Skip to main content
sharethis


 


เนื่องจากวันที่ 10 ธ.ค. ของทุกปีตรงกับวันรัฐธรรมนูญ ในขณะที่วันที่ 19 ก.ย. 49 กลับเกิดการรัฐประหารในรอบ 15 ปี ของประเทศไทยโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ที่ต่อมากลายสถานะเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทั้งนี้ 3 เดือนนับแต่มีการรัฐประหารการประท้วงต่อต้านมีอย่างต่อด้วยเหตุผลในความไม่ชอบธรรมจากการปกครองได้อำนาจมาโดยเผด็จการซึ่งมีการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ .2540 ไปพร้อมกันด้วย 


 


วันที่ 10 ธ.ค. ปีนี้ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง เพื่อระลึกถึงรัฐธรรมนูญที่สูญเสียไป ตั้งแต่เวลาประมาณ 16 .00 น. จากการสอบถามการประเมินจำนวนจากตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบบริเวณนั้นคาดว่ามีผู้ร่วมชุมนุมกว่า1,000 คน ในขณะที่ข้างๆ กันก็มีการชุมนุมของกลุ่มพิราบขาวอีกประมาณ 100 คน และมีเป้าหมายในการต้านรัฐประหารเช่นกัน


 


การชุมนุมที่สนามหลวงดำเนินไปเรื่อยๆ ในเนื้อหาทิศทางที่กล่าวถึงความไม่ชอบธรรมของ คมช. สายโยงใยที่พาดพิงไปถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร พล.ท.สพรั่ง กัลยานมิตร ผู้กุมกำลังหลักในการเคลื่อนไหวทางทหาร การผลัดเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ สลับกับดนตรีเพื่อชีวิตที่ช่วยผ่อนความตึงเครียด แต่หนักแน่นด้วยเนื้อหา จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.30 น. จึงจัดตั้งขบวนเพื่อเคลื่อนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขบวนคนนับพันนั้นเคลื่อนเป็นแถวตอนเรียง 7 ออกจากสนามหลวงออกมาฝั่งตรงข้ามศาลฎีกาไปตามถนนราชดำเนิน ระหว่างทางตะโกนว่า "คมช.ออกไป  เปรมออกไป สนธิออกไป สพรั่งออกไป" เมื่อถึงอนุสาวรีย์ก็ค่อยๆ นำป้ายข้อความต่างๆ เช่น "เอารัฐธรรมนูญ 2540 คืนมา เอา ... คืนไป" "No Coup" "ทหารมีหน้าที่อะไร"และข้อความประมาณนี้อีกจำนวนมากไปวางไว้ที่ตัวอนุสาวรีย์ฯ หรือบางคนก็ถือชูไว้กับตัว และยืนไปล้อมรอบๆ อนุสาวรีย์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย อันมีพานรัฐธรรมนูญอยู่ตรงกลาง อย่างไรก็ตาม ปริมาณคนที่มาชุมนุมได้ขยายเกินจากอนุสาวรย์ ไปสู่ถนนเบื้อล่าง


 


"เรามาล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยถูกขโมย รัฐธรรมนูญเหลือแต่สัญลักษณ์ คมช.และพวกพ้องได้ขโมยไปแล้ว" นายอุเชนทร์ เชียงแสน จากกลุ่มโดมแดงหนึ่งในเครือข่าย 19 กันยาฯ กล่าวกับมวลชนเมื่อเคลื่อนขบวนมาถึงหน้าอนุสาวรีย์ฯ


 


จากนั้น นายแพทย์เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย จึงรับช่วงในการอภิปราย โดยกล่าวถึงความสำคัญของวันที่ 10 ธ.ค. ว่า คือวันระลึกถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าขอให้ข้าราชการ นักการเมือง และประชาชนไทย ช่วยกันรักษารัฐธรรมนูญให้ยั่งยืนตราบชั่วกัลปาวศาล แต่ปรากฏว่าทหารก็ได้มาฉีกรัฐธรรมนูญนั้น แล้วก็ฉีกมาตลอด จนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็มาฉีก ซึ่งสิ่งที่นายแพทย์เหวงพูดเท่ากับเป็นการตอกย้ำวัฏจักรแห่งการเมืองไทยที่เป็นมานับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475


 


การอภิปรายได้ดำเนินมาจนกระทั่งเวลาประมาณ  20.00 น. ทางเครือข่าย 19 กันยาฯ จึงได้อ่านประกาศวันรัฐธรรมนูญ "ต้านการสืบทอดอำนาจ - ต้านรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ" มีความโดยสรุปว่า


 


19 ก.ย. คือคืนแห่งการบูชายัญ เกิดฆาตกรรมหมู่ทางการเมือง ทหารและตำรวจ (และผู้อยู่เบื้องหลัง) รวมหัวกันยึดอำนาจ หลังทุบตีและเข่นฆ่าทางความคิดทางการเมืองร่วมหนึ่งปี โดยสมคบคิดกับปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว ผลคือ ประชาธิปไตยถูกฉีก...หัวใจประชาชน (ผู้รักประชาธิปไตย) ถูกฉีก


 


ทางเครือข่าย 19 กันยาฯเชื่อว่าเป้าหมายการยึดอำนาจที่แท้จริง คือความต้องการเข้ามาเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้าง-จัดขั้วอำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันใหม่ในหมู่ชนชั้นนำ หลังจากชนชั้นนำจารีตประเพณี ระบบราชการ และชนชั้นกลางที่มีปากเสียงเหนือชาวบ้านทั่วไปมานานถูกสั่นคลอนด้วยการเติบโตและก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งสูญเสียบทบาทนำในฐานะอภิสิทธิ์ทางสังคมลง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ พ.ค.2535 ที่ทำให้ทหารต้องเกือบตายไปจากการเมืองไทยอย่างถาวร


 


ระบบราชการเสียอำนาจให้เอกชนและพรรคการเมือง ปัญญาชนนักวิชาการเสียบทบาทในการชี้นำสังคม ฐานเสียงสังคมในชนบทกลายเป็นตัวชี้ขาดการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมือง ตลอดจนการเติบโตของประชาชนชั้นล่างของสังคม การกลับมาครั้งนี้ของเผด็จการจึงเป็นรื้อฟื้นสถานะอภิสิทธิ์กลับมา ดังนั้นความสำเร็จในการรัฐประหาร (ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ - สืบทอดอำนาจ) ย่อมหมายถึงความล้มเหลวของสังคมไทยโดยรวม


 


หลักสำคัญประการหนึ่งในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งนี้ คือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ไม่ใช่ทั้งหมดของอำนาจในสังคมการเมืองไทย แต่ก็คือแกนกลางของการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน สถาบันการเมืองกับสถาบันการเมือง สถาบันการเมืองกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน อีกนัยหนึ่ง รัฐธรรมนูญคือข้อตกลงแม่บทที่จะบอกว่า ใครควรมีอำนาจมากน้อยเพียงใด และใช้อำนาจนั้นได้อย่างไร การเข้าไปจัดการกับรัฐธรรมนูญก็คือการจัดการกับอำนาจทั้งในระดับบนที่เป็นสถาบันการเมืองหลักกับระดับล่างที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพหรือวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนไปพร้อมๆ กัน


 


แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเปิดโอกาสให้คณะเผด็จการแทรกแซงได้ทุกขั้นตอน แนวโน้มการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจคือประชาชนจะมีอำนาจน้อยลง กลุ่มอำนาจประเพณี เช่น ทหาร ศาล ระบบราชการ องคมนตรี กลุ่มทุนที่อิงกับอำนาจประเพณีนั้น จะมีอำนาจเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดจะนำไปสู่สังคมการเมืองภายใต้การบงการของกลุ่ม สถาบันการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น


 


เครือข่ายฯไม่เห็นด้วยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ หรือการมีส่วนร่วมทางอ้อมด้วยการตั้งเวทีคู่ขนาน ซึ่งเป็นการพยายามต่อรองแบบหนึ่งโดยหวังว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะดีหรือไม่เลวร้ายเกินไป แต่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ การกระทำเช่นนั้นเท่ากับยอมรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กระทำโดยเผด็จการทันที ผลร้ายที่ตามมาคือ จะยิ่งทำให้เผด็จการมีความชอบธรรมเต็มที่ นั่นคือการตอกย้ำความจำเป็นที่ระบบการเมืองไทยต้องมีเผด็จการต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ผลสุดท้ายก็ได้เพียงรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการอำพรางเท่านั้น


 


การชุมนุมนี้เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์ต่อต้านล้มล้างเผด็จการทุกรูปแบบ เพื่อยุติวงจรอุบาทว์ทางการเมืองซึ่งการจะหลุดพ้นวงจรนี้ได้ต้องทำให้รัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว ทางหนึ่งคือต้องทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการล้มเหลว ซึ่งหมายถึงทหารและผู้อยู่เบื้องหลังล้มเหลวไปด้วย นั่นก็คือเขาอ่อนแอลงหมายความว่าประชาชนจะมีโอกาสเติบโตและเข้มแข็งได้มากขึ้น


 


คำประกาศวันรัฐธรรมนูญทิ้งท้ายไว้ว่า "เผด็จการจงยุติการสืบทอดอำนาจ กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 จัดการเลือกตั้งก่อนเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วม"


 


หลังอ่านประกาศจบ ทางเครือข่าย 19 กันยาฯ ได้เผารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมทั้งจุดเทียนร่วมกันจากนั้นจึงร้องเพลง "คำตอบในสายลม"  ก่อนจะแยกย้ายกันกลับในเวลา 20.00 น.


 


สำหรับการชุมนุมครั้งต่อไปจะจัดทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00น. ณ สนามหลวง


 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net