Skip to main content
sharethis


สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานอันเฟรลเครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรีแห่งเอเชีย**

 


ในโอกาสที่ อาเจะห์ได้มีการเลือกตั้งวันที่ 11 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของการยุติความรุนแรงอีกมุมหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยซึ่งร่วมทีมสังเกตการณ์นานาชาติของอันเฟล


 


(เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี) ได้ถือโอกาสสัมภาษณ์ผู้นำคนสำคัญของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเอกราชจังหวัด อาเจะห์ หรือที่เรียกกลุ่มนี้ว่า GAM การพูดคุยกับ นาย Sofyan Dawood ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการการสู้รบใต้ดินกับรัฐบาลอินโดนีเชียมาเป็นเวลาสามสิบปี ได้เปิดโอกาสให้ผู้สังเกตการณ์ไทยรับรู้ถึงปัญหาของ อาเจะห์ในเชิงเปรียบเทียบที่อาจจะช่วยหาทางออกให้กับดินแดนที่เขาเรียกว่า ปัตตานี หรือสามจังหวัดมุสลิมภาคใต้ของไทย หลังจากอาเจะห์ลงนามกับรัฐบาลอินโดนีเชียในสัญญาหยุดยิงวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ที่กรุงเฮลซิงกิ โดยมีรัฐบาลฟินแลนด์เป็นคนกลางและเป็นเจ้าภาพให้ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาลุล่วงไปด้วยดี ทำให้บรรยากาศปัจจุบันปลอดจากความหวาดกลัว และไม่มีทหาร TNI ออกมาให้เห็นดังเช่นในอดีต อีกทั้งยังทำให้เราสามารถเดินทางไปพูดคุยกับทุกฝ่ายและได้เปิดทางให้สัมภาษณ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ซึนามิได้อย่างสะดวกมากขึ้น


 


รัฐบาลอินโดนีเชียยอมให้ อาเจะห์ปกครองตนเองและบริหารทรัพยากรธรรมชาติเองได้ และยอมให้การเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดและผู้ว่าการตำบลเกิดขึ้น ทำให้สมาชิก GAM ลงแข่งขันเลือกตั้งได้อย่างอิสระ และสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองหลังจากนี้เพื่อลงแข่งเป็น สส. ได้ในอีกสามปีข้างหน้า นาย Sofyan Dawood ถูกแต่งตั้งให้เป็นโฆษกของ GAM เขาได้ตอบคำถามต่างๆอย่างน่าสนใจซึ่งผู้เขียนได้คัดย่อมาบางส่วนดังนี้


 


รู้สึกอย่างไรเมื่อต้องหันมาต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่มีอาวุธอยู่ในมือ และอาวุธของคุณถูกทำลายไปแล้ว


มันเป็นข้อตกลงเพื่อความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ที่เราลงนามร่วมกับรัฐบาลฟินแลนด์และอินโดนีเซียว่าทั้งสองฝ่ายต้องการหยุดยิงและยุติการสูญเสียของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียทหารที่รัฐบาลอินโดนีเซียส่งเข้ามาปราบปรามคน อาเจะห์เองหรือทหารของนักสู้เพื่อเอกราชของ GAM ซึ่งรวมถึงชาวบ้านทั่วไปด้วย ขณะนี้เรายึดมั่นใน MOU และพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้มีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนการที่ต้องใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีปืนแนบข้างอีกต่อไปนั้นทำให้เรารู้สึกขาดเพื่อนที่ซื่อสัตย์ไปเหมือนกัน


 


เหตุใดต้องออกมาประกาศด้วยว่า GAM ไม่ได้ส่งตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งในนามของ GAM


ก็เพราะว่าเราต้องการให้ประชาชนรู้สึกสบายใจว่า GAM เป็นกลางจะไม่มีการทำให้เกิดความระแวงว่า


GAM จะใช้ความรุนแรงในการเอาชนะเลือกตั้ง แต่แน่นอน ถ้าคุณถามผมว่าผมจะเลือกใคร ผมก็ต้องบอกตรงไปตรงมาว่าผมเลือกผู้สมัครที่อดีตเคยเป็น GAM มาก่อนแน่นอน เพราะผมถือว่าพวกเขาเข้าใจความต้องการของประชาชนมากกว่าผู้สมัครที่มาจากพรรคการเมืองคนอื่นๆ


 


หากคุณไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว ท่านจะหันกลับมาใช้ความรุนแรงอีกหรือไม่ และยังคิดจะต่อสู้เพื่อให้เป็นประเทศ อาเจะห์อีก ไหม


ถ้าไม่ชนะเลย เราก็ยังต้องเดินหน้าจัดตั้งพรรคต่อไปเพื่อการเลือกตั้งระดับประเทศในปี 2552 เพื่อให้มี สส.เป็นผู้แทนจาก อาเจะห์เข้าไปนั่งในสภา ผมเชื่อว่าคนอาเจะห์อยากจะให้ดินแดนของเราเป็นประเทศเพราะเราเคยเป็นเอกราชมาก่อน แต่เมื่อชาวดัชส์ (เจ้าอาณานิคม) ในสมัยนั้นได้ยกดินแดนนี้ให้อินโดนีเชียโดยไม่ปรึกษาคน อาเจะห์แม้แต่น้อย ทำให้เราต้องต่อสู้เรียกคืนความเป็นเอกราช เราอยากจะเป็นประเทศ อาเจะห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนตัดสินใจในอนาคตของตนเองด้วย


 


คุณทราบใช่ไหมว่าประเทศไทยมีปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้


ผมทราบ และเรารู้มาตลอด ญาติๆของคนอาเจะห์ก็อยู่ที่ปัตตานี (หมายถึงยะลา ปัตตานี นราธิวาส)


 


ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยมีรัฐประหาร ผู้นำรัฐประหารเป็นคนมุสลิม เรามีรัฐบาลใหม่และมีการขอโทษคนมุสลิมเมื่อไม่นานมานี้


ผมทราบปัญหาความรุนแรงที่ปัตตานี ได้ข่าวการรัฐประหาร แต่การขอโทษคนมุสลิมเท่านั้นมันไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้ในชั่วข้ามคืน


 


ในความเห็นของคุณ ความรุนแรงที่ปัตตานีจะยุติได้อย่างไร


ปัญหาปัตตานีกับปัญหา อาเจะห์ มีความคล้ายกันและต่างกัน เราต้องแก้ปัญหาโดยให้ความช่วยเหลือคนมุสลิมให้มาก ให้เขาอยู่อย่างมุสลิมให้ได้ และต้องให้ความเป็นธรรมและความมั่นคงไม่เลือกปฏิบัติ


 


คุณคิดว่าเขาต้องการแยกเป็นอิสระอย่างอาเจะห์หรือไม่


ผมไม่เชื่อเช่นนั้น ผมคิดว่าเขาไม่ได้ต้องการแยกเป็นอิสระ แต่ต้องการมีความเป็นมุสลิมที่มีศาสนาเป็นของตนเอง ได้รับการพัฒนา มีงานทำ มีการศึกษา และได้รับการเคารพจากคนศาสนาอื่น ถ้าคุณมีโอกาสเดินทางไปในชนบทของปัตตานี จะเห็นว่าพวกเขายากจนไม่ต่างจาก อาเจะห์ ถ้ารัฐบาลสามารถช่วยเหลือเขา และให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้ พวกเขาก็คงไม่คิดจะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล หรือสร้างความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกับกลุ่ม GAM ถ้ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่เข่นฆ่า กดขี่คน อาเจะห์ พวกผมคงไม่สามารถระดมพวกชาวนาชาวไร่มาเป็นพวกได้แน่นอน


 


จะทำอย่างไรให้คนมุสลิมรู้สึกได้ว่าตนเริ่มได้รับความเป็นธรรม


รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนแตกต่างจากรัฐบาลชุดเดิม ให้ความสำคัญกับปัญหาปัตตานีซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สุดของชาติ ผมคิดว่าหากสามารถจับผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ได้สัก 2-3 คนไปขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ให้คนมุสลิมเห็นว่ารัฐบาลเอาจริง ก็น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ความจริงประเทศไทยยังละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าอินโดนีเซีย น่าจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาปัตตานีได้ดีกว่า


 


เห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอประเทศมาเลเซียมีส่วนในการแก้ปัญหาปัตตานี


ผมคิดว่าอย่าเอาประเทศมุสลิมด้วยกันไปร่วมแก้ปัญหาเลย มันไม่มีประโยชน์ เอาประเทศที่เป็นกลางดีกว่า เพราะรัฐบาลมาเลย์ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ผมเคยติดคุกที่มาเลเซีย และถูกทรมานมาแล้ว ถ้าให้มาเลเซียมาช่วยแก้ปัญหาอาเจะห์ ผมคงไม่เอา


 


คุณจะคิดว่าอย่างไรถ้ามีการมองว่า อาเจะห์มีส่วนในการส่งอาวุธไปปัตตานี


ความจริงการเดินทางจาก อาเจะห์ไปปัตตานีนั้นมันง่ายมาก ผมสามารถเดินทางทางเรือไปปัตตานี้ได้ 3-4 ครั้งในรอบหนึ่งเดือนโดยไม่มีหนังสือเดินทางด้วยซ้ำไป ในปัตตานียังมีอาวุธอยู่มากมาย GAM ต่างหากที่ถูกยึดอาวุธไปแล้ว และเผาไปแล้ว


 


เท่ากับว่าพวกคุณใน อาเจะห์ขาดอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลกลางแล้วใช่หรือไม่


คนอาเจะห์ยังสนับสนุนพวกเรามากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เรามีเป้าหมายชัดเจนในการเป็นพรรคการเมืองที่


ถูกกฏหมาย ที่คอยการเลือกตั้งใหญ่ในอีกสามปีข้างหน้า ภาระกิจของเราไม่ใช่เอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ เท่านั้น แต่เราต้องการเข้าไปนั่งในสภาระดับชาติ


 


ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีการอโหสิกรรมให้กันและกันแล้วใช่ไหม หมายถึงทหารอินโดนีเซีย TNI และกลุ่มนักสู้ของ GAM


ใช่ แต่ปัญหายังมีอยู่คือคนของ GAM ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก 16 คนและยังถูกขังที่คุกที่จาร์กาต้า ทั้งๆที่สัญญาข้อตกลงเฮลซิงกิระบุชัดเจนว่าต้องนิรโทษกรรมทุกคนทุกฝ่าย ส่วนข้อตกลงที่จะให้ที่ทำกินและค่าชดเชยกับคน 3000 คนก็ยังไม่เป็นจริง อีกทั้งนโยบาย 6 ข้อยังอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลกลางอินโดนีเชีย เช่น เรื่องของศาสนา การเงิน การต่างประเทศ


 


ขอบคุณที่ให้เวลาพูดคุยกับเรา หวังว่าคงได้มีโอกาสเชิญไปร่วมสัมมนาที่กรุงเทพฯ ในความร่วมมือแก้ปัญหาภาคใต้ของไทยบ้าง


ผมยินดี และขอบคุณที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งนี้ ขอให้ทุกคนปลอดภัย


 


000                                         


 


หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรี -อันเฟรล (Asian Network for Free Elections) ได้นำทีมนักสังเกตการณ์การเลือกตั้งจำนวน 10 คน จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียได้แก่ศรีลังกา บังคลาเทศ อินเดีย เกาหลีใต้ ปากีสถาน สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นในระดับจังหวัดและตำบลโดยตรงเป็นครั้งแรกของ อาเจะห์ภายหลังการยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 30 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา รายงานสัมภาษณ์ฉบับนี้คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพเห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นมุมมองที่น่าสนใจจึงนำมาเผยแพร่ต่อไป ขอขอบคุณอัลเฟรลมา ณ โอกาสนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net