Skip to main content
sharethis

นางสาวลำยอง เตียสกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายการศึกษา เปิดเผยว่าคณะทำงานเครือข่ายการศึกษาทั่วทุกภูมิภาคได้รวมตัวกันเปิดเวทีสมัชชาการศึกษาไทย ณ พุทธสถาน สันติอโศก กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาด้านการศึกษาในแต่ละพื้นที่ พบปัญหาใหญ่เด็กด้อยโอกาสไม่ว่าจะเป็น เด็กยากจน เด็กพิการ เด็กชาวเขา เด็กชนเผ่า ชาวมอแกน เด็กไทยพลัดถิ่น ไร้รัฐ ไร้บัตร ถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากนโยบายเรียนฟรีทั่วหน้า 12 ปี ขาดสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา นำไปสู่ปัญหาต่อเนื่อง


 


"เวทีสมัชชาการศึกษามีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างฉันทามติในสังคมว่าการศึกษาคือสิทธิ และรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องสร้างหลักสวัสดิการการศึกษาให้กับทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีคุณภาพ ที่สำคัญต้องเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฎิรูประบบการศึกษาของไทย เพื่อการจัดการเรียนการสอนจะได้สอดคล้องกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยเราได้จัดเวทีในแต่ละภูมิภาครวบรวมสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและข้อเสนอแนะ เพื่อจัดทำเป็นแนวทางในการปฎิรูปการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมของประเทศต่อไป" เจ้าหน้าที่องค์การแอ็คชันเอด เปิดเผย


 


นายกฤษณะ กาญจนา เครือข่ายการศึกษาภาคเหนือ เปิดเผยว่าพื้นที่ภาคเหนือประกอบไปด้วยกลุ่มเด็กชาวไทยภูเขากลุ่มต่างๆ ซึ่งมีปัญหาการเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากบางคนยังขาดเลขประจำตัว 13 หลัก บางคนยังไร้สัญชาติ ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งไม่ยอมรับเด็กเข้าเรียน ทั้งๆที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศให้สถานศึกษาทุกแห่งเปิดกว้างให้เด็กเข้ารับการศึกษาได้ ตามนโยบายเรียนฟรี 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


 


"สถานศึกษาหลายแห่งในภาคเหนือ ไม่ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งห้ามโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่าย เพราะผิดกฎหมายเรียนฟรี 12 ปี บางแห่งแม้จะเปิดให้เด็กได้เข้าเรียนฟรี แต่ก็ยังกีดกันการให้บริการบางอย่าง เช่น อาหารกลางวัน หรืออาหารเสริม โดยอ้างว่าเป็นเด็กไร้สัญชาติบ้าง ไม่มีเลข 13 หลักบ้าง ซึ่งการเลือกปฏิบัติเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และการอ้างว่ามีคำสั่งให้ปฏิบัติแล้วแต่ถ้ากลไกบางอย่างของกระทรวงไม่ทำงาน ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องตรวจสอบให้สถานศึกษาดำเนินการให้ถูกต้อง" นายกฤษณะเปิดเผย


 


ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาภาคเหนือยังเปิดเผยต่อไปว่า บางโรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ถึง 12 ปี บางพื้นที่สามารถจัดการศึกษาได้เพียงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทำให้เด็กซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมามากมาย บางส่วนต้องอพยพมาทำงานก่อนวัยอันสมควร หรือถูกล่อลวงไปสู่บริการค้าทางเพศ บางสถานศึกษายังเลือกปฏิบัติด้วยการระบุในใบรับรองวุฒิการศึกษาของเด็กว่าไม่มีสัญชาติซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะการที่เด็กเข้าถึงการศึกษาโดยถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมจะสามารถแก้ปัญหาของชาติได้แทบทุกเรื่อง แต่รัฐกลับละเลยที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง


 


ด้านนายวานิช บุตรี เครือข่ายการศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอน ในปัจจุบัน ไม่ได้สะท้อนและสอดคล้องกับวิถีชีวิต เพราะการเรียนรู้แบบตะวันตกทำให้เด็กถอยห่างจากศาสนา สังคม และวัฒนธรรมประเพณี เด็กมีลักษณะปัจเจกมากกว่าที่จะคิดถึงการตอบสนองสังคมและชุมชน เป็นการเรียนเพื่อเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ เกิดค่านิยมการแข่งขันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แทนที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน


 


"หากการศึกษาไม่สอดคล้องกับท้องถิ่น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการและช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ก็จะทำให้เราผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว ทางออกคือต้องให้ชุมชน สถาบันศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนในแต่ละพื้นที่" ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าว


 


นางสาวสิริกร คำมูล ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งมีอยู่ 400 โรงทั่วประเทศ รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนให้สามเณรถึงกว่า 50,000 รูป เปิดเผยว่าการจัดการศึกษาวิชาพระปริยัติธรรม มีเป้าหมายในการรองรับเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือยากจน เข้ามาบรรพชาแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมควบคู่กับวิชาสามัญ ที่เรียกกันว่าบวชเรียน มีจุดเน้นให้คุณธรรมนำความรู้ และสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่งบประมาณของโรงเรียนที่ได้ในการจ่ายค่าตอบแทนครูผู้สอนกลับเป็นงบอุดหนุน ซึ่งได้รับน้อยกว่าสถานศึกษาของรัฐ และครูมีสถานภาพเป็นเพียงลูกจ้าง


 


"สถานภาพลูกจ้างระดับปริญญาตรีที่ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนเพียง 2,000 - 4,000 บาท และบางแห่งก็แบ่งจ่ายหลายเดือน อีกทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู ทำให้ครูผ้สอนไม่สามารถดำรงตนเพื่อประกอบวิชาชีพให้มีคุณภาพได้ ต้องไปหารายได้เสริมนอกเวลา คุณภาพของโรงเรียนจึงตกต่ำ เด็กที่มาบวชเรียนจึงเป็นเด็กยากจน ไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ การจะยกระดับการศึกษาพระปริยัติธรรมให้มีคุณภาพ จึงควรจะให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแลโดยตรง" ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม กล่าว


 


ด้านนางสาวกรรณิกา ปานดำรงค์ ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาภาคใต้ เปิดเผยว่าปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากภาครัฐกำหนดหลักสูตรไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และต้องปฏิบัติตนตามระเบียบศาสนา การศึกษาจากหลักสูตรกลางจึงไม่สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติและชุมชน เน้นแนวคิดตะวันตกในการเรียนเพื่อเป็นเลิศมากกว่าคุณธรรมจริยธรรม ไม่เคารพภูมิปัญญาและหลักศาสนาอิสลาม นำไปสู่ปัญหามากมาย รวมทั้งปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัด


 


"การจัดการศึกษาจึงต้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชน เน้นเด็กเป็นผู้เรียนรู้ ให้ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน นำหลักคิดทางศาสนามาช่วยเน้นคุณธรรม จริยธรรม ฟื้นฟูและส่งเสริมโรงเรียนตาริกาและปอเนาะ เพื่อให้การศึกษารับใช้และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ชุมชนจึงจะเห็นประโยชน์และมาเข้าร่วมในการสนับสนุนการศึกษา" ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาภาคใต้ กล่าว


 


ส่วนนายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เปิดเผยว่าทางเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิได้มีการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาร่วมกับพี่น้องในพื้นที่หลายเรื่อง เมื่อเริ่มพูดถึงการปฏิรูปการเมืองและสังคมโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เราพบว่าการศึกษาก็เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ จึงได้มีการพูดคุยกันในกลุ่มแกนนำ และตกลงใจว่าน่าจะมีเวทีที่รวบรวมปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่สึนามิ และออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยกัน


 


"ปัญหาการศึกษาในพื้นที่เท่าที่ทราบเห็นว่ามีหลายกลุ่ม และสภาพปัญหาแตกต่างกันไป ปัญหาแรกที่เราพบก่อนที่จะเกิดสึนามิ คือมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากพ่อแม่ผู้ปกครองโดยเฉพาะนักเรียนในระดับมัธยม ทั้งๆที่มีนโยบายเรียนฟรี 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้พ่อแม่มีภาระสูงขึ้นมาก โดยอ้างว่าเป็นค่าคอมพิวเตอร์บ้าง ค่าปรับปรุงภูมิทัศน์บ้าง ค่าทัศนศึกษาบ้าง แต่พอมีสึนามิหลายหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และทางโรงเรียนก็ได้ยกเลิกการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายนี้ไป แต่ที่เราหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงเพราะเกรงว่าหากพ้นระยะสึนามิไปแล้วอาจจะมีการกลับมาเรียกเก็บอีก ทั้งๆที่ กระทรวงก็มีคำสั่งไม่ให้สถานศึกษาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆแล้ว แต่บางสถานศึกษาก็บอกว่าขาดแคลนงบประมาณ บางทีก็อ้างว่าพ่อแม่ผู้ปกครองสมัครใจ


 


"นอกจากนี้ตามชายฝั่งอันดามันยังมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่เราเรียกกันว่า มอแกน มอแกล็น และอุรักลาโว้ย ซึ่งคนเหล่านี้บางกลุ่มก็ได้รับสัญชาติไทย มีบัตรประชาชนแล้ว เพราะขึ้นมาอยู่บนบกนานแล้ว บางกลุ่มขึ้นมาเป็น 100 ปี และเรียกตัวเองว่าชาวไทยใหม่ แต่บางกลุ่มก็ยังไม่ได้สัญชาติ ปัญหาที่พบคือกลุ่มที่ยังไม่ได้สัญชาติ หรือไม่มีเลข 13 หลัก ก็จะขาดสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่มีบัตรประชาชน โอกาสที่จะได้รับทุนการศึกษาหรือเรียนต่อสูงๆ ก็ไม่มี เรียนจบก็เอาวุฒิไปทำอะไรไม่ได้ ส่วนกลุ่มที่มีเลข 13 หลัก ก็จะได้เข้าเรียน แต่ปัญหาก็คือเมื่อไปเรียนร่วมกับเด็กไทยก็จะถูกดูถูกเหยียดหยาม หาว่ามอแกนเป็นพวกสกปรก


 


"เรายังมีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ประสบปัญหาตกค้างอยู่ในเขตประเทศพม่า ตั้งแต่ครั้งไทยกับอังกฤษทำสนธิสัญญาพรมแดนกัน จนกระทั่งพม่าผลักดันออกนอกประเทศเพราะเห็นว่าเป็นคนไทย แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้รับรองทำให้ตกอยู่ในสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้งๆที่พูดไทย และสามารถสืบย้อนบรรพบุรุษได้ว่าเป็นคนไทย


 


"ปัญหาหลักใหญ่คือเรื่องสิทธิที่จะได้เรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐยังไม่จัดการให้มีการปฏิบัติจริง กลายเป็นว่าเด็กถูกบังคับให้เรียน แล้วพ่อแม่ก็ถูกบังคับให้เสียค่าใช้จ่ายโดยสมัครใจ ตรงนี้รัฐต้องรับประกันว่าเด็กทุกคนจะต้องได้เรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย


 


"สำหรับเด็กไทยพลัดถิ่น ปัญหาใหญ่สุดคือต้องคืนสัญชาติให้เขาก่อน เพราะตอนนี้เขาขาดบัตร ขาดสิทธิ และไม่ได้รับความจำเป็นพื้นฐานเทียบเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ เพราะหากเขาไม่มีสัญชาติต่อให้เขาเรียนในระบบก็เอาไปทำอะไรไม่ได้


 


"ปัญหาในระยะยาวคือการจัดการศึกษาให้เด็กโดยใช้หลักสูตรจากส่วนกลางอย่างเดียว ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กและชุมชน เราพบว่าเด็กมอแกนไม่เคยเรียนจบ ป. 6 เลยแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กมอแกนแค่ ป. 3 ป. 4 เขาก็ออกเรือหาปลากับพ่อแม่ได้แล้ว และประกันได้แน่ๆว่าถ้าเขาออกเรือวันนึง 200 - 300 บาท เขาหาได้แน่ๆ การที่ให้เด็กเรียนวิชาที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตของเขา ทำให้เขายิ่งแย่ขึ้นไปอีก


 


"เพราะฉะนั้นรัฐต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เด็กมอแกนควรจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของเขา เขาต้องออกทะเล ก็ควรเรียนเรื่องทำเครื่องมือหาปลา ถนอมอาหาร เรียนซ่อมเครื่องเรือ เรียนธรรมชาติสัตว์ทะเล การดูแลรักษาทรัพยากรชายฝั่งและทางทะเล ซึ่งครูก็คือพ่อแม่พี่น้องเขาที่อยู่ในชุมชน" ผู้ประสานงานเครือข่ายสึนามิ กล่าว


 


นางสาวลำยอง เตียสกุล เจ้าหน้าที่องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็กเปิดเผยว่าเครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็กทั่วทุกภูมิภาค ร่วมกับองค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย จะจัดเวทีสมัชชาการศึกษาไทยในวันที่ 10 ธันวาคม นี้ เพื่อรณรงค์และสร้างฉันทามติต่อสาธารณชนให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ เชิญชวนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา ให้เห็นร่วมกันว่าการศึกษาคือสิทธิ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสร้างหลักประกันการศึกษาถ้วนหน้าแก่ผู้อยู่บนแผ่นดินไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีคุณภาพ ทุกกลุ่ม โดยไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ


 


"ทางเครือข่ายฯ อยู่ในระหว่างการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อเสนอให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น จัดหมวดหมู่สภาพปัญหาการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่ พร้อมรวบรวมข้อมูลและหลักฐานประกอบ เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาที่ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง" เจ้าหน้าที่องค์การแอ็คชันเอด สรุปในตอนท้าย


 


อนึ่ง เวทีสมัชชาการศึกษาไทย จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคมนี้ ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานจะมีนิทรรศการปัญหาการศึกษาในแต่ละพื้นที่ แนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับผู้เรียนและชุมชน เวทีเสวนาทางวิชาการ การนำเสนอประเด็นการศึกษาเป็นสิทธิที่รับต้องประกันว่าทุกคนจะมีการศึกษาถ้วนหน้า เท่าเทียม มีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตร ติดตามประเมินผล สอบถามรายละเอียดได้ที่ องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย โทร. 02-886-5276 และ 02-886-6369


 


 





 


กรรณิกา ปานดำรงค์


ศูนย์พลเมืองเด็กสงขลา


"เนื้อหาการเรียนการสอนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มันเป็นกลไกที่จะไปสนับสนุนให้คนเข้าไปสู่ในระบบทุน เป็นกระแสหลักของการบริโภค ซึ่งอย่างนี้มันจะทำให้คนไม่คิดที่จะพึ่งตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาเดิมของชุมชน มันมีแต่จะกลายเป็นเครื่องจักรเข้าสู่อุตสาหกรรม"


 


0 0 0


 


กฤษณะ กาญจนา


มูลนิธิ ไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ สาขาพะเยา


"การศึกษากำลังกลายเป็นสินค้า คุณอยากได้ความรู้คุณต้องลงทุนซื้อมา พอเราเอาเรื่องการศึกษาไปขึ้นโต๊ะเจรจาเขตการค้าเสรี ต่างชาติก็จะได้สิทธิเข้ามาลงทุน เมื่อลงทุนเรื่องการศึกษามากขึ้นๆ ต่อไปอธิปไตยก็จะเสียไป ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจก็ดี การศึกษาก็ดี เราจะถูกกีดกัน คนไทยจะหมดสิทธิในเรื่องของการจัดการ"


 


0 0 0


 


วานิชย์ บุตรี


กลุ่มพัฒนาบ้านเฮา จ. อำนาจเจริญ


"ถ้าเด็กสนใจภูมิปัญญาอะไร เราก็ให้ผู้รู้มาสอน ใช้คนในพื้นที่เป็นครู เชิญพ่อแก่แม่เฒ่า หมอยาชาวบ้านมาเป็นครูอาจารย์ เรียนรู้ต้นไม้ต้นพืช หรือมาเล่าตำนานในท้องถิ่นให้เด็กฟัง ผลลัพธ์ที่ได้คือเราได้เด็กที่กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะเขามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม"


 


0 0 0


 


ไมตรี จงไกรจักร์


เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ


"การจัดการศึกษาให้เด็กโดยใช้หลักสูตรจากส่วนกลางอย่างเดียว ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กและชุมชน เพราะฉะนั้นรัฐต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เด็กมอแกนควรจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของเขา เขาต้องออกทะเล ก็ควรเรียนเรื่องทำเครื่องมือหาปลา ถนอมอาหาร เรียนซ่อมเครื่องเรือ เรียนธรรมชาติสัตว์ทะเล การดูแลรักษาทรัพยากรชายฝั่งและทางทะเล ซึ่งครูก็คือพ่อแม่พี่น้องเขาที่อยู่ในชุมชน"


 


0 0 0


 


สิริกร คำมูล


ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมมหาเสวัสดิ์วิทยา


"โรงเรียนพระปริยัติธรรมจัดการศึกษาให้เณรได้มีโอกาสเรียนรู้ทางหลักธรรมบาลีและด้านสามัญ เพราะส่วนใหญ่สามเณรยากจนจริงๆ และไม่มีทางเลือก เราอยู่ภายใต้กรมพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีการสนับสนุนจัดสรรทางด้านการศึกษาเช่นเด็กรายหัวข้างนอกรายละ 100 แต่เด็กเราได้แค่ 20 บาท บางครั้งเราก็ต้องให้ท่านฉันแค่มาม่ากับปลากระป๋องเท่านั้น เพราะเราไม่มีงบมาจัดสรรให้"


 


0 0 0


 


ศิริพร พู่แสงทองชัย


Adventist Development & Relief Agency International


"บางครั้งเด็กบางคนที่ได้เรียนแล้ว แต่พอจะจบก็ไม่มีใบแสดงผลว่ามีการจบจริง เนื่องจากทางโรงเรียนบอกว่ายังไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลข 13 หลัก มันเป็นผลกระทบที่ใหญ่พอควรสำหรับเด็ก เด็กชาวเขาถ้าพูดไม่ชัด คนส่วนใหญ่ก็รังเกียจ ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนเพราะว่าโดนรังเกียจ และเพื่อนไม่ให้เข้ากลุ่ม"


 


0 0 0


 


อรุโณ พัฒนไพโรจน์


ผู้นำชุมชนบ้านน้ำเค็ม


"ระบบเหมือนกัน ตำราเหมือนกัน ทำไมเด็กชนบทในต่างจังหวัดกับเมืองต่างกัน มันมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยว โรงเรียนในเมืองมีการเก็บค่าโน่นค่านี่ พ่อแม่เขายอมเสียเพื่อให้ลูกอยู่ในกลุ่มเด็กฉลาด แต่ในชนบทนักเรียนยากจนอย่างมากเขาก็จบแค่ภาคบังคับ เพราะฉะนั้นควรเรียนรู้องค์ความรู้ของชุมชนมีวิชาการอาชีพท้องถิ่นให้"


 


0 0 0


 


บัวชุม ทองบ่อ


สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


"โชคดีที่ตัวเองได้ทำงาน เพราะมีอาจารย์ที่สนับสนุนและเข้าใจ พร้อมทั้งให้โอกาส แต่ก็มีเพื่อนบางคน เวลาจบไปสมัครงาน พอเห็นในใบสมัครว่าเป็นชาวเขาก็จะคัดออกเลย ไม่มีโอกาสได้แม้แต่การสัมภาษณ์ ทั้ง ๆ ที่เกรดเฉลี่ยก็ดี สิ่งนี้ตัดโอกาสทั้งใจและอนาคตของเขาจริงๆ"


 


0 0 0


 


สิริมา นัตตะโย


เครือข่ายผู้ปกครอง


"การศึกษาไม่ได้อยู่ที่ระบบโรงเรียน แต่มันอยู่ทั้งองค์รวม ทั้งผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชน ถ้าเราไม่เชื่อมกัน เราจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้งจะมองไม่เห็นค่าของคน บทบาทตรงนี้เด็กควรจะต้องถูกฝึกจากที่บ้านก่อนเป็นอันดับแรก และครูต้องถามเด็กด้วยว่าอยากเรียนอะไรต้องการอะไร ส่วนเด็กต้องรู้จักกระบวนการก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการในการเรียนรู้ ไม่ใช่ปล่อยให้ไปอยู่แต่ในห้องสมุด เป็นความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด"


 


0 0 0


 


สุรัตน์ แสนทรงศิริ


บ้านรวมใจ สมาคมพัฒนาคุณภาพชีวิตบนที่สูง


"นโยบายจากส่วนกลางขนาดหมู่บ้านของคนชาติพันธุ์ก็สอนเป็นภาษาไทย เรื่องของชุมชน อย่างสานตะกร้า สานป๋วย เด็กก็จะไม่มีเวลาเรียนรู้ มีแต่คนแก่ทำเป็น ตรงนี้ต้องส่งเสริม คือมันต้องมีสักวิชาเรียนให้เด็กในเรื่องนี้ เรื่องประเพณีพิธีกรรม ที่ผ่านมาเข้าไปจัดในโรงเรียน แต่ก็ทำไม่ตลอดเพราะคนสอนก็ต้องทำมาหากิน เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีนโยบายสนับสนุน"


 


0 0 0


 


พันโทต่อพงศ์ กุลครรชิต


องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


"คนพิการมี 1.7 % ของประชากร หรือประมาณ 1.1 ล้านคน ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการศึกษา โรงเรียนคนพิการทั้งประเทศมีไม่ถึง 100 โรง เป็นโรงเรียนขนาดกลางและเล็ก การฟื้นฟูทางการศึกษาโดยชุมชนก็ยังไม่มี เพราะคนในสังคมยังมองว่า คนพิการเป็นภาระ ต้องรับการดูแล ต้องสงสาร ใครมีลูกหลานที่พิการเลยเป็นเรื่องอับอาย เด็กพิการก็เลยไม่มีทางเลือกในการเรียนรู้ สุดท้ายก็ต้องกลายมาเป็นภาระของสังคม"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net