Skip to main content
sharethis

หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คงไม่มีช่วงไหนแล้วที่เอ็นจีโอ หรือองค์กรภาคประชาชนจะขัดแย้งกันมากมายได้เท่าขณะนี้


 


วงประชุมองค์กรพัฒนาเอกชน ก่อนรัฐบาลทักษิณจะเข้ามาบิหารประเทศเมื่อ 5 ปีก่อน เคยแบ่งการทำงานของเอ็นจีโอ  3 ส่วนกว้าง ๆ คือ


 


1.ภาคประชาสงเคราะห์ (Public welfare: Social services) เน้นการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์


2.ภาคประชาสังคม (Civil Society)  สร้างวาทะกรรมหลัก ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พหุภาคี


3.เคลื่อนไหวภาคประชาชน (People movement) เน้นชุมนุมเคลื่อนไหวเจรจาต่อรองปัญหาคนจน


 


หากแต่ต้องยอมรับนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ไม่เพียงแต่ทำลายปรัชญาพื้นฐาน ยุทธศาสตร์หลักของเอ็นจีโอ ทั้งสามส่วน คือมุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สามารถพึ่งตนเองมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกองทุนของชุมชน หรือ วิถีการผลิตของชุมชน ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งหลาย


 


หากแต่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ใหม่ของทักษิณ ได้ทำให้ชุมชนกลับมาพึ่งรัฐเกือบทั้งหมด ทั้งนโยบายสารพัดประชานิยม ตามหลักแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และนั่นก็ยิ่งแบ่งเอ็นจีโอออกเป็นเศษเสี้ยว


 


ปรากฏการณ์เคลื่อนไหว "ทักษิณ ออกไป" ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งในองค์กรภาคประชาชนเป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนยิ่งขึ้น


 


งานวิจัย ชุด "รัฐ-ชาติ กับ (ความไร้) ระเบียบรัฐโลกชุดใหม่" ของ ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้กล่าวถึง ขบวนการเคลื่อนไหวประชาชนในโลกยุคโลกาภิวัตน์ว่า


 


"โลกยุคโลกาภิวัตน์เกิดปัญหาและความขัดแย้งแบบใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย เป็นความขัดแย้งที่บรรดาสถาบันหลักทางการเมือง-การปกครองและสถาบันสังคมที่ดำรงอยู่ไม่เข้าใจและไม่มีความสามารถในการแก้ไขได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน หลากหลายและตัดข้ามบรรดาเส้นแบ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ ตัวอย่างรูปธรรมของความขัดแย้งแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันได้แก่ความขัดแย้งบนฐานของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความขัดแย้งบนฐานของเพศ และความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งแบบใหม่เหล่านี้ แสดงออกในรูปของ "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่" ดังตัวอย่างของขบวนการสตรี ขบวนการศาสนายุคใหม่ ขบวนการสิ่งแวดล้อม และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ เป็นต้น


 


เป้าหมายของการเคลื่อนไหวก็ไม่ใช่การล้มหรือยึดอำนาจรัฐ แต่เป็นการท้าทายในเชิงวาทกรรมและระบบคิด ที่ทำให้ความคิดเดิมๆ อย่างชนชั้น หรืออำนาจอธิปไตยของรัฐไม่อาจเข้าใจขบวนการประชาชนแบบใหม่นี้ได้ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั่วโลกในประเด็นต่างๆ ในรูปของพันธมิตรเครือข่ายที่ตัดข้ามความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ชนชั้น และอุดมการณ์ คือลักษณะสำคัญของการต่อต้านขัดขืนแบบหลังสมัยใหม่ การเคลื่อนไหวเรียกร้องของภาคประชาชนทั่วโลก นำไปสู่ความคิดเรื่องประชาสังคมโลก และถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจของรัฐ-ชาติและของจักรวรรดิ…"


 


ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเกิดการตัดข้ามอุดมการณ์ความแตกต่างทางชนชั้นและอุดมการณ์เกิดขึ้นในการเมืองภาคประชาชนไทย


 


ท่ามกลางวาทกรรมซ้ายเก่า ซ้ายใหม่ ซ้ายในขวา ขวาในซ้าย หรือ ทุนนิยมก้าวหน้า ดีกว่าศักดินาล้าหลัง นั่นดูเหมือนว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่กระแสโลกใหม่ หากไม่เจอ 19 กันยา เสียก่อน


 


โจทย์สำคัญที่มากกว่าการออกประจานผู้อื่น ยืนยันความชอบธรรมของกลุ่มตนว่า ถูกต้องแบบไม่ละเลิกแล้ว หลังจากนี้เราต้องขบคิดว่า เราจะไปทางไหนกัน (What is to be done?)


 


1. ภารกิจใหญ่สุดของพันธมิตรประชาชนฯ คือ ทำอย่างไรที่จะเอาทหารกลับกรมกอง โดยสวัสดิภาพ ไม่มีการสืบทอดอำนาจ ไม่มีการนองเลือด หรือกระทั่งไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในเวลา 1 ปี


2. ขณะที่ภาคประชาชนองค์กรชาวบ้านเกษตรกรทั้งหลาย กลับต้องพกพาโจทย์สำคัญที่จะทำความเข้าใจภายในองค์กรได้อย่างไรว่า ทำไมเกิดรัฐประหาร อะไรคือพิษภัยของระบบทักษิณ แม้กระทั่งความเดือดร้อนเฉพาะหน้า จะจัดการอย่างไร ผ่านกลไกไหน เพื่อแก้ไขสถานการณ์พิเศษเฉพาะหน้านี้


3. ขณะที่การปฏิรูปการเมือง โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของสมัชชาแห่งชาติ หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน กลับพบว่า เวทีปฏิรูปการเมืองคู่ขนานภาคประชาชน ปลอดโปร่งกว่า สามารถระดมข้อเสนอ จัดการศึกษารณรงค์สร้างการเมืองในมติอำนาจภาคประชาชนได้มากกว่า


 


อีกทั้งมีแนวโน้มว่า รัฐธรรมนูญที่จะเป็นประชาธิปไตย ทั้งเนื้อหาและกระบวนการ ในอนาคต น่าจะมาหลังจากร่างเงาฉบับนี้ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า เราควรทำการบ้านเพื่อการเมืองหลังรัฐประหาร


 


ผู้เขียนยังเชื่อว่า การสวิงหรือการกลับลำของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐไทยจากทุนนิยมเต็มสูบของรัฐบาลทักษิณ มาเป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการใช้คุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเปรียบเสมือนรากแก้วของประเทศ เศรษฐกิจ ระบบตลาดและเศรษฐกิจส่วนร่วมให้มีส่วนร่วมในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบความยั่งยืน และความพอดีโดยเน้นให้ภาคประชาชนมีบทบาทนำและผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ตามที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 นั้น ก็ยังไม่น่าเปลี่ยนโครงสร้างอะไรมากนัก ทั้งนี้ อาจารย์สุธี ประศาสนเศรษฐ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าจะผลักดันแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง ให้ประสบความสำเร็จ รัฐต้องจัดการปัจจัย 7 ประการเหล่านี้คือ


 


1. เกษตรกรต้องมีที่ดินอย่างเพียงพออย่างน้อยครอบครัวละ 15 ไร่ รัฐต้องปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ


2. รัฐต้องจัดการน้ำเพื่อทำการเกษตร หรือระบบชลประทานที่ดีที่ไม่ใช่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่


3. เกษตรกรต้องมีค่าจ่ายใช้ เป็นต้นทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอ รัฐต้องสนับสนุนระบบสหกรณ์


4. ประชาชนต้องไม่มีบาปเก่าติดตัว คือ หนี้ รัฐต้องจัดการบริหารหนี้ภาคเกษตรอย่างจริงจัง


5. ประชาชนต้องไม่คิดรวย รู้จักพอกิน พออยู่ มีพฤติกรรมสมถะ ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภค


6. และต้องมีปัจจัยอื่นหนุนจากรัฐและชุมชน เช่น สวัสดิการสังคม ค่าพยาบาล ค่าเรียน เป็นต้น


 


ทั้งนี้เพราะ "ความยากจน" ของภาคประชาชนไม่ใช่เรื่องไม่พอเพียง แต่เป็นเรื่องไม่มีปัจจัยดังกล่าว


 


ขบวนการประชาชนหลังสมัยใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อย่างเดียวแต่ต้องสร้างการเมืองที่ให้อำนาจให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ในมิติแห่ง "รัฐสวัสดิการ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net