Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 ธ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. มีการจัดเวทีสิทธิมนุษยชนในการปฏิรูปการเมือง เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากลปี 2549 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์


 


ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในพิธีเปิดว่า คนเรามักจะเข้าใจว่า 10 ธ.ค. เป็นแค่วันระลึกถึงวันสิทธิมนุษยชนที่มักจะมีการเฉลิมฉลองกัน แต่เราอาจจะลืมไปว่า 10 ธ.ค. เป็นวันที่เราควรจะระลึกถึงประวัติศาสตร์สังคมไทยเพราะเป็นวันที่ได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในการปกครองประเทศ ซึ่งเราควรจะมองไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของสังคมด้วย


 


"สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพิ่งจะมารับรู้หรือตื่นตัว แต่ว่าเราได้ผ่านพ้นประวัติศาสตร์มาแล้วว่าในระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รองรับสิทธิของเรา แต่สังคมไทยค่อนข้างล้มเหลวในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเรามีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง แต่เกิดจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในข้อบัญญัติที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญมันต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมในประเทศไทย รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน"


 


ศ.เสน่ห์ กล่าวถึงการปฏิรูปทางการเมืองว่า สังคมไทยมักมองเรื่องของการปฏิรูปทางการเมืองเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนกลไกการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแค่การมองอย่างผิวเผิน แต่เนื้อแท้เราควรตระหนักสิ่งที่เรียกว่าการให้อำนาจแก่ประชาชนโดยน่าจะมองว่าอำนาจที่แท้จริงของประชาชนนั้นต้องมาจากการให้อำนาจแก่ท้องถิ่น ประชาธิปไตยจึงจะเกิดขึ้น


 


"หากไม่มีการกระจายอำนาจที่เป็นธรรม และการใช้อำนาจมีความโปร่งใส ไม่ได้อยู่ที่การหาเสียงเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อย่าให้การกระทำดังกล่าวเป็นแบบฮิตเลอร์คือ การใช้การเลือกตั้งในการปลุกระดมกระแสประชาชนเพื่อล้มล้างประชาธิปไตย ระบบนี้เป็นทางสองแพร่งที่ฮิตเลอร์ได้เคยทำให้แล้ว และสังคมไทยกำลังจะเป็นเครื่องมือของอำนาจเบ็ดเสร็จแทนที่จะเป็นทางที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่สำคัญคือการกระตุ้น ตรวจสอบปัญหา และรู้พัฒนาการว่าเราจะเดินไปในทิศทางใดมากกว่า"


...........................


 


ช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มย่อย 5 กลุ่มเพื่อร่วมหารือแสดงความคิดเห็นบนหัวข้อเดียวกันคือ "ปฏิรูปการเมืองและสังคมอย่างไรจึงจะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน" มีประเด็นหลักๆ 3 ประเด็น


 


จันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ (เอ็มเพาเวอร์) ได้กล่าวสรุปประเด็นที่ว่า เหตุใดประชาชนจึงไม่สามารถใช้สิทธิตามรธน.ได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า "การที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็เพราะความไม่รู้ว่ามีกฎหมายอันนี้อยู่ คนบางกลุ่มถูกจำกัดสิทธิตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ชาติพันธุ์ พนักงานบริการ รวมไปถึงความซ้ำซ้อนของกฎหมาย ประชาชนไม่เข้าใจกลไกทางกฎหมายที่จะใช้สิทธิในการคุ้มครองสิทธิจึงเกิดทัศนคติไม่ถูกต้องขึ้น จึงมีการละเมิดอยู่เป็นอาจิน"


 


จันทวิภา ได้ตอบประเด็นที่สองที่วิพากษ์ถึงการทำงานขององค์กรอิสระว่า "เหตุที่องค์กรอิสระไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทยนั้น เนื่องจากบทบาทองค์กรอิสระซ้ำซ้อน ไม่อิสระจริง  อาจเกิดจากระบบการคลัง หรือเจ้าหน้าที่มาจากสายราชการ และความไม่คล่องตัว ขาดการถ่วงดุลขององค์กรอิสระ บางทีมีการเพิกเฉยขององค์กรอิสระ"


 


และทุกกลุ่มย่อยมององค์กรอิสระตรงกันว่า เป็นเสือกระดาษที่ถูกแทรกแซงได้ง่าย ควรจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนและสภาประชาชนเพื่อควบคู่ไปกับการตรวจสอบองค์กรอิสระโดยประชาชนฯ็


ส่วนประเด็นที่สามเป็นเรื่องการพิจารณาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลไกคุ้มครองสิทธิในรัฐธรรมนูญใหม่ "สร้างวัฒนธรรมใหม่เปลี่ยนแนวคิดข้าราชการในการเคารพสิทธิประชาชนไม่ใช่เอาผิดอย่างเดียว ให้ประชาชนสามารถถอดถอนองค์กรอิสระได้ และควรให้ความรู้ ให้การศึกษาตามวัย มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้นว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร เพื่อที่เราทุกคนจะได้ระลึกว่าเรามีสิทธิมากน้อยแค่ไหน" จันทวิภา กล่าว 


 


ด้านพลเอก บุญ  พิกุลทอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอว่า ควรจะรีบส่งข้อเสนอของกลุ่มต่างๆ ที่เสนอมา เพราะเขาก็อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และยินดีที่จะเป็นผู้แทนในการชี้แจงในสภานิติบัญญัติ


 


การนำเสนอข้อสรุปที่ได้จากการประชุมย่อยนี้จะสรุปอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (9ธ.ค.) ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net