Skip to main content
sharethis

ภู  เชียงดาว : เรื่องและภาพ


 


 


กว่าจะมาเป็นปางแดง ก็ปางตาย!


หากย้อนรอยการเดินทางของชาวปะหล่องปางแดง เราจะพบว่า การเดินทางของพวกเขานั้น ช่างเป็นการเดินทางที่ยาวไกลและนาน  นับจากต้องเร่ร่อนเดินเท้าจากหมู่บ้านเดิมในเขตรัฐฉาน ของพม่า ต้องบุกป่าฝ่าดงลึกชัฏ ข้ามน้ำมากี่สาย ข้ามดอยมากี่ม่อน กว่าจะมาถึงฝั่งไทย


 


"แล้วทำไมถึงย้ายจากบ้านนอแล ลงมาอยู่แถวปางแดง..."


"ที่นอแล บนดอยอ่างขาง ที่ทำกินไม่พอ ปลูกข้าว ข้าวก็ไม่มีเม็ด อากาศมันเย็นเกินไป..."


 


อีกทั้งในขณะนั้น หมู่บ้านนอแลยังเจอกับปัญหาการสู้รบกันระหว่างกลุ่มขุนส่ากับทหารพม่ากันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีพื้นที่อยู่รอยตะเข็บชายแดน 


 


ว่ากันว่า ในช่วงนั้น ขุนส่ายังคงมีอิทธิพล และได้เข้ามาบังคับเกณฑ์แรงงานพี่น้องปะหล่องให้ไปปลูกฝิ่น ทำไร่ข้าว และบ่อยครั้งต้องเสียข้าวเพื่อบำรุงกองทัพขุนส่า จึงทำให้พวกเขาไม่อยากอยู่บนดอยอ่างขางอีกต่อไป


 


นั่นเป็นบางถ้อยคำของผู้เฒ่าปะหล่องคนหนึ่ง ที่บอกถึงสาเหตุว่า ทำไมถึงระเหระหนดั้นด้นเดินทางมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปางแดง


 



ลุงอินพรม จองตาล ผู้เฒ่าปะหล่องบอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง


 


ก่อนหน้านั้น มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ได้ย้ายเข้ามาลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่เตาะ-ห้วยอีโก๋ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก่อน เพื่อมารับจ้างทำงาน  โดยชาวอาข่า(อีก้อ)ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาทำกินในพื้นที่ใกล้ ๆ กับหมู่บ้านลีซู โดยได้มีการติดต่อและขอซื้อที่ดินจากชาวลีซู (ลีซอ) เพื่อตั้งบ้านเรือน รวมทั้งเพื่อทำการปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์ในทุ่งไร่ ส่วนชาวลาหู่ (มูเซอ) ก็เข้ามารับจ้างทำงานในที่ดินของคนเมือง


 


ในขณะที่ชาวดาระอั้ง หรือปะหล่อง ที่เดินทางมาจากนอแล บนดอยอ่างขาง ของอำเภอฝาง ก็ได้เข้าไปรับจ้างเก็บชาในสวนชาบ้านแม่จร  ไม่ใกล้ไม่ไกลกันนัก


 


ชาวปะหล่องเริ่มเก็บออมเงินที่ได้จากการรับจ้างเก็บชา เพื่อซื้อที่ดินของคนพื้นราบที่มีการจับจองและทำกินมาอยู่ก่อนแล้ว จำนวน 10 ไร่ เพื่อตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านปางแดงใน โดยพื้นที่รอบ ๆ นั้นเป็นพื้นที่ของคนพื้นราบ คนปกากะญอ และคนลีซูอยู่ก่อนแล้ว


 


12 ครัวเรือนของพี่น้องปะหล่อง จึงปักหลักปักฐานอยู่ด้วยความหวังลึก ๆ ในใจ  ว่าต่อไปนี้ชีวิตจะอาศัยอยู่ในผืนดินผืนนี้ด้วยความสงบ และสันติสุข


 


ต่อมา เมื่อกรมป่าไม้ มีนโยบายปลูกป่าในพื้นที่สวนป่าเขตพื้นที่บ้านปางแดง โดยได้ทำการอพยพชาวปะหล่องจากบ้านนอแล และหมู่บ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอไชยปราการ มาเป็นแรงงานในการปลูกป่า ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นแรงงานราคาถูกกว่าการจ้างคนพื้นราบ


 


ครั้นเมื่อหมดโครงการปลูกป่า กรมป่าไม้ ไม่ได้ส่งแรงงานเหล่านี้กลับถิ่นฐานเดิมเป็นผลให้ชาวบ้านทั้งหมดต้องสร้างบ้านแปงเรือนอยู่ที่บ้านปางแดงนอกนับแต่นั้นมา และเนื่องจากพวกเขาไม่รู้จะไปอยู่แห่งหนใด  ที่นี่จึงเป็นสถานที่ที่คุ้นเคยและผูกพันที่สุด


 


ต่อมา ภายในชุมชนมีการก่อตั้งโรงเรียนปางแดง ขึ้นมาโดยมูลนิธิพุทธธรรมหนองฮ่อ บริเวณหน้าถ้ำ และมีการโอนเป็นโรงเรียนในสังกัดของรัฐ เพื่อให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านปางแดง และหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือในระดับชั้นประถมศึกษา ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า การเรียนหนังสือไทย ก็เพื่อจะได้รู้ภาษาไทย และเข้าใจวิถีชีวิตของความเป็นไทยมากขึ้น


 



 


ร.ร.บ้านปางแดง ที่รัฐจัดบริการทางการศึกษาแก่เด็กในชุมชน


จริงสิ, ผู้คนที่ผ่านไปมาช่วงนั้น  เมื่อมองเห็นภาพวิถีชีวิตของพี่น้องชาวปางแดง แล้วก็อดรู้สึกอิจฉาในชีวิตวิถีของพวกเขาไม่ได้ 


 


เป็นวิถีที่อยู่กับธรรมชาติและความเรียบง่าย อยู่อย่างสมถะ สงบและเจียมตัว


 


ชีวิตเปลี่ยน วิถีแปลก


เมื่อถูกสงครามการแย่งชิงทรัพยากรเข้าปิดล้อม


 


กระนั้น  เมื่อกาลเวลาผ่านไป  กระแสทุนและอำนาจรัฐเริ่มพัดโหมทบทวี


พวกเขาเริ่มรู้สึกหวาดหวั่น  บางสิ่งเริ่มเคว้งคว้าง บางอย่างเริ่มเปลี่ยนไป


 


เมื่อถนนดินลูกรังสายเดิมกลายเป็นถนนลาดยางเทด้วยคอนกรีตเข้ามา พาดผ่านหมู่บ้านปางแดงนอก ลึกเข้าไปข้างในถึงบ้านห้วยอีโก๋-ผาลาย อย่างไม่มีใครได้ทันตั้งตัว


 


คงใช่  ใครบางคนอาจนึกและดีใจ ที่มีถนนสายใหญ่เข้ามาถึงหมู่บ้าน ถนนที่เข้ามาเพื่อพัฒนาชุมชนบนดอยให้พบความเจริญและทัดเทียมชุมชนคนเมืองข้างล่าง


 


แต่หาใช่เป็นเช่นนั้นเลย  ถนนสายนี้กลับกลายเป็นถนนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเข้ามาของนายทุนที่ได้พยายามเข้ามาสัมปทานการระเบิดภูเขาหินปูนแถบเทือกเขานั้น 


 


อีกทั้งถนนสายนี้  ได้กลายเป็นถนนของความละโมบของหมู่นายทุนที่มุ่งจะฮุบที่ดิน  ผืนป่าในแถบนี้กันอย่างบ้าคลั่ง


 


 



 


ห้วงขณะนั้น  ว่ากันว่า  มีการลักลอบทำไม้ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จนถึงการบุกเบิกพื้นที่ทำกินเพื่อการเกษตร และการท่องเที่ยวทัวร์ป่า กันเป็นวงกว้างล้อมรอบหมู่บ้านปางแดง


 


ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 2530-2532 พวกเขาพบเห็นการตัดไม้ ตัดป่ากันมากขึ้น โดยฝีมือของคนนอกหมู่บ้าน การเปิดพื้นที่ป่าดำเนินไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ประกอบกับในยุคนั้น  เป็นยุครัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหวัน ซึ่งมีนโยบายเน้นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก


 


ประกอบกับรัฐมีการรื้อฟื้นนโยบายการปฏิรูปที่ดินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง  ซึ่งแทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจนตามเจตนารมณ์เดิมที่วางไว้  กลับกลายเป็นนโยบายที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจการเมืองและกลุ่มนายทุนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ


 


ทำให้กลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์จากป่าเหล่านี้  ได้เข้าไปบุกเบิกที่ดินและยื่นหนังสือขอที่ทำกินในเขตป่า เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของตนกันอย่างต่อเนื่อง


 


"ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบางคน ผมคงไม่ต้องเอ่ยชื่อ เป็นผู้นำท้องถิ่น ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ซึ่งเป็นช่วงมีการขายที่ดินบูมมาก  ทำให้เขาเป็นนายทุนร่ำรวยในพริบตา มีบ้านมีรถ เป็นนายทุนท้องถิ่นที่มีอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้" นิคม พุทธา คนทำงานด้านการอนุรักษ์ในเขตลุ่มน้ำปิงตอนบน  บอกเล่าให้ฟัง


 


ในขณะที่ชาวบ้านปางแดง ยังอยู่กันอย่างสงบ สมถะ และเจียมตัว บ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่  ยังคงเป็นกระท่อมไม้ไผ่ ที่หลังคาหนึ่งอาศัยอยู่กันหลายครอบครัว บางหลังแออัดอยู่กันถึง 8 คน 10 คน และยังมีอาชีพรับจ้าง ปลูกข้าว ปลูกหอมกระเทียม อยู่ไปวัน ๆ


 


กระทั่ง  กระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มแผ่ไปทั่วโลก และชุมชน องค์กรทั่วประเทศเริ่มตื่นตัว ออกมาเคลื่อนไหว ต่อต้านการรุกเข้ามาของทุนนิยม ต่างพากันลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร ผืนดิน ผืนป่า ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศกันอย่างต่อเนื่อง


 


ประกอบกับ ในช่วงขณะนั้น นโยบายการจัดการป่าของรัฐ  ได้ถูกวิพากษ์ต่อต้านอย่างรุนแรง  ว่านี่คือความล้มเหลวของรัฐ  ที่มีการเปิดป่าเพื่อให้กลุ่มนายทุนเข้าไปสัมปทานป่า เพื่อกอบโกยกันอย่างโจ๋งครึ่ม  จนผืนป่าในเมืองไทยลดลงอย่างน่าใจหาย


 


กระแสการเคลื่อนไหวคัดค้าน  ได้นำไปสู่การประกาศปิดป่าในปี 2532


 


นโยบายปิดป่า นำไปสู่การใช้ความรุนแรง


ปางแดง คือหนึ่งในเหยื่อชะตากรรม


 


เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า  หลังจากรัฐมีนโยบายปิดป่าทั่วประเทศ โดยอ้างว่าเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าที่เหลือเอาไว้  ไม่ให้ถูกทำลาย  และกรมป่าไม้ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายกันใหม่ มาเป็นการใช้อำนาจรัฐ  อำนาจทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่น  จำต้องตอบรับนโยบายด้วยการเข้าไปจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้


 


ชาวบ้านผู้คนที่อยู่อาศัยในเขตป่าทั่วประเทศ  ต่างถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่า  ทั้ง ๆ ที่ในหลายพื้นที่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่กันมาก่อนนโยบายและกฎหมายที่เพิ่งมีการประกาศใช้


 


และปางแดง ก็คือหนึ่งในหมู่บ้านที่ต้องกลายเป็นแพะรับกรรม!


 


ในขณะที่กลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มนายทุนทั้งหลาย ที่มีการเปิดพื้นที่ป่าอย่างกว้างขวาง กลับลอยนวล!!


 


"จับชาวปะหล่อง หนีเข้าเมือง!!..."


 


"นายสมพงษ์ อนุกุล ป่าเขตจังหวัดเชียงใหม่ รับรายงานว่า มีชาวเขาเผ่าปะหล่อง  สัญชาติพม่า อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เชียงดาว และมีการบุกรุกทำลายป่า ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 มกราคม นี้ จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกจับชาวเขาเผ่านี้ไว้ได้รวม 34 คน เป็นชายทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป"


                                                                                    (ไทยนิวส์ ฉ.31 มกราคม 2532)


 


นั่นคือโศกนาฏกรรมครั้งที่ 1 ของคนปางแดง ที่ต้องกลายเป็นแพะรับบาปในชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ!!


 


ในกลุ่มชาวบ้านที่ถูกจับ 32 คน ในครั้งนี้ มีชาวลีซู  3 คน และชาวปะหล่อง 29 คน


 


และนี่คือถ้อยคำที่ชาวปะหล่อง ชาวบ้านปางแดงบอกเล่าถึงเหตุการณ์เลวร้ายในวันนั้น...


 


"ประมาณตีห้าครึ่ง ขณะที่ชาวบ้านหลายคนกำลังลุกจากที่นอน ล้างหน้าล้างตา ผู้หญิงตื่นขึ้นมาก่อน มาตำข้าว เสียงตำข้าวดังอยู่ในความมืด ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขตอุทยานฯ ประมาณร้อยคน มากับกระบะ 17 คัน เข้าล้อมหมู่บ้าน พวกเจ้าหน้าที่ค่อย ๆ เดินเข้ามากลางหมู่บ้าน ถามว่าใครอยู่บ้าง มีผู้ชายกี่คน  เรียกผู้ชายให้มารวมกัน  แล้วบอกว่า จะมีการประชุม เขาบอกว่า จะมีนายอำเภอมา..."


 


"...เมื่อเรียกผู้ชายมารวมกันทั้งหมด  41 คน พอมานั่งรวมกัน เขาก็คัดคนแก่ออกจนเหลือผู้ชายคนหนุ่ม 29 คน เขาบอกว่าจะพาไปทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่บางคนก็บอกว่า จะพาไปแจกผ้าห่ม ทุกคนดีใจ  แล้วก็ตามไป  เขาเอารถหกล้อมมารับ  แล้วบอกว่า ตอนดึกจะมาส่งคืนถึงบ้าน  ไม่ต้องกลัว..."


 


"นั่งรถกันไป 29 คน พอไปถึงเชียงดาว ก็ไม่เห็นเขาแวะที่อำเภอ แต่ให้ไปรวมกันที่ป่าไม้สักที่ไหนสักแห่ง นั่งรอจนค่ำ แล้วเขาก็พากันไปที่โรงพัก แล้วเขาก็บอกว่า เราบุกรุกป่า เราก็ตอบไปว่า ไม่ได้บุกรุก ที่อยู่ก็เป็นที่อยู่เก่าของคนเมือง เราขออนุญาตแล้ว จ่ายเงินด้วย"


 


"พวกเราบอกว่า ทุกที่ที่ปะหล่องทำ พวกเราก็แก้กันทั้งหมด (หมายถึงจ่ายแก้ค่าคมมีดคมดาบ) ไม่เคยบุกรุกเลย แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ที่บ่มีใบ"


 


"พอหลังจากนั้น พวกเราก็ถูกเอาไปใส่คอก..."


 


7 วันในห้องขังบนโรงพัก สถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงดาว ต่อจากนั้น  32 ชีวิต ถูกส่งต่อไปเรือนจำกลางเชียงใหม่  ส่งขึ้นศาล แล้วก็ฝากขังต่อ โดยที่ทุกคนไม่มีโอกาสคาดเดาและล่วงรู้อนาคต ว่าชะตากรรมครั้งนี้  จะจบลงตรงที่ใด!?



 


และนี่คือเรื่องเล่าของชาวปางแดง...กับบรรยากาศการถูกจองจำ...


 


"ในศาล เขาบอกว่า ถ้ารับสารภาพจะได้ออกเร็ว ถ้าไม่รับจะต้องออกช้า ตามกฎหมายต้องติดคุก 11 ปี 9 เดือน ก็จะได้ลดลงครึ่งหนึ่ง พวกเราไม่รู้อะไร รู้แต่อยากออกไปไว ๆ เขาบอกให้รับอะไร เราก็รับไป"


 


"วันตัดสิน ทั้งหมู่เลย ร้องไห้โฮเสียงดัง ยืนไม่ได้ เป็นลมล้มไปก็หลายคน โซ่ถูกมัด ใส่ชุดแดง ๆ"


 


"วันแรกที่อยู่ในคอก นอนก็นอนไม่หลับ ในคอกนะ 1 วันก็เหมือน 1 เดือน"


 


ครับ, นั่นเป็นบางภาพของความทรงจำ


ที่คนปางแดง ถูกต้องโทษโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำผิด!


 


 


 


หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "ผืนดิน สันติภาพ และชาติพันธุ์" รวมงานเขียนสารคดีโศกนาฏกรรมชนเผ่าบนดอยสูง จัดพิมพ์โดย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.),เดือนเมษายน 2549


 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 


สารคดี: ปางแดง...สิทธิมนุษยชนที่แหว่งวิ่น เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง(1)


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6170&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


 


สารคดี: ปางแดง...สิทธิมนุษยชนที่แหว่งวิ่น เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง(2)


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6199&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net