Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 5 ธ.ค.2549 นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้มอบหมายให้ตัวแทนเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.ต.ท. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เวลา 10.00 น. ที่โรงเรียนตำรวจภูธร ภาค 9 สปกตร ส่วนหน้า จังหวัดยะลา เพื่อขอสอบถามแนวทางการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจัดการแก้ไขปัญหากรณีคนหายในสามจังหวัดชายแดนใต้


 


ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสืบ โดยสำเนาหนังสือได้ทำถึง ฯพณฯ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน และ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ในจดหมายได้ระบุว่า จากการติดตามปัญหาเรื่องคนหายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีจำนวนคนหายเท่าไร และแนวทางการทำงานของรัฐในการค้นหาคำตอบและแนวทางการป้องกันการบังคับให้หายไปของประชาชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจุบันพบว่ามีคนหายที่ยินดีให้ข้อมูลและเปิดเผยข้อเท็จจริงจำนวน 27 ราย ซึ่งเป็นคนหายระหว่างปี พ.ศ.2545- 2549 


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2549 นายโปรกรี อภิบาลแบ อายุ 21 ปีได้หายตัวไป ดังปรากฏเป็นรายงานข่าวของสถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่องอุ้มหายที่ป่าหวัง  "วันนี้..เขายังเชื่อมั่นในรัฐ?" ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 นายดอเราะแม อภิบาลแบ ผู้เป็นบิดาได้ติดตามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ทางการแต่ก็ไม่ได้รับความคืบหน้าในการค้นหาว่าขณะนี้บุตรชายหายไปที่ไหนอย่างไร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพจึงเข้าพบเพื่อยื่นจดหมายร้องเรียน มีใจความดังนี้


 


มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 111 ซอยสิทธิชน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย สามเสนนอก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทร 662-6934939 โทรสาร 66-2-2753954


                                                                 


ที่กรุงเทพ พิเศษ 4/12/2549 


                                                                                        วันที่  4 ธันวาคม พ.ศ. 2549


 


เรื่อง ขอสอบถามแนวทางการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจัดการแก้ไขปัญหากรณีคนหายในสามจังหวัดชายแดนใต้       


เรียน พล.ต.ท. อดุลย์  แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9


 


สำเนาส่งถึง       


1) ฯพณฯ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี 


2) พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน


3) นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


สิ่งที่ส่งมาด้วย    


1. โครงการยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


2. เอกสารข้อเท็จจริงกรณีคนหายในสามจังหวัดชายแดนใต้


    และรายชื่อคนหายจำนวน 27 ราย


3. เอกสารจากสื่อมวลชนกรณีคนหายที่ป่าหวัง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา วันที่ 27 ตุลาคม 2549


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยเป็นการรวมตัวกันของปัจเจกชน องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์การด้านสันติภาพ มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ


1) ส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องคนหาย


2) ส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องสงสัยจากการบังคับใช้พระราชกำหนด ฯ สถานการณ์ภาวะฉุกเฉินและผู้ต้องหาจากการดำเนินคดี


3) ส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมยึดถือหลักนิติธรรมและส่งเสริมพัฒนาให้ได้มาตราฐานตามหลักการการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trial) ดังรายละเอียดที่แนบมาด้วยแล้วนี้


 


คณะทำงานฯ ได้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 เช่น การเยี่ยมญาติคนหาย   เยี่ยมญาติของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ความรุนแรงและเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน การร่วมสังเกตการณ์คดีความมั่นคงที่กรุงเทพและในสามจังหวัดภาคใต้ การเข้าเยี่ยมผู้ต้องหากรณีก่อความไม่สงบที่เรือนจำจังหวัดทั้งสามจังหวัด การเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนในเวทีสาธารณะเรื่องปัญหาภาคใต้โดยให้ความสำคัญกับภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลและประสานงานกับญาติของเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ญาติของผู้ต้องหา องค์กรท้องถิ่น นักกิจกรรมในพื้นที่ ทนายความส่วนกลางและในพื้นที่ รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและร่วมกันแก้ไขปัญหา


 


จากการติดตามปัญหาเรื่องคนหายในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในจำนวนคนหายและแนวทางการทำงานของรัฐในการค้นหาคำตอบและแนวทางการป้องกันการบังคับให้หายไปของประชาชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันพบว่ามีคนหายที่ยินดีให้ข้อมูลและเปิดเผยข้อเท็จจริงจำนวน 27 ราย ซึ่งเป็นคนหายระหว่างปี พ.ศ.2545- 2549 ดังรายละเอียดที่แนบมาด้วยกันนี้       


 


ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นายโปรกรี อภิบาลแบ อายุ 21 ปีได้หายตัวไป ดังปรากฏเป็นรายงานข่าวของสถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่องอุ้มหายที่ป่าหวัง  "วันนี้..เขายังเชื่อมั่นในรัฐ?" ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 นายดอเราะแม อภิบาลแบ ผู้เป็นบิดาได้ติดตามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ทางการแต่ก็ไม่ได้รับความคืบหน้าในการค้นหาว่าขณะนี้บุตรชายหายไปที่ไหนอย่างไร


 


คณะทำงานฯ มีความห่วงใยต่อกรณีคนหายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สังคมไทยและประชาคมนานาชาติให้ความสนใจสอบถามกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคณะทำงานเรื่องคนหายขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงกรณีการบังคับให้หายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร อีกทั้งเพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันในการตรวจสอบกรณีคนหายและการหาแนวทางให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม คณะทำงานฯ จึงขอเรียนสอบถามความคืบหน้ากรณีคนหาย 27 รายและสอบถามแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหากรณีคนหายในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยทางคณะทำงานฯ ใคร่ขอเรียนเสนอความคิดเห็นดังนี้


 


1. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามกรณีคนหายอย่างเป็นการเฉพาะ ประกอบไปด้วยบุคคลที่ได้รับความน่าเชื่อถือในพื้นที่ได้รับอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบถาม สอบสวนข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี   โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยความยุติธรรมและกระตุ้นให้หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการค้นหาผู้สูญหายและผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และช่วยให้ญาติผู้สูญหายที่ยังไม่ได้รายงานหรือแจ้งข้อมูลสามารถเปิดเผยตัวเพื่อทราบจำนวนที่แท้จริงว่ามีคนหายจำนวนเท่าใด และได้รับการเยียวยาต่อไป


 


2. ขอให้มีการประสานงานดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของบุคคลสูญหายอย่างพอเพียงและทั่วถึง ในจำนวนคนหายทั้งสิ้น 27 รายที่เปิดเผยตัว แม้ว่าหลายรายเป็นเยาวชนก็มีบิดา-มารดาที่อยู่ในวัยชราที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู แต่อีกหลายรายมีบุตร/ธิดา รวมทั้งสิ้นกว่า 30 คน ซึ่งขณะนี้กำลังขาดแคลนเงินยังชีพและขาดโอกาสในทางการศึกษา


 


3.  ให้ความคุ้มครองแก่บรรดาผู้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการบังคับให้หายตัวไป รวมทั้งบรรดาญาติของผู้สูญหายทุกราย


 


4. ส่งเสริมกระบวนการการตรวจสอบต่างๆโดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะเข้าทำการตรวจสอบและพิสูจน์ศพนิรนามที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ในการให้ความร่วมมือในการขุดศพนิรนามเพื่อการตรวจพิสูจน์กับดีเอ็นเอของญาติผู้สูญหาย การจัดระบบการตรวจพิสูจน์ศพนิรนามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อความโปร่งใสและการตรวจสอบได้กรณีมีรายงานคนหายเกิดขึ้นในพื้นที่ ให้เป็นมาตรฐานและในการปฏิบัติเพื่อป้องกันคนหายในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ


 


5. คณะทำงานฯ มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวภายใต้พรก บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงขอให้มีการพิจารณาแก้ไขระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมให้ผู้ต้องสงสัยพบบุคคลอื่น (อุ้มหาย 3 วัน) และขอให้ผู้ต้องสงสัยและถูกควบคุมตัวภายใต้  พ.ร.ก.ทุกคนได้รับสิทธิในการพบทนายความ และได้รับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมคือการขอคัดค้านการขยายเวลาควบคุมตัว โดยได้รับสิทธิในการเดินทางมาที่ศาลเพื่อให้ศาลได้พิจารณาไต่ส่วนหน้าบัลลังก์ เพื่อความโปร่งใส่เป็นธรรม และเพื่อให้ญาติ ผู้ปกครองและสาธารณชนที่มีความสนใจได้เข้าร่วมรับฟัง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


 


ทั้งนี้คณะทำงานฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะให้ความสำคัญต่อปัญหาการบังคับให้หายไปของบุคคลอย่างจริงจัง เพราะการบังคับให้บุคคลต้องสูญหายนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุด และขณะนี้ประเทศไทยเองก็ถูกจับตามองจากนานาประเทศถึงปัญหาความไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความสมานฉันท์นั้นคงมิอาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการเปิดเผยความจริง และการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำสู่การยุติความรุนแรง และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


 


ด้วยความเคารพอย่างสูง


                                                                       


                                                                   นางอังคณา  นีละไพจิตร


                                                          ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


 


          

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net