Skip to main content
sharethis

คงไม่มีใครเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของญาติผู้ถูกอุ้มหายได้ดี เท่ากับคนที่มีญาติถูกอุ้มหายด้วยกัน


 


ความรู้สึกโศกเศร้า เสียใจ เมื่อรู้ว่ามีญาติใกล้ชิดหายตัวไป และยิ่งโกรธแค้นเจ็บลึก เมื่อรู้ว่าการหายตัวไปดังกล่าวเกิดขึ้นโดยฝีมือของบุคคลบางกลุ่ม อาการดังกล่าวยากเกินกว่าจะเยียวให้หายไปได้ง่ายๆ


 


ระหว่างวันที่ 11 - 13 ธันวาคม 2549 ที่เทพาบีช รีสอร์ท แอนด์คันทรีคลับ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ที่มีนางอังคนา นีละไพจิตร เป็นประธาน ร่วมกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) สมาพันธ์ต่อต้านคนหายแห่งเอเชีย (AFAD) จึงได้ร่วมกันจัดโครงการเยียวยาจิตใจญาติผู้สูญหายขึ้น โดยมีญาติผู้สูญหาย 16 ราย เข้าร่วม


 


"ที่ผ่านมามีกระบวนการเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่มีกระบวนการเยียวยาญาติผู้สูญหายโดยตรง"


 


เป็นคำบอกเล่าของนางอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งอีกฐานะเธอ คือ ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความชาวมุสลิมผู้ตกเป็น 1 ในเหยื่อที่ถูกอุ้มหาย


 


การจัดโครงการครั้งนี้ นอกจากจะมุ่งหวังการเยียวยาจิตใจญาติผู้สูญหายแล้ว นางอังคณา นีละไพจิตร บอกว่า เป้าหมายสำคัญอยู่ที่สร้างเครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ช่วยเหลือดูแลกันเอง และให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆ โดยเฉพาะญาติผู้สูญหายรายใหม่ๆ


 


ด้วยเชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจญาติผู้สูญหาย เท่ากับคนที่มีญาติสูญหายด้วยกัน


 


ในช่วงเวลา 3 วัน ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าร่วมกระบวนการเยียวยาโดยใช้หลักการทางด้านจิตวิทยา มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟิลิปปินส์เป็นวิทยากร ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่นับถือศรัทธา


 


นั่นคือ เชื่อมั่นว่า พระผู้เป็นเจ้า กำลังให้ความคุ้มครองญาติที่สูญหายไป เป็นต้น


หลังผ่านกระบวนการเยียวโดยใช้วิธีการทางด้านจิตวิทยาแล้ว กลุ่มญาติผู้สูญหายได้ร่วมกันตั้งเครือข่ายหลวมๆ แยกออกเป็น 2 กลุ่ม


 


กลุ่มแรก เป็นญาติที่ใกล้ชิดกับผู้สูญหาย หรือภรรยาของผู้สูญหาย ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือญาติผู้สูญหายคนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา รวมทั้งช่วยดูแลญาติผู้สูญหายรายใหม่


 


อีกกลุ่ม คือ กลุ่มญาติและองค์กรต่างๆ ที่คอยให้ความช่วยเหลือ กลุ่มนี้จะให้การสนับสนุนด้านต่างๆ แก่กลุ่มผู้สูญเสีย


 


สำหรับการช่วยเหลือเฉพาะหน้าในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะญาติผู้สูญหาย 6 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ที่สิ้นสุดภารกิจ เนื่องจากรัฐบาลถูกรัฐประหาร


 


ในส่วนนี้ จะประสานไปยังคุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความช่วยเหลือต่อไป


 


นางเซซิเลีย ลีออนนัก นักจิตวิทยาชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นวิทยากรโครงการเยียวยาญาติผู้สูญหายครั้งนี้ บอกว่าการเยียวยาจิตใจญาติคนหาย ยากที่จะประเมินผลว่า มีสภาพจิตใจเป็นปกติเหมือนคนทั่วไปหรือไม่ เพียงแต่รู้สึกได้ว่าดีขึ้น เพราะข้ามพ้นอารมณ์โศกเศร้าเสียใจไปได้


 


เมื่อข้ามพ้นอารมณ์โศกเศร้าเสียใจ เคียดแค้น โกรธไปได้ ก็จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างคนปกติทั่วไป จะเห็นได้ว่าญาติผู้สูญหายจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย พัฒนาไปได้ระดับหนึ่งแล้ว และคนเหล่านี้สามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้อีกด้วย


 


ถ้าเทียบกรณีการสูญหายของคนในประเทศไทย จะต่างกับที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะที่นั่นผู้สูญหายจำนวนมากมีสาเหตุมาจากการเมือง ที่หายตัวเป็นระลอก นับตั้งแต่ช่วงปีคริสตศักราช 1972 - 1974 ช่วงปี 1986 และช่วงปี 1997 - 1998 รวมแล้วมีคนหายหลายร้อยคน ส่วนในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศที่มีปัญหาการสู้รบของกลุ่มกบฏชาวมุสลิม มีคนหายจำนวนไม่มาก


 


จากปัญหาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดองค์กรปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งขึ้นในชุมชุนต่างๆ ในประเทศฟิลิปปินส์ รวมทั้งการรวมกลุ่มกันของญาติผู้ถูกอุ้มหายไป อย่างเช่น องค์กรFIND ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันและจัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นมา เป็นคนในครอบครัวคนหายที่มีชื่อเสียงครอบครัวหนึ่ง


 


องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือญาติของคนที่ถูกอุ้มหายไป ทั้งเรื่องการให้เงินช่วยเหลือ หรือการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ปัจจุบันนับว่าเป็นองค์กรใหญ่องค์การหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์


 


การที่มีองค์การชุมชนทางด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งมาก มีส่วนในการผลักดันให้รัฐสภาของฟิลิปปินส์แก้ไขกฎหมายโดยระบุว่าการอุ้มนั้นเป็นความผิดอาญา และมีกลไกในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบขึ้นมาด้วย


 


ถึงกระนั้น ปัจจุบันนี้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์กลับเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งไม่ใช่การอุ้ม แต่เป็นการฆ่านอกระบบกฎหมาย คล้ายกับการฆ่าตัดตอนในประเทศไทย โดยในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีคนถูกฆ่าตายไปแล้วกว่า 700 คน และไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีทางกฎหมาย จนมีการเรียกร้องให้มีการสอบสวนในเรื่องนี้กันแล้วในที่ประชุมรัฐสภาของฟิลิปปินส์


 


ย้อนกลับมาที่เมืองไทย นางแอเซาะ มะแตหะ ภรรยาของนายอิบรอเฮ็ม กายอ ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2547 มาร่วมงานครั้งนี้ ด้วยความรู้สึกความเดือดร้อนทางร่างกายไม่เท่าความเจ็บที่อยู่ในใจ


 


เมื่อมีคนพูดถึงสามีทีไร จะโกรธเจ้าหน้าที่รัฐทุกครั้ง เจ็บใจทหารที่รับปากว่าจะช่วย แต่ไม่เห็นอะไรซักอย่าง สาเหตุที่โกรธเพราะมีคนมาจับตัวสามีไปซึ่งๆ หน้า แต่วันนี้ 3 ปีผ่านไป เธอไม่โกรธใครแล้ว


 


เธอบอกอีกว่ารู้สึกสบายจนถึงขั้นลืมเรื่องราวที่เลวร้ายไปแล้ว เหลือก็แต่ยังรำลึกถึงสามีอยู่ตลอดเวลา


 


เธอเล่าเหตุการณ์ตอนที่สามีถูกอุ้มว่า ช่วงบ่ายของวันเกิดเหตุ นายบูดีมัน วอนิ อายุ 27 ปี บ้านอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลบันนังสตา จังหวัดยะลา มาขอยืมเงิน 60 บาท จะเอาไปใส่น้ำมันรถ


 


พอตกกลางคืน ประมาณตี 2 นายบูดีมันมาเคาะประตูเรียก บอกว่าจะเอาเงินมาคืน เราก็ตื่นแบบงงๆ กันอยู่ พอลงไปถึงชั้นล่างของบ้านกับสามี ไปเปิดประตู ก็มีชายฉกรรจ์หลายคน มีรถกระบะจอดอยู่หน้าบ้าน 2 คัน พวกเขาบอกว่าเป็นทหาร แล้วก็เอากุญแจมือใส่มือสามีบอกว่าจะเอาไปสอบสวน 3 วัน แล้วจะส่งกลับ


 


"เราก็ยังงงไม่หาย สับสนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และกลัวว่าสามีจะเป็นอะไรไป ครบ 3 วัน ก็ยังกลัวไม่หาย เลยไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน เล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงพาไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา สิ่งที่ได้ คือ ความหวังจากเจ้าหน้าที่ที่บอกว่า กำลังตามหาอยู่ คงไม่ได้หายไปไหน เชื่อว่าไม่นานคงจะได้เจอ" เธอกล่าว


 


ไม่เพียงสามีของเธอเท่านั้นที่หายไป นายบูดีมัน คนนำทหารมาเอาตัวสามีเธอไปก็หายตัวไปด้วย จนกระทั่งวันนี้


 


เมื่อสามีเธอหายไป ภาระหน้าที่ในการหาเงินเลี้ยงชีพตัวเองและลูกอีก 2 คน คือ ลูกชายและลูกสาวอย่างละคน จึงตกเป็นของเธอ


 


ทว่า ครอบครัวของเธอก็ยังประสบเคราะห์ร้ายอยู่ดี เมื่อลูกชายคนเดียวประสบอุบัติเหตุจนพิการ ช่วยตัวเองไม่ได้ เธอต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 20,000 บาท และจากเพื่อนบ้านอีก 30,000 บาท


 


ขณะที่ลูกชายพิการ มีสิทธิกู้เงินเพื่อคนพิการจากธนาคารกรุงไทยอีก 20,000 บาท เงินส่วนนี้ นำไปชำระหนี้ ธกส. ต่อมา เธอได้รับเงินเยียวยาจาก กยต. 100,000 บาท เอาไปชำระคืนธนาคารกรุงไทยและเพื่อนบ้าน ที่เหลือเป็นค่าครองชีพและทุนการศึกษาให้กับลูกสาวอีกคน ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5


 


ขณะที่อาชีพขายของในตลาดนัดมีรายได้ไม่มาก ยิ่งตอนนี้คนมาเดินตลาดน้อย เพราะกลัวระเบิด รายได้ก็ยิ่งลดลงไปอีก


 


เมื่อก่อนสามีเธอมีอาชีพขับรถสองแถวสายยะลา - บันนังสตา เวลาเธอจะไปซื้อของมาขายที่ตลาดนัดก็จะออกไปซื้อของกับสามี เมื่อสามีหายไปเธอก็ต้องอาศัยรถรับจ้าง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ปกติเธอขายของอยู่ที่ตลาดนัดบันนังสตากับตลาดนัดตลิ่งสูง ในเขตอำเภอบันนังสตานั่นเอง


 


ส่วนนางแมะนะ ยาโงะ ชาวตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา สามีของนายแวหะรงค์ รอหิง อายุ 38 ปี ซึ่งถูกอุ้มหายได้พร้อมกับนายยา เจ็ะดอเลาะ อายุ 45 ปี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2545


 


เธอบอกว่า แม้เหตุการณ์ครั้งนั้น จะผ่านไปนานแล้ว เธอยังจำเรื่องราวครั้งนั้นได้ดี และยังรำลึกถึงสามีอยู่ตลอดเวลา


 


ถึงแม้วันนี้ ภาระเลี้ยงดูลูกที่มีอยู่หลายคน จะตกลงบนบ่าของเธอ ทว่า เธอยังคงยืนยันว่า


 


"เราไม่ได้ผูกใจเจ็บว่าใครเป็นคนก่อเหตุ ใครเป็นคนอุ้มสามี เพราะถ้าโลกนี้ยังไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็รอดูในวันอาคีเราะห์ (วันแห่งการพิพากษา) ว่าความจริง จะเป็นเหมือนกับที่เรารู้มาหรือเปล่า"


 


นางแมะนะ ยาโงะ เล่าตอนที่สามีหายไปว่า สามีของเธอกับเพื่อนบ้านรวม 3 คน เดินทางไปตัวเมืองยะลา จนช่วงเย็นวันเดียวกัน มีเพื่อนบ้านคนหนึ่งกลับมาก่อน ถามเธอว่า สามียังไม่กลับอีกหรือ เธอบอกว่ายังไม่กลับ เธอถามกลับไปว่า ทำไมถึงทิ้งสามีของเธอกลับมาก่อน เพื่อนบ้านคนนั้นบอกว่า ตัวเขาเองก็นึกว่าถูกสามีของเธอทิ้งเหมือนกัน


 


ตกค่ำ บรรดาญาติๆ และเพื่อนๆ ต่างออกตามหาจนวุ่นวายไปทั้งหมู่บ้าน แต่ไร้วี่แวว


 


กระทั่ง มีการเค้นสอบเพื่อนบ้านคนดังกล่าวทราบว่า มีคนเอาตัวสามีของเธอพร้อมกับรถจักรยานยนต์ ส่วนนายยาถูกนำตัวขึ้นรถตู้


 


กระทั่งวันนี้แล้ว ก็ยังไม่มีใครทราบว่า ทั้ง 2 คน ถูกนำตัวไปไว้ที่ไหน


 


หลังจากออกตามหาอยู่หลายเดือนจึงมีคนรู้จักพบรถจักรยานยนต์ที่สามีขับออกจากบ้านในวันเกิดเหตุ จอดอยู่ในส่วนยางพาราแห่งหนึ่งในอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่มีใครทราบว่า มีผู้นำมาจอดทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่


 


ส่วนเพื่อนบ้านคนที่ไปด้วยกันกับสามี และกลับมาก่อน ถูกคนร้ายลอบยิงตายในเวลาต่อมา จนกระทั่งบัดนี้ตำรวจก็ยังสืบไม่ได้ว่าใครเป็นคนยิง


 


นี่คือ ส่วนหนึ่งแห่งความเจ็บปวดของบรรดาญาติๆ เหยื่ออุ้มหาย ณ ชายแดนภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net