Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 



ที่มาภาพ : gdl.cdlr.strath.ac.uk


 


 


บทความชิ้นนี้เขียนโดยคอลัมนิสต์ฝ่ายซ้ายของหนังสือพิมพ์ socialistworker ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ Lee Sustar เป็นบทความที่มีความน่าสนใจคือ ได้อธิบายให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางตัวเลขของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ความมั่งคั่งของบรรษัทและเศรษฐีเกิดจากการสูบเลือดแรงงานและคนยากจนจำนวนมาก ไปสะสมและกระจุกตัวที่ชนชั้นของพวกเขาเอง ซึ่งกรณีเหล่านี้สามารถนำมาอธิบายได้ในทุกส่วนของโลก ที่นโยบายเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) คืบคลานไปถึง รวมทั้งประเทศไทยของเราเองในขณะนี้ด้วย ...


 


* หมายเหตุ : การวิเคราะห์ของ Lee Sustar ในบทความนี้เน้นหลักฐานตัวเลขจากการผลิตและพลังการผลิต (productivity) มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ อันเป็นธรรมเนียมของนักเศรษฐศาสตร์สายมาร์กซ์ ซึ่งอาจจะละเลยเรื่องของลักษณะการสะสมทุนแบบการเก็งกำไร และวิกฤติทางการเก็งกำไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา.


 


 


สงครามชนชั้นทางเศรษฐกิจ


: บรรษัทของอเมริกัน ขโมยอะไรไปจากแรงงานและคนยากจน?*


 


* ถอดความและเรียบเรียงมาจาก : WHAT WE THINK Corporate America"s steals from workers and the poor : The class war economy โดย : LEE SUSTAR ที่มา : socialistworker (USA) December 16, 2005 | Page 3


 


 


 


.. เมื่อมีการส่งผ่านความมั่งคั่งจากกระเป๋าของแรงงานและคนยากจนอันเป็นคนหมู่มากของสังคม ไปสู่กิจการธนกิจธนาคารและกระเป๋าของมหาเศรษฐี -- เราเรียกมันว่า "สงครามชนชั้นทางเศรษฐกิจ" (the class war economy)


ด้วยตัวเลขกำไรที่สวยหรู และจำนวนตัวเลขที่สวยงามของค่า GDP 4.3 % ในไตรมาสที่ 3 (ค.ศ. 2005) ... แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงที่ถูกกดต่ำลงมาก , รายได้ของครอบครัวที่ลดลง , เบี้ยบำนาญและระบบสวัสดิการสุขภาพถูกตัดทอนลงไป - ทำไมอีกฟากฝั่งหนึ่งของความจำเริญทางตัวเลข มันช่างต่างกันอย่างลิบลับ


เหล่านี้คือโฉมหน้าที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า "new economy" ในประเทศสหรัฐอเมริกาของ Bush ที่ว่าการเติบโตโดยปราศจากฟองสบู่หลังยุครุ่งเรือง 1990"s กอปรกับนโยบายของเหล่านักขายนโยบายที่รายล้อม Bill Clinton ณ ทำเนียบขาวในช่วงเวลาที่เขายังเรืองอำนาจ


การกลับมาของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (mainstream economists) ได้สร้างความเจริญทางตัวเลขอย่างรวดเร็วและน่าประหลาด การว่างงานน้อยลง เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีใหม่ๆ นี่คือ "miracle economy" ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยตัวเลขกำไร ที่พุ่งขึ้นสูงอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาตั้งแต่ยุค 1960"s


ช่วงเวลาในทศวรรษที่ 1960"s ซึ่งเป็นระยะเวลาอันยาวนานในช่วงวัฏจักรธุรกิจที่มีการขยายตัว (boom) ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพเศรษฐกิจมีความมั่งคง ภาคการผลิตสามารถสร้างผลิตผลได้เต็มที่ พร้อมด้วยการจ่ายค่าแรงจริง อันสมควรแก่การที่แรงงานส่วนใหญ่ได้รับสำหรับการครองชีพอย่างเพียงพอ - นั่นคือสิ่งที่ยังถูกจดจำได้ในยุคของ "American Dream"


เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับช่วงวัฏจักรธุรกิจที่มีการขยายตัวในยุค 1990"s แล้ว จะพบว่ามีความแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวสำหรับแรงงาน รายได้ที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวในยุคนี้มิได้เกิดจากการที่ค่าแรงเพิ่มขึ้น หากแต่เป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณแรงงานในครอบครัว นั่นคือการที่ผู้หญิงต้องออกไปสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่แรงงานจะต้องทำเพิ่มขึ้น


ทุกวันนี้ จะอย่างไรก็แล้วแต่รายได้ของครอบครัวอเมริกันไม่สามารถชดเชยกันกับที่ค่าแรงต้องตกลงไป สถาบัน Economic Policy Institute (EPI) ได้วิเคราะห์ตัวเลขของรายได้ก่อนเสียภาษี (pre-tax income) สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีลูกแล้ว พบว่ารายได้ก่อนเสียภาษีตกลงไปถึง 3.1% ระหว่างปี ค.ศ. 2000 - ค.ศ. 2003


นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นส่วนใหญ่สำหรับเรื่องของค่าแรงที่ตกต่ำ สถาบัน The Bureau of Labor Statistics ได้รายงานไว้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 ว่า เฉลี่ยแล้วรายได้จริงต่ออาทิตย์เทียบกับค่าเงินดอลลาร์ในปี 1982 จะพบว่า ในปี ค.ศ. 2003 ลดลงเหลือเพียง 275.85 เหรียญ จาก 279.94 เหรียญ ซึ่งจุดสูงสุดมันเคยอยู่ที่ 331.59 เมื่อปี ค.ศ. 1973


Michael Mandel คอลัมนิสต์ของ Business Week กล่าวไว้ว่า ธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคเกษตร (nonfarm business) ได้สร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 4.7% ในไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ. 2005 "แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ผลประโยชน์จำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่ตกถึงมือของแรงงานโดยตรง, นับตั้งแต่สิ้นปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา ค่าแรงตกมาโดยเฉลี่ยถึง 3.2% ส่วนผลผลิตได้เพิ่มขึ้นถึง 5.1%"


ที่ไหนล่ะที่เส้นสายการเดินทางของเงินตราไปสิ้นสุด? คำตอบคือกำไรในกระเป๋าของนายทุน ส่วนแบ่งกำไรของรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น 12% ในไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2005 ซึ่งสูงกว่าระดับเดียวกันเมื่อเทียบกับหลังยุครุ่งเรืองหลังทศวรรษ 1990"s


อัตราจำนวนคนว่างงาน 5% อาจจะดูเป็นสิ่งที่ดูดีสำหรับรายงานชิ้นนี้ ตัวเลขนี้มันดูน้อยนิดเพราะว่าคนส่วนใหญ่ได้ละทิ้งการหางานทำไปแล้ว จากรายงานของสถาบัน Center on Budget and Policy Priorities ได้แสดงให้เห็นถึง "การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานโดยเฉลี่ย 0.5 % ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 เมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีถึง 2.6%" ซึ่งนั่นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว


เหตุผลคือ ในปัจจุบันตำแหน่งงานต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นตามลักษณะของระบบ "new economy" คือ ปราศจากสหภาพแรงงาน, ค่าแรงต่ำ, ด้วยแรงงานจำนวนน้อย -- และจะด้วยอะไรก็ตาม -- มันจะต้องทำกำไรสูงสุด


การกำหนดให้เงินเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพจ่ายต่อเดือนอย่างคงที่ สำหรับใช้จ่ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องหยุดทำงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ยังหลงเหลือจากยุค "American Dream" -- กำลังอยู่บนเส้นทางที่มืดมน


เป็นจำนวนถึง 20% ของบรรษัทต่างๆ ในปัจจุบัน ที่กำลังลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับข้อสัญญาเบี้ยบำนาญ โดยลดลงจากช่วงปี ค.ศ. 1980 ถึง 40% และสมาพันธ์บรรษัทต่างๆ (federal corporation) ได้ทึกทักที่จะตัดเบี้ยบำนาญเหล่านั้นไปเสีย 450 พันล้านเหรียญ


แรงงานต้องถูกบังคับให้ได้รับส่วนแบ่งจากสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพจากการทำกำไรของบรรษัทที่รวดเร็วและมหาศาลเพียงน้อยนิด - การครอบคลุมด้านสวัสดิการสุขภาพลดลงเหลือเพียง 60% ของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับการคลอบคลุมด้านสวัสดิการสุขภาพทั้งหมด จากจำนวนของแรงงานที่เคยได้รับสวัสดิการครอบคลุมนี้ถึง 69% เมื่อปี ค.ศ. 2000 (จากข้อมูลของ the Kaiser Family Foundation )


การกดขี่และโจมตีโดยฟากเดียวจากสงครามชนชั้นนี้ ยังมีให้เห็นใน อุตสาหกรรมยานยนต์ (auto industry) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดมาตรฐานของยุค "American Dream", แน่ล่ะ! ต้องขอบคุณการที่เราเคยมีสหภาพแรงงานที่เข็มแข็ง เช่น the United Auto Workers (UAW) แต่ในปัจจุบัน ธุรกิจหัวเรี่ยวหัวแรงเกี่ยวกับยานยนต์นี้ ถูกอิทธิพลจากสิ่งที่เรียกว่าการ "restructuring" (การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ) เข้ามาครอบงำและชี้ทางธุรกิจนี้ไปเสียหมด มันเป็นถ้อยคำที่สวยหรูอันเป็นเหตุผลที่ใช้ลดตำแหน่งงานลงถึง 30,000 คนที่ General Motors และ Ford


บรรษัทของอเมริกากำลังบดขยี้จู่โจมแรงงานและคนยากจน โดยได้กำลังหนุนและแรงยุยงจากนักการเมืองใน Washington ช่องว่างมหาศาลระหว่างคนร่ำรวยและคนยากจนยังถูกทำให้คงอยู่ - และมันคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต -- ภายใต้การบริหารของ Bush ซึ่งได้อุ้มชูคนร่ำรวยและตัดค่าใช้จ่ายสำหรับสังคม


พลพรรค Democrats อาจได้ท้าทายบางสิ่งบางอย่างกับนโยบายของ Bush -- และสมาชิกของพรรค Republican ในสภา Congress เองก็ชอบที่พูดถึงเรื่องจุดเริ่มต้นของ "class war" (สงครามชนชั้น) โดยการพูดเป็นนัย ให้หมายถึงใครก็ได้ที่ตรงข้ามกับพวกเขา แต่ความแตกต่างระหว่างสองพรรคนี้ มีอยู่เพียงที่ว่า พรรคไหนสามารถช่วงชิงการจัดสรรนโยบายภายใต้กรอบที่ต้องเอาอกเอาธุรกิจใหญ่ๆ ได้เท่านั้น


หลังจากข้อตกลง NAFTA ซึ่งตกลงการค้าเสรีแบบนั้นได้ทำให้สวัสดิการต่างๆ ถูกยกเลิกไป ทำเนียบขาวของ Clinton ในตอนนั้นไม่ได้ทำเพียงแต่ ปรับรูปแบบและทำให้ระเบียบวาระของบรรษัทมีประสิทธิภาพขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขาได้ทำราวกับว่าการตัดสวัสดิการของรัฐต่างๆ ออกไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีเลิศ เป็นสิ่งที่ควรกระทำ


ซ้ำร้าย พรรค Democrats เองนอกจากที่จะเชิดชูธุรกิจใหญ่แล้ว ยังเป็นพรรคที่เชิดชูจักรวรรดินิยม (imperialist) เป็นพรรคที่ทำให้การสนับสนุนสงครามในเวียดนามเมื่อทศวรรษที่ 1960"s ด้วยเช่นกัน แต่ในช่วงเวลานั้น อย่างน้อยในประเทศสหรัฐอเมริกาก็พอมีสหภาพแรงงานที่ยังพอมีพลัง และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในสหรัฐอเมริกาก็ยังมีความเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะขับเคลื่อนต่อรองให้การบริหารงานของทั้งรัฐบาล Democrats และ Republican ยินยอมที่จะใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่ขยายสู่สังคมส่วนกว้าง รวมถึงการผ่านกฎหมายรับรองสิทธิการเคลื่อนไหวทางการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ


ถ้าเผื่อว่า รัฐบาล Republicans ยังคงสามารถสร้างความเจ็บแสบและขมขื่นได้ดีแบบนี้เรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะความมีโชคทางการเมืองมากกว่า เพราะว่า พรรค Democrats เอง ก็ไม่ได้สร้างการต้านทานนโยบายของ Republicans อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาแทนที่ ผู้นำคนใหม่ของ Democrats ที่จะขึ้นมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็คงหวังที่จะได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จในสงครามอิรัก อันที่น่าจะเป็นพันธกิจแรกๆ ในนโยบายต่างประเทศของเขา - และก็คงที่จะยังคอยรับใช้ให้แก่บรรษัทใหญ่ๆ ที่สนใจจะให้เงินอุดหนุนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้เขา


ดังนั้น เมื่อใดที่สงครามชนชั้นเกิด แน่ล่ะที่เราจะเห็นทั้ง Democrats และ Republicans ยืนอยู่ฝั่งเดียวกัน และมันจะไม่ใช่ข้างที่มีประชาชนหลายล้านยืนอยู่อย่างแน่นอน -- เพราะเราจะเห็นได้ว่าระบบการเมืองของอเมริกาได้ถูกครอบงำโดยธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งสิ้น


เราจะต้องตอบโต้กลับ โดยการสร้างการต้านทานจากชนชั้นแรงงาน และประชาชนที่ถูกกดขี่ ไม่ต้องรอถึงการเลือกตั้งในครั้งต่อไป แต่ต้องทำมันในวันนี้


เราต้องตระเตรียมการต่อสู้ไว้เสียเนิ่นๆ - ในสหภาพแรงงานของเรา และต้องประสานกับองค์กรภายนอกที่สามารถช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราขาด นี่คือการก้าวไปอีกขั้นสำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อการต่อสู้ ยืนเคียงข้างกับแรงงานและเพื่อนๆ ต่างชาติพันธุ์ พร้อมกับร่วมกันปกป้องและเรียกร้องสิทธิสตรี -- เหล่านี้คือจุดมุ่งหมายในการสร้างขบวนการฝ่ายซ้าย ซึ่งมันคือรากฐานแห่งการขัดขืนต่อสู้ของเหล่าแรงงานและผู้ที่ถูกกดขี่ทั้งหมู่มวล.


 


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net