สมานฉันท์แรงงานไทย ออกปฏิญญาปลดปล่อยแรงงานข้ามชาติ กู้คืนความเป็นมนุษย์


18  ธันวาคมของทุกปี  องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น "วันแรงงานข้ามชาติสากล" คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เผยแพร่ "ปฏิญญาสมานฉันท์แรงงานข้ามชาติ" หลังผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนในงานสมัชชาสังคมไทยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อยกระดับสิทธิแรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย

 

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) จัดงานสัมมนาเพื่อสร้างข้อเสนอในระดับนโยบายและภาคปฏิบัติต่อกรณีปัญหานี้ในวันที่ 17 - 18  ธันวาคม 2549 โรงแรมบางกอกพาเลช ห้องพิมาน

 

 

 

ปฏิญญาสมานฉันท์ข้ามพรมแดน

 

ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่กระแสของทุน ผู้คน การสื่อสาร อุดมการณ์และเทคโนโลยีไหลผ่านเข้าออกและข้ามรัฐอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมาก รูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบการจ้างแรงงานที่มีความซับซ้อนขึ้น ระบบการบริหารจัดการที่มีความเข้มงวดในกระบวนการผลิตแต่ดูจะละเลยต่อชีวิตและสิทธิของแรงงานก็มีมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทต่างๆ  ทำให้ผู้ใช้แรงงานยังต้องต่อสู้และเผชิญปัญหากับเรื่องการทำงานและคุณภาพชีวิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

 

ปรากฎการณ์การย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานในประเทศอื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า "แรงงานข้ามชาติ" ก็เป็นปรากฎการณ์ที่เป็นอาการอย่างหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ มีผู้คนนับสิบล้านคนในโลกที่ต้องเคลื่อนย้ายออกไปทำงานในประเทศต่าง ๆ การกลายเป็นแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาในฐานะที่เป็นคนข้ามรัฐชาติไม่ต่างกัน หลายคนถูกกีดกันการเข้าถึงบริการทางสังคม ไม่สามารถเข้าถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิได้ เนื่องจากการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนต่างชาติ แรงงานข้ามชาติที่ถูกถือว่าเป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารแสดงตน กลับกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย อยู่อาศัยและทำงานอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ถูกจับกุมส่งกลับ ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกเอาเปรียบในขณะที่มีการจ้างงาน ยังมีปัญหาเรื่องการเดินทางที่ต้องลักลอบเข้าประเทศในรูปแบบต่าง ๆ จนหลายครั้งผู้คนเหล่านั้นก็ต้องเสียชีวิตอย่างทารุณระหว่างการเดินทาง

 

ในสังคมไทยปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากอาการของโลกาภิวัฒน์ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ผู้ใช้แรงงานทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ทั้งในเรื่องระบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลง มีการจ้างงานในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การจ้างงานแบบเหมาช่วง การเคลื่อนย้ายสถานประกอบการออกจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งก็กระทำได้ง่ายขึ้น ความมั่นคงในการทำงานของแรงงานก็ต่ำลง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มักส่งผลกระทบในแง่ลบต่อผู้ใช้แรงงานเสมอ

 

ขณะเดียวกันสังคมไทยก็ประสบกับภาวะการย้ายถิ่นของผู้ใช้แรงงานทั้งเข้าและออก แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หากนับเฉพาะที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศคือ พม่า ลาว และกัมพูชาแล้วทั้งทำงานแบบได้รับใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงาน น่าจะมีจำนวนมากถึงประมาณหนึ่งล้านคน พวกเขาเหล่านั้นคือคนจนผู้ยากไร้ที่ต้องแสวงหาหนทางเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีกว่า และอีกจำนวนไม่น้อย คือ ผู้หลบหนีภัยอันตรายจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เข้ามาคุกคามชีวิตประชาชนระดับล่างจากรัฐบาลเผด็จการทหาร การเข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงเป็นหนทางที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตและดำรงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเองไว้ได้  แต่ก็เป็นดังปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มักจะเข้าไม่ถึงการบริการทางสังคมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดีนัก เช่น การเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ การเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ การทำงานหนักโดยมีระยะเวลาการทำงานเกินชั่วโมงการทำงานที่กำหนดในกฎหมาย การถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมาย การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ การถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ การเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อทำธุระหรือเยียมเยียนญาติพี่น้องยังเป็นสิ่งที่ถูกห้าม แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังไม่ได้รับสิทธิในการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานที่จะคอยเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีก็ยังถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ การถูกเลือกปฏิบัติและเกลียดชังเพราะเป็นคนต่างชาติ เป็นศัตรูก็ยังดำรงอยู่กับแรงงานข้ามชาติมาอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันการสร้างอคติต่อแรงงานข้ามชาติ การให้ภาพที่เป็นลบต่อแรงงานข้ามชาติที่แพร่กระจายไปในสังคมไทย รวมถึงผู้ใช้แรงงานเพื่อแบ่งแยกผู้ใช้แรงงานให้เป็นเขาเป็นเรา อันเป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงาน

 

ในฐานะขององค์กรของผู้ใช้แรงงาน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชนซึ่งมองเห็นติดตามและประสบปัญหาเหล่านี้เอง เห็นว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อใครคนใดคนหนึ่งหรือต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ทุกคนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป  ความสมานฉันท์ของผู้ใช้แรงงาน ผู้ยากไร้ และภาคประชาชนทั้งหมดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างสังคมที่ดีสำหรับพวกเราจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นได้ ต่อแนวทางความสมานฉันท์ของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติเรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้

 


  1. สิทธิแรงงานเป็นสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ไม่อาจแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ อายุ ศาสนา แรงงานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงานและกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน พวกเราจะร่วมกันผลักดันให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานให้เกิดขึ้นจริง และรัฐจะต้องตระหนักและสร้างกลไกที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองแรงงานได้ รวมทั้งจะต้องคุ้มครองผู้ใช้แรงงานที่ไม่อยู่ในการคุ้มครองของกฎหมายในปัจจุบัน เช่น กลุ่มแรงงานผู้ช่วยงานบ้าน กลุ่มแรงงานภาคบริการ กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ฯลฯ ให้ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ใช้แรงงานเช่นกัน

 


  1. สหภาพแรงงาน สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของผู้ใช้แรงงาน เพราะเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน พวกเราจะร่วมกันผลักดันให้แรงงานทุกคนสามารถเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพ และสามารถจัดตั้งสหภาพได้ และรัฐจะต้องยกเลิกข้อกฎหมายที่จำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่ให้เป็นผู้ก่อตั้งหรือเป็นกรรมการสหภาพ และจะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ก่อตั้งสหภาพอย่างจริงจัง

ภาคปฏิบัติการ

 



  • เครือข่ายหรือองค์กรของแรงงานไทยที่ไม่ต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จะต้องเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกและมีการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน

  • ในระดับสหภาพแรงงาน จะต้องมีการแก้ไขข้อบังคับของสหภาพในเรื่องคุณสมบัติของสมาชิก โดยให้ยกเลิกคุณสมบัติที่สมาชิกต้องมีสัญชาติไทย และเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิก

  • ในระดับการแก้ไขด้านกฎหมาย จะต้องร่วมกันผลักดันพรบ.แรงงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีข้อกำหนดนเรื่องคุณสมบัติของผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงานที่ต้องมีสัญชาติไทย

 


  1. สวัสดิการของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว เป็นหลักประกันอันหนึ่งสำหรับอนาคตของผู้ใช้แรงงาน และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ใช้แรงงานถูกคนจะต้องได้รับ และต้องกระจายความรับผิดชอบในระบบสวัสดิการให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ นายจ้างและผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่ปล่อยให้ภาระตกเป็นของผู้ใช้แรงงานบางกลุ่มดังที่เป็นเช่นปัจจุบันนี้ รัฐจะต้องดำเนินการจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมต่อผู้ใช้แรงงนและครอบครัว โดยวางบนพื้นฐานของการเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

 


  1. การเลือกปฏิบัติ การสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อกลุ่มคนที่เป็นคนชายขอบในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ ผู้ติดเชื้อ คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงต่อพวกเขาเหล่านั้น และส่งผลต่อการกีดกันไม่ให้พวกเขาได้พัฒนาคุณภาพชีวิต พวกเราจะร่วมผลักดันให้ยุติการเลือกปฏิบัติ และการสร้างทัศคติที่เลวร้ายต่อคนกลุ่มต่างๆ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสมานฉันท์ของประชาชนทุกกลุ่มต่อไป รัฐจะต้องยุติการเลือกปฏิบัติและการสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ และมีแนวทางที่จะส่งเสริมความเข้าใจกันของคนกลุ่มต่างๆ 

 


  1. สังคมที่ยุติธรรม เท่าเทียม และปราศจากการกดขี่และความยากจน ไม่สามารถนั่งรอให้ใครหยิบยื่นให้ได้ ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว ฉีกช่องว่างระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาสให้ห่างมากขึ้นเรื่อยๆ  การสร้างสังคมที่พวกเราปรารถนาจำเป็นที่จะต้องเกิดจากความร่วมมือและสมานฉันท์ของประชาชน ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส  การประสานความร่วมมือ การเรียนรู้ร่วมกัน และการร่วมกันผลักดันแก้ไขปัญหา เป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างสังคมใหม่ร่วมกันได้ ซึ่งพวกเราจะร่วมกับภาคประชาชนทั่วโลกสร้างมันขึ้นมา

 

โลกใบใหม่เป็นไปได้ด้วยมือของประชาชน

(Another World is Possible with Hand of People)

ด้วยความสมานฉันท์ของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

 

 

 

รายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนปฏิญญาสมานฉันท์ข้ามพรมแดน


  1. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

  2. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

  3. กลุ่มออมทรัพย์พัฒนาชุมชนคนงาน

  4. พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

  5. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย

  6. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย

  7. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

  8. ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR)

  9. เครือข่ายสมานฉันท์คนงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (APWSL)

  10. สื่ออิสระล้านนา
  11. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย
  12. โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
  13. สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)
  14. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
  15.  มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
  16. มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (ประชาไท)
  17. สหภาพแรงงานส่งเสริมสิ่งทอไทย
  18. มูลนิธิรักษ์ไทย
  19. ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน(ศบร)
  20. คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  21. สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก

     

กำหนดการเสวนา

 

วันที่ 17  ธันวาคม  2549

เวลา 09.30         ลงทะเบียน

 

เวลา  10.00        เสวนาเรื่อง "แรงงานข้ามชาติ : สถานการณ์ และก้าวต่อไป"

 

                        วิทยากร

·         จรรยา ยิ้มประเสริฐ 

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai labour Campaign)

·         Moe Swe  

Yong Cee Oo Workers Association

·         ใจ อึ้งภากรณ์

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

·         จิตรา คชเดช

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้า

และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ( ส.พ.ท. )

·         สาวิทย์ แก้วหวาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ดำเนินรายการโดย

อดิศร เกิดมงคล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

 

เวลา  13.00        เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น "ยุทธศาสตร์หลังปฏิญญาสมานฉันท์"

                        ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวร่วมกัน

โดยองค์กรต่าง ๆ ที่ร่วมลงชื่อในปฏิญญาสมานฉันท์ข้ามพรมแดน

 

เวลา  16.00        ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ร่วมแถลงข่าว

 

วันที่ 18 ธันวาคม 49 เวลา 9:00 น.

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติโดยเท่าเทียมกับแรงงานไทย เพราะถือว่าเป็นผู้ใช้แรงงานเช่นเดี่ยวกัน

 

สอบถามรายละเอียด

08-13493251,08-14328273

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท