Skip to main content
sharethis


 


ระหว่างการจัดสัมมนาเรื่อง "ถอดรหัสวัฒนธรรมศึกษา" ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2549 ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังการปาฐกถาเปิดงานในวันแรก หัวข้อ "จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินอื่น : ว่าด้วยพลวัตเชิงวัฒนธรรม" โดยศาตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ผู้ทรงภูมิรู้เรื่องวรรณกรรม ศิลปะและวัฒนธรรมศึกษา "ประชาไท" ได้มีโอกาสสนทนาสั้นๆ กับท่านเพื่อไขรหัส "ปาฐกถา" ดังกล่าว


 


การถอดรหัสวัฒนธรรมศึกษาเรื่องแผ่นดินแม่ของเรา สู่แผ่นดินอื่น ช่วยให้เราได้แก้ปัญหาในปัจจุบันแค่ไหน


 


ผมยังมองเป็นเรื่องในจุดเล็กๆ เป็นจุดๆ คือผมไม่ค่อยเชื่อว่านักวิชาการ ในระดับของปัญญา ความรู้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้ จะสามารถพูดว่าประเทศไทยต้องเดินไปทางนี้ เพราะฉันรู้แล้วจากสิ่งที่ฉันไปค้นคว้า ฉันไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว นี้เป็นทางออกอันเดียวของประเทศไทย ผมไม่เคยพูดอย่างนั้น ผมพยายามมอง เตือนสติกัน เป็นจุดเล็กๆ


 


ผมเขียนอยู่หลายครั้งแล้วว่า เราจงมาปลูกสวนเล็กๆ ของเรากันเถิด เพราะที่แล้วๆ มา ความขัดแย้งอะไรทั้งหลาย มันเป็นเรื่องความขัดแย้งใหญ่มาก ชักไม่แน่ว่าใครผิดใครถูก นอกเสียจากว่าเป็นเรื่องจริยธรรม เพราะอันนั้นมีหลักทางศาสนา หลักจริยธรรมที่เราพอจะคิดได้ แต่ถ้ามันเป็นปัญหาทางสังคมการเมือง เช่น ห้ามเหล้า ห้ามบุหรี่ มันมีอะไรแฝงอยู่ข้างหลังหรือไม่ มันไม่ง่ายอย่างที่เราคิดไว้ และผมพูดว่าการที่พระสงฆ์เถระชั้นผู้ใหญ่ออกมาสั่งสอนพุทธศาสนากล่าวว่า ทำบุญกับหมาแล้วไม่ได้บุญ  มันอันตราย เพราะมันแบ่งชั้นวรรณะ มันเป็นไปไม่ได้โดยไม่มีเหตุผล


 


ผมสงสารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเชิญวิทยากรมาที่นี่ แต่การที่นักวิชาการพูด เขาไม่ให้สูตรสำเร็จ เขากระตุกจุดนั้นจุดนี้ เขาตั้งปมตรงนั้น ปมนี้ให้คิดต่อ ผมก็สงสารคนทำหลักสูตร จะทำหลักสูตรอย่างไร จากความรู้มหาศาลของอาจารย์ นักวิชาการ หรือวิทยากร เพราะมาจากขนบปัญญาชนที่นั่งคุยกันยาวๆเป็นชั่วโมง และอาจจะไม่มีข้อสรุป แต่มันเป็นเรื่องประเทืองปัญญา และรากฐาน พื้นฐานของความรู้ของปัญญาชนที่อ่านหนังสือมากว้างมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่นอกประเทศมากมาย นั่นคืออุดมศึกษาที่คุณปรารถนา ไม่ได้แปลว่าต้องมีคำตอบที่ชัดเจน  แต่เป็นเรื่องสร้างปัญญาและสร้างสำนึกในเรื่องของความรับผิดชอบ


 


คิดว่าเรื่องถอดรหัสวัฒนธรรมศึกษาของตะวันตกกับไทยในแวดวงของรัฐบาลกับสถานการณ์ขณะนี้ เป็นอย่างไร


 


ผมคิดว่าน่าเห็นใจครับ ผมว่าอย่าไปเรียกร้องอะไรมากกับรัฐบาลนี้เลย เพียงแค่กำจัดปฏิกูลเก่าก็ตายแล้ว และพูดภาษาชาวบ้านก็เช็ดขี้คนอื่น ผมว่าเราเรียกร้องเขามากเกิน น่าสงสารเขา และ เขาก็ไม่ได้เตรียมตัวมา เขาไม่ได้เตรียมตัวเรื่องนี้  ซึ่งไม่เหมือนการปฏิวัติที่เตรียมตัวการปฏิวัติมานาน วันดีคืนดีว่าเอานะ เอาแล้วก็ปฏิวัติ ไปตายเอาดาบหน้า ไม่ได้เตรียมตัว และเขาไม่รู้จะเอาใครมาใช้ และคนที่เขาอยากดึงเอามาใช้ส่วนหนึ่งก็สมุนเก่าของยุคเก่าทั้งนั้น ลำบาก ตรงนี้วิชาการของเราเป็นไปเพื่อมหาชน มากกว่าจะเป็นไปเพื่อกำหนดนโยบาย  สร้างปัญญาให้แก่สังคมมากกว่า ที่จะบอกว่าฉันเสนออย่างนี้แล้ว แกเอาไปทำนโยบายต่อสิ มันไม่ง่ายอย่างนั้น


 


วัฒนธรรมภาคใต้ คิดว่ามีการปะทะกันทางวัฒนธรรมในกรณีภาคใต้ เกิดขึ้นเช่นใด


 


มันฝังรากลึกเสียจน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องทั้งวัฒนธรรมและเรื่องกลไกอื่นๆ อะไรอีกมากมาย และก็มันเป็นเรื่องโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่แค่ทางการค้า ทางสังคม ระหว่างประเทศอะไรทั้งนั้น แต่มันเป็นเรื่องโลกาภิวัตน์ของแรงต้าน ที่เรียกว่าบินลาเดนลิสซึ่ม (Binladenlism) ก็ว่าได้  มันมาแรงมาก มันไม่ใช่แค่ในประเทศเราประเทศเดียว มันมาสมทบหลายประเทศมาก ทำให้แรงต่อต้านนี้แรงมากๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเฉพาะแค่ ความขัดแย้งวัฒนธรรมภาคใต้ของไทย แต่มันเป็นความขัดแย้งระดับโลก ผมว่าที่เขาตีเราแรง ส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ว่า เพราะเขาตีบุช ตีโทนี่ แบลร์ มาแรง ผมคิดว่าภาคใต้มันก็มีพลังอะไรที่มองไม่เห็น จากการระเบิดตึกเวิลด์เทรดก็ว่าได้ มันมีกำลังใจจากฝ่ายโน้นที่มันแรงมากๆ เพราะเขาคิดว่าได้ชัยชนะมาครั้งหนึ่งแล้ว และการตอบโต้บุชกับแบร์ก็เป็นการตอบโต้ที่โง่มากๆ ที่ไปเจาะเล่นงานอิรักตรงนั้น เพราะเข้าไปแล้ว ก็ออกมาไม่ได้ ทำความฉิบหายให้อย่างมหาศาลเลย แต่ถ้าถามว่าจะเอาซัดดัม ฮุสเซนไว้ไหม ก็ตอบไม่ได้ มันมีไม่มีขาวกับดำชัดเจน แต่เรื่องภาคใต้นี้ ไม่มีเทวดาที่ไหนตอบได้แน่ ตอนนี้ เพราะมันไม่รู้ว่าใครเป็นใคร


 


อาจารย์คาดหวังกับอนาคต คิดว่าพลังความเข้าใจวัฒนธรรม และอำนาจของรัฐ กับนักวิชาการ แก้ปัญหาทางวัฒนธรรมอย่างไร


 


ผมมองอย่างนี้ว่า ความเข้าใจจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคน กลุ่มคน และในสังคม แต่ถ้าเผื่อไม่เข้าใจก็จะเป็นมองไปในทิศทางต่างๆ แต่ว่าถ้าพูดอย่างปัญญาชน หรือวิทยาการในวันนี้ มันดีกับปัญญาชนด้วยกัน ไม่ใช่กับครูบาอาจารย์ ที่ต้องการหลักสูตรขึ้นมาเป็นรูปธรรม มันต้องมีหลายขั้นตอนมากๆ  ต้องกรองกันมากกว่านี้ ผมยังคิดว่านักวิชาการจะต้องเจอกันมากกว่านี้ ต้องถกปัญหากันมากกว่านี้ ถึงไม่มีคำตอบก็ยังดี  กลุ่มอาจารย์ธเนศ (วงศ์ยานนาวา) กินข้าวคุยกันมาก คุยกันดึกมาก และได้อะไรมาเยอะแยะเลย


 


แต่นักวิชาการมาพูดเวทีวันนี้ อาจารย์ที่มาฟัง จะงงไก่ตาแตก ไม่ใช่งงเพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ว่ามองไม่ออกแล้วจะไปสร้างหลักสูตรอย่างไร มันเป็นเรื่องว่าหลักสูตรเป็นอะไรอันนั้นเป็นเรื่องยาก พื้นฐานให้เครื่องมือเบื้องต้น ให้นักศึกษาไปค้นคว้าด้วยตนเอง ไปแสวงหาความรู้ หรือทางออกด้วยตนเอง มันไม่ง่าย และเราบอกว่าอะไรเป็นเบื้องต้น อะไรเป็นเครื่องมือที่จำเป็นที่สุด เถียงกันตาย แต่ถ้าไม่เถียงกันเลย ผมใช้คำว่าวานรชำนาบ ... ก็จับทฤษฎีฝรั่งหรือตำราฝรั่งจับยัดว่ากันตามนั้น และเอาข้อมูลไทยใส่เข้าไปเลย จบ ... มันไม่ง่ายอย่างนั้น.


 


 


 






ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ


ข้าราชการบำนาญ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรผู้นี้เกิดเมื่อ พ.ศ.2480 ที่กรุงเทพฯ จบมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ.2497 โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศในแผนกอักษรศาสตร์ จากนั้นเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นปีที่ 1 แล้วได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ จบปริญญา B.A Honours สาขา Modern Languages จากมหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 2504 และข้ามไปศึกษาต่อในเยอรมนี ณ มหาวิทยาลัย Tübingen จบปริญญา Dr.phil. (เกียรตินิยมดีมาก) สาขา Comparative Literature เมื่อปี พ.ศ.2508


 


กลับมาประเทศไทยในปี 2509 เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จนถึง พ.ศ.2511 จึงย้ายไปเป็นอาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ พ.ศ.2514 ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานในองค์การ SEAMEO ตำแหน่งล่าสุดเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ กลับเข้ารับราชการในพ.ศ.2519 ในตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และต่อมารับตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา รับราชการในมหาวิทยาลัยนี้จนเกษียณอายุในปี 2540 ในตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 ภาควิชาภาษาเยอรมัน


 


เจตนา นาควัชระ สอนและวิจัยมาตลอดในสายอักษรศาสตร์ ด้านวรรณคดีศึกษา ทั้งไทยและตะวันตก นอกจากนั้นยังสนใจเขียนงานวิจารณ์ในสาขาการละครและดนตรี ในด้านการวิจัยมีผลงานตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เมื่อ พ.ศ.2538 และได้รับทุนวิจัยสกว. ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน


 


ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ Goethe Medal และ Bundesverdienstkreuz (1st Class) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และได้รับรางวัลการวิจัย (Forschungspreis) สาขามนุษยศาสตร์ จากมูลนิธิ Alexander von Humboldt


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net