Skip to main content
sharethis

ภาพหนึ่งภาพบอกอะไรเราได้บ้าง...วัน เวลา สถานที่ ความหมายของภาพ นอกเหนือไปจากสิ่งเหล่านี้ ภาพอาจสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของคนถ่าย ว่ากำลังมีความสุข สนุกสนาน หรือโศกเศร้า  


 


เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เด็กๆ กลุ่มหนึ่งก็มีโอกาสได้สื่อ "สาร" ผ่านผลงานศิลปะ อันประกอบด้วย ภาพถ่าย ภาพวาด ดนตรีและละครเวที ในงาน "เทศกาลศิลปะ: ฉันคือใคร ใยฉันจึงมี who am i why i am here" เพื่อสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจและยอมรับพวกเขามากขึ้น


 


ระหว่างที่ผลงานของเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังถูกจัดแสดง ไกลออกไป เด็กๆ อีกกลุ่มทางด้ามขวานของประเทศ ก็กำลังผลิตชิ้นงานกันอย่างสนุกสนาน โดยมีกล้องถ่ายรูปและปากกาเป็นเครื่องมือ


 


...แล้วเราก็ได้สัมผัสกับอีกหนึ่งศิลปะที่พกเอาวัฒนธรรมอันหลากหลายและกลิ่นอายทะเลติดมาด้วยในงานนิทรรศการแสดงภาพและเรื่องของเด็กๆ ในโครงการอินไซท์-เอาท์ (inSIGHT Out!)


 


ณัฐกานต์ สุมน ผู้ประสานงานโครงการฯ เล่าถึงที่มาของโครงการว่าเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของช่างภาพที่ลงไปทำข่าวสึนามิ โดยเลือกที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้เด็กๆ ที่ต้องสูญเสียครอบครัวหรือเพื่อนไปจากเหตุการณ์สึนามิ ด้วยการถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับศิลปะผ่านสิ่งที่พวกเขาถนัด นั่นคือ การถ่ายภาพและเล่าเรื่อง


 


แต่ไม่ใช่ว่า เมื่อคิดโครงการแล้วจะสามารถเริ่มทำได้เลย ณัฐกานต์เล่าว่า พวกเธอใช้เวลาวางแผน ขอทุน จากแหล่งทุนต่างๆ อยู่ 1 ปี จนได้เริ่มทำโครงการจริงๆ เมื่อเดือนธันวาคม 2548 โดยมีเด็กๆ อายุ 8-18 ปี จากบันดาอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย 64 คนและที่เขาหลัก ประเทศไทย 65 คนเข้าร่วม


 


"มีการทำเวิร์คชอป 3 ครั้งๆ ละ 10 วันในแต่ละที่ ครั้งแรกจะสอนพื้นฐานการถ่ายรูป โฟกัสเป็นอย่างไร แสงและเงาเป็นอย่างไร แล้วก็สอนเขียนคำบรรยายใต้ภาพง่ายๆ ครั้งที่สองให้ลองทำโฟโต้สตอรี่ คือ การเขียนเรื่องให้เข้ากับรูป จากนั้น พอครั้งที่สามก็จับทั้งหมดมาทำเป็นแมกกาซีน ทำให้ออกมาเป็นรูปเล่ม"


 


 




ภาพจาก http://www.insightout-project.org


 


 


สำหรับทีมงานที่เป็นตัวหลักนั้นมีอยู่ไม่ถึง 10 คน มีทั้งอาสาสมัคร เอ็นจีโอและคนในพื้นที่ แต่พอเวลามีเวิร์คชอปที คนจะเยอะขึ้น เพราะเด็กๆ มีกัน 5 กลุ่มๆ ละ 10 กว่าคน ก็ต้องมีตากล้อง 5 คน คนสอนเขียนเรื่องอีก 5 คน ถ้าคนไหนเป็นฝรั่งต้องมีล่ามอีก เพราะทีมงานมีกันหลายเชื้อชาติมาก ทั้งอเมริกัน ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ เราก็สื่อสารกันทุกวิธีที่มี


 


และเนื่องจากเธอเป็นผู้ประสานงานในไทย นอกจากความหลากหลายของทีมงานแล้ว เธอเห็นว่า เด็กๆ เองก็มีความหลากหลาย



"ที่นี่ (เขาหลัก) มี 4 ชุมชนซึ่งพิเศษมาก เพราะที่โรงเรียนบ้านนาม่วงเป็นไทยพุทธ โรงเรียนบ้านในไร่เป็นไทยมุสลิม มีหมู่บ้านทุ่งหว้าเป็นหมู่บ้านของคนมอแกน นอกจากนี้ เรายังทำงานกับกลุ่ม "Grassroot Human right and Education" ซึ่งเป็นเอ็นจีโอของพม่าที่สอนหนังสือให้เด็กพม่า เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมจะหลากหลายมาก"


 



ถ่ายโดย ด.ช.อ่อง วิน เฮย์ อายุ 9 ปี


 


แม้จะมีเด็กๆ หลายเชื้อชาติมาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ก็ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น


 


"วันแรกๆ เด็กๆ อาจเขินอายกันบ้าง เพราะแปลกหน้าต่อกัน แต่หลังๆ พอรู้ว่าจะมาเวิร์คชอป ก็จะรู้สึกว่าจะได้มาเจอเพื่อนๆ ครั้งหนึ่ง น้องสัญชาติพม่าคนหนึ่งทำเรื่องแป้งทานาคา แล้วเขาก็เอาของจริงมาให้ดูว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่แป้ง แต่เป็นเปลือกไม้กับหินบดแล้วก็ทาหน้า ตอนที่เขาออกไปพรีเซนต์และถามว่าใครอยากลองทาบ้าง คนก็กรูกันเข้าไปลองเอาแป้งมาทาหน้า วินาทีนั้นทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีแบ่งว่าใครเป็นพม่า เป็นไทยพุทธเป็นมุสลิม หรือเป็นมอแกน"


 


 "จริงๆ แล้ว คิดว่าความขัดแย้งเป็นของผู้ใหญ่มากกว่า ตัวอย่างเช่น เราทำเรื่องขอใช้ห้องโถงของโรงเรียน โดยที่เรามีเด็กสัญชาติพม่าด้วย เขาก็ห้าม บอกว่า ไม่อยากมีปัญหา เราก็บอกว่า เด็กก็คือเด็ก เขาไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร ผู้ใหญ่ต่างหากที่ไปใส่สีให้เขา ว่าเป็นคนละเชื้อชาติ อย่าไปยุ่งกัน และในที่สุด น้องสัญชาติพม่าก็ได้เข้าไปใช้สถานที่"


 




ถ่ายโดย ด.ช.อนุสรณ์ นาวารักษ์ อายุ 9 ปี


 


ณัฐกานต์ บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ หลังจากเข้าร่วมโครงการว่า พวกเด็กๆ มีความมั่นใจมากขึ้น


 


"ตอนที่เกิดสึนามิใหม่ๆ ทุกคนก็ไปทำเรื่องของพวกเขา ไปสัมภาษณ์ ถ่ายรูปเขาตลอด แต่ว่าขณะนี้เราให้เครื่องมือเขา สามารถไปถ่ายคนที่มาถ่ายเขาอีกทีหนึ่ง หรืออาจจะไปถ่ายฝรั่งที่มาในเมือง คือเราให้อิสระเขาในการคิดการทำ และระหว่างที่ทำ ถ้าอยากเขียนเรื่องก็ต้องไปสัมภาษณ์ เด็กๆ ก็ได้ออกไปคุยกับผู้คน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้พวกเขา ได้ชื่นชมกับตัวเองว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ทำได้ ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้นและกล้าแสดงออกมากขึ้น


 


นอกจากนั้นแล้ว เด็กๆ ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกันผ่านการทำกิจกรรมด้วย อย่างการเขียนโปสการ์ดคุยกันของเด็กทั้งสองที่ ก็นับเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง อย่างเด็กอาเจะห์ก็จะบอกให้พระเจ้าอวยพรคุณ


 



ถ่ายโดย ด.ญ.กาบแก้ว ลีบำรุง อายุ 11 ปี


 


สำหรับการจัดนิทรรศการแสดงผลงานในครั้งนี้ มีโปสการ์ดและรูปให้เลือกซื้อด้วย โดยเธอบอกว่า เงินที่ได้จะมาสนับสนุนการทำโครงการต่อ


 


"หลังจากนี้คาดว่าจะส่งต่อให้กับเอ็นจีโอในพื้นที่ ให้เขาไปทำต่อตามที่เขาอยากให้มันเป็น เขาพอใจให้มันเป็นยังไงเราก็พอใจให้มันเป็นอย่างนั้น เราก็ช่วยส่งให้อยู่ในมือเขา ช่วยประสานกับแหล่งทุนให้ว่าใครสนใจจะให้ทุนต่อ"


 


"หลังจากวันที่ 20 แล้วจะไปจัดแสดงที่สถาบันเกอเธ่ จากนั้นส่งไปซานฟรานซิสโก Open Society Institue (OSI) หนึ่งในผู้ให้ทุนก็บอกว่าอยากให้ไปที่เซนต์หลุยส์ ซึ่งเป็นเมืองที่โดนพายุแคทรีน่า และมีแผนจะไปที่บาเซโลน่า ประเทศสเปนด้วย นอกจากนี้ยังวางแผนจะจัดในพื้นที่ประสบภัยด้วย อยากให้คนพังงานได้ภูมิใจในลูกหลานของเขาว่า เด็กๆ ทำได้นะ ไม่ใช่ว่าอยู่ไกลจากเมืองแล้วจะทำไม่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้" ณัฐกานต์กล่าว


 



 


…………………….


หมายเหตุ


*นิทรรศการ inSIGHT Out! Photography and Story Exhibition จัดแสดงในวันที่ 8-20 ธ.ค. 2549ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) อาคารมณียา ใกล้สถานีรถไฟฟ้าชิดลม


 


*ข้อมูลเพิ่มเติมและดูผลงานในโครงการได้ที่ http://www.insightout-project.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net