บทความจากผู้อ่าน: การเมืองของ "เทวดา" ก็ต้องโดน !!

อุเชนทร์ เชียงเสน

           

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 "โจทย์ปฏิรูปการเมือง 2550" ขึ้นที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยตามกำหนดการ จะมีมีวิทยากรเข้าร่วมการ หลายท่าน รวมทั้งนายพิภพ ธงไชย และ นายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขามีส่วนสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหว "ทักษิณ... ออกไป" และมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการการรัฐประหาร (ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขามีส่วนในการเรียกร้องให้มีการรัฐประหารในนามของ "นายกฯพระราชทาน" โดยการอ้างหรือตีความมาตรา 7 ตามอำเภอใจ มาก่อนหน้านั้นแล้ว)

 

ในวันนั้น ผู้เขียนและเพื่อนๆ อีกจำนวนหนึ่ง ได้นำข้อความซึ่งพวกเขาเคยพูดไว้ในระหว่างการเคลื่อนไหวไล่ทักษิณ ไปแจกจ่ายในเวทีดังกล่าว คือ

 

กรณีนายสุริยะใส เขากล่าวว่า ถ้าการรัฐประหารถ้าเป็นเงื่อนไขจากการเคลื่อนไหวของ "เรา" - ตนเองและพรรคพวก- " ผมจะโทษตัวเองเลยนะ คงต้องหยุดทำงานสัก 2-3 ปี ไปบวช... เราไม่ปรารถนาเลยรัฐประหาร มาฉีกรัฐธรรมนูญ"

 

กรณีนายพิภพ ธงไชย ที่เข้าร่วมการเสวนาวิชาการเรื่อง "มาตรา 7 ทางออกหรือทางตันของภาคประชาชน" เมื่อ 12 มีนาคม 2549 โดยในเวทีดังกล่าว พิภพ ถูกตั้งคำถามจากผู้เข้าร่วมเรื่อง แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ซึ่งถูกสอดแทรก ขอเรียกร้องที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ, เหตุผลที่เข้าตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวเขาเคยเรียกว่า "ถอยหลังเข้าคลอง" และ แนวโน้มที่การเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของเขาจะนำไปสู่การฉีกรับธรรมนูญทางใดทางหนึ่ง-นายกพระราชทาน/รัฐประหาร- โดยพิภพได้ตอบกับผู้เข้าร่วมการสัมมนาว่าถ้ามีรัฐบาล/นายกพระราชทาน หรือรัฐประหาร "ครป.ยืนยันว่า ครป. คัดค้านแน่...."

 

นอกจากนั้น ยังตั้งใจว่า จะไปรับฟัง วิสัยทัศน์ของท่านผู้นำของ "ภาคประชาชน" ทั้ง 2 ท่าน และร่วมแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

 

แต่น่าเสียดายที่ทั้ง 2 ท่าน ไปได้เข้าร่วมการเสวนาตามที่ได้ตกลงนัดหมายกับผู้จัด

 

จากเหตุการณ์ในวันนั้นเอง ได้นำไปสู่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจไม่น้อยในหลายประเด็น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้หลายปี บางประเด็นเด่นชัดขึ้นในช่วงพันธมิตรนายกฯพระราชทาน และหลังรัฐประหาร เพื่อเป็นประโยชน์ในการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันต่อไปในอนาคต บทความนี้จึงขอร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนด้วย และทดลองตอบในบางประเด็นที่สำคัญ (ดูรายละเอียดประเด็นบางส่วนได้ที่

 

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6040&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา อยากจะชี้แจงว่า บทความนี้เน้นไปที่ องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ที่มี ครป. เป็นแกนนำ และพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับ ครป. เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึง องค์กรชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของตนเอง

 

1. ความจำเป็นในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไป

คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธความสำคัญของการตรวจสอบ องค์กร/สถาบันทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไกปกติ/ทางการ ที่มีกลไก กฎหมายรองรับ เช่น นักการเมือง รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง ข้าราชการ หรือทางอ้อม เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อมวลชน การชุมนุมประท้วง เป็นต้น ทั้งนี้เป้าหมายของการตรวจสอบอาจจะมีได้หลายหลาก เช่น การสร้างความโปร่งใส การถ่วงดุลอำนาจ เพื่อให้การใช้อำนาจ/การดำเนินการทางการเมืองต่างๆ มีความสมเหตุสมผล และสร้างความรับผิดชอบทางการเมือง ป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เป็นต้น

สาเหตุที่เรายอมรับการตรวจสอบ บุคคล องค์กรต่างๆ เหล่านี้ เพราะการดำเนินการ การตัดสินใจทางการเมืองของกลุ่มหรือบุคคลที่อยู่ในส่วนต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อชุมชนการเมือง สังคมโดยรวม

 

หรือกล่าวได้ว่า การที่ทุกฝ่ายยอมรับ ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการตรวจสอบ เพราะเห็นว่า การกระทำของพวกเขาเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แล้วทำไมเราจะตรวจสอบ องค์กรประชาธิปไตย องค์กร "ภาคประชาชน" ไม่ได้?

การเคลื่อนไหว ความเรียกร้องต้องการ หรือการเสนอความเห็นของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า "ภาคประชาชน" ก็ไม่ต่างกัน กล่าวคือ ไม่ว่าจะได้รับการตอบสนองหรือไม่หรือมีผลลัพธ์อย่างไร ย่อมมีผลกระทบต่อคนอื่นๆ ในชุมชนการเมืองเดียวกัน ทั้งในแง่ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม หรือ ความคิดความเชื่อทางการเมือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่มีเหตุผลใด ที่จะอ้างเหตุหรือให้ความชอบธรรมว่า คนเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ

 

ความแตกต่างระหว่างคนกลุ่มแรก กับ "ภาคประชาชน" คือ

 

กลุ่มแรก มีกลไก กระบวนการต่างๆ ตามช่องทางปกติ ตามกฎหมาย ที่เปิดให้ทำการตรวจสอบได้ นอกจากนั้น โดยเฉพาะ นักการเมืองที่ต้องลงแข่งขันผ่านการเลือกตั้ง (ที่ไม่ใช่แค่การหย่อนบัตร) ทำให้การตรวจสอบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นไปได้มาก หรือกล่าวอีกในหนึ่ง คือ กลุ่มแรกนี้ "อยู่ในที่แจ้ง"

 

การรับรู้ของประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับ การทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ฯลฯเกิดขึ้นได้เพราะ "มีการตรวจสอบ"

 

ขณะที่กลุ่มหรือ "ผู้นำ" ของ"ภาคประชาชน" หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่มีกลไกใดๆ ตรวจสอบเหมือนองค์กรอื่นๆ อย่างนักการเมือง และไม่มีช่องทางใดที่คนทั่วไป (ประชาชน) จะเข้าไปตรวจสอบได้ (หรือใครว่ามี?) ทำให้ปัญหาต่างๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองจึงไม่เกิดขึ้นกับกลุ่มหลังนี้

 

นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรธุรกิจ -ซึ่งแสวงหากำไร-องค์กรธุรกิจน่าจะมีกลไกในการตรวจสอบมากกว่า

 

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือจัดการได้ด้วยการให้ "ผู้มีบารมี" ผู้นำทางศีลธรรม" มาการันตีความเป็นว่าเป็น "คนดี" ไม่มีการทุจริต คอร์รัปชั่น การใช้ฐานะตำแหน่งของตนเองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ พฤติกรรมไม่เหมาะสม ฯลฯ เหมือนอย่างที่ที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี การันตีรัฐบาลภายใต้การนำพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเคยเป็นองค์มนตรีเช่นกัน

 

และเพราะการเป็น "ผู้นำ"ของ "ภาคประชาชน" ไม่ใช่ "นักการเมือง" ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น

 

สมมุตินะครับว่า มีข่าวลือว่า นาย ส. มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต ใช้เงินที่ได้รับบริจาคจากการชุมนุม โดยไม่สามารถ เคลียร์รายละเอียด "ใบเสร็จ" หรือ หลักฐานการจ่ายเงินได้ คนทั่วไปจะตรวจสอบเรื่องนี้ได้อย่างไร ?

 

ดังนั้น เมื่อไม่มีช่องทางกลไกปกติในการตรวจสอบ การวิพากษ์วิจารณ์ในเวทีหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นและเปิดให้ทุกคนสามารถที่จะทำได้ ซึ่งผู้ถูกตรวจสอบเอง-ถ้าไม่มีความผิดจริง-ก็ไม่น่าจะวิตกจริตหรือกังวลมากนัก เพราะ ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ตามกฎหมาย แต่เป็นการตรวจสอบ แลกเปลี่ยน ถกเถียงกันภายใต้เหตุผล ข้อมูล ซึ่งมีคนฟัง/คนอ่าน เป็นกรรมการ ซึ่งไม่มีใครไปบังคับ ข่มขืนใจเขาได้ ไม่เหมือนกับการกระทำของคณะรัฐประหาร

 

สำหรับสุริยะใส กตะศิลา ซึ่งผ่านการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หรือคนอื่นๆ ที่สนใจเรื่องประชาธิปไตย ย่อมเข้าใจและตระหนักว่า การถกเถียงแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะ มีความหมายและความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" เพียงใด

 

2. ความจำเป็นในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่สมอ้างว่าทำเพื่อ "ประชาชน" "ประชาธิปไตย"

ขณะที่วิพากษ์วิจารณ์ นักการเมืองว่า "ชั่วช้า ต่ำทราม เลวบริสุทธิ์" คนใน ครป. และเครือข่าย/พันธมิตรที่ใกล้ชิด มักเข้าใจตนเองหรือทำให้คนอื่นเข้าใจว่า เป็นผู้เสียสละ ทำเพื่อส่วนร่วม ทำงานเพื่อ "ประชาชน" เพื่อ "ประชาธิปไตย" จนกระทั่งหลงว่าตนเอง มีความเหนือกว่าทางศีลธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น

 

แต่การอธิบายว่า ตนเองเป็นคนดี มีความตั้งใจ เสียสละทุ่มเท-มีคุณปการต่อสังคมการเมืองไทย-อย่างโน้นอย่างนี้- ก็ไม่เป็นเหตุผลที่จะเป็นข้อยกเว้น แต่เป็นเหตุผลให้ต้องเคร่งครัดยิ่งกว่า

 

มากไปกว่านั้น คนเหล่านี้มักจะอ้างหรือยอมรับให้มีการฉายภาพ (โดยสื่อมวลชน) ว่าการกระทำของตนเอง เป็นเป็นไปในนามของ "ภาคประชาชน" (ซึ่งหมายรวมถึง กลุ่มองค์กรชาวบ้าน องค์กรเอ็นจีโอ และอื่นๆ อีกจำนวนมาก) หรือ ในนามของประชาชนคนอื่น ทั้งที่ตนเองตระหนักและรู้ดีว่า ประชาชน สมาชิกในชุมชนการเมืองนี้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย และแตกต่างกับพวกเขา แม้กระทั่ง ในกลุ่มเอ็นจีโออื่นๆ หรือกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เขามักอ้างอิงถึงหรือใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเอง ก็มีความเห็นจุดยืน ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างซึ่งพวกเขาไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนได้

 

จนกระทั่งบัดนี้ ผู้เขียนยังไม่เข้าใจว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงไม่กล้าประกาศว่า การกระทำทั้งหมด เป็นไปในนามของตนเอง?

 

บางประเด็นเกี่ยวกับ ครป. และพวก

นอกจากการขาดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบกันเองภายใน มีวัฒนธรรมแบบอุปถัมป์/อาวุโส ซึ่งแน่นอนย่อมไม่นำพาสู่ความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปขององค์กรพัฒนาเอกชน/เอ็นจีโอแล้ว กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาหรือข้อจำกัดที่สำคัญขององค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองรายวันแบบ ครป. หรือองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานคล้ายคลึงกัน ที่มีลักษณะไม่ใช่องค์กรมวลชน งานหลัก คือ การแถลงข่าวรายวัน แย่งพื้นที่ข่าวหน้าสื่อ คือ ไม่สามารถที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรตนเองได้ ทำได้รอจังหวะสถานการณ์ทางการเมืองที่เหมาะสม ออกมาวิเคราะห์วิพากษ์รัฐบาลเป็นครั้งๆ ไป (ซึ่งการเมืองแบบนี้ นักข่าวคอการเมืองบางส่วนอย่างเช่น ไทยโพสต์ ชื่นชอบ) โดยคนที่มีประสบการณ์ "การเป็นข่าว" ที่เป็นนักกิจกรรมเต็มเวลา (Full time activist) ดังนั้นจะเห็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย เช่น สถานการณ์ไม่สุกงอมพอ เป็นต้น

 

โดยตรรกะของการเมืองแบบนี้ เมื่อเจอการเมืองกระแสสูง มีการการขับไล่รัฐบาล ที่ถูกก่อตัวและนำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งแต่ต้น และขยายตัวมากขึ้นเมื่อผนวกกับปัญหาเรื่องการขายหุ้นฯ พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้พวกเขาจะเห็นว่าเป็นการ "ถอยหลังเข้าคลอง" เพราะพวกเขาไม่สามารถสร้างการระดมทรัพยาการต่างๆ รวมทั้งผู้เข้าร่วม พันธมิตรและเครือข่ายของตนเอง เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังพอ ขณะที่หากไม่ตัดสินใจเข้าร่วม พื้นที่ "ข่าว" ของเขาก็ต้องถูกเบียดด้วยขบวนการสนธิจนแทบไม่เหลือ ทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะรักษาพื้นที่ข่าว และบทบาท "การนำ" ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ได้อีกต่อไป

 

นี่คือเหตุผลลึกๆ ที่นำพวกเขาเข้าไปผูกกับขบวนการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" ของสนธิ จนถอนตัวไม่ขึ้นจนกระทั่งปัจจุบัน แน่นอนที่สุด กล่าวอย่างความยุติธรรม พวกเขาอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้

 

อีกประการหนึ่งที่เป็นแก่นแกนหรือเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเชิง "โครงสร้าง" ก็ว่าได้ คือ องค์กรเหล่านี้ มีองค์ประกอบเพียงกรรมการและผู้ปฏิบัติงานเพียงไม่กี่คน ( เช่น 4-5 คน -ครป. มีสมาชิกไม่กี่องค์กร และ สมาชิกนี้ ไม่ได้มีความหมายความรับผิดชอบต่อกัน ควบคุมตรวจสอบ หรือตัดสินใจร่วมกันมากนัก แต่การตัดสินใจอยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานและกรรมการบางส่วนไม่กี่คน เป็นด้านหลัก) พึ่งพาเงินสนับสนุนจากภายนอก ซึ่งแตกต่างจากองค์กรที่มีสมาชิกและสมาชิกเป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุน ที่ต้องถูกตรวจสอบจากและรับผิดชอบต่อสมาชิก (เมื่อต้องการจะตั้งพรรคการเมืองทางเลือก ทราบข่าวมาว่าก่อนหน้านี้ ต้องเขียนโครงการขอเงินจากต่างประเทศด้วยซ้ำ)

 

ลักษณะองค์กรแบบนี้ นำไปสู่ประเด็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากๆ ว่า คุณจะรับผิดชอบต่อใคร? นี่คือความแตกต่างระหว่างการทำงานของเอ็นจีโอที่ทำงานแบบ ครป. กับองค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านที่ต้องรับผิดชอบกับปัญหาของชาวบ้านนั้นๆ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจากองค์กรชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน

 

ปัญหาเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับองค์กรแบบนี้ ตัวอย่างเช่น การมีส่วนในร่วมในการรัฐประหารครั้งนี้ หรือกรณีอื่นๆ ที่ได้ประกาศหรือให้สัญญากับ "ประชาชน" ผ่านสื่อมวลชน

 

นอกจากไม่ยอมรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตนแล้ว-กรณีรัฐประหาร- ยังทำตัวเป็นโฆษก เป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำกับคณะรัฐประหาร เช่น แนะให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลในการรัฐประหาร หรือกรณีการส่งนายทหาร พรรคพวกของตนเอง เข้าไปเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ , หรือแนะนำว่าจะจัดการกับผู้ชุมนุมคัดค้านอย่างไร อย่างหน้าไม่อาย

 

ความจริง เป็นเรื่องปกติ -แม้บางเรื่องก็ไม่ควรผิดพลาด- ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ และเมื่อเห็นว่าเป็นความผิดพลาดแล้วก็ควรที่จะปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่ดันทุรังต่อไป ด้วยเหตุผลเพียงเรื่องหน้าตา ชื่อเสียง เกียรติยศ หรืออื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สร้างความเสียหายและความเลวร้ายให้กับตนเอง คนอื่นที่เกี่ยวข้อง และชุมนุมการเมืองที่คนอื่นๆ เป็นสมาชิกด้วย

 

ที่สำคัญที่สุด การปล่อยให้ ครป. หรือ พันธมิตรที่ใกล้ชิดบางส่วน ซึ่งแน่นอนที่สุดมีภาพลักษณ์ของ "ผู้นำ" หรือ "ตัวแทน" ของเอ็นจีโอ หรือ "ภาคประชาชน ด้วย ทำตัวเป็นพวกคอยสนับสนุน แก้ต่างๆ คอยเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือจับมือกับคณะรัฐประหารอย่างเปิดเผย (ความจริงพวกเขาอาจจะจับมือโอบไหล่กันจริงๆก็ได้ กรณีสุริยะใส กับ พี่สพรั่ง) และมีแนวโน้มว่าจะดิ่งลึกลงไปทุกวัน โดยไม่มีการคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย จากเอ็นจีโอ หรือ "ภาคประชาชน" กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย ย่อมส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อความน่าเชื่อถือของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยรวม ในสายตาของประชาชนโดยทั่วไป ที่ทุกส่วนได้พยายามสร้าง ถักทอกันมานับสิบปี รวมทั้งอาจจะถูกมองอย่างเหมารวมจากส่วนอื่นๆ ได้ว่า มีส่วนร่วมกับ ครป. และพวก ในการสนับสนุนการรัฐประหาร และรับใช้เผด็จการ

 

นอกจากนั้น ยิ่งเป็นคนที่ทำงานกับองค์กรชาวบ้านที่ประสบปัญหา การประกาศเป็นมิตรกับ คปค. ไม่น่าจะส่งผลดีกับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเป็นแน่แท้           

.

3. ว่าด้วยความขัดแย้ง, แตกแยก, ทำลาย "ภาคประชาชน"

นับตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่มีมากขึ้น สืบเนื่องการเข้าร่วมสนธิกำลังกับสนธิ ลิ้มทองกุล, มาตรา 7, รัฐประหาร ความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้ง แตกแยกในหมู่ภาคประชาชน เริ่มดังก้องมากขึ้น ตัวอย่างความวิตกกังวลนี้เห็นได้จากความเห็นของ จอน อึ๊งภากรณ์, สุริชัย หวันแก้ว หรือ สุริยันต์ ทองหนูเอียด นอกจากนั้นยังแถมด้วยคำเรียกร้องในลักษณะ ให้เห็นแก่ หรือ อย่าทำลาย "ภาคประชาชน"

 

แม้สมมุติว่า มี "ภาคประชาชน" จริงตามที่อ้างกัน และหมายถึง กลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ เช่น กลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหา, กลุ่มเอ็นจีโอ, กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ เป็นต้น แต่คนที่ที่วิตกกังวล หรือเรียกร้อง เรื่องนี้ ยืนอยู่บนสมมุติฐานที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง 2 ประการ

 

1. "ภาคประชาชน" มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีเป้าหมายและผลประโยชน์เหมือนกัน ไปด้วยกันได้

 

2. ภายใน "ภาคประชาชน" นี้ มี "ผู้นำ", "ขบวนการ" ที่ชัดเจน และทักทักเอาว่า ครป. และพันธมิตรหรือ ตนเอง เป็น "ศูนย์กลางของจักวาล" ที่คนอื่นต้องมาโคจรรอบๆ

 

คนที่คิดเช่นนี้ได้ ถ้าไม่รู้จักเพียง ครป. และเครือข่ายที่มี ครป.เป็นศูนย์กลาง หรือความรับรู้เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมีขอบเขตที่จำกัดมากๆ ก็คงจะเป็นพวกหลงตัวเองเอามาก ๆ

 

เพราะสิ่งที่เรียกว่า "ภาคประชาชน" นี้ 1) ไม่เคยมีความเป็นเอกภาพหรือความเป็นหนึ่งเดียวมาตั้งแต่ต้น นอกจากนั้นยังมีจุดยืนทางการเมือง ผลประโยชน์ ความเรียกร้องต้องการ ที่แตกต่างและขัดแย้งกัน ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ สำหรับคนที่มีประสบการณ์หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวบ้างก็จะรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้ดี 2) ขบวนการไม่มี "ผู้นำ" หรือ "ตัวแทน" ใครได้ และ ครป. และพันธมิตรฯ ของเขา ก็ไม่เคยเป็น และไม่สามารถเป็นตัวแทนของ "ภาคประชาชน" โดยรวมได้ แม้ว่าจะมีความพยายามก็ตาม ยกเว้นเครือข่ายพวกพ้องที่ใกล้ชิดกับพวกเขาไม่มากนัก และ "ภาพ" ตามหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น

 

รูปธรรมที่ชัดเจน และสอดคล้องกับสถานการณ์การเมือง "ไล่ทักษิณ" คือ กรณีสมัชชาคนจน ซึ่งถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มคนเหล่านี้ที่สุดกลุ่มหนึ่ง

 

ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ในระหว่างการประชุมวางแผนชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน (มีการชุมนุมขึ้นในวันที่ 20- 25) กลุ่มบุคคลที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจของสนธิแล้ว อย่างนางสาวกชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการ สนนท. (ในขณะนั้น) กลุ่มเพื่อนประชาชน และ ครป. เรียกร้องให้สมัชชาคนจนเข้าร่วมไล่ทักษิณด้วย แต่ถูกคัดค้านไม่เห็นจากพ่อครัวใหญ่และที่ปรึกษาอีกส่วนหนึ่ง (รวมทั้งผู้เขียน) ด้วยเหตุผลหลายประการ และยืนยันว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องแก้ปัญหาปากท้องให้ชาวบ้าน เสียงเรียกร้องและคำวิจารณ์ของผู้ไม่สมหวังที่มีต่อสมัชชาคนจนคือ "ให้เห็นแก่ประเทศชาติบ้าง", " ชาวบ้านยึดติดแต่ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ยกระดับไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้าง" (คำหลังนี้หลุดจากจากปากของเลขาธิการ สนนท.) เป็นต้น

 

นอกจากนั้น ภายใต้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีหลากหลาย และหลายกลุ่ม ไม่เพียง ครป.และพันธมิตร ไม่ได้รับการยอมรับทั้งในแง่ของบทบาทหรือ "การนำ" แล้ว หลายครั้งยังถูกปฏิเสธจากขบวนการเคลื่อนไหวอื่นด้วย อย่างเช่น กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นแบบอย่างของขบวนการอื่นๆ ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ไม่เชื่อลองถามประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกดู

 

กล่าวอย่างถึงที่สุด ถึงแม้ ครป.และพันธมิตรของเขา จะมีความสัมพันธ์กับขบวนการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอหรือกลุ่มชาวบ้านบางส่วน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึง ความเป็น "ผู้นำ" หรือ ความเป็นตัวแทน ของ "ภาคประชาชน" แม้สื่อมวลชนจะให้ภาพว่า "ท่าน" ทั้งหลายจะเป็น "ผู้นำ" ขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวมก็ตาม รวมทั้งการดำรงอยู่ การประสบความสำเร็จล้มเหลวของของขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านั้น หาได้ขึ้นอยู่หรือขึ้นต่อ กับ ครป.และพันธมิตรไม่

 

ดังนั้น ถ้า ครป. และพันธมิตรบางส่วน จะเสียภาพลักษณ์หรือสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองลงจากการถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ก็แทบจะไม่ส่งผลหรือส่งผลน้อยมากต่อกลุ่มอื่นๆ นอกจากตัว ครป. และพันธมิตรบางส่วนเอง

 

แต่ด้วยวิธีคิดที่เอาตัวเอง หรือ ครป. และพันธมิตร เป็นศูนย์กลาง ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์คนกลุ่มนี้ มักถูกกล่าวหา ไม่สร้างสรรค์ (ไม่เคยปรากฏว่า ครป. วิจารณ์ว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์) และเผลอๆ กลายเป็นว่า เป็นการ "ทำลาย" ภาคประชาชนไปเสียงั้น ทั้งที่ ครป. และ พันธมิตร ไม่เคยเท่ากับ "ภาคประชาชน" วิธีการจัดการคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับตนแบบนี้สะท้อนถึงวิธีคิดที่คับแคบ และกีดกันคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับตน

 

จากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียนเอง ที่เคยมีโอกาสร่วมงานหรือมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านี้มาบ้าง ตั้งแต่สมัยเป็นนักคึกษาระดับปริญญาตรีและหลังจากหลังนักศึกษาบ้าง (นับตั้งแต่ ปี 2540 ) ประสบกับวิธีคิดแบบนี้มาโดยตลอด อย่างเช่น เมื่อมีการเรียกร้องให้ เข้าร่วม ทำงานรับใช้ "ขบวน" (ซึ่งมีความหมายอย่างไรก็ไม่ทราบ) ในฐานะ "ผู้ใช้แรงงาน" หรือ "ลูกมือ" แต่กลับถูกผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์และปฏิเสธ (เพราะไม่เห็นด้วย) ก็มักจะถูกกล่าวหาว่า (คุณ) ไม่ทำงานรับใช้ขบวน ไม่ใช่คนในขบวน ฯลฯ

 

ล่าสุด ในช่วงไล่ทักษิณ เมื่อนักศึกษาและอดีตนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับทิศทางการเคลื่อนไหวและออกมาคัดค้าน ข้อเรียกร้องที่ได้รับกลับมาคือ "ไหนว่าอยู่ในภาคประชาชน ทำไมไม่มาร่วม (การชุมนุม มาเป็นทีมงาน) เพื่อเปลี่ยนธง-แนวทางการเคลื่อนไหวกัน" (ก็คนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว และสามารถประเมินได้ว่า ข้ออ้างเรื่องการเปลี่ยนแนวการเคลื่อนไหวย่อมเป็นไปไม่ได้ และการเคลื่อนไหวแบบนี้ส่งผลเสียต่อประชาธิปไตยในระยะยาวอย่างลึกซึ่ง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเข้าร่วม ซึ่งผลจากการเคลื่อนไหวนั้นก็ประจักษ์ชัดอยู่แล้วไม่ใช่หรือ)

 

นี่คือ ภาคปฏิบัติการ ของคำขวัญ "ภาคประชาชน" ที่มีบางคนพยายามจะสถาปนาตนเองเป็นศูนย์กลาง และกีดกันคนอื่นไปพร้อมกัน

 

ถ้าสมมุติว่า "ภาคประชาชน" มีจริง ปัญหาไม่ใช่เรื่องความแตกแยก ซึ่งต้องเรียกร้องให้สมานฉันท์กัน (อยากรู้จริงๆ ว่าคนที่เรียกร้องให้มีการสมานฉันท์ยืนอยู่บนกรอบหรือฐานคิดอะไร แต่ไม่ใช่ฐานของประชาธิปไตยเป็นแน่แท้) แต่ปัญหาคือ การขาดการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ และปล่อยให้คนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง สวมบทเป็น "ผู้นำ" ของ"ภาคประชาชน" และกำลังจะกลายเป็น "เทวดา"

 

4. ว่าด้วยประเด็นเล็กประเด็นน้อย

บทความนี้ ต้องการที่จะเสนอและแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านทั่วไปมากกว่า หรือพอๆกับกลุ่มคนที่ได้กล่าวพาดพิงถึง และการนำเสนอเช่นนี้หาได้ เป็นการ" ยืนยันความชอบธรรมของกลุ่มตนว่าถูกต้องแบบไม่ละเลิกแล้ว" อย่างถึงที่สุดไม่ หมายความว่า แม้ตอนนี้ผู้เขียนจะเห็นว่าสิ่งที่คิดหรือเสนอไปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากการถกเถียงแลกเปลี่ยนได้มีการแสดงเหตุผลอย่างน่าเชื่อถือเพียงพอว่าสิ่งที่เสนอไปนั้นผิด ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และที่สำคัญกว่านั้น แม้ผู้เขียนจะไม่เปลี่ยน แต่ถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยมีความสามารถในการใช้เหตุผลได้อย่างเพียงพอ ก็สามารถที่จะทำให้คนอื่นเห็นคล้อยตามได้ และการถกเถียงเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ นี่คือ ความสำคัญและประโยชน์ของการถกเถียงและพื้นที่สาธารณะ

 

ด้วยความตระหนักดีว่า ตนเองและคนอื่นๆ ไม่ใช่ผู้นำ ของ "ภาคประชาชน" หรือมีความเหนือกว่าทางศีลธรรมกว่าคนอื่นๆ เพราะเหตุว่า เป็น "ภาคประชาชน" แต่เพราะตระหนักว่า เป็นสมาชิกของชุมชนการเมืองนี้ จึงไม่มีผู้ใดตัดสิทธิเรื่องเหล่านี้ของตนเองได้

 

ดังนั้น ประเด็นวิจารณ์หรือเรียกร้องที่ว่า 1) พวกคุณไม่ทำอะไรเลย มัวแต่วิจารณ์คนอื่น 2) "สิ่งที่คุณควรทำคือทำงานเพื่อสิ่งที่คุณอยากเห็นไม่ใช่มาด่าคนทำงานที่มีวิธีคิดและเห็นต่างจากพวกคุณ" 3) ให้ตั้งองค์กรหรือทำงานแข่ง ครป. จึงไม่ใช่ประเด็นที่ให้ความสนใจ และหยิบมาเป็นประเด็นหลักในการถกเถียง (ดังที่ได้อธิบายมาแล้วในประเด็นที่ 1) นอกจากนั้นทั้งยังไม่เคยศรัทธากับการทำงานแบบ "ปะแป้งแถลงข่าว" แบบ ครป. อย่างที่กล่าวมาแล้ว

 

สำหรับสิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นในตอนนี้ เช่น อยากให้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเสรี หรือการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารก็ดำเนินการอยู่ โดยไม่ต้องรอให้สถานการณ์สุกงอมหรือรอให้ ราชรถ ของมวลชนมาเกย แล้วค่อยเคลื่อนไหวกันหรือกระโดดขึ้นรถไฟกัน ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ไปได้ถึงไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และที่สำคัญที่สุด คือ ทุกอย่างนี้ กระทำในนามของตัวเองอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ได้กระทำในนามหรืออิงแบบอยู่กับคนอื่น

 

หวังว่า บทความชิ้นนี้ที่เขียนด้วยภาษาธรรมดาๆ ไม่ได้อ้างงานวิชาการใดๆ (เช่นอ้างเรื่อง ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมแบบใหม่ เพื่อปกปิดความผิดพลาดของตนเอง ดู

 

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6092&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

จะเป็นประโยชน์ สำหรับผู้อ่านบ้างไม่มาก็น้อย ถึงแม้ท่านจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในบทความก็ตาม หากจะถูกด่า วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงก็ยินดีรับไว้ แต่ขอเหอะ คำพูดที่มีลักกษณะเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา แบบ "โจรน้ำมันหมู" ไม่ควรหลุดจากปากของคนที่คิดว่าตัวเองเป็นพวก "ภาคประชาชน" หรือ กลุ่มคนที่อยู่ห่างจาก "เทวดา" เพียงคืบเดียว.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท