ผลวิจัยชี้คนไทยติดทั้งหวยบนดิน-ใต้ดิน เพราะ "การพนัน" คือความหวังของคนจน

ประชาไท - 6 ธ.ค.2549 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกบทวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "หวยใต้ดิน-หวยบนดิน: พฤติกรรมการบริโภคของคนไทย" โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ซื้อหวยบนดินมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซื้อหวยบนดิน 502.73 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เล่นหวยใต้ดินมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซื้อหวยใต้ดิน 1,347 บาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มตัวอย่างที่นิยมเล่นหวยใต้ดินพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป รวมทั้งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ น้อย 5,001-10,000 บาทต่อเดือน และมีอาชีพรับจ้างทั่วไป หรือเป็นผู้ใช้แรงงานมากที่สุด รวมถึงมีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ไม่ค่อยเล่นหวยใต้ดิน แต่คนที่มีการศึกษาสูงที่เล่นหวยมีรายจ่ายในการซื้อหวยมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่มี 15% ของนักศึกษาที่เล่นหวยทั้งใต้ดินและบนดิน

ส่วนที่ว่าการมีหวยบนดินสามารถทดแทนหวยใต้ดินได้หรือไม่นั้น จากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 44.1% ซื้อหวยใต้ดินลดลง โดยมีเหตุผลคือ หวยใต้ดินหาซื้อยาก, กลัวผิดกฎหมาย, ต้องการถูกรางวัลแจ็กพอต และกลัวเจ้ามือเบี้ยว แต่ยังมีส่วนหนึ่งคือ 26.9% ที่ยังคงซื้อหวยใต้ดินเท่าเดิมและเพิ่มขึ้น เหตุผลคือ ยังหาซื้อหวยใต้ดินได้สะดวกกว่า, หวยใต้ดินมีส่วนลดที่จูงใจและใช้เครดิตหรือ "เงินเชื่อ" ซื้อได้

สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้บริโภคหวยบนดิน และหวยใต้ดินมีพฤติกรรมแบบเสพติดการพนันหรือไม่ พบว่า การบริโภคทั้งหวยใต้ดินและหวยบนดิน มีลักษณะการเสพติด แต่เป็นการเสพติดแบบสมเหตุสมผล มากกว่าเสพติดแบบ "ตาบอด" กล่าวคือ การซื้อหวยบนดินนั้น ผู้บริโภคได้พิจารณาหรือวางแผน โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายในอนาคตด้วย โดยส่วนใหญ่นำเงินเดือนหรือค่าจ้างมาซื้อหวย ขณะที่มีน้อยมากเพียง 1% ที่กู้เงินมาซื้อหวย และเมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะของการเสพติดหวยบนดินสูงที่สุด ส่วนกรุงเทพมหานครมีความรุนแรงในการติดต่ำสุด

จากผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า หวยบนดินสามารถมาทดแทนหวยใต้ดินได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จในแง่ที่สามารถนำหวยบนดินมาทดแทนหวยใต้ดินได้ เนื่องจากประชาชนหันมาซื้อหวยบนดินแทนหวยใต้ดิน โดยไม่ได้ลดรายจ่ายอุปโภคบริโภคด้านอื่นลง ทำให้รัฐนำเงินนอกระบบเข้ามาสู่ในระบบได้ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ จะทำอย่างไรกับกลุ่มคนที่ยังมีพฤติกรรมซื้อหวยใต้ดินอยู่ เช่น คนที่มีรายได้ต่ำ, มีการศึกษาน้อย, เป็นผู้สูงอายุ, มีอาชีพรับจ้างหรือเป็นผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว จากผลการศึกษาพบว่า การซื้อหวยใต้ดินมีความยืดหยุ่นมากกว่าหวยบนดิน ดังนั้น อาจต้องระวังถึงผลจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาหรือส่วนลดจากหวยใต้ดินเป็นตัวจูงใจผู้ซื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่เจ้ามือหวยใต้ดินใช้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องของความเหมาะสมในด้านการใช้หวยบนดินมาเป็นเครื่องมือในการดึงเงินนอกระบบเข้ามาในระบบ จะต้องนำมาพิจารณาด้วย เนื่องจากหวยบนดินกลายเป็นสินค้าที่ประชาชนติดมากขึ้น ขณะที่หวยบนดินก็เป็นการพนัน ซึ่งผู้ซื้อมีแต่ ขาดทุนเช่นเดียวกับหวยใต้ดิน

ทั้งนี้ บทวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสาวณีย์ได้ระบุว่า "หวยใต้ดินเป็นการพนันที่คนไทยนิยมเล่นกันมากว่า 170 ปี เป็นธุรกิจ ผิดกฎหมายที่มีมูลค่ามหาศาล และเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก โดยอ้างอิงการศึกษาของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และคณะ เมื่อปี 2544 พบว่า มีผู้เล่นหวยใต้ดินทั่วประเทศ 23.7 ล้านคน คิดเป็น 51% ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป และมีวงเงินที่เล่นหวยใต้ดินไม่ต่ำกว่า 542,000 ล้านบาท สูงกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลถึง 15.7 เท่า โดยวงเงินที่เล่นนี้ ประมาณ 30% หรือ 162,000 ล้านบาท เป็นกำไรของเจ้ามือ และยังพบว่า มูลค่าการเล่นในแต่ละปีสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากมูลค่าการเล่นในปี 2536-2538 เทียบกับปี 2544 พบว่า มีมูลค่าการเล่นเพิ่มขึ้นถึง 67%

อย่างไรก็ตาม บทวิจัยระบุว่า เมื่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้นำหวยบนดินออกมาขายตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 เป็นต้นมา ถือว่าประสบผลสำเร็จที่สามารถทำให้เป็นที่นิยมของประชาชนในฐานะทางเลือกใหม่ของสินค้าหวย เห็นได้จากยอดขายหวยบนดิน ปี 47 มีมูลค่าถึง 33,168 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 40,469 ล้านบาท ในปี 48 ขณะที่ยอดขายหวยใต้ดินได้ลดลงจากปี 44 ที่ 542,000 ล้านบาท เหลือประมาณกว่า 400,000 ล้านบาท นั่นหมายถึง ผู้เล่นหวยใต้ดินส่วนหนึ่งเลือกมาซื้อหวยบนดินและสลากกินแบ่งรัฐบาลมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสาวณีย์ให้สัมภาษณ์ล่าสุด หลังมีกระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกหวยบนดินว่า หากไม่มีหวยบนดิน มั่นใจว่าผู้เล่นจะกลับไปเล่นหวยใต้ดินแน่นอน เพราะซื้อง่าย สะดวก มีเครดิตและมีส่วนลด ขณะที่เลือกซื้อเลขเด็ดได้ดีกว่าการซื้อสลากรัฐบาล จึงเห็นว่า หากเรายังเยียวยาผู้ที่เสพติดไม่ได้ในระยะสั้น น่าจะยังคงหวยบนดินไว้เพื่อให้เงินเข้ามาอยู่ในระบบ และเพื่อให้สามารถเก็บรวบรวมสถิติที่เป็นข้อมูลจริง ทั้งมูลค่าการซื้อขาย เพศ อายุ การศึกษา และพฤติกรรมต่างๆของผู้เล่นหวย เพื่อนำมาศึกษาวิจัยและหาหนทางในการเยียวยา ทั้งการให้ความรู้และการศึกษากับกลุ่มคนเล่นหวยอย่างเป็นระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้และการศึกษาต่ำ เช่น การให้จดบัญชีครัวเรือนว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายซื้อหวยเท่าไร แต่ละปีหมดเงินรวมเท่าไร และเคยถูกรางวัลเท่าไร ซึ่งเมื่อเห็นตัวเลขรวมแล้วจะพบว่า เป็นเงินที่สูงมาก ขณะที่โอกาสของการถูกรางวัลมีน้อยมากหรือแทบไม่มี และชักจูงให้นำมาเป็นเงินออมแทนหรือให้นำเงินไปลงทุนด้านอื่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องปราบปรามหวยใต้ดินอย่างจริงจัง รวมทั้งการเพิ่มโทษ เพราะหากยกเลิกหวยบนดินหวยใต้ดินจะโตมาก เจ้ามือหวยจะมีอิทธิพลมากขึ้น มีอำนาจและทำลายยากมาก ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการคือ การค่อยๆลดจำนวนผู้ที่เล่นหวยให้เหลือน้อยที่สุด

"เมื่อถามคนที่ซื้อหวยว่า คิดว่ามีโอกาสถูกหวยหรือไม่ นักเสี่ยงดวงเกือบทั้งหมดหรือกว่า 90% มีความเชื่อว่าจะถูกหวย เพราะมั่นใจว่ามีเลขเด็ด หวยล็อก ทั้งที่ในความเป็นจริง โอกาสทางสถิติที่จะถูกหวยมีต่ำมาก และเมื่อผลปรากฏออกมาว่าไม่ถูกหวย พองวดใหม่มานักเสี่ยงดวงจะลืมเหตุการณ์ที่ไม่ถูกหวยงวดที่แล้ว แต่จะกลับมามีความหวังกับหวยงวดใหม่ นอกจากนี้ ยังมักมีแรงจูงใจจากข่าวลือที่สะพัดไปเร็วมาก กรณีที่มีคนถูกหวย แต่คนที่เจ๊งหวยที่มีจำนวนมากเรื่องนี้ก็เงียบมาก"

 

ที่มา - http://www.thairath.co.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท