Skip to main content
sharethis

18 ธ.ค.2549  มีการประชุมสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ที่ห้องประชุมกองทัพเรือ พื่อลงคะแนนคัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน แล้วส่งต่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกอีกให้เหลือ 100 คน เพื่อไปทำหน้าที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) 


 


การประชุมหนนี้ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ทะยอยกันมาตั้งแต่เวลา 07.00 น.เพื่อลงทะเบียน และได้รับแจกบัตรลงคะแนน ดินสอ ยางลบซึ่งปรากฏว่ามีสมาชิกจำนวนมากนำบัตรลงคะแนน ไปลงคะแนนในระหว่างการพักรับประทานกาแฟ ในห้องน้ำ อย่างโจ๋งครึ่มโดยมีการจับกลุ่มพูดคุยกันว่าจะลงคะแนนให้สมาชิกคนใดบ้าง บางคนจดหมายเลขผู้ที่จะเลือกไว้บนซองบัตรลงคะแนน


 


นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กล่าว แสดงความแปลกใจต่อเหตุการดังกล่าว โดยระบุว่าก่อนหน้านี้นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสมัชชาแห่งชาติ แจ้งว่าอุปกรณ์การเลือกตั้ง ต่างๆ จะอยู่ที่คูหาเลือกตั้ง ในฐานะกกต.จึงเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะผิดพลาด เพราะการลงคะแนนต้องไปทำกันที่คูหาเลือกตั้ง


 


ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ต้อง ต้องเกิดปัญหาในการลงคะแนนอยู่แล้ว เพราะมีการแจกใบลงคะแนนให้แก่สมาชิกก่อน และไม่มีการควบคุมปล่อยให้มีสมาชิกหยิบใบลงคะแนนกี่ใบก็ได้ ซึ่งตนอยากถามว่าที่สุดแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการลงคะแนนกันไปกี่ใบ เพราะมีสมาชิกบางส่วนยืนจับกลุ่มกัน หรือมีสมาชิกฯย้อนกลับไปลงคะแนนในคูหาซ้ำอีกหรือไม่ อีกทั้งการลงคะแนนแบบนี้จะมีประโยชน์อะไร


 


นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าผิดวิธีการเลือกตั้ง ซ้ำรอยกับกกต.ชุดก่อนที่ถูกตัดสินว่าจัดการเลือกตั้งโดยมิชอบ ตนเห็นว่าเขาเอาง่ายและรวบรัดเกินไป จึงเกิดปัญหาขึ้นมา  ต่อมาเวลา 09.30 น.ทางนายมีชัย ฤชุพันธ์ ได้เดินทางมาถึงที่ประชุม


 


นาย นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งนายมีชัยว่า มีสมาชิกได้ลงคะแนนในบัตรไปแล้ว จึงขอเสนอให้ตรวจสอบหรือเสนอให้ผู้ที่ลงคะแนนแล้วลบคะแนนออก เพื่อไปลงคะแนนในคูหา โดยนายมีชัย ได้รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นและถามว่า มีใครถ่ายรูปได้หรือไม่  ในปัญหาดังกล่าว นายมีชัย ยังได้ไปหารือกับ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช รองประธานสมัชชาแห่งชาติ และนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสมัชชาแห่งชาติ แล้วเรียกประชุมทันที โดยนายมีชัย กล่าวในที่ประชุมว่า ด้วยความหวังดีของเจ้าหน้าที่ที่แจกดินสอ ยางลบ ให้กับสมาชิกล่วงหน้า ปรากฏว่า ได้มีการลงคะแนนกันก่อน ซึ่งทำให้ภาพออกมาไม่ค่อยดี เพราะมีคนบอกว่า มีการรวบรวมใบลงคะแนนเอาไว้เป็นปึก แต่ยังไม่มีภาพเป็นหลักฐาน ดังนั้นหากใครมีภาพ ขอให้นำมามอบให้กับนายพิทูร เพื่อจะได้แจ้งชื่อบุคคลดังกล่าวไปยัง คมช.เพื่อคัดบุคคลเหล่านั้นออกในขั้นตอนการคัดเลือกให้เหลือ 100 คน เพราะถ้าเริ่มไม่สุจริตแต่แรก แล้วปล่อยให้เข้าไปทำงานก็จะไม่สุจริต 


 


นายมีชัย ได้ถามในที่ประชุมว่าใครลงคะแนนไปบ้างแล้ว ปรากฏว่ามีสมาชิกนับร้อยคนยกมือขึ้น แต่นายมีชัยเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ลงคะแนน โดยมีการจัดคูหาลงคะแนนไว้ 271 คูหา ซึ่งสมาชิกได้เบียดเสียดมาลงคะแนน และหย่อนบัตรลงคะแนนในกล่องใส 10 กล่องที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้า ทั้งนี้การลงคะแนนใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนทั้งสิ้น 1,915 คน แบ่งเป็นภาครัฐ 555 คน ภาคเอกชน 538 คน ภาคสังคม 516 คน และภาควิชาการ 306 คน และตั้งตัวแทนสมาชิกสมัชชาฯเป็นกรรมการนับคะแนนจำนวน 10 คน


 


ผู้สื่อข่าวรายงาว่า ขณะที่คณะกรรมการทั้ง 10 คน กำลังเริ่มตรวจสอบบัตรลงคะแนน นายมานพ สะโรจน์ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ได้ลุกขึ้นแล้วเดินไปหน้าเวที พร้อมกล่าวตำหนิการทำงานของนายมีชัยด้วยความไม่พอใจว่า "ผมขอตำหนิการทำงานของท่านที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการลงคะแนน"


 


ขณะที่ นายเพรียวพงศ์ เจริญวิริยภาพ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ได้ออกมาประท้วง โดยได้เขียนจดหมายถึงนายมีชัย เพื่อขอให้การลงคะแนนเป็นโมฆะ เพราะมีการลงคะแนนที่ไม่โปร่งใส โดยลงคะแนนนอกคูหา และมีการลงคะแนนไว้ก่อนที่จะถึงเวลาลงคะแนน ทั้งยังระบุว่าถ้าไม่มีการแก้ไขก็จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป อย่างไรก็ตามระหว่างนั้น ยืนยันว่า ไม่สามารถเลื่อนการลงคะแนนไปได้ เพราะบัตรมีจำนวนจำกัดพิมพ์ใหม่ไม่ทัน เท่าที่ดูมีการกาล่วงหน้ากันไม่มาก 


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังนับคะแนนเรียบร้อยแล้ว นายมีชัย ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ดูไม่เห็นว่ามีการทุจริตอะไร ผลออกมาก็น่าจบ มีสัดส่วนสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกจากภาคต่างๆเฉลี่ยกันไปตามจำนวนคนมากก็ได้มาก คนน้อยก็ได้น้อย และจะเสนอรายชื่อให้ คมช.ในเย็นวันเดียวกัน


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีสมาชิกหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการจัดคูหาเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใส นายมีชัยกล่าวว่า ต้องการความทึบ จะใสได้อย่างไร จะทำอย่างไรได้เมื่อขั้นตอนมันเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตามตอนนี้กำลังรอข้อร้องเรียนอยู่ถ้ามีหลักฐานก็จะส่งไปให้คมช.ด้วย  เมื่อถามต่อไปว่า การลงคะแนนแบบนี้ขัดหลักการ ลงคะแนนโดยลับหรือไม่


 


นายมีชัยกล่าวว่า จะบอกว่า การกาในคูหาจะผิดระเบียบหรือไม่นั้น มันก็ไม่ผิดหรอกเพราะระเบียบไม่ได้บอกให้ลงคะแนนลับแต่ให้ไปลงคะแนนในคูหา เมื่อไม่ได้กาในคูหาจะบอกว่าผิดก็ไม่เชิง เพราะบางคนอยากจะกานอกคูหาเพราะขี้เกียจเข้าไปเบียด แต่ถ้าถามว่าตั้งใจให้เป็นแบบนี้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ตั้งใจ ไม่อยากให้ทำแบบนี้หรอก แต่ทำไปแล้วก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ที่บอกว่าประธานไม่ฟังข้อเสนอของสมาชิกนั้น ถ้ารอให้การเสนอป่านนี้ก็ไม่ได้เลือกคงเป็นความผิดพลาดที่มีการแจกดินสอเจ้าหน้าที่ไปก่อนที่จะเข้าคูหาเขาว่าง ๆไม่รู้จะทำอะไรก็เลยกาไปก่อน


 


ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวนิชย์ จเรทหารทั่วไป และสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กล่าวว่า การลงคะแนนอาจจะดูสับสนไปบ้าง เพราะมีสมาชิกมาลงคะแนนจำนวนมาก เชื่อว่าสมาชิกฯส่วนใหญ่มาด้วยความตั้งใจและลงคะแนนด้วยตัวเองทั้งสิ้น และทางสภาพยายามจัดการด้วยคงามตั้งใจดี ทั้งนี้ตนไม่มีข้อมูลว่าใครช่วยใครในการลงคะแนนบ้าง ซึ่งอาจจะมีการช่วยเพื่อนสมาชิกในการฝนดินสอลงคะแนนก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร เพราะวิธีการลงคะแนนก็ดูจะค่อนข้างยากเหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่เกิดการสวิงของคะแนนได้มากมายอะไร ตนคิดว่าสามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่าจำนวนบัตรไม่น่าจะเกินจากจำนวนสมาชิกที่ลงคะแนนอยู่แล้ว


 


นายการุณ ใสงาม สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ชี้ให้เพื่อนสมาชิกดูถึงความบกพร่องในการลงคะแนน และว่าการลงคะแนนหนนี้ล้มเหลวไม่โปร่งใส นายสุรพล นาคนคร สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใสอย่างยิ่ง เสียดายเวลาที่เดินทางมาไกล มีการแจกกระดาษปากกาให้ไปกากบาทกันได้ถึงในห้องน้ำ เลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยยังโปร่งใสกว่า นี้ การจัดการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้รู้สึกเสียดายเงินกว่า 200 ล้านบาทที่รัฐต้องเสียไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย 


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการนับคะแนน ลำดับ 1 คือ นายโอกาส เตพละกุล สมาชิกจากภาครัฐ ตัวแทนจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคะแนน ซึ่งประธานคณะกรรมการภาคเอกชน วปรอ. 4212 รุ่นเดียวกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช.ได้ 55คะแนน , ลำดับ 2 คือ นางภรณี ลีนุตพงษ์ สมาชิกจากภาคเอกชน 51 คะแนน นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล สมาชิกจากภาคสังคม 50 คะแนน มาเป็นลำดับ 3 นายทวี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกจากภาคสังคม 47 คะแนน ได้เป็นลำดับ 4 ส่วนลำดับที่ 185-221 รวม 37 คน มีคะแนน 7 คะแนนเท่ากัน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงที่เท่ากันอันทำให้ผู้ได้รับเลือกเกิน 200 คน จึงต้องจับสลากกัน  ซึ่งบุคคลสำคัญที่จับลากไม่ได้รับเลือก คือ นาย ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม , นาย พงศ์โพยม วาสภูติ, นาย สุพร สุภสร อดีต ส.ว.อุดรธานี (อ่านรายชื่อทั้งหมด หน้า 2)


 


นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เสนอ คมช.ว่าในการเลือกให้เหลือ 100 คน เพื่อไปร่างรัฐธรรมนูญนั่นควรจะมีสัดส่วนเท่ากันแต่ละภาค เพราะถ้าได้ข้าราชการมากเกินไปก็จะถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลครอบงำ หรือถ้าได้ภาคเอกชนมากเกินไปก็จะถุกมองว่าเอื้อธุรกิจ ส่วนภาควิชาการและภาคสังคม ซึ่งเป็นคนที่ทำงานและอยู่ต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยมีใครรู้จัก ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย


 


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่าเทาที่ดูภาครัฐเข้ามาถึง73 คน จาก200 คน และการจะเลือกให้เหลือ 100 คน คมช.ต้องคำนึงทุกส่วน ซึ่งตนห่วงว่า สสร.จะถูกครอบงำโดยความคิดแบบราชการมากเกินไปฉุดความคิดให้ไปอยู่ในระบอบอมาตยาธิปไตย สำหรับบุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบ100 คนนั่น ควรจะตั้งให้เป็นคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย


 


นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร คงต้องดูรายชื่อ สสร.100คนตัวจริง กันก่อน แต่เบื้องตั้นเป็นห่วงว่ามีนักธุรกิจเข้ามามาก นักวิชาการก็น่าเดิม ๆ ความคิดยังมองไม่เห็นบุคคลที่จะเป็นหลักได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ควรจะปัดฝุ่นรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ก็ได้


 


นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สสร.ชุดใหม่คงไม่พ้นเงาของ คมช.และขอให้จับตาคณะกรรมาธิการยกร่างให้ดี เพราะในส่วนนี้คมช.จะเลือกเข้ามา 10คน อาจจะมีการเขียนให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ 


 


เย็นวันเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติสงขลา นำโดย พญ.รัชนี บุญโสภณ อ่านแถลงการ ที่ห้องประชาสภาอาจารย์ ม.สงขลานครรินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ประนามการเลือก สสร.ว่าไร้ศักดิ์ศรี มีการปล็อคโหวด แจกบัตรลงคะแนนกันล่วงหน้า ด้านนายประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ กล่าวเห็นด้วยการประกาศให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในช่วงเช้าวันนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีความบริสุทธิ์ และได้เรียกร้องให้มีการเปิดเวทีเรียนรู้ภาคประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ควรเป็นกฎหมายเพื่อประชาชนโดยแท้จริง


 


 


 


          ที่มา: http://www.naewna.com


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net