Skip to main content
sharethis

                                                                                                                       


ประชาไท-8 ธ.ค. 49 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติวัฒนธรรมสื่อกับการเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทย" โดยกล่าวถึงวัฒนธรรมสื่อสารมวลชนในเชิงธุรกิจว่าควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของสื่อมวลชนให้เข้าใจในการเสนอบทบาทของตนเองเพื่อเชื่อมโยงและผลักดันให้เข้าสู่การปฏิรูปการเมืองโฉมหน้าใหม่ของสังคมไทย และสะท้อนภาพสื่อว่าควรเป็นกระจกบานใหญ่สะท้อนสังคมและการเมืองไทย


 


ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกฎหมายมหาชน ได้กล่าวถึงเสรีภาพของการนำเสนอข่าวของสื่อกับการปรับโครงสร้างใหม่ในวงการสื่อว่า วัฒนธรรมสื่อของไทยมีการควบคุมสื่อซึ่งกันและกัน เหมือนแมลงวันตอมแมลงซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับสังคมไทย แต่ถามว่าถ้าเปลี่ยนคนคุมแมลงก็คงจะไม่ใช่ทางออก แต่วิธีการคือ สื่อเองควรจะปฏิวัติตัวเอง ควบคุมจัดการตัวเองให้ได้ หรือต้องมีองค์กรกลางที่คอยตรวจทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายสื่อด้วยเพื่อความเป็นกลาง


                    


"ผมคิดว่าเสรีภาพของการนำเสนอข่าว สื่อมวลชนเองก็ต้องคิดว่าการเสนอข่าวไปจะส่งผลกระทบต่อคนทั้งหลายหรือใครบ้าง เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อคนมาก หลายเรื่องที่เสนอมีบางเรื่องที่คนถูกเสนอไม่ชอบไม่พอใจ สื่อจึงควรมีวัฒนธรรมของตัวเองเหมือนกัน" .ดร.สมคิด กล่าว


              


ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องสื่อไม่จำเป็นต้องเขียนในรัฐธรรมนูญก็ได้ ในมาตรา 39, 40 และ 41 ไม่ได้ร่างเรื่องสื่อโดยตรงแต่จะเน้นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของมวลชน เช่น ความเป็นเจ้าของสื่อ การแทรกแซงของเจ้าของทุน การครอบครองสื่อของกลุ่มทุนทั้งหลายทั้งทางตรงทางอ้อม แต่อย่างไรก็ตาม การร่างรัฐธรรมนูญต้องมีมาตรา 39, 40 และ 41 แต่ที่ผ่านมามันเป็นมาตราที่ลอยๆ เราต้องไปแก้ที่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การบังคับใช้มันมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แต่ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน แต่ควรสร้างมาตรการบางอย่างทางกฎหมายที่ควบคุมสื่ออย่างเด็ดขาด


 


ด้านบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ นักสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ทุกวันนี้เมื่อเสนอข่าวบ่อยครั้งที่ผู้สื่อข่าวมักจะโดนฟ้องหมิ่นประมาท สื่อขณะนี้ถูกคุกคามนั้นเพราะไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ สื่อถูกตีกรอบโดยผู้ชาย กรอบความคิดจึงเหมือนกัน ผู้ชายชอบคิดแบบมีกรอบ มีกฎตายตัว รัฐธรรมนูญจึงมีกรอบที่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย แก้โดยผู้ชาย ใช้วิธีรุนแรง นำไปสู้เรื่องของความไม่เสมอภาพทางเพศ หรือการแค่ทำให้สังคมรู้ว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นี่คือการตีกรอบ


 


"โครงสร้างในการออกกฎหมายในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกมาโดยเพศชาย เป็นเรื่องสัดส่วนของผู้หญิงที่จะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้มาทีหลัง กฎหมายจึงต้องเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมากกว่าปกติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด" บุญรัตน์ กล่าว


บุญรัตน์ นักสื่อสารมวลชน กล่าวต่อว่า การวางกรอบนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ บางครั้งการนำเสนอข่าวของสื่อสะท้อนความไม่เข้าใจในทัศนคติระหว่างหญิงชาย เช่น ละคร-พระเอกข่มขืนนางเอกกลายเป็นเรื่องดี ชอบ อยากดู สื่อทำให้เป็นเรื่องโรแมนติก ทำให้ผู้ชายมักคิดว่าตัวเองคือพระเอก แต่บางครั้งความด้อยปัญญาทำให้ผู้ชายที่เป็นพระเอกคิดว่าตัวเองข่มขืนใครก็ได้ ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติ ซึ่งกลายเป็นการตอกย้ำอคติทางเพศไป ซึ่งเป็นปัญหาที่สื่อต้องเปลี่ยนแปลงการนำเสนอข่าวให้สังคมเข้าใจ


ในขณะเดียวกันสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยรากเหง้าของสื่อคือการรับใช้ชนชั้น สื่อเสมือนว่าไม่มีจุดหมายเป้าหมายที่ชัดเจน แต่เป็นสิ่งที่รับใช้ปัจจุบันอำนาจ สื่อจึงควรจะมีเป้าหมายของตนเอง ต้องสลัดพันธนาการของตัวเองให้หลุดพ้นจากอำนาจสังคมนิยมและเปิดพื้นที่การนำเสนอสื่อให้กว้างขึ้น ยืนหยัดในกระบวนการอย่างอิสระ


นอกจากนี้สุภิญญายังกล่าวอีกว่า ตอนนี้เราอาจมีอำนาจตรวจสอบรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมาได้ แต่เราไม่มีสิทธิที่จะตรวจสอบรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ ทำอย่างไรให้เราได้สิทธินั้น


ด้านรศ.มาลี พฤกษ์ศาวลี กล่าวว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมสื่อคงไม่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทยได้ คงต้องพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แม้โลกเคลื่อนไปไกลแต่ทัศนคติของคนไทยยังคงวิ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากเดิมมาก คงต้องไปทำศัลกรรมกันใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net