Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Uncensored :


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


 


 


 


            "ซินยอรา...ออกไป!!"


            "ซินยอรา...ออกไป!!"


            "รัฐบาลของเฟลท์แมน!!!"


 


เสียงตะโกนประท้วงของชาวเลบานอนจำนวนมหาศาล (8 แสน -กว่า 1 ล้าน) ดังขึ้นที่จตุรัสกลางเมืองตั้งแต่ 1 ธค. ที่ผ่านมา ชาวเลบานอนหนึ่งในสี่ของประเทศมารวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาลของ ฟูอัด ซินยอรา (เลบานิสออกเสียง "ฟูอัด ซันยูรา") - ว่าแต่ว่า...ใครคือ "เฟลท์แมน"?


 


เจฟฟรี เฟลท์แมน (Jeffrey Feltman) ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนต่างชาติที่น่าจะดังที่สุดในเบรุต เพราะเขา "บังเอิญ" มีอาชีพเป็น "ทูตอเมริกา" ประจำเลบานอน


 


ซินยอราถูกกล่าวหาว่า...บริหารประเทศตามออเดอร์อเมริกา เป็นรัฐบาลสุดยอดคอรัปชัน แถมไร้สมรรถภาพในการป้องกันประเทศ อันเนื่องมาจากกรณีปล่อยให้อิสราเอลถล่มเลบานอนเป็นว่าเล่น ในสงครามเมื่อกลางปีนี้ (เค้าเมาธ์กันว่า...บีบน้ำตาต่อหน้า แอบดีลกับอเมริกาลับหลัง)


 


ตั้งแต่ยุคที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีคลังและมือขวาของราฟิก ฮาริรี ฟูอัด ซินยอราได้ส่งเสริมอะเจนดาทุกอย่างที่โปร-มหาอำนาจตะวันตก เขาคือผู้สร้างหนี้ก้อนมโหฬารให้เลบานอน (35 พันล้าน) นอกจากจะบริหารผิดพลาด "รัฐบาลค่ายฮาริรี" ของเขายัง "อภิมหาคอรัปชัน" รวมทั้งผลักดันอะเจนดาการค้าเสรี-การแปรรูปกิจการของรัฐแบบสุดฤทธิ์สุดเดช หรือพูดง่ายๆ ว่าบริหารประเทศแบบ "ไม่เห็นศีรษะคนจน" นั่นเอง


 


แม้แต่หลังสงคราม เขาก็ยังอุตส่าห์ล้มเหลวในภารกิจฟื้นฟูบูรณะเลบานอน


 


ขณะที่เฮซบอลเลาะห์กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง นอกจากบทบาทฮีโร่ของ ฮัสซัน นัสราลลาห์ ในการปกป้องชาวเลบานอนที่ผ่านมาแล้ว องค์กรเฮซบอลเลาะห์ยังมีผลงานมากมายในด้านสวัสดิการสังคม ช่วยเหลือคนจน ช่วยบูรณะประเทศหลังสงคราม ว่ากันว่า...องค์กรของเขามีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาก และที่สำคัญ...คนของเขายังมีชื่อเสียงเรื่อง "มือสะอาด" อีกด้วย


 


ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนเฮซบอลเลาะห์จึงไม่ได้มีแต่ชีอะต์เคร่งศาสนาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพวกสายกลาง พวก secular และศาสนาอื่นๆ จำนวนไม่น้อยที่ชื่นชมความเป็น "ชาตินิยม" (และน่าจะ "ประชานิยม") ของเขา


 


การประท้วงรัฐบาล (ซุนนี+คริสต์+ดรูซ) ครั้งนี้ นำโดยเฮซบอลเลาะห์ ร่วมกับพรรคการเมืองชีอะต์และนักการเมืองบางรายในซีกคริสต์ นอกจากผู้ชุมนุมกลุ่มหลักที่เป็นชาวชีอะต์แล้ว ยังมีชาวคริสต์จำนวนพอสมควรเข้าร่วมด้วย พร้อมกับชาวซุนนีจำนวนไม่มากนัก ท่ามกลางการติดป้ายของสื่อส่วนใหญ่ว่า...นี่คือการชุมนุมของฝ่ายโปรซีเรีย เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่แอนตี้ซีเรีย อามาล ซาอัด กอเรเยฟ (Amal Saad-Ghorayeb) นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงในเบรุต เจ้าของหนังสือ Hizbu'llah: Politics and Religion อธิบายถึงความแตกแยกแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้นในสังคมเลบานอนชั่วโมงนี้ ในรายการ Democracy Now ว่า


 


"ที่ว่าเป็นความแตกแยกระหว่างฝ่ายโปรซีเรียกับฝ่ายต้านซีเรีย...มันไม่น่าจะใช่สักเท่าไหร่ ฉันคิดว่า มันน่าจะถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงกว่า ถ้าเราจะบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ว่า มันคือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองระหว่าง ฝ่ายที่ต่อต้านอเมริกา (ผู้ชุมนุม) และฝ่ายที่โปรอเมริกา (รัฐบาล) ต่างหาก"


 


ด้วยระบบเลือกตั้ง-มรดกยุคหลังอาณานิคมซึ่งมีข้อบกพร่องหลายอย่าง และด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในรัฐบาลที่เปลี่ยนไปตั้งแต่หลังสงครามกลางปี ผู้ชุมนุมจึงเชื่อว่า รัฐบาลที่มีอยู่ไม่ได้ "สะท้อนเสียงที่แท้จริง" ของประชาชนอีกแล้ว และควรมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่


 


พวกเขาต้องการรัฐบาลที่เป็นอิสรภาพ มีอธิปไตย และเป็นตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม


 


(ใครคิดจะ "ปลดอาวุธ" เฮซบอลเลาะห์? คงไม่ง่ายอย่างที่คิด)


 


ตราบเท่าที่ซินยอรายังไม่ออกไป ผู้ชุมนุมยืนยันจะตั้งแคมป์ชุมนุมกันต่อไปเรื่อยๆ (บรรยากาศกึ่งเฟสติวัล) ล่าสุด...มีการนัดชุมนุมใหญ่แสดงพลังอีกครั้งในวันที่ 10 ธันวาคม


 


แม้โดยหลักการ การชุมนุมจะเป็นเรื่องความแตกต่างทางการเมือง แต่การแตกแยกระหว่างคนสองนิกาย - ซุนนี (ฝ่ายรัฐบาล) และชีอะต์ (ฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้าน) ก็ส่อแววรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการถูกยิงเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กหนุ่มชีอะต์บนท้องถนนสายหนึ่งแล้ว บนท้องถนนสายอื่นๆ ในเบรุต การปะทะกันเล็กๆ ระหว่างซุนนี-ชีอะต์ยังคงมีรายงานเป็นระยะ


 


นับตั้งแต่การลอบสังหาร ปิแอร์ จามายเยล (พีแอร์ จามายยล์ - Pierre Gemayel) รัฐมนตรีอุตสาหกรรม-ทายาทตระกูลใหญ่ (มือเปื้อนเลือดสุดๆ) ของเลบานอนแล้ว ตามมาด้วยการชุมนุมใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายที่ผ่านมา การเมืองเลบานอนกำลังก้าวไปสู่สถานการณ์ตึงเครียดอีกระดับ แต่ความแตกแยกครั้งนี้...จะตามมาด้วยการนองเลือดรอบใหม่หรือไม่? หรือจะมีความหมายอย่างไร? ไมค์ วิทนีย์ (Mike Whitney) ปัญญาชนซ้ายอเมริกันได้หยิบแง่มุมน่าสนใจรอบๆ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ มาวิเคราะห์ให้เราฟัง


 


ชิ้นนี้แปลจาก Another Bloodbath in Lebanon? Uruknet, December 4, 2006


 


0 0 0


 


 


 


"นองเลือด" อีกรอบมั้ย...ในเลบานอน?


 


ไมค์ วิทนีย์


4 ธันวาคม 2006


 


 


"เร็วๆ นี้ รัฐบาลเลบานอนได้ขยายกองกำลังด้านความมั่นคงให้ใหญ่ขึ้นเกือบจะเป็นสองเท่า โดยเพิ่มทหารจำนวน 11,000 นาย ส่วนใหญ่เป็นซุนนีและคริสเตียน พร้อมเสริมเขี้ยวเล็บกองกำลังนั้นด้วยอาวุธและยานพาหนะที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นรัฐซุนนีด้วย"


(Lebanon Builds Up Security Force, เมแกน สแตค, แอลเอไทมส์)


 


"ข้อสรุปของกองทัพก็คือ สงครามในอนาคตอันใกล้เป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้พอสมควร.......สมมุติฐานเพื่อการวางแผนปฏิบัติการของไอดีเอฟ (กองทัพอิสราเอล) มีอยู่ว่า ช่วงเดือนฤดูร้อนหน้าที่จะมาถึงนี้ จะมีการทำสงครามกับเฮซบอลเลาะห์เกิดขึ้น และบางทีอาจจะกับซีเรียด้วยเช่นกัน"


(บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฮาเร็ตซ์ อิสราเอล)


 


เมื่อเฮซบอลเลาะห์ นำคนหนึ่งล้านมาถมใส่ท้องถนนในเบรุต มันไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่งนิวยอร์คไทมส์ เพราะพื้นที่แบบนั้นได้รับการสงวนไว้ให้สำหรับการแสดงอันยิ่งใหญ่ตระการตาที่ "ทำในวอชิงตัน" ของบุชเท่านั้น อย่างเช่น ปฏิวัติกุหลาบ ปฏิวัติสีส้ม และ ปฏิวัติซีดาร์ เป็นต้น ปฏิวัติจอมปลอมเหล่านั้นได้รับการปรุงแต่งโดย think tank ในวอชิงตัน โดยมีเอ็นจีโออเมริกันเป็นวิศวกรร่วมด้วย นั่นคือเหตุผลที่ว่า...ทำไมมันถึงได้รับการพาดหัวตัวโตในนิวยอร์คไทมส์ การชุมนุมประท้วงในเบรุตไม่ได้ส่งเสริมอะเจนดาของบรรดาอีลิตนักปกครองอเมริกา มันก็เลยถูกฝังไว้ในหน้า 8 พื้นที่สำหรับการถูกมองข้ามไปตามระเบียบ


 


บางสิ่งบางอย่าง...ไม่เคยเปลี่ยน


 


แต่ถึงกระนั้น การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของดรามาในภูมิภาคนี้...ที่กำลังจะคลี่คลายตัวเองออกมาเรื่อยๆ มันส่งสัญญาณถึง...การเปลี่ยนแปลงอำนาจจากวอชิงตันและเทลอาวีฟไปสู่...ตะวันออกกลางใหม่ภายใต้อิทธิพลของชีอะต์ รัฐบาลของ ฟูอัด ซินยอรา ที่มีอเมริกาหนุนหลัง คือโดมิโนตัวต่อไปในลิสต์ที่อาจจะล้มลงไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ดูเหมือนว่า...เวลาสำหรับซินยอราจะหมดลงแล้ว และงานนี้...ก็คงไม่มีอะไรที่บุชและโอลเมิร์ตจะทำได้เพื่อช่วยเขาอีกแล้ว


 


ฮัสซัน นัสราลลาห์ ผู้นำเฮซบอลเลาะห์ กำลังเดินหน้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "การทำเลบานอนให้เป็นประชาธิปไตย" โดยการเรียกร้องให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ-กลุ่มชีอะต์-ได้มีสิทธิมีเสียงหรือมีตัวแทนมากขึ้น จนถึงขณะนี้ เขายังคงเลือกที่จะใช้แนวทางสันติวิธีอยู่ อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่มีพลังมหาศาลครั้งนี้ ก็อาจหมายถึง "การแสดงแสนยานุภาพ" ที่น่าประทับใจและเป็นนัยสะท้อนถึงสิ่งที่จะตามมาได้เช่นกัน ถ้าสถานการณ์ยังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เขาก็อาจจะต้องทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อปกป้องประชาชนและผลประโยชน์ของเขา ซินยอรารู้ดีว่า นัสราลลาห์มีพาวเวอร์พอที่จะโค่นล้มรัฐบาลและทำให้เลบานอนทั้งประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองได้ เรื่องทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับว่า เกมนี้...ใครจะเป็นฝ่าย "กะพริบตา" ก่อน


 


ที่เป็นตลกร้ายก็คือ ยุทธวิธีของนัสราลลาห์ตอนนี้ เป็นสิ่งเดียวกันเป๊ะกับที่ฝ่ายตรงข้ามของเขาเคยใช้...ในการเคลื่อนไหวที่เรียกกันว่าปฏิวัติซีดาร์ ซึ่งส่งผลให้ซินยอราได้ขึ้นมามีอำนาจพร้อมกับบังคับให้ซีเรียถอนทหารนั่นเอง ตอนนี้สถานการณ์ได้พลิกกลับเป็นตรงกันข้าม ผู้ชุมนุมหลายแสนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากคนจนชาวชีอะต์ ได้ตั้งแคมป์อยู่ที่จตุรัสใหญ่ของเมืองเบรุต (Riad el Soloh) และทำท่าจะปักหลักกันอีกยาว การท้าทายอำนาจรัฐของพวกเขาครั้งนี้...ได้บ่งชี้ถึงการต่อสู้ทางชนชั้นพอๆ กับการปฏิเสธรัฐบาลซินยอรา เมแกน สแตค (Megan Stack) แอลเอไทมส์ ได้บรรยายให้เห็นภาพว่า


 


"ส่วนหนึ่งของประชาชนชายขอบที่ไร้สิทธิไร้เสียงมากที่สุดและยากจนที่สุดของประเทศ-ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะต์ ได้ละทิ้งบ้านของพวกเขาในย่านสลัมชานเมืองมาชุมนุมกันอยู่ในย่านที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาแพงที่สุดในประเทศ แม้ว่าพวกเขาจะเดินย่ำเท้าเข้าสู่ประวัติศาสตร์เลบานอนในฐานะผู้อพยพลี้ภัยสงคราม แต่วันนี้ พวกเขาก็ได้ทำให้เจ้าของธุรกิจที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในเลบานอนต้องพากันหลีกทางให้และโยกย้ายจากย่านนี้ไปแล้ว นอกจากนี้ พวกเขายังได้ปิดล้อมและวางสิ่งกีดขวางออฟฟิศของฟูอัด ซินยอราไว้ด้วยเช่นกัน"


 


"การต่อสู้ทางชนชั้น" คือองค์ประกอบสำคัญของการเผชิญหน้าครั้งนี้ ขณะที่สื่อมวลชนพยายามจะเน้นย้ำถึงแต่ความแตกต่างทางศาสนาแทน เพื่อโหมกระพือทฤษฎี "การปะทะทางอารยธรรม" (the "clash of civilizations" theory) : การขับเคี่ยวต่อสู้กันระหว่างความทันสมัยของโลกยุคใหม่และพวกปฏิกิริยาชาวอาหรับ - และนี่ก็เป็นสิ่งเดียวกัน...กับที่พวกอเมริกันจอมเพ้อเจ้อไปวันๆ จะได้อ่านจากคอลัมน์ของ ทอม ฟรายด์แมน (Tom Friedman) เดวิด บรูคส์ (David Brooks) และนักเขียนนีโอคอนรายอื่นๆ     


 


ทฤษฎี "การปะทะทางอารยธรรม" ที่ว่า นับเป็นสุดยอดทฤษฎีที่ฟ้าประทานส่งมา สำหรับใครก็ตามที่ปรารถนาจะเห็นสงครามในตะวันออกกลางดำเนินต่อไปแบบไร้จุดจบ หรืออย่างน้อยก็จนกว่า...อาหรับทุกประเทศจะแตกกระเจิงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย...ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้


 


แต่ความจริงมีอยู่ว่า ชาวชีอะต์ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน มีสิทธิมีเสียงและมีตัวแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น พวกเขาสมควรจะได้รับที่ทางมากขึ้นบนเวทีการเมือง และนั่นหมายถึงว่า พวกเขาควรจะมีสิทธิในการ "วีโต้" กฎหมายด้วย...ไม่ใช่หรือ? (ซึ่งนี่ดูจะเป็นประเด็นหลักในความขัดแย้งครั้งนี้)


 


ใช่ แน่นอน ถ้าพวกเขาเป็นเสียงข้างมาก พวกเขาก็ควรมีสิทธิ และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เลบานอนจะต้องเผชิญกับชะตากรรม-ระบอบปกครองโดยผู้นำอิสลามแต่อย่างใด นัสราลลาห์ได้ออกมาปฏิเสธความคิดเรื่องการปกครองระบอบมุลลาห์ "Mullahocracy" แบบของอิหร่านไปแล้ว การปกครองที่มีอยาตอลลาห์เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด...ได้ถูกปฏิเสธไปแล้ว ทั้งๆ ที่เขาห่มคลุมตัวเองด้วยชุดผู้นำศาสนา แต่นัสราลลาห์กลับมีความเป็นชาตินิยมเข้มข้น จุดประสงค์หลักของเขาก็คือการเอาตัวแทนหรือเอเจนต์ของอเมริกา-อิสราเอลอย่างฟูอัด ซินยอรา ออกไปจากรัฐบาล และสถาปนาความเป็นเอกราชของเลบานอนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง อย่าลืมว่า...ซินยอราคือผู้ปฏิเสธที่จะส่งทหารเลบานอนไปรบกับทหารอิสราเอล ตอนอิสราเอลบุกถล่มประเทศและสังหารชาวเลบานอนไป 1,300 คน ด้วยเหตุนี้ สำหรับเหยื่อจำนวนนับแสนนับล้านที่ภาคใต้ พวกเขาไม่เหลือความสงสัยอีกต่อไปแล้วว่าความจงรักภักดีของซินยอรา...มีไว้สำหรับใคร


 


ซินยอราเป็นคนของวอชิงตัน อันที่จริง...ตอนที่เลบานอนถูกบอมบ์ด้วยอาวุธอเมริกันที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินของอิสราเอลนั้น ซินยอราได้เปิดรับการสื่อสารสายตรงจากคอนโดลีซซา ไรซ์มาตลอด หลังสงคราม เขารีบเปิดสถานทูตอเมริกาอย่างเร่งด่วน แม้ว่าระบบสาธารณูปโภคของประเทศจะยังเละเป็นซากอันเนื่องมาจากการโจมตี 34 วันของอิสราเอลอยู่ก็ตาม เขาอาจจะเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าสำหรับแผนของอเมริกา-อิสราเอลในการสร้าง "ตะวันออกกลางใหม่" แต่เขากลับไร้ประโยชน์หาค่าไม่ได้สำหรับพลเรือนเลบานอนจำนวนมหาศาลที่ไร้บ้านและดำรงชีวิตอย่างอัตคัดแร้นแค้น


 


มิเชล โชซูดอฟสกี (Michel Chossudovsky) สรุปเป้าหมายของอเมริกาในเลบานอนไว้ดังนี้


 


"เป้าหมายของวอชิงตัน ก็คือการเปลี่ยนสภาพเลบานอนให้กลายเป็นรัฐในอุปถัมภ์ของอเมริกา ชาวเลบานอนต้องการให้รัฐบาลที่บริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของอเมริกาและอิสราเอลลาออก พวกเขาต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่พร้อมจะปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตนจากการรุกรานของอเมริกาและอิสราเอล" โชซูดอฟสกี กล่าวเพิ่มเติมว่า


 


"รัฐบาลเบรุต ได้รับคำสั่งโดยตรงจากสถานทูตอเมริกา ก่อนหน้านี้ รัฐบาลซินยอราได้อนุญาตให้ กองกำลังเนโต เข้ามาประจำการในเลบานอนได้ ภายใต้เงื่อนไขปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็นที่มีการปูทางเอาไว้แล้ว เรือรบของเนโตภายใต้การบัญชาการของเยอรมันได้มาจอดทำการอยู่บนชายฝั่งเมดิเตอเรเนียน-ด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งเนโตก็เป็นองค์กรมีข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับอิสราเอลนั่นเอง" ("Mass Demonstrations against the US-backed Lebanese Government", Michel Chossudovsky; Global Research)


 


 


 


อเมริกากับอิสราเอลได้ร่วมกันทำงานหลังฉากอย่างคึกคักเต็มกำลัง เพื่อที่จะทำลายเสถียรภาพของเลบานอน-ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลนใหญ่สำหรับภูมิภาคทั้งหมด การลอบสังหารรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ปิแอร์ จามายเยล จะเป็นที่เข้าใจได้...ก็เมื่อมองจากบริบทที่ใหญ่กว่า การลอบสังหารทำให้สถานะของอเมริกากับอิสราเอลแข็งแกร่งขึ้น-สถานะซีเรียอ่อนลง และเพิ่มดีกรีการเผชิญหน้าระหว่างเฮซบอลเลาะห์และกองกำลังของรัฐบาลอีกด้วย มันให้ผลลัพธ์เข้าทางพอดีอย่างที่อิสราเอลต้องการ มันทำให้เทลอาวีฟกลายเป็นผู้ดูอยู่ข้างนอก...ปล่อยให้สงคราม 34 วันเดินหน้าต่อ...ผ่านผู้เล่นทั้งหลายที่เป็นชาวเลบานอนเอง


 


เมแกน สแตค แอลเอไทมส์ รายงานว่า "เร็วๆ นี้ รัฐบาลเลบานอนได้ขยายกองกำลังด้านความมั่นคงให้ใหญ่ขึ้นเกือบจะเป็นสองเท่า โดยเพิ่มทหารจำนวน 11,000 นาย ส่วนใหญ่เป็นซุนนีและคริสเตียน พร้อมเสริมเขี้ยวเล็บกองกำลังนั้นด้วยอาวุธและยานพาหนะที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นรัฐซุนนีด้วย"


 


"การเพิ่มขึ้นของทหารในสังกัดมหาดไทยด้วยขนาดก้าวกระโดดนี้ ยังรวมถึงการสร้างหน่วยข่าวกรองใหม่ที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา และการขยายกองกำลังคอมแมนโดออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจเพื่อจะรับมือกับอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของอิหร่านและเฮซบอลเลาะห์-พันธมิตรชีอะต์ของมันในเลบานอน.........การสร้างกองทัพอย่างรีบเร่งและเงียบเชียบบ่งชี้ว่า บรรดาผู้ปกครองเลบานอนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแอนตี้ซีเรียกำลังเตรียมตัวสำหรับการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธอันเกิดจากความแตกต่างทางนิกาย หลังการถอนทหารซีเรียออกไปในฤดูใบไม้ผลิ 2005 นอกจากนี้ มันยังสะท้อนถึงความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาค ระหว่างมุสลิมซุนนีพันธมิตรของอเมริกาที่กุมอำนาจอยู่ในชาติอาหรับส่วนใหญ่ กับฝ่ายชีอะต์อิหร่านและเฮซบอลเลาะห์" (แอลเอไทมส์)


 


รัฐบาลซินยอราได้ย้ายทหารจากกองทัพมาไว้ในส่วนของกองกำลังภายในประเทศหรือ ไอเอสเอฟ (ISF - Internal Security Forces) นัยของการเปลี่ยนแปลงนี้ชัดเจน ซินยอราไม่สนใจที่จะป้องกันประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ (อิสราเอล) เขาก็แค่เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้กับประชาชนในชาติของตนเท่านั้น ชัดเจนมาก...ว่าอาวุธของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถูกจัดหามาภายใต้อำนาจของอเมริกา ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยซินยอราในการปะทะกับเฮซบอลเลาะห์ถ้าจะมีขึ้นในอนาคต


 


มาร์ค แมคคินนอน (Mark Mackinnon) จาก Globe and Mail ยังได้ยืนยันข้อมูลส่วนใหญ่ของแอลเอไทมส์ แมคคินนอนเขียนไว้ว่า "ตั้งแต่การถอนทหารของซีเรียออกจากเลบานอนในปี 2005 อเมริกาและฝรั่งเศสได้สนับสนุนทั้งงบประมาณและการฝึกหัดกองกำลังไอเอสเอฟของเลบานอน และด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูจะย่ำแย่หนักขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ได้ก้าวเข้ามาช่วยเหลือไอเอสเอฟด้วย "ของขวัญพิเศษ" เร่งด่วนฉุกเฉิน ได้แก่ปืนไรเฟิลหลายพันกระบอกและรถตำรวจจำนวนหลายสิบคัน" ("West helps Lebanon build Militia to fight Hezbollah"; Globe and Mail)


 


แม้ว่าทหารของซินยอราจะได้รับการติดอาวุธและฝึกโดยมหาอำนาจตะวันตก แต่อิสราเอลก็ยังไม่มั่นใจว่า พวกเขาจะได้ชัยชนะ หนังสือพิมพ์ฮาเร็ตซ์ของอิสราเอล รายงานว่า


 


"วิกฤติคุกคามรัฐบาลซินยอราที่เริ่มรุนแรงขึ้น ประกอบกับสัญญาณส่อเค้าว่าเฮซบอลเลาะห์กำลังจะเข้ามามีอำนาจมากขึ้น ได้กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลอิสราเอลพากันนำเสนอแนวทางหลากหลายในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับซินยอราในช่วงไม่กี่วันมานี้...........(พวกเขา) วิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ารัฐบาลซินยอราจะล้ม ส่งผลให้เฮซบอลเลาะห์เข้าเทคโอเวอร์เลบานอน ซึ่งนั่นจะนำประเทศไปสู่สิ่งที่แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนหนึ่งเรียกว่า - รัฐอาหรับรัฐแรกที่จะกลายเป็นรัฐในอุปถัมภ์ของอิหร่าน"


 


แต่ความกลัวของอิสราเอลน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลรองรับ แม้ว่าเฮซบอลเลาะห์จะได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน แต่มันไม่สามารถเทียบได้กับบรรดาอาวุธไฮเทคและงบช่วยเหลือจากต่างประเทศที่อิสราเอลได้รับจากอเมริกา และจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่า เฮซบอลเลาะห์จะเป็นแค่หุ่นเชิดของเหล่ามุลลาห์ในอิหร่าน มันก็แค่กระแสค้าความกลัวที่ไม่ได้ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงก็เท่านั้น อันที่จริงรัฐบาลชาตินิยมที่มีความแข็งแกร่งในเบรุต น่าจะทำให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพมากขึ้นซะอีก โดยการพัฒนาระบบป้องปรามภัยจากความก้าวร้าวของอิสราเอลที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือมากขึ้น (อิสราเอลบุกโจมตีเลบานอน 4 ครั้ง ในรอบ 25 ปี) มันอาจจะบั่นทอนความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงของผู้นำอิสราเอลในภูมิภาคนี้ แต่แน่นอนว่า มันย่อมจะเป็นเรื่องดีกว่า...สำหรับประชาชนพลเมืองชาวอิสราเอลธรรมดาๆ ที่แค่ต้องการสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต


 


แต่ถึงกระนั้น อิสราเอลก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับผลลัพธ์ที่จะตามมาในอนาคต โดยเฉพาะบนความเป็นไปได้สูงที่ว่า บุชไม่น่าจะส่งทหารอเมริกามาช่วยเหลือได้ถ้าสงครามเกิดขึ้น ฮาเร็ตซ์ได้สรุปถึงบรรยากาศอึมครึมในหมู่ผู้บัญชาการระดับสูงของอิสราเอลเอาไว้ ในบทบรรณาธิการเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า


 


"ข้อสรุปของกองทัพก็คือ สงครามในอนาคตอันใกล้เป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้พอสมควร (reasonable possibility) ตามที่ อามีร์ โอเรน (Amir Oren) รายงานไว้เมื่อหลายสัปดาห์ที่แล้ว สมมุติฐานเพื่อการวางแผนปฏิบัติการของไอดีเอฟ (กองทัพอิสราเอล) มีอยู่ว่า ช่วงเดือนฤดูร้อนหน้าที่จะมาถึงนี้ จะมีการทำสงครามกับเฮซบอลเลาะห์เกิดขึ้น และบางทีอาจจะกับซีเรียด้วย"


 


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรื่องนี้...จะไม่มีพื้นที่สำหรับ "การประเมินสถานการณ์ในแง่ดี" เหลือเอาไว้เลย ภายในฤดูร้อนหน้าเช่นกัน คณะผู้บริหารบุชน่าจะลดทอนจำนวนทหารหรือปฏิบัติการต่างๆ ลงในอิรัก เหตุการณ์นี้ย่อมจะส่งผลกระทบลึกซึ้งไปทั่วทั้งภูมิภาค และถ้าคณะผู้บริหารบุชตัดสินใจเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาอันเปราะบางกับประเทศต่างๆ ในละแวกนี้...ความน่าจะเป็นที่อิสราเอลจะเริ่มสงครามครั้งใหม่กับเลบานอนก็จะเหลือน้อยลง ยิ่งกว่านั้น ใครจะรู้? แผนการถอนทหารทีละเฟสจากอิรัก...อาจจะส่งผลบังคับให้อิสราเอล-ปาเลสไตน์สามารถประนีประนอมกันขึ้นมาก็ได้ (โอลเมิร์ตได้เริ่มพูดคุยกับซาอุดิอาระเบียเกี่ยวกับแผนสันติภาพแบบครอบคลุมทุกประเด็นตามที่อ้างไว้ในโรดแมพแล้ว - - - MW)


 


จนถึงตอนนี้ สิ่งเดียวที่ดูจะจริงแท้แน่นอนก็คือ อิทธิพลของอเมริกา-อิสราเอลกำลังจะลดลงเรื่อยๆ ขณะที่อำนาจของชีอะต์ยังคงขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต่อให้เกิดการนองเลือดขึ้นอีกครั้งในเลบานอน...ความจริงข้อนี้ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ o


 


 


- - - - - - - - - - - - - - - - -


ข้อมูลเพิ่มเติม


เนื่องจากการเมืองเลบานอนและระบบเลือกตั้งของเลบานอนเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับกลุ่มนิกายฝักฝ่ายต่างๆ อย่างมาก เพื่อที่จะเข้าใจการเมืองเลบานอน จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจความหลากหลายตรงนี้ไปด้วย


 


ต่อไปนี้เป็นการพยายามวาดภาพคร่าวๆ (ท่ามกลางตัวเลขข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหาข้อสรุปได้ยาก - เพราะการอพยพโยกย้าย อัตราการเกิด ตัวเลขไม่นิ่ง แถมปัจจัยการเมืองที่ทำให้ทุกกลุ่มอยากมี "ตัวเลขเกินจริง" อีกต่างหาก)


 


โดยรวม เอาเป็นว่า ประชากรเลบานอนในประเทศมีประมาณเกือบ 4 ล้าน (ในต่างประเทศกว่า 10 ล้าน) 95% เป็นชาวอาหรับที่มีเชื้อสายเผ่าพันธุ์หลากหลาย มี 2 ศาสนาหลัก คือ อิสลามกับคริสต์ แบ่งเป็นกลุ่มนิกายต่างๆ 18 นิกาย


 


อิสลามได้แก่ ซุนนี ชีอะต์ ดรูซ และอื่นๆ - คริสต์ ได้แก่ มารอนไนท์ กรีกออร์โธดอกซ์ และอื่นๆ


 


CIA World Factbook ให้ตัวเลขคร่าวๆ ว่า อิสลาม 60% และคริสต์ 39% และศาสนาอื่น 1%


 


ขณะที่ วิกกีพีเดีย Demographics of Lebanon บอกว่า อิสลาม : ชีอะต์ 45-55% ซุนนี 25% ดรูซ 5% อื่นๆ น้อยกว่า1% - คริสต์ : มารอนไนท์ 20% กรีกออร์โธดอกซ์ 5% และอื่นๆ10% - ศาสนาอื่น 1%


 


แต่จากข้อมูลของวิกกี ถ้าเอาตัวเลขทั้งหมดมารวมกันจะได้ผลลัพธ์มากกว่าร้อย คือ 111-121% เข้าใจว่าเอดิเทอร์ของวิกกีจะสอบตกวิชาเลข


 


อย่างไรก็ตาม จากที่อ่านๆ เจอมา พูดแบบเซฟสุดได้ว่า ขณะนี้ชีอะต์มีสัดส่วน 40-50% เป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ (และมีแนวโน้มจะขยับขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราการเกิดสูงกว่ากลุ่มอื่น) เพียงแต่ระบบเลือกตั้งที่เป็นอยู่เอื้ออาทร "กลุ่มอำนาจเก่า" และไม่ได้สะท้อนสัดส่วนที่เป็นจริง


 


 


 


- - - - - - - - - - - - - - - - -


(หมายเหตุจากนักเขียนผอมซีด : ช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา อเมริกา-ตะวันออกกลาง มีความเคลื่อนไหวคึกคักมากๆ แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพร่างกายของผู้เขียนไม่เอื้ออำนวย (ทำลายสถิตินิวโลว์) ต้องขออภัยที่หายไป คิดว่าตอนนี้ทุกอย่างน่าจะเข้าที่แล้ว อิรักมีประเด็นใหม่-เก่าเยอะมาก คงต้องทะยอยเขียนไปเรื่อยๆ ถึงมกราคม 2007 ขอแจ้งให้ผู้อ่านทราบตามนี้ด้วยค่ะ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net