Skip to main content
sharethis

ภู  เชียงดาว: เรื่อง


 


อานุภาพ นุ่นสง: ภาพประกอบ


 


 


 


 


 


            "...ก่อนดุ๊กตูเหมิงมา                                 


            กรวนพรานตูเหมอเรือน


            เบบี่น่องก๋าไว่                                          


            เบบี่น่องก๋าไว่...


            เฮาเป็นคนทุกข์ไม่มีไร่ไม่มีสวน       


            คนทุกข์ไม่มีเงิน


            ขอให้พี่น้องสงสาร                                   


            ขอให้พี่น้องสงสาร..."                                           


 


"จริง ๆ แล้ว ปางแดงมีอะไรที่น่าเรียนรู้ศึกษาอีกตั้งมาก..."


 "ก้อย" สกุณี ณัฐพูลวัฒน์  หญิงสาว นักวิจัย คนทำหนังสือ นักเขียนสารคดีรางวัลลูกโลกสีเขียวปี 2549 เอ่ยกับผมในค่ำคืนหนึ่ง...


 


คงเป็นจริงเหมือนอย่างที่เธอว่า...เธอพูดทั้งในฐานะคนที่เห็นใจในชะตากรรมของผู้คนปางแดง และในฐานะที่เธอเคยทำงานวิจัยชุมชนปางแดงร่วมกับอาจารย์ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มานานหลายปี


 


ในงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์ชิ้นนี้ เป็นการศึกษาถึงการต่อสู้  ดิ้นรน ปรับตัวของชุมชนปางแดง ตำบลทุ่งหลุก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางการเมือง  เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หนีสงครามมาจากประเทศพม่า 


 


นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ  สังคม โดยการมาเป็นแรงงานรับจ้างเพื่อการยังชีพ  จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่พื้นที่แห่งใหม่ ท่ามกลางการปิดล้อมจากทั้งนโยบายการจัดการป่าไม้ของรัฐ ท่ามกลางการขยายพื้นที่เพาะปลูกของคนเมืองพื้นราบ  รวมทั้งยังตกอยู่ท่ามกลางแรงกดดันจากระบบการตลาดและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว


 


"ถ้าอยากรู้ที่มาที่ไปว่าทำไมชาวบ้านปางแดงถึงถูกจับซ้ำซากถึงสามครั้งสามหน ก็ควรศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของชาวดาระอั้งตั้งแต่เริ่มต้นด้วย..." เธอบอกผมว่า


 


จริงสิ  ชนเผ่า "ดาระอั้ง" หรือชนเผ่า "ปะหล่อง" ที่คนไทยเราเรียกกันกลุ่มนี้  ถือว่าเป็นชนเผ่าที่มีประวัติน่าสนใจอีกชนเผ่าหนึ่ง ว่าพวกเขานั้นมามีรากเหง้ามาจากไหนกัน  และต้องผ่านพบอุปสรรคนานาที่ถาโถมเข้ามานานนับเท่าใด


 



 


ในงานวิจัยของเธอ บอกว่า มีงานศึกษาที่เก่าแก่ชิ้นหนึ่งในพม่า ซึ่งได้บันทึกไว้ใน  "Gazetteer of Upper Burma and the shan states" ตั้งแต่ปี คศ.1900 หรือในปี พ.ศ.2443 โดยได้เขียนถึงตำนานการเกิดของชนเผ่าดาระอั้ง หรือ ปะหล่องเอาไว้ว่า เป็นลูกหลานของกษัตริย์พระอาทิตย์ (Kiang of the sun) เลือกที่จะอยู่บนที่สูง อากาศหนาวเย็นในแถบน้ำซัน บริเวณทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า นิยมอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ และถือว่าเป็นกลุ่มคนนักเดินทางชั้นเยี่ยม ซึ่งต่อมา ลูกหลานได้เติบโตย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นในทางตอนใต้ของรัฐฉาน แถบเมืองเชียงตุง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนไทยใหญ่ในรัฐฉาน


 


และในงานศึกษาเรื่อง Shans at Home ของ Lesline milne ในปี 1910 ได้บอกว่า ชาวปะหล่องนั้นนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด และเป็นกลุ่มคนที่รักสงบที่สามารถหลีกหนีปัญหาสงครามได้อยู่เสมอ


 


"ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเข้าครอบครองพม่า ชนเผ่าฉานหรือไทยใหญ่และชนเผ่ากะฉิ่นมักมีการสงครามอยู่เนือง ๆ แต่ปะหล่องเป็นกลุ่มคนที่สามารถอยู่ภายใต้ภาวะสงครามของสองกลุ่มได้อย่างสงบร่มเย็น และยังคงมอบบรรณาการให้กับทั้งสองกลุ่มเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ชนเผ่าปะหล่องนั้นเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัว และอดทนต่อภาวะกดดันได้เป็นอย่างดี


 


ดังนั้น  เมื่อพูดถึงปะหล่องกับสงคราม มีผู้ศึกษาคนหนึ่งบอกว่า ปะหล่องเป็นกลุ่มที่มีบทบาทน้อยในเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีภาพของการตกเป็นเหยื่อในภาวะสงครามเสียมากกว่าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้


 


บ้างถึงกับบอกว่า บรรพบุรุษของชนเผ่าปะหล่อง ต่างล้วนเป็นฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม และเป็นฝ่ายที่ต้องหลบเลี่ยงหนีการรุกรานของชนเผ่าอื่นเรื่อยมา


 


นั่นเป็นเรื่องราวในอดีต  และในปัจจุบัน ชนเผ่าปะหล่อง ที่ยังคงอยู่ มีชีวิตอยู่ ให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่ ว่ากันว่า ชนเผ่าปะหล่องได้อาศัยอยู่มากในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ในบางส่วนของรัฐกะฉิ่น ในประเทศพม่า ในแถบมณฑลยูนนาน ของประเทศจีน และกระจายอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย ใน  9 หมู่บ้านในแถบอำเภอฝาง แม่อาย และเชียงดาว ของจังหวัดเชียงใหม่


 


นั่นทำให้ผมหวนกลับไปหาเยี่ยมเยือนชุมชนปางแดง ที่อำเภอเชียงดาว อีกครั้งหนึ่ง...


 


 



 


 


"แล้วทำไมปะหล่องถึงต้องระเหเร่ร่อนไปไกลคนละทิศละทางอย่างนี้เล่า ..." ใครคนหนึ่งเอ่ยถาม


 


"ก็เพราะสงครามที่ไม่รู้จักสุดสิ้นนั่นไง..."


 


ใช่ ถ้าถามชาวปะหล่อง กี่คน ๆ  เชื่อว่าต้องได้คำตอบประมาณนี้ ว่ากันว่า ถิ่นฐานเดิมของปะหล่องนั้นอยู่ในเขตตะวันออกของรัฐฉาน ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางเดินของทหารกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าทหารพม่า ทหารว้า ทหารไทยใหญ่ รวมทั้งทหารป่าซึ่งเป็นทหารของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ


 


เป็นเส้นทางของการสู้รบ เส้นทางของความขัดแย้งจากดงสงคราม


นั่นย่อมทำให้ชนเผ่าปะหล่องต้องกลายเป็นผู้ถูกกระทำ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


เมื่อพูดถึงการถูกกดขี่ข่มเหง ชนเผ่าปะหล่อง ถูกทหารพม่าเข้ากดขี่ข่มเหงมาโดยตลอด บ้านเรือนถูกรื้อทำลาย ยุ้งฉางถูกเผา ทรัพย์สินเงินทองถูกปล้นจี้  ลูกชายถูกจับไปเป็นทหาร ลูกสาวถูกข่มขืน ผู้คนในหมู่บ้านต่างหวาดผวาภัยที่มากับสงคราม ต่างละทิ้งหมู่บ้านพากันหลบหนีเข้าป่าอาศัยเป็นที่ซุกซ่อนหลบภัย นอนกลางดิน กินกลางป่า ต่างอพยพกันไปคนละทิศละทาง


 


นักวิจัยสาว บอกเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่เธอเข้าไปนั่งพูดคุยกับพี่น้องปะหล่องปางแดง เพื่อเก็บข้อมูลถึงเรื่องราวเหตุการณ์การสู้รบในพม่า และถูกถ่ายทอดผ่านภาษาและแววตาของชาวบ้านหลายต่อหลายคน


 


"ตอนอยู่ฝั่งพม่า ในสมัยนั้น ทหารพม่าจะเรียกเก็บภาษีจากพวกเรา โดยจะขอแรงพวกเราไปทำงาน ไปขนเสบียง โดยให้ขนของเป็นข้าวสารอาหารต่าง ๆ ถ้าไม่ทำ พวกเขาก็จะไม่ให้ที่ทำมาหากิน"


 


"หมู่เฮาจะกลัวทหารพม่ากันมาก เพราะมีการสู้รบกันบ่อย ๆ ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินรุนแรง ทหารพม่า ก็จะขอกำลังพวกเราไปสู้กับฝ่ายตรงข้าม  ถ้าไม่ไปก็จะโดนขู่ บังคับ บีบคั้นให้ไปให้จนได้"


 


บ่อยครั้ง เธอมองเห็นแววตาพวกเขาเต็มไปด้วยความเศร้าซึม บางครั้งดูนิ่งเฉยและเงียบงัน


 


"ตอนอยู่ดอยลาย มีทหารพม่า ทหารว้าแดงอยู่เต็มไปหมด ต้องไปหลบซ่อนในป่า บางทีต้องนอนในป่าห้าหกเดือนก็มี ปลูกข้าวก็ถูกทหารแบ่งเอาไป อย่างเฮาทำไร่ข้าว ได้ประมาณ 300 ถัง เราต้องเสียกึ่งหนึ่ง มันลำบากใจขนาด ทำมาทั้งปี ก็บ่ได้กิน บางทีก็เข้ามาขอพริก ขอถั่วเน่า เสียทั้งหมู ไก่ ให้กับทหารทุกกลุ่ม" ยอด ลุงเมิง บอกเล่าให้เธอฟัง


 


ชาวปะหล่องที่อพยพหนีภัยสงครามกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางตอนกลางและทางตอนเหนือของรัฐฉาน ต้องใช้เวลาเดินเท้า เดินทางไกลและนานถึง 4-5 เดือน กว่าจะเข้ามายังฝั่งไทย ในขณะที่กลุ่มที่อยู่บนดอยลาย นั้น บอกว่า บ้างเดินทางใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน 3 คืนโดยไม่หยุดพัก บ้างต้องใช้เวลาเดินทางเกือบครึ่งเดือน เนื่องจากมากันเป็นกลุ่มใหญ่ มีทั้งคนแก่และเด็ก จำต้องหยุดพักมาตลอดทาง


 


บ้างเก็บแมลงทุกอย่างใส่ปาก


บ้างเด็ดใบไม้กินแทนข้าว


เพื่อประทังความหิวโหย


และความอยู่รอด


บางครั้งมีคนตายเพราะป่วยไข้ระหว่างทาง 


 


"ตายก็บ่ได้ฝัง ทำศพอะไรก็ใช้ใบตองกล้วยปิดห่มเฉย ๆ แล้วก็ต้องรีบเดินทางกันต่อ เพราะตอนนั้น ทหารพม่าสั่งว่า ถ้าไม่ออกจากดอยลายจะเข้ามาจัดการ..." ลุงคำ จองตาล บอกเล่าด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า


 


แหละนั่นคือเหตุผลที่คนปะหล่องต้องอพยพมาอยู่ตามรอยตะเข็บชายแดนไทย


 


 



 


 


ในช่วงปี 2523-2524 ถือว่าเป็นช่วงแรก ๆ ที่ชาวปะหล่องได้พากันโยกย้ายมาตั้งหมู่บ้านตามแนวตะเข็บชายแดน และมีการติดต่อสัมพันธ์กับทหารไทย และชาวเขาเผ่าอื่น ๆ ในแถบนั้นเป็นอย่างดี ทว่าก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างยากลำบาก เนื่องจากในขณะนั้น ขุนส่าซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในเขตนั้นได้บังคับ ทำร้าย ใช้แรงงานให้ทำไร่ ปลูกฝิ่น จึงจำต้องอดทนอยู่อย่างกล้ำกลืนฝืนทน


 


กระทั่ง ปี 2525 ชาวปะหล่องได้ยินข่าวมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จดอยอ่างขาง และทรงเยี่ยมเยือนราษฎรชาวลาหู่และชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณโครงการหลวงอ่างขาง พวกเขาต่างเฝ้ารอวันรอคืน เพื่อหวังจะได้เข้าเฝ้า และเพื่อขอพระบรมราชานุญาตข้ามมาอาศัยอยู่ในเขตแดนไทย


 


ชาวปะหล่องบอกเล่าว่า ได้รวมกลุ่มกันประมาณ 200 คน เพื่อเข้าเฝ้ารอรับเสด็จ พร้อมตระเตรียมพระพุทธรูป ขันดอก และเครื่องแต่งกายของหญิงปะหล่องเพื่อถวายในหลวง เสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ตัวแทนของความจงรักภักดี ยืนยันความเป็นพี่น้องที่นับถือศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันกับคนไทย


 


และการถวายเครื่องแต่งกาย ก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์การมอบตัวตนของปะหล่องเพื่อเป็นคนภายใต้การปกครองของพระเจ้าแผ่นดินในแผ่นดินไทยแห่งนี้


 


ลุงคำ จายยอด เล่าให้ฟังว่า ในหลวงถามว่าเป็นใคร นับถือพุทธหรือ ตอนนั้นพวกเรายังพูดกันไม่ค่อยเป็น บอกได้แต่ว่าลำบาก ก็เลยอยากขอมาอยู่ ขออยู่เมืองไทย ขอเป็นคนไทย


 


"ในหลวงก็บอกว่า อยู่ก็อยู่ อยากอยู่ที่ไหน เราก็บ่จ้างว่า ตอบไม่ได้ว่าจะอยู่ที่ไหน เพราะไม่เคยไปไหน..."


 


" ในหลวงทรงอนุญาต และท่านยังประทานเงินจำนวน 5,000 บาท ให้พวกเราสร้างวัด พวกเราดีใจมาก และพวกเราก็เชื่อว่าเข้ามาอยู่ได้ไม่เป็นไร เลยย้ายเข้ามาอยู่กันที่เขตแดนไทย มารวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน ตรงที่เดี๋ยวนี้ เป็นหมู่บ้านนอแล"


 


"...เอดืออ่างกร้างแรง  จอห่อคัมจายครื่อ


จอห่อคัมบืงเมิง  คุนเมิงรอกดูอี่พลาน


ลาบาทานรอกดูอี่ดอนโมย เอหม้ายคุนเมิง


จองโองหม๊าน เอดือหม๊ายลาบาทานเก๊ออำเภอ


จอยโองเรา แต๊ะเยเมอะดือโบ่ย โจ่วก๊อน


เราคือดาระอั้งซิ่นแดง  พระราชินีทรงแจกเสื้อผ้า


พระเจ้าอยู่หัวครองเมือง  ท่านก็รักคนยากคนจน


รักทุกชนเผ่า  เราขอคนเมืองแบ่งปันหมู่บ้านที่จะอาศัย


เราขอราชทาน และท่านอำเภอแบ่งปันที่ทำมาหากิน


ให้เราได้อยู่สุขสบายถึงลูกถึงหลาน..."


 


นั่นคือบทเพลงดิ่งที่พี่น้องชาวปะหล่องได้แต่งและร่ำร้องถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงขณะนี้.


 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2525-2527 เหตุการณ์สงครามความขัดแย้งในเขตพม่ายังคงยืดเยื้อรุนแรงไม่รู้จบ ทำให้หมู่บ้านปะหล่องในพม่าหลายหมู่บ้านนั้นถูกเผาวายวอด ชีวิตความเป็นอยู่ตกในความหวั่นหวาด ผู้คนปะหล่องต่างได้รับผลพวงจากสงครามเข้าก่อกวนอยู่ตลอดเวลา


 


ในขณะที่หัวใจทุกดวงนั้นเฝ้าโหยหาถึงดินแดนที่ฝันใฝ่  ฝันถึงดินแดนที่ไม่มีสงคราม ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีการรบราฆ่าฟันดินแดนที่มีที่ดินทำกิน อยู่อาศัย มีงานทำ อยู่กันอย่างสงบและสันติสุข ที่สุด, ความกลัวและความโหดร้ายเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องพากันระเห็จหนีตายข้ามมาฝั่งไทย


 


"ก่อนเดินทางเข้ามา เพิ่งเก็บเกี่ยวข้าวเข้ายุ้งฉาง เก็บเกี่ยวข้าวได้มากถึง 600 ปี๊บ แต่ก็ต้องตัดสินใจทิ้ง เพื่อหนีทหารพม่าให้เร็วที่สุด" ชายปะหล่องคนหนึ่งบอกเล่า


 


"พม่าในช่วงสงครามนั้น ไม่มีกฎหมาย เพราะมีหลายกลุ่มที่มีอำนาจ ไม่มีใครเป็นผู้ปกครองที่แน่นอนชัดเจน แย่งกันเป็นใหญ่และรบราฆ่าฟันกันตลอดเวลา ไม่สงบเหมือนเมืองไทย การปกครองในเมืองไทย มีในหลวงเป็นที่พึ่ง การปกครองที่ดี มีกฎหมายป่าไม้ มีกฎเกณฑ์เป็นเรื่องที่ดี มาอยู่เมืองไทยนี่รู้ว่าไม่อดอยากแน่นอน" ชาวปะหล่องอีกคนหนึ่งเอ่ยออกมา


 


และทุกคนเชื่อกันว่าที่หนีมาอยู่เมืองไทย เพราะในหลวงทรงอนุญาตให้อยู่เมืองไทยแล้ว ดังนั้น จึงทำให้ชาวปะหล่องอพยพหนีภัยสงครามจากดอยลายข้ามมาอาศัยอยู่ร่วมกับญาติพี่น้องในหมู่บ้านนอแลเพิ่มมากขึ้น มากขึ้น...


 


แน่นอน เพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงในชีวิต ย่อมทำให้พวกเขาดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตนั้นอยู่รอด และพากันลงไปใช้แรงงานรับจ้างทำสวนชา สวนลิ้นจี่  เกี่ยวข้าว จึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ไปในหลาย ๆ พื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่


 


จากการสำรวจพบว่า ทุกวันนี้ มีชาวปะหล่องหรือดาระอั้ง อาศัยอยู่ในประเทศไทยอยู่ทั้งหมด 9 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่


 


หมู่บ้านห้วยหวายนอก และหมู่บ้านห้วยทรายขาว ในพื้นที่อำเภอแม่อาย 


หมู่บ้านห้วยจะนุ  หมู่บ้านห้วยหมากเลี่ยม และหมู่บ้านนอแล ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง


หมู่บ้านแม่จร  หมู่บ้านห้วยปง หมู่บ้านปางแดงนอก และหมู่บ้านไทยพัฒนาปางแดง(ปางแดงนอก) ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว


 


ว่ากันว่า ในปัจจุบัน มีจำนวนประชากรชาวดาระอั้ง หรือชาวปะหล่องที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 5,000-7,000 คน


 



 


และหากใครผ่านไปมาทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเขตอำเภอแม่อาย ฝาง และเชียงดาว ก็จะพบเห็นผู้คนกลุ่มหนึ่ง แต่งตัวด้วยสีสันแปลกใหม่แปลกตา ผู้ชายนุ่งกางเกงทรงไทยใหญ่สีดำ น้ำเงิน สวมใส่เสื้อคอกลมแขนยาว ส่วนผู้หญิงสวมผ้าซิ่นทอสีแดงสด ใส่เสื้อแขนยาว มีพู่ไหมพรมห้อยล้อมรอบต้นแขนเสื้อทั้งสองข้าง ผ้าเคียนศีรษะ และที่สำคัญแปลกตาต่อผู้พบเห็นมากที่สุด ก็คือ "น่อกฺ." เป็นบ่วงทำด้วยเงิน หรือหวายคล้องรอบเอว


 


นั่นละ คือ พี่น้องชนเผ่าดาระอั้ง หรือปะหล่อง ที่หลงเหลืออยู่ในเมืองไทยในขณะนี้ 


เผ่าพันธุ์ที่ระเหเร่ร่อนหนีตายจากดงสงคราม...เพื่อมาหวังพึ่งใบบุญจากแผ่นไทยอันสงบและร่มเย็น


 


 


 


 


.............................


หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "ผืนดิน สันติภาพ และชาติพันธุ์" รวมงานเขียนสารคดีโศกนาฏกรรมชนเผ่าบนดอยสูง จัดพิมพ์โดย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.),เดือนเมษายน 2549, ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดจำหน่าย.


 


บทความที่เกี่ยวข้อง


สารคดี: ปางแดง...สิทธิมนุษยชนที่แหว่งวิ่น เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง(1)


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6170&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net