ไม้ แต่นี่สร้างเป็นคอนกรีตทั้งนั้น


 


ผมเลยบอกขอให้ดูตอนจบ สร้างเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร จะให้ใครดูแล ถ้าอุทยานฯ เข้ามาดูแลบริหารจัดการเอง ผมว่ามีปัญหากับชาวบ้านแน่ เพราะว่าชาวบ้านคงไม่ยอม


 


แผนพัฒนาเกาะกูดของสภาพัฒน์ กับแผนของกรมธนารักษ์ ส่งเสริมให้กลุ่มทุนท่องเที่ยวขนาดใหญ่เข้ามาลงทุน ถ้าเป็นอย่างนี้ชาวบ้านจะถูกตัดขาด ออกจาการพัฒนาเกาะหรือไม่ เพราะโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก


เรื่องนี้เราเคยคุยกับผู้ใหญ่ กับคนทำแผนนะครับ เพราะว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ทำบนเกาะกูด ชาวบ้านบนเกาะกูดได้รับประโยชน์น้อยมาก ชาวบ้านไม่ค่อยได้เข้าไปมีส่วนร่วม อย่างโครงการหมู่บ้านขนาดใหญ่ ที่ทำไปแล้วให้คนไปซื้อเข้าไปอยู่นี่ ชาวบ้านหมดโอกาสอยู่แล้ว เพราะเป็นคนจน


 


ผมบอกกับกรมธนารักษ์ไปว่า โครงการของกรมธนารักษ์ ทำในที่ของธนารักษ์เราไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ธนารักษ์นึกถึงผลประโยชน์ของชาวบ้านเป็นหลัก ก็เลยเกิดโครงการชุมชนอนุรักษ์ฯ ขึ้นมา เป็นโครงการที่เราเห็นด้วย เพราะเป็นโครงการที่ดี ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับชุมชน ชาวบ้านยากจนได้มีโอกาสเข้าไปอยู่อาศัย


 


อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีโครงการใหญ่ๆ ลงมามากๆ มีการพัฒนามากขึ้น ใช้พื้นที่ในการพัฒนามากๆ สิ่งที่ต้องเสียแน่ๆ คือ สิ่งแวดล้อม จะเสียมากเสียน้อยเท่านั้นเอง


 


ถึงอย่างไร เราก็ต้องยอมรับว่า เกาะกูดต้องพัฒนาไปสู่ระดับสากล เพราะฉะนั้น ต้องมีท่าเทียบเรือ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต้องมีธนาคาร ต้องมีอะไร เพื่อให้การท่องเที่ยวขึ้นสู่ระดับสากล แต่สิ่งแวดล้อมที่ดี จะต้องอยู่คู่กับเกาะกูดด้วย


           


ตรงนี้ เป็นเรื่องของการศึกษาออกแบบว่า จะออกแบบอย่างไร จะทำอย่างไร ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวทางการพัฒนาเกาะกูด คือ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ถ้าเอาโครงการขนาดใหญ่มาลงมากๆ มันขัดกันอยู่ในตัว เพราะการอนุรักษ์ คือ การดูแลรักษาให้ธรรมชาติดีขึ้นกว่าเก่า


 


ในแผนพัฒนาหมู่เกาะช้าง ซึ่งรวมถึงเกาะกูดด้วยของสภาพัฒน์ เมื่อปี 2545 ต้องการพัฒนาให้พื้นที่นี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส รับนักท่องเที่ยวระดับมหาเศรษฐี จึงจำเป็นต้องแยกชาวบ้านออกจากกระบวนการพัฒนา เพราะชาวบ้านและผู้ประกอบการท้องถิ่นขาดประสบการณ์และเงินทุน


ตอนนั้น จะมีการพัฒนาเกาะช้าง ซึ่งมีปัญหาบุกรุกทำลายป่ากันมาก ก็เลยมองทุกอย่างเป็นลบไปหมด ถามว่ากระทบไหม กระทบเพราะในแผนรวมเกาะกูดเข้าไปด้วย ทั้งที่เกาะกูดเราไม่เหมือนเกาะช้าง แต่ถูกดึงเข้าไปอยู่ภายใต้กรอบการพัฒนา ภายใต้แผนฉบับเดียวกัน


 


มองเกาะกูดกับการท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาสอย่างไร


ในสายตาและความต้องการของผม คงไม่แตกต่างจากคนอื่นมากนัก คือ มีสนามบิน มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ หรือถ้าไม่มีสนามบิน ก็มีเรือโดยสารที่มีสมรรถนะสูง มีเฟอร์รี่มาวิ่งระหว่างฝั่งตราดกับเกาะกูด พูดง่ายๆ ก็คือ มีสาธารณูปโภคครบครัน สามารถอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้ ส่วนแหล่งธรรมชาติ ต้องอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง


 


ส่วนสภาพัฒน์ หรือ อพท. หรือกรมธนารักษ์ จะคิดอย่างไรผมไม่ทราบ ในส่วนของผมเอง คนเกาะกูดต้องการถนน ต้องการสาธารณูปโภคให้เพียงพอที่จะบริการนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเกาะกูด ได้รับความสะดวกสบาย ไม่ใช่มาเจอกับความยากลำบาก ตากแดดตากฝน เราต้องการแค่นี้ ผมไม่ต้องการให้มีการสร้างตึกใหญ่โตมโหฬาร ไม่ได้ต้องการโรงแรมหรูๆ และใหญ่มากๆ เราไม่ได้ต้องการแบบนั้น


 


เราต้องการอย่างเดียว ให้นักท่องเที่ยวมาเกาะกูด มาแล้วสบาย ปลอดภัย มีสิ่งที่เขาต้องการใช้สอย มีสิ่งที่เขาต้องการบริโภค ไม่ว่าเรื่องธรรมชาติ เรื่องทรัพยากรในธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเล นั่นก็พอแล้ว มีที่พักเพียงพอรองรับนักท่องเที่ยว เราสามารถดูแลนักท่องเที่ยว ดูแลความปลอดภัย ให้การต้อนรับด้วยไมตรีจิต เท่านี้ก็พอแล้ว


 


ส่วนนักวางแผน ผู้รับผิดชอบระดับสูงเขาคิดอย่างไร ผมไม่ทราบ ผมคิดได้แค่นี้


 


ต้องการนักท่องเที่ยวระดับไหน


เกาะกูดมีรีสอร์ทมาก จึงต้องการความหลากหลายของนักท่องเที่ยว เราต้องการนักท่องเที่ยวหลายระดับ ถ้านักท่องเที่ยวอยู่ระดับเดียวกันหมด เชื่อว่ารีสอร์ทมีปัญหาแน่ แย่งแขกกัน


 


รีสอร์ทมันต้องมีตั้งแต่ระดับโฮมสเตย์ รีสอร์ทสองดาว สี่ดาว ห้าดาว ก็ว่ากันไป เราต้องยอมรับความจริงว่า เกาะกูดต้องการรีสอร์ทระดับหรูๆ เหมือนกัน แต่ไม่สมควรจะมีมาก คือ หรูนี่ ขอให้หรูอยู่ภายใต้กฎหมายก็แล้วกัน ไม่ใช่หรูอยู่เหนือกฎหมาย แล้วจะแก้กฎหมาย อันนี้เราไม่เห็นด้วย


 


แล้วแนวโน้มถ้าดูจากการไหลเข้ามาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ คิดว่าคนพื้นที่จะอยู่ได้หรือไม่


ผมคิดว่าอยู่ได้ เพราะกลุ่มทุนพื้นที่เป็นรีสอร์ทขนาดกลางและเล็ก เป็นรีสอร์ทเล็กๆ ขนาดใหญ่ๆ ไม่ค่อยมี ผมว่าลูกค้าหรือนักท่องเที่ยว จึงเป็นคนละกลุ่ม ไม่แย่งลูกค้ากัน แต่จะมีปัญหาตรงที่ว่า ถ้ามันมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จะมีปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค เงินเราไม่พอ จะมีปัญหาเรื่องน้ำไม่พอใช้แน่ ไฟฟ้า เส้นทางคมนาคม ที่จะต้องมีให้เพียงพอ


 


เรื่องสาธารณูปโภค เราขอไปยังส่วนกลางแล้ว เพราะถ้ารีสอร์ทขนาดใหญ่มาลงมากขึ้น โดยไม่มีการสร้างสาธารณูปโภคเลย ปัญหาย่อมตามมาอยู่แล้ว ความจริงต้องสร้างสาธารณูปโภคก่อน แล้วค่อยมาลงทุน


ผมกลัวอย่างนี้ อีกปีหรือ 2 ปีข้างหน้า จะมีปัญหาเรื่องน้ำหรือเปล่า เพราะรีสอร์ทใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง รีสอร์ทก็มากขึ้น แต่สาธารณูปโภคยังไม่มีการสร้างเลย มีของเก่าที่สร้างมาก่อนจะประกาศให้เกาะกูดเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


 


การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะกูดนี่น่าห่วงนะ เราเอานักลงทุนมาลงทุนก่อน ทั้งที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ดีพอ ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว น้ำไม่มีใช้ ถนนหนทางไม่ดี อาจทำให้เกาะกูดเสียชื่อเสียงได้ ถนนหนทางเราไม่ต้องการให้ใหญ่มาก ไม่ต้องการหรู เอาแค่รถวิ่งได้ตลอดทุกหมู่บ้านก็พอแล้ว


 


เรื่องระบบสาธารณูปโภคในอนาคตจะจัดการอย่างไร


ถ้าท้องถิ่นดำเนินการเองได้ มีงบประมาณเพียงพอ มีรายได้ เราดำเนินการเรื่องการคมนาคมขนส่งอยู่แล้ว ในรูปแบบของการร่วมทุน เช่น เรือก็เป็นสหกรณ์เดินเรือ หรือบริษัทขนส่ง อะไรก็ว่าไป แล้วแต่ประชาชนในพื้นที่


 


เมื่อ 4 ปีก่อน ไม่มีเรือโดยสารเลยบนเกาะกูด เราก็คิดว่าเราจะทำกันเองโดยคนในพื้นที่ ก็มีคนลงทุน มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบก็เปลี่ยนไป ผมว่าวันข้างหน้าคงมีกลุ่มทุนเข้ามาลงทุน เพราะทุนท้องถิ่นเองคงทำได้แค่นี้ แต่ถ้าเอานักลงทุนขนาดใหญ่มาลง ผมว่าเราคงสู้ไม่ได้ ถ้านักลงทุนใหญ่ๆ มาลงนี่ เท่ากับเป็นการส่งเสริมกลุ่มทุนขนาดใหญ่แค่นั้นเอง


           


แล้วมันกระทบกับกลุ่มชาวบ้านที่ทำเรือโดยสารอยู่หรือไม่


คงไม่กระทบ เพราะเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน ผมเชื่อว่านักลงทุนมาลงทุนเรือโดยสารสปีดโบ้ต หรือเรือยอร์ช หรือเรือที่เน้นการให้บริการที่ดี ระดับ 4 ดาว 5 ดาว ส่วนชาวบ้านเป็นเรือขนส่งอุปกรณ์และอาหารเครื่องดื่ม เพราะชาวบ้านเขาไม่มีเงินไปนั่งเรือ ราคา 500 - 600 - 700 บาท เขามีเงินไม่ถึง เขาไม่กล้า มันจะแยกกันชัดเจนว่า ให้บริการลูกค้าคนละระดับกัน


 


ปัจจุบันเรือโดยสารมีกี่ลำ


เรือโดยสารจริงๆ ของชาวบ้านมี 4 ลำ เป็นเรือไม้ และมีสปีดโบ้ตอีก 6 ลำ เท่านั้นเอง เป็นเรือของคนในท้องที่


 


อนาคต 5 - 10 ปีข้างหน้า เกาะกูดจะเป็นอย่างไร เมื่อดูจากแผนพัฒนา ดูจากการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มทุน


ถ้าดูตามแผนพัฒนา เกาะกูดก็คงจะคล้ายเกาะสมุย พอสาธารณูปโภคมาลง อะไรต่างๆ ก็จะตามมาลงที่นี่ เกาะกูดก็จะตามเกาะสมุย ตามเกาะช้าง หนีไม่พ้น อนาคตข้างหน้าเกาะกูดก็จะเหมือนเกาะสมุย เกาะช้าง คงจะเหมือนเกาะเต่า ตอนนี้ เกาะเต่าสร้างรีสอร์ทบนเขาเต็มไปหมด เพราะเกาะมันเล็ก ต่อไปเกาะกูดก็คงจะเหมือนกับที่อื่นๆ


 


ถ้าเกาะกูดเป็นเหมือนเกาะสมุย เหมือนที่อื่นๆ คิดว่าชาวบ้านจะอยู่อย่างไร


พัฒนาแบบนี้ ผมว่าชาวบ้านร้อยละ 70 ขายที่ดินขึ้นไปอยู่ฝั่งกันหมด ชาวบ้านพื้นเพดั้งเดิมจะเหลืออยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ คนส่วนใหญ่ขายที่ดินขึ้นไปอยู่ฝั่งแน่ พอที่ดินราคาแพง คนก็คิดว่าขายขึ้นไปอยู่ฝั่งสบายกว่า ขึ้นไปซื้อสวนอยู่บนฝั่ง พอคนท้องถิ่นขาย คนต่างถิ่นก็เข้ามาอยู่แทน ก็แค่นั้นเอง


 


แล้วคิดว่าปัญหาอย่างนี้จะมีทางแก้ไขหรือป้องกันอย่างไร


ป้องกันลำบาก เพราะคนมันอยากได้เงินล้านทุกคน คนอยากรวย ชาวบ้านบางคนทำสวนมา 40 - 50 ปี ชั่วอายุคนยังไม่เคยถือเงินล้าน อยู่ๆ มีคนมาให้ราคาที่ดินไร่ละล้านสองล้าน ก็เป็นร้อยล้าน เงิน 200 ล้านนี่ เขาเอาอยู่แล้วครับ บังคับเขาไม่ได้ คนอยากรวยใครจะไปห้ามเขาได้ ไปห้ามก็หาว่าเราอิจฉาอีก


บางคนมีที่ดิน 100 ไร่ ขายไร่ละล้านก็รวยแล้ว อยู่ชั่วอายุคนไม่เคยเห็นเงินล้าน ผมบอกได้เลยว่า ถ้าเป็นแบบนี้ คนเกาะกูดขายที่ดินไปอยู่ฝั่งกันหมด มีทางเดียว คือ ปลูกฝังจิตสำนึกชาวบ้าน ให้รู้จักรักถิ่นฐานของตัวเอง


 


ในฐานะที่เป็นคนเกาะกูด ต้องการให้เป็นแบบนี้หรือไม่


ผมไม่ต้องการอะไรมาก ต้องการสาธารณูปโภคเพียงอย่างเดียว พัฒนาแค่ระดับทำให้คนที่มาเที่ยว มาแล้วมาอีก ผมต้องการให้ขายจุดขายที่ไม่เหมือนที่อื่นเขา คือ ขายธรรมชาติ เกาะกูดเป็นเกาะอยู่ไกลฝั่ง เดินทางก็ไกล ถ้ามีทุกอย่างเหมือนเกาะช้าง เหมือนเกาะเสม็ด เขาก็ไปที่เกาะช้าง เกาะเสม็ด เพราะใกล้กว่า ไม่ต้องมาเกาะกูด เราอยากเอาธรรมชาติไปขาย คุณมาเกาะกูดคุณได้เห็นธรรมชาติที่ไม่เหมือนที่อื่น ผมต้องการอย่างนี้


 


ถ้าดูจากแผนไม่น่าจะเป็นอย่างที่ผมต้องการ เพราะถ้าพัฒนาตามแผน ผมเชื่อว่านายทุนต้องลงมาอยู่แล้ว ห้ามไม่ได้ นายทุนมาลงมีแต่เงิน มีแต่โครงการใหญ่ๆ มันอาจจะสร้างงานให้คนในพื้นที่อยู่บ้าง แต่อย่าลืมว่า วันนี้บนเกาะกูดไม่มีคนตกงาน รายได้ต่อหัวสูง แสนกว่าบาทต่อปีขึ้นไป เรามีคนอยู่ในเกณฑ์ยากจนแค่ 30 กว่าคน คนเหล่านี้ไม่ตกงาน จนแต่ไม่อด


 


ขณะนี้มีบางหน่วยงาน ลงมาสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทำรีสอร์ทหรู ระดับ 5 ดาวขึ้นไป เพื่อรับนักท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส จำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวไม่ให้มามาก มาน้อยๆ แต่พักนานๆ จ่ายเยอะ ธรรมชาติไม่บอบช้ำ


คิดแบบนี้ ผู้ประกอบการท้องถิ่นเสียเปรียบ เพราะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ไม่สามารถสร้างรีสอร์ทหรู กำหนดราคาสูงๆ ได้ ขณะที่รีสอร์ทใหญ่ๆ เขาอยู่ได้ คนมาเที่ยวไม่มาก เขาก็ยังได้เงินมาก แบบนี้ชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์แย่แน่ๆ


 


มันขัดแย้งกับแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอยู่แล้ว เช่น แผนส่งเสริมให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ดูวิถีชีวิตชาวบ้าน ถ้าทำแบบนี้ เกิดผลกระทบกับธุรกิจของชาวบ้านแน่ๆ


 


ขณะที่ท้องถิ่นต้องการอยู่กันง่ายๆ ต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ต้องการรับนักท่องเที่ยวหลายระดับ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วย แต่ในแผนพัฒนาต้องการรับนักท่องเที่ยวระดับสูง ตรงนี้ท้องถิ่นจะทำอย่างไร


ในส่วนของ อบต. ผมไม่รู้จะอยู่ได้อีกกี่ปี กี่สมัย ปีหน้าอาจมีผู้บริหารคนใหม่ เขาอาจไม่คิดอย่างนี้ก็ได้ เราก็ไม่รู้ ตอนนี้เราก็มีทางเดียว เท่าที่เรามีอำนาจอยู่ คือ ร่างข้อบัญญัติป้องกันเอาไว้ก่อนที่อะไรจะเกิดขึ้นกับเกาะกูดเท่านั้นเอง


 


ตอนนี้ เราเริ่มศึกษากฎหมาย มีคนจากสมาคมสถาปนิกแห่งประเทศไทย มาเป็นที่ปรึกษา


ส่วนใหญ่เป็นเรื่องควบคุมการก่อสร้างทั่วไป เรื่องสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น ถ้ากฎกระทรวงบอกว่าให้สร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 15 เมตร อบต. ก็จะเหลือให้สร้างได้ไม่เกิน 8 เมตร เราร่างให้กระชับกว่ากฎกระทรวง ป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาลงทุนอะไรใหญ่ๆ ทำให้สิ่งแวดล้อมเกาะกูดเสียหาย


 


ถึงอย่างไร ข้อบัญญัติมันก็แก้ไขได้ในสภา คนใหม่เข้ามาบริหาร ถ้าเขาไม่เห็นด้วย เขาก็แก้ได้ ผมว่ามันขึ้นอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสมาชิกสภาท้องถิ่นเหมือนกัน ไม่ใช่ผมคนเดียว เพราะฉะนั้น เกาะกูดจะอยู่หรือจะไป ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น ใครเข้ามาดูแลบริหารท้องถิ่น สมาชิกมีความคิดแบบไหน ผู้บริหารมีความคิดแบบไหน แล้วแต่ยุคแต่สมัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net