จุฬาฯ หยุดเรียนมาร่วมขบวนประท้วงรัฐบาลเร่งเอา ม.ออกนอกระบบ

ประชาไท - 6 ธ.ค.2549  นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในนาม "กลุ่มนิสิตนักศึกษาต้านการแปรรูปมหาวิทยาลัย" เกือบ 200 คน เดินขบวนไปรอบมหาวิทยาลัยเพื่อเรียกร้องให้ถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (มหาวิทยาลัยนอกระบบ) ที่กำลังผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่  6 ธ.ค. ออกไปอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

 

ทั้งนี้ ในการเคลื่อนไหวคัดค้านดังกล่าว กลุ่มนิสิตจุฬาฯ ได้เริ่มรวมตัวตั้งแต่เวลาประมาณ 9.30 น. มีนิสิตคณะรัฐศาสตร์เป็นแกนนำ โดยมีการปิดการเรียนการสอนในวิชาการเมืองการปกครองเพื่อให้นิสิตมาร่วมขบวนคัดค้านโดยเฉพาะ ระหว่างการเคลื่อนขบวนกลุ่มนิสิตได้ตะโกนคำว่า "หยุดเรียน หยุดสอน หยุด ม.นอกระบบ" เป็นระยะตลอดเส้นทางที่ผ่าน

 

 

อย่างไรก็ตาม หลังเดินขบวนผ่านคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ไม่นาน มีรถอาจารย์จุฬาฯ คนหนึ่งติดสติ๊กเกอร์ คำว่า NGV ขับออกมาแต่ติดขบวนจึงบีบแตรเร่งให้พ้นทางหลายครั้ง เมื่อไม่ทันใจจึงออกรถโดยไม่สนใจทำให้นิสิตคนหนึ่งหลบไม่ทัน รถได้ทับเฉียดลงไปที่บริเวณนิ้วโป้งเท้ามีอาการบวมเขียวแต่ไม่ถึงกับกระดูกหัก อาจารย์ดังกล่าวทราบชื่อภายหลังว่า ผศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร จากภาควิชาเครื่องกล

 

หลังจากนั้นเวลา 12.00 น. ขบวนคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบได้เคลื่อนไปปักหลักหน้าสำนักอธิการบดี

 

 

นายเก่งกิจ กิตติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า เหตุผลที่มีการชุมนุมอย่างเร่งด่วนภายในจุฬาฯ เนื่องจากทราบมาว่ามีการเลื่อนการนำ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันนี้ จากเดิมที่จะเข้าสู่การพิจารณาในเดือนมกราคม ซึ่งตามกำหนดการเดิมเครือข่ายนักศึกษาทั่วประเทศได้เตรียมจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 ธ.ค. เพื่อคัดค้านแล้ว ดังนั้นการรีบนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาก็เพื่อไม่ให้มีการชุมนุมคัดค้านได้ทัน ส่วนเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยในการนำ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น เนื่องจากหากทำตามนโยบายนี้แล้วจะทำให้ค่าเทอมสูงขึ้น ข้าราชการมหาวิทยาลัยหรือของรัฐจะไม่มีความมั่นคงในอาชีพ และจุฬาฯจะถูกแปลงสภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ค่าเทอมแพงมาก โดยตอนนี้ก็เก็บค่าเทอมสูงขึ้นปีละ 4000 บาท ซึ่งหากยังเป็นมหาวิทยาลัยในระบบมันก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่การศึกษาควรจะเป็นสวัสดิการที่ทุกคนในสังคมควรเข้าถึงได้

 

 

รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสนับสนุนการคัดค้านว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถือว่าเป็นรัฐบาลเถื่อน ส่วน ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์อธิการบดีจุฬาฯ ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้วเข้าไปร่วมมือกันทำผิดกฎหมาย ใช้อำนาจเผด็จการในการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบฝืนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ เป็นการเอากลไกตลาดเข้ามองมหาวิทยาลัย เป็นการทำลายมาตรฐานทางวิชาการและเพิ่มภาระให้ประชาชนจากการค่อยๆ ตัดงบประมาณด้านการศึกษาของรัฐ

 

รศ.ใจ ยังกล่าวชื่นชมว่านักศึกษาตื่นตัวเข้าใจประเด็น ปกป้องมาตรฐานการเรียนการสอนและประชาธิปไตย จากนั้นกล่าวว่าก่อนหน้านี้รองอธิการบดีท่านหนึ่งได้โกหกสื่อว่าได้ทำประชาพิจารณ์และคนส่วนใหญ่ในจุฬาเห็นด้วยแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริงทำให้ต้องรีบแอบไปทำเรื่องเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้เสร็จกับรัฐบาลเผด็จการ

 

ด้าน ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีจุฬาฯ ได้มาพบกับนิสิตกลุ่มดังกล่าว โดยกล่าวว่า เนื่องจากในวันนี้มีการประชุมคณบดี จุฬาฯ ตามวาระปกติ ขอเชิญให้นิสิตทั้งหมดไปหารือร่วมกันในที่ประชุมคณบดีถึงเหตุผลในการเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธจากนิสิตที่คัดค้านโดยยืนกรานว่าต้องการให้ยกเลิก พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท่านั้น ศ.ดร.เกื้อ จึงขอให้กลุ่มนิสิตฯ ประสานงานมา หากต้องการพูดคุยกับผู้บริหารคนใด ในวัน เวลาใด ซึ่งแม้ว่ากลุ่มนิสิตฯ จะไม่พอใจนัก แต่ก็ยอมสลายการชุมนุมไปในที่สุด โดยยืนยันว่าจะชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านอีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. อย่างแน่นอน

 

 

วันเดียวกันที่หน้ารัฐสภา กลุ่มนักศึกษาในนามแนวร่วมคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบประมาณ 200คน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย นายภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้เดินทางมาชุมนุมคัดค้านการผ่านร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเช่นกัน โดยกลุ่มนักศึกษาได้ยื่นหนังสือคัดค้านผ่านนางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการ สนช. เพื่อนำเสนอต่อนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสนช.และสมาชิก สนช.ทุกคน

 

นายภาคิไนย์ กล่าวว่า เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะไม่มีหลักประกันในการศึกษา โดยเฉพาะคนยากคนจนจะไม่มีโอกาสในการศึกษาเพราะค่าใช้จ่ายจะแพงขึ้น ซึ่งถือเป็นการทำลายระบบการศึกษาไทยในระยะยาว สำหรับที่มหาวิทยาลัยบูรพามีการต่อสู้มาอย่างยาวนานถูกผู้บริหารหักหลัง เพราะผู้บริหารนำร่างเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไขขึ้นเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ

 

"ที่ผู้บริหารพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นเพราะผลประโยชน์ ขณะนี้ผู้บริหารได้ร่างระเบียบขึ้นเงินเดือนของตัวเองไว้เรียบร้อยแล้ว โดยอธิการบดีมีเงินเดือนสูงสุดถึง 2.5 แสนบาท รองอธิการบดี 2 แสนบาท ขณะที่ผู้ช่วยอธิการบดี รองคณะบดี หรือเทียบเท่าหัวหน้าภาควิชาจะมีเงินเดือนถึง 1 แสนบาท และทุกตำแหน่งจะได้รับโบนัส 3 เท่าของเงินเดือน พวกผมพยายามหาเอกสารบันทึกการประชุมในเรื่องนี้แต่ถูกปกปิดมาตลอด นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วผู้บริหารจะทำอะไรก็ได้ เหมือนมีมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเอง" นายภาคิไนย์ กล่าว

 

ตัวแทนจาก ม.บูรพา คนหนึ่งกล่าวว่า ที่มาคัดค้านในวันนี้ไม่ใช่คัดค้านเรื่อง ม.ออกนอกระบบ แต่เป็น เพราะร่าง พ.ร.บ.นี้ยังไม่เรียบร้อย ต้องการให้มีการทำประชาพิจารณ์ใหม่โดยให้ประชาคม ม.บูรพารับรู้ทุกคน หากออกนอกระบบแล้วค่าเทอมคาดว่าน่าจะสูงขึ้นมากเพราะรัฐจะค่อยๆตัดงบประมาณแล้ว ม.บูรพาก็เป็นเพียงม.ท้องถิ่นเล็ก จะเอาเงินมาจากไหนถ้าไม่ใช่เก็บจากนิสิต นอกจากนี้ในประเด็นการสรรหาอธิการและสภาอาจารย์ก็มีลักษณะไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น หากอายุเกิน 60 ปี ก็ยังสามารถเป็นผู้บริหารได้

 

รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มนักศึกษาได้ทำการเผาหุ่นนายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม สนช. รวมทั้งได้ร้องตะโกนไม่เอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และชูป้ายที่มีข้อความว่า "เก็บภาษีไปทำไม ถ้าไม่ช่วยการศึกษา" หรือ "สินค้าแปรรูปได้ แต่มหาวิทยาลัยแปรรูปไม่ได้"

 

นอกจากนี้ หลังจากนิสิต ม.บูรพา กลับจากการชุมนุม มีรายงานมาว่าอาจารย์ท่านหนึ่งได้ทำการแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีกับนิสิต ซึ่งเมื่อนิสิตกลุ่มดังกล่าวกลับถึงมหาวิทยาลัยก็พบตำรวจมาสอบถามว่าไปไหนมา ไปทำอะไร ซึ่งนักศึกษาระบุว่า แม้จะไม่มีการดำเนินคดีแต่ก็เกิดผลกดดันทางจิตใจมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท