Skip to main content
sharethis

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.49 ที่ผ่านมา นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิ์ผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมด้วยนายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคณะ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ดร.บินดู โลหะณี ที่ปรึกษาด้านพลังงานผู้ว่าการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ณ สำนักงานใหญ่ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยก่อนยื่นหนังสือได้มีการปล่อยบอลลูนที่หน้าสำนักงาน ADB มีข้อความว่า "ยุติการให้เงินกู้ภาวะโลกร้อน"


 


นางมะลิวรรณ เปิดเผยว่า ได้ขอให้ ADB พิจารณาข้อเรียกร้องของชุมชนที่อยู่อาศัยรอบๆ เหมือง-โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่ง ADB เป็นผู้ให้เงินกู้สนับสนุนการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแม่เมาะ และปัจจุบันมีกำลังการผลิตถึง 2,625 เมกะวัตต์ ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ จนมีการเรียกร้องอพยพของชาวบ้านให้รัฐบาลอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเรื่อยมา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการอพยพชาวบ้านเล่านี้ออกไปแม้แต่หลังเดียว


 


สำหรับข้อเรียกร้องในหนังสือที่ยื่นต่อ ADB ครั้งนี้ คือ 1.ให้ ADB ยุติการสนับสนุนเงินกู้ให้ กฟผ.กรณีการขยายเหมืองเฟส 6, 2.ขอให้นำข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่เสนอผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมาเข้าวาระการประชุมใหญ่ของผู้บริหารธนาคาร ADB และผลักดันให้เกิดการปฎิบัติในฐานะที่ ADB เป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งหมด, 3.ขอให้ ADB สนับสนุนพลังงานสะอาดหมุนเวียนในหมู่บ้านแห่งใหม่ที่จะมีการอพยพโยกย้ายตามมติ ครม.เมื่อ 9 พ.ย.47 เพื่อเป็นการไถ่บาปและพัฒนาเป็นหมู่บ้านพลังงานทดแทนต้นแบบในอนาคต


 


ดร.บินดู โลหะณี ที่ปรึกษาด้านพลังงานผู้ว่าการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวหลังจากรับหนังสือจากชุมชนว่า ฝ่ายบริหาร ADB มีงบประมาณ 1.000 ล้านบาท เพื่อตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อลดมลภาวะก๊าซเรือนกระจกในอีกสองปีข้างหน้าและยินดีรับข้อเสนอของชุมชนเพื่อเข้าพิจารณาและจะตอบกลับผ่านทางกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


ขณะที่นางมะลิวรรณ เปิดเผยว่า ได้กล่าวกับ ดร.บินดูว่า จะคอยคำตอบและพร้อมจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้กับผู้บริหาร ADB สาขาประเทศไทย เป็นระยะๆ


 


อนึ่ง สำหรับเรื่องการอพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่ตามมติ ครม.9 พ.ย.47 นั้น "ทางเครือข่ายสิทธิ์ผู้ป่วยแม่เมาะ" กำลังเฝ้ารอดูว่าเมื่อใดรัฐบาลจะสั่งการให้ กฟผ.จ่ายเงินดำเนินการอพยพชาวบ้านทั้งหมด 493 ครอบครัวตามข้อตกลงสมัยที่นายวิษณุ เครืองาม และข้อตกลงจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ถือเป็นตัวแทนจากรัฐบาลชุดที่แล้วและไม่สนใจเรื่องแผนยุแย่ให้ชาวบ้านมีความคิดเห็นที่แตกต่างเพียงหวังผลชะลอการอพยพของมวลชน


 


ทั้งนี้ เพราะหากรัฐบาลสั่งการอนุมัติงบประมาณอพยพออกมาทั้งสองแบบตามที่ชาวบ้านเลือกปัญหาทั้งหมดก็จะยุติ เนื่องจากเงื่อนไขทั้งหมดนั้นชาวบ้านมิได้เป็นคนกำหนด แต่ล้วนมาจากภาครัฐเป็นผู้เสนอขึ้นมาเอง


 


 


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net