Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ธ.ค. 2549 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจากโครงการอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้าเด็กและหญิงขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เปิดเผยผลการวิจัย เรื่อง "ความท้าทายที่ลุ่มน้ำโขง: การจ้างแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย: งานหนัก จ่ายน้อย และไม่ได้รับการคุ้มครอง" โดยทำการศึกษาวิธีการว่าจ้างแรงงานและสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในภาคการจ้างงานสำคัญ 4 ภาคของประเทศไทย คือ การเกษตร งานบ้าน เรือประมงและการแปรรูปปลา และการผลิต


                   


โดยพบว่า แรงงานรับใช้ในบ้านกว่าครึ่งหนึ่งและลูกเรือหาปลาอีกกว่า 1 ใน 5 ถูกห้ามไม่ให้ออกจากที่ทำงาน หรือถูกนายจ้างบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาส


 


มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติหนุ่มสาวหลายเรื่อง ตั้งแต่ทำร้ายร่างกาย บังคับให้ทำงาน จำกัดพื้นที่ ใช้แรงงานเด็กในงานเสี่ยงอันตราย ซึ่งจัดเป็นการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่ง) และถูกกระทำทารุณทั้งทางใจและทางวาจาเป็นประจำ บางกรณียังแสวงหาประโยชน์จากแรงงานโดยมิชอบใกล้เคียงกับพฤติกรรมการค้ามนุษย์ด้วย


 


โดยงานวิจัยระบุว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและประชาชนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้เรื่องแรงงานเหล่านี้ ทั้งนี้ แรงงานรับใช้ในบ้าน 82% และแรงงานทำงานบนเรือประมงอีก 45% ต้องทำงานวันละกว่า 12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน


 


ในงานวิจัยดังกล่าว ได้เน้นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการทำงานที่มีการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี


 


ด้านแรงงานข้ามชาติเอง พบว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงและการแปรรูปปลาที่เคยพบเห็นผู้ตรวจแรงงานไทยในสถานประกอบการ นอกจากนี้ แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้คุ้มครองแรงงานลูกเรือหาปลาหรือแรงงานรับใช้ในบ้านด้วย


 


แรงงานส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด และแม้ว่าความจริงข้อนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ก็ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายไทย


 


งานวิจัยฉบับนี้ กล่าวถึงปัญหาที่น่าเป็นห่วงนั่นคือ ทัศนคติของนายจ้างที่มีต่อแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะในเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง โดยนายจ้างมากกว่าครึ่งให้สัมภาษณ์กับนักวิจัยว่า เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า "กักแรงงานไว้ในตอนกลางคืนเพื่อไม่ให้หลบหนีไปไหน" ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน 8% ยืนยันว่าเคยถูกนายจ้างกักตัว


 


นายจ้างคนไทยจำนวนมากนิยมจ้างแรงงานเด็กและแรงงานเด็กต่างชาติที่อายุน้อย เนื่องจากเชื่อว่าเด็กเหล่านี้เชื่อฟังและควบคุมง่าย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยระบุว่า เด็กพวกนี้ไม่ได้ถูกค้ามนุษย์โดยผู้จัดหาแรงงาน ทั้งนี้ มีแรงงานที่ให้สัมภาษณ์น้อยกว่า 10% ได้งานผ่านผู้จัดหาแรงงาน


 


สำหรับแรงงานข้ามชาติในไทยนั้นส่วนใหญ่มาจากพม่า กัมพูชา และลาว โดยแรงงานหนุ่มสาวพม่ามักทำงานในภาคการผลิตขนาดเล็กและในโรงงานอุตสาหกรรมประมงประเภทต่อเนื่องในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนภาคแรงงานรับใช้ในบ้านนั้นมักเป็นเด็กหญิงและหญิงสาวชาวพม่า (หมายเหตุ—งานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมเน้นการศึกษาแรงงานพม่าในจังหวัดเชียงใหม่และตาก)


 


ในกลุ่มแรงงานรับใช้ในบ้านนั้น 60% ถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านและ/หรือต้อนรับแขก ทำให้ต้องอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวและต้องพึ่งพานายจ้างแต่เพียงอย่างเดียว


 


ในขณะที่แรงงานข้ามชาติหลายคนที่ให้สัมภาษณ์เป็นแรงงานที่เข้าเมืองและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างพาไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกับหน่วยงานของรัฐ แต่ก็มีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (ไม่ได้ขึ้นทะเบียน) การที่แรงงานเหล่านี้ไม่มีเอกสารขึ้นทะเบียนทำให้เสี่ยงต่อการถูกกระทำโดยมิชอบจากนายจ้าง เช่น ถูกข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ขณะเดียวกัน พบว่า แม้แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้วก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการถูกนายจ้างจำกัดพื้นที่ไม่ให้ไปไหนมาไหน


 


งานวิจัยระบุว่า โดยภาพรวม  แรงงานในภาคเกษตรมีปัญหาน้อยที่สุด แต่แรงงานที่ทำงานบนเรือประมงมักถูกนายจ้างยึดบัตรประจำตัว/ใบอนุญาตทำงานไว้


 


งานวิจัยชี้ว่า ผู้จัดหาแรงงานมีบทบาทสำคัญค่อนข้างมาก ในการทำให้แรงงานข้ามชาติถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งการแสวงหาประโยชน์นี้มักเกิดจากนายจ้างเป็นสำคัญ ในขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้พูดถึงการจัดหางานสำหรับแรงงานรับใช้ในบ้าน แต่ในอีก 3 ภาคที่เหลือพบว่า มีแรงงานข้ามชาติเพียง 1 ใน 10 ที่ระบุว่าใช้บริการของผู้จัดหางาน


 


ข้อค้นพบ ระบุว่า ในกรณีที่ใช้ผู้จัดหางาน ผู้จัดหางานจะมีบทบาทช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเช่นกัน อาทิ ให้บริการโดยคิดค่านายหน้าหรือค่าป่วยการในการเป็นธุระต่างๆ ให้ เช่น ส่งเงินกลับบ้านและเป็นตัวกลางติดต่อกับญาติพี่น้องที่บ้านในประเทศของแรงงานข้ามชาติ ผู้จัดหาบางคนยังช่วยเจรจาให้แรงงานได้รับค่าจ้างสูงขึ้น มีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น หรือสามารถนำตัวแรงงานข้ามชาติออกจากสถานประกอบการที่แรงงานข้ามชาติถูกกระทำมิชอบ


 


ในรายงานฉบับนี้ มีข้อเสนอแนะ 29 ข้อแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์กรนายจ้างและลูกจ้างทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มประชาสังคม


 


โดยข้อเรียกร้องให้ดำเนินการนั้น มีทั้งให้ปรับปรุงการคุ้มครองแรงงาน ให้นายจ้างยุติการยึดเอกสารสำคัญของแรงงาน ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อยุติการกระทำอันมิชอบของนายจ้าง ให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ จัดให้มีกลไกแจ้งข้อร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติที่รู้สึกว่า ถูกโกงหรือถูกกระทำโดยมิชอบ ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น ส่งเสริมช่องทางการย้ายถิ่นฐานที่สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากและปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างกระทำการอันมิชอบกับคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง และเพื่อส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้าประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายและปลอดภัย นอกจากนั้น เรียกร้องให้ยอมรับแรงงานในภาคเกษตร แรงงานรับใช้ในบ้าน และแรงงานประมงเป็นการจ้างงานในกรอบนิยามของพ.ร.บ.ป้องกันแรงงานด้วย


 


 


หมายเหตุ -- รายงานงานวิจัย "ความท้าทายที่ลุ่มน้ำโขง: การจ้างแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย: งานหนัก จ่ายน้อย และไม่ได้รับการคุ้มครอง" สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.childtrafficking.net


     


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net