Skip to main content
sharethis


 


 



 


 


กระบวนการเยียวยาจิตใจญาติผู้สูญหาย ณ เทพาบีช รีสอร์ท แอนด์คันทรีคลับ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ที่มีนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน ร่วมกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) สมาพันธ์ต่อต้านคนหายแห่งเอเชีย (AFAD) โดยมีบรรดาญาติผู้สูญหายเข้าร่วม 16 ราย เมื่อวันที่ 11 - 13 ธันวาคม 2549


 


นับเป็นกระบวนการที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องเพราะมีนำหลักวิชาการทางด้านจิตวิทยา เข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของญาติผู้สูญหายหลากหลายวิธี


 


หนึ่งในหลากหลายวิธี คือ การให้ผู้เข้าร่วมได้เขียนจดหมายหนึ่งฉบับ ส่งไปให้ผู้สูญหาย ที่แต่ละคนเฝ้ารอวันกลับบ้าน


 


ต่อไปนี้ เป็นจดหมาย 2 ฉบับสั้นๆ ที่ญาติคนหายได้เขียนขึ้น แม้ไม่รู้ว่าปลายทางผู้รับจะอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด


 


ถึงแม้เนื้อความในจดหมาย ไม่ได้เขียนบรรยายอะไรมาก แต่เห็นได้ชัดเจนว่า บรรดาญาติของผู้สูญหายเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีความหวังว่า ญาติผู้สูญหายจะรับรู้เรื่องราวที่เขียนขึ้นมา


 


ฉบับแรกเป็นของนางรอกีเย๊าะ  หะยีมะสาและ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ หะยีสะมะแอ อายุ 43 ปี ชาวตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2548 มีเนื้อหา ดังนี้


           


            ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2548 เป็นวันที่แบเลาะหายไปจนถึงปัจจุบันนี้


เป็นวันที่เย๊าะรำลึกถึงในใจตลอด ลูกๆ ก็รำลึกถึงในใจตลอด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง


 


รักแบเลาะตลอด


 


แบเลาะรู้ไหมว่าเย๊าะนี่รักแบเลาะ  เป็นห่วงแบเลาะ


 


เฝ้าคอยตลอดพร้อมๆ กับลูก  แต่เย๊าะนี้ขอดุอาต่ออัลเลาะห์ทุกๆ วัน


ขอให้แบเลาะ  ถ้ายังอยู่ขอให้แบเลาะอยู่สุขสบาย


สักวันหนึ่งครอบครัวของเราจะได้อยู่พร้อมหน้าด้วยกัน 


ถ้าแบเลาะนี้ไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว ขอให้แบเลาะนี้อยู่สุขสบายในสวรรค์


ไม่ต้องเป็นห่วงลูกๆ เย๊าะจะดูแลส่งเสียให้ลูกเรียนจบ


ดังความหวังของแบเลาะที่เคยพูดอยู่ตลอดว่า จะให้ลูกเรียนจบปริญญา


จะไม่ให้ลูกมีอาชีพเหมือนพ่อกับแม่ ลูกจะต้องมีอาชีพที่ดี


ถึงแม้แบเลาะจะอยู่หรือไม่อยู่แบเลาะอยู่ในใจเย๊าะตลอด  


สุดท้ายนี้เย๊าะและลูก ๆ รักแบเลาะตลอดไป  ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง


 


                                                       รอกีเย๊าะ  หะยีมะสาและ


 


ส่วนอีกฉบับเป็นของมารดานายอับดุลวาเฮะ บานิง อายุ 24 ปี ชาวตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548


 


ถึงลูกชายสุดที่รัก


โอ้ พระเจ้า จงดลบันดาลให้ลูกชายของฉัน กลับมาเป็นลูกชายของฉันอีกครั้งหนึ่งเถิด 


ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่  ขอให้ส่งตัวเขากลับมา 


ถ้าหากเขาได้สิ้นชีวิตหรือกลับเข้าสู่ความปรารถนาของพระเจ้า


ก็ขอให้เขาจะมีแต่ความสุข


           


                                                       จาก แม่ผู้รอคอยลูก


 


 


"การให้ญาติเขียนจดหมายถึงคนหาย มีจุดประสงค์เพื่อให้ญาติยอมรับถึงการหายตัวไปของคนที่รัก


 


"เท่าที่สังเกตจากจดหมายของญาติคนหายส่วนใหญ่ ยังเขียนในทำนองต้องการให้คนหายกลับมา แสดงให้เห็นว่าเขายังมีความหวังกันอยู่ คนกลุ่มนี้ข้ามไม่พ้นความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ยังไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างคนปกติทั่วไปได้


 


แต่ก็มีหลายคนข้ามพ้นความรู้สึกเหล่านี้ไปได้ คนกลุ่มนี้ยอมรับว่าญาติหายตัวไปแล้วจริง และอาจจะไม่ได้กลับมา ทำให้พวกเขาดำรงชีวิตต่อไปได้ตามปกติ"


 


เป็นคำบอกเล่าของ "วิทยากรด้านจิตวิทยา"


 


ดูเหมือน "รอกีเย๊าะ" จะสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ได้ชัดเจนยิ่ง


 


เธอบอกว่า หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมเยียวยาครั้งนี้ รู้สึกสบายใจขึ้น แตกต่างกับก่อนเข้าร่วม ซึ่งบอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร


 


"สิ่งที่ทำให้เราสบายใจขึ้น เพราะทำให้เรารู้ว่า มีคนที่สูญหายเหมือนกับเรา ไม่ได้มีเฉพาะเราคนเดียว คนอื่นก็ได้รับผลกระทบเหมือนกับเราเช่นกัน และพวกเขาก็มีความรู้สึกไม่ต่างไปจากเราด้วย จากที่เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทั้งเราและคนอื่นก็รู้สึกสบายใจเหมือนกัน" เธอกล่าว


 


เธอบอกด้วยว่า การได้เขียนจดหมาย ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นมาก เหมือนกับได้บอกสิ่งที่คั่งค้างอยู่ในใจให้สามีได้รับทราบ เธออยากจะเขียนให้มากกว่านั้น จะได้ระบายออกมาให้หมด แต่มีเวลาไม่มาก จึงเขียนเฉพาะเรื่องสำคัญๆ เท่านั้น แต่นั่นก็ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น


 


นอกจากการเขียนจดหมายถึงคนรัก และได้รู้จักกับคนที่ประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกับเธอแล้ว สิ่งที่ได้กลับไปด้วย ก็คือ คำปลอบใจจากเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม เธอจะนำประสบการณ์ครั้งนี้ กลับไปบอกเล่าลูกๆ ของเธอด้วย


 


"อย่างน้อยเราก็บอกลูกๆ ได้ว่า มีคนอื่นที่เดือดร้อนอย่างเราด้วย ไม่ได้มีเฉพาะครอบครัวของเราเท่านั้น คนที่ลำบากกว่าเรายังมีอีกเยอะ สำหรับคนที่เพิ่งประสบเคราะห์กรรม ก็อยากให้เขารู้ว่า ในโลกนี้ไม่ได้มีคุณคนเดียวที่เดือดร้อน"


 


แล้วถ้อยคำทิ้งท้าย ที่เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาต่อกัน ในหมู่ญาติผู้สูญหายก็หล่นออกจากปาก "รอกีเย๊าะ"


 


"ที่นี่เราพร้อมจะเป็นเพื่อนกัน และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือกันและกัน อย่างน้อยก็ได้เป็นที่ระบายความอัดอั้นตันใจ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net