Skip to main content
sharethis

15 ธ.ค. 2549 ชาวเขาลีซูเวียงแหงโล่งอก หลังกรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่ประชุมร่วมส่วนราชการ ได้ข้อสรุปตั้งคณะกก.ศึกษาข้อมูลเท็จจริงอย่างรอบด้าน ระหว่างนี้ยุติการอพยพ ชาวบ้านห้ามขยายพื้นที่ทำกิน-สร้างบ้านเรือนเพิ่ม


 



เมื่อวันที่12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 ได้จัดประชุมหารือกรณีการอพยพชาวบ้านนาอ่อน ม.1 ต.เปียงหลวง ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซู โดยที่ผ่านมานั้น กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 มีนโยบายอพยพชาวบ้านนาอ่อนออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางป่า อีกทั้งตัวหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ และยังอยู่ในเขตพื้นที่ของสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม ดังนั้นภายใต้นโยบายการจัดระเบียบชุมชนของสถานีฯ จำเป็นต้องอพยพชาวบ้านนาอ่อนทั้งหมดออก


กรณีที่เกิดขึ้น ได้รับการทักท้วงจากองค์กรสิทธิมนุษยชนด้านชนเผ่า เช่น ศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) เครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการอพยพ ดังนั้นจึงมีการหารือร่วมกันในครั้งนี้ โดยในที่ประชุมมีตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งอำเภอเวียงแหง สำนักบริหารจัดการและอนุรักษ์ที่ 16 ผกก.สภ.อ.เวียงแหง อุทยานฯเชียงดาว กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 รวมทั้งตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และชาวบ้านนาอ่อนที่จะถูกอพยพทั้ง 13 ครัวเรือนเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง


 



พ.อ.เกษม วังสุนทร ผช.ผอ.โครงการฯ ทำการแทน ผอ.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 แจงว่า เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวมีแค่ 2 ชุมชนคือชุมชนแปกแซมกับชุมชนหินแตว ต่อมาชาวบ้านในชุมชนทั้งสองได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่บริเวณบ้านนาอ่อนเดิมทีไปกัน 7 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 12 หลังคาเรือน ขณะที่พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านอยู่ในเขตสถานีฯ ซึ่งสถานีก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2543 ในเนื้อที่กว่า 19,000 ไร่ และมีกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นตนวิตกว่าในอนาคตหากปล่อยไว้เช่นนี้โดยไม่จัดการใดๆแล้วชุมชนอาจมีการขยายตัวและมีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น


"ปัญหานี้มีการหารือมาหลายครั้งแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ครั้งนี้กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 ดำเนินการภายใต้ภาระกิจของสถานีฯที่ระบุถึงอำนาจที่สามารถจัดระเบียบชุมชนได้ เรื่องนี้ต้องมองชาติเป็นที่ตั้ง ต้องเอาพื้นที่นาอ่อนมาเป็นผืนป่าเหมือนเดิม ชาวบ้านต้องออกไป ต้องอยู่ในกรอบกติกา หากปล่อยไว้ก็จะมีปัญหาบุกรุกพื้นที่อื่นๆต่อไปอีก" พ.อ.เกษม กล่าว


นายยาหวู่ นูลา ผู้เฒ่าอาวุโสวัย 74 ปีจากบ้านนาอ่อน กล่าวว่า ตนเป็นคนดั้งเดิมและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหมู่บ้านนาอ่อนเมื่อปี 2535 ช่วงนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานราชการใดๆ ทั้งอุทยานฯ รวมทั้งสถานีฯเข้าไปจัดการ แต่เมื่อชุมชนตั้งถิ่นฐานไปได้ประมาณ 7 ปีสถานีฯก็เข้าไปดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านโดยไม่มีการกันพื้นที่หมู่บ้านออกจากแนวเขตแต่อย่างใด และต่อมาทางสถานีฯยังพยายามผลักดันอพยพชาวบ้านออกไปจากพื้นที่อีกโดยไม่มีพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ชัดเจน บอกเพียงแต่ว่าจะให้อพยพไปอยู่ที่บ้านแปกแซมแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นส่วนไหนของบ้านแปกแซม อีกทั้งยังไม่รู้ว่าพื้นที่ทำกินที่จะจัดสรรให้ชาวบ้านนั้นเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นชาวบ้านจะอยู่ที่นี่ต่อไปเพราะเชื่อว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการจัดตั้งสถานีฯ


นายแอะต๊ะเป สินโล่ แกนนำชาวบ้านนาอ่อน กล่าวว่า ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นราชการหลายส่วน โดยเฉพาะอำเภอพยายามอพยพชาวบ้านนาอ่อนมาแล้วหลายครั้ง แต่ติดขัดที่หาสถานที่รองรับชาวบ้านไม่ได้ ดังนั้นทางอำเภอจึงให้ชาวบ้านอยู่ต่อจนกว่าจะหาสถานที่รองรับใหม่ให้ แต่เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กลับมีคำสั่งให้ชาวบ้านอพยพออก ทั้งยังกล่าวหาว่าชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงสามารถตรวจสอบได้ เพราะเมื่อป่าบริเวณนี้ถูกทำลายเจ้าหน้าที่มักกล่าวหาว่าชาวบ้านนาอ่อนเป็นผู้กระทำอยู่เสมอ โดยที่ไม่เคยตรวจสอบและสาวให้ถึงตัวการที่แท้จริงว่าเป็นคนจากหมู่บ้านอื่นหรือเป็นคนเมืองจากพื้นราบเป็นคนทำ


นายแอะต๊ะเป กล่าวต่อว่า เรื่องสถานที่รองรับหลังการอพยพก็เช่นเดียวกันที่ผ่านมาไม่เคยมีความชัดเจนว่าจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน ขณะที่ครั้งนี้บอกแค่ว่าจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่บ้านแปกแซม แต่ที่ตนทราบพบว่าหมู่บ้านแปกแซมนั้นพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสมนั้นแทบไม่มี เพราะส่วนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้นั้นชาวบ้านแปกแซมจับจองกันหมดแล้ว ซึ่งกรณีนี้ราชการก็ยังไม่มีคำตอบกับชาวบ้านว่าจะเอาอย่างไร อย่างไรก็ตามจุดยืนของชาวบ้านนาอ่อนต่อกรณีดังกล่าวคือชาวบ้านต้องการให้เจ้าหน้าที่มากันแนวเขตพื้นที่หมู่บ้านออกจากสถานีฯ และต้องให้ชาวบ้านต้องอาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้ต่อไป



นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัตร ผอ.สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน ในฐานะอนุกรรมการประสานงานฐานทรัพยากรด้านสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมาทางกรรมการสิทธิฯได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านและมอบหมายให้ตนเข้ามาตรวจสอบข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้รับพบว่าราชการเองนั้นมีเจตนาที่ดีในการรักษาป่า แต่ทั้งนี้การดำเนินการต้องไม่ไปละเมิดสิทธิชุมชน รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้าน ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความรอบคอบและเป็นธรรมในการดำเนินการ จะใช้หลักกฎหมายอย่างเดียวมาจัดการไม่ได้


นอกจากนี้ นายชัยพันธุ์ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่บ้านนาอ่อนพบว่าชาวบ้านอยู่แบบพอเพียง มีที่ทำกินที่ไม่ใหญ่มากและสามารถพึ่งตนเองได้ ที่สำคัญชาวบ้านอาศัยตั้งถิ่นฐานมาก่อนที่หน่วยงานราชการจะเข้าไปดำเนินกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ ดังนั้นการออกคำสั่งให้ชาวบ้านอพยพออกชาวบ้านจึงคิดว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมกับเขา อีกทั้งพื้นที่รองรับภายหลังการอพยพนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากชาวบ้านเองอาจไม่มั่นใจในพื้นที่ใหม่ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรเหมือนพื้นที่เดิมได้หรือไม่ ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้ตนเห็นว่าราชการต้องเข้าใจชาวบ้านด้วย


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการประชุมหารือครั้งนี้ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่าเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากการอพยพชาวบ้าน ดังนั้นจึงเสนอแนวทางว่า 1.ให้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีองค์ประกอบคณะทำงานจาก 3 ภาคส่วน คือ ตัวแทนภาครัฐราชการ ตัวแทนคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนราษฎรในพื้นที่ โดยให้นายอำเภอเป็นประธานคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่เพื่อศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาและสถานะของที่ดินอันเป็นมูลเหตุกรณีอย่างรอบด้าน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมร่วมของทุกภาคส่วน และให้เสนอแนวทางเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นธรรมถูกต้องและพึงพอใจกับทุกฝ่าย โดยให้คณะทำงานฯมีระยะเวลาการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันทำการนับจากมีคำสั่งแต่งตั้ง


2.ระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานให้ราชการยุติการอพยพชาวบ้านจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ 3.ระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานให้ชาวบ้านยุติการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเพิ่มเติมและห้ามบุกรุกทำประโยชน์ที่ดินเพิ่มเติม แต่ในพื้นที่ทำกินเดิมชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ 4.ให้ชาวบ้านเป็นหูเป็นช่วยเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุหากมีการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมและสร้างความพอใจแก่ทุกฝ่าย.


 


ข่าวประกอบ


เวียงแหงป่วน โวย จนท.รัฐ ขู่ไล่อพยพคนทั้งหมู่บ้านออกจากพื้นที่


ชาวเขาเวียงแหงโล่งหลังเอ็นจีโอจี้อำเภอชะลออพยพ


 


 


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม http://www.newspnn.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net