Skip to main content
sharethis

แปล/เรียบเรียงโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


 



กษัตริย์คเยนทราแห่งเนปาลบัดนี้เป็นกษัตริย์แต่เพียงในพระนาม


(ที่มา: AFP/ Devendra M. Singh)


 


กาฐมาณฑุ - นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่า ภายหลังจากการตัดสินใจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกบฏลัทธิเหมา กษัตริย์คเยนทราแห่งเนปาล มีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะกลับมามีอำนาจ


 


ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ร่างโดยสองฝ่ายคือรัฐบาลและกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคมนั้น ระบุให้โอนพระอำนาจกษัตริย์คเยนทราในฐานะประมุขของรัฐมายังนายกรัฐมนตรีกิริยา ปราสาท กัวราลา (Girija Prasad Koirala) ด้วย


 


นี่จึงนับเป็นครั้งแรกของประเทศเนปาลที่มีประมุขของประเทศเป็นสามัญชน


 


โดยนายกัวราลา ชายชราวัย 80 ปีซึ่งเป็นที่เคารพ และเป็นสถาปนิกในกระบวนการเจรจาสันติภาพของเนปาล จะอยู่ในอำนาจภายใต้รัฐบาลเฉพาะกาลไปจนถึงกลางปี 2550


 



นายกรัฐมนตรีเนปาลนายกิริยา ปราสาท กัวราลา (ซ้าย) และประธานประจันดาแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ปัจจุบันตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวถือว่านายกัวราลาเป็นประมุขของประเทศ (ที่มา : AFP/Devendra M. Singh)


 


บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ จึงเป็นภาพแทนถึงชัยชนะครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของฝ่ายนิยมลัทธิเหมาที่ต้องการให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐ การกำหนดให้ตัดทอนอิสริยยศของกษัตริย์คเยนทราได้เกิดขึ้นภายหลังที่พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกลุ่มกบฏลัทธิเหมาทำข้อตกลงกับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อยุติสงครามกลางเมืองอันยาวนานกว่า 10 ปี และเข้าสู่การเมืองระบอบรัฐสภาของเนปาล


 


"นี่เป็นหมุดหมายหนึ่งแห่งความสำเร็จ" กฤษณา บาฮาเดอร มหารา (Krishna Bahadur Mahara) โฆษกพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกลุ่มกบฏลัทธิเหมากล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี


 


การนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ไปบังคับใช้มากหรือน้อยนั้น ยังขึ้นอยู่กับการเจรจาสันติภาพระหว่างกบฏลัทธิเหมาและรัฐบาลซึ่งจะมีความคืบหน้าของการเจรจาในอาทิตย์ที่จะถึงนี้


 


ส่วนในเรื่องของบทบาทสถาบันกษัตริย์ จะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย หลังการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของประเทศกลางเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้


 


"รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ได้ทำให้บทบาทของประมุขแห่งรัฐมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี, ตอนนี้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่งพ้นสมัย" นายคาปิล ชเรสฐา (Kapil Shrestha) ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยตรีภูวัน (Tribhuvan University) กล่าว


 


"ตอนนี้ไม่มีหนทางใดที่กษัตริย์จะหวนกลับมามีอำนาจ และหายนะจะปรากฏแก่พระองค์แน่ หากพระองค์พยายามจะกลับมามีบทบาทในกิจการบริหารราชแผ่นดิน หนทางของพระองค์ตอนนี้หมดสิ้น ไม่มีทางเลือกอื่นใดในตอนนี้มากไปกว่าการเงียบและรอการตัดสินใจเกี่ยวกับสถานะของกษัตริย์โดยสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ" ศาสตราจารย์ผู้นี้กล่าว


 


เป็นเวลาหลายศตวรรษที่มีความเชื่อกันว่ากษัตริย์เนปาลคือปางอวตารหนึ่งของวิษณุเทพ พระผู้เป็นเจ้าแห่งการปกป้อง


 


แต่กระแสที่ต้องการให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐพุ่งสูงหลังจากที่กษัตริย์คเยนทรายึดอำนาจมาเป็นของพระองค์และปกครองประเทศโดยตรงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2548 ซึ่งพระองค์อ้างเหตุผลว่าเพื่อปราบกบฏนิยมลัทธิเหมา ซึ่งสงครามกลางเมืองนั้นได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 12,500 ราย


 


ศัตรูของกษัตริย์คเยนทรา อันได้แก่พลพรรคกบฏลัทธิเหมาและบรรดาพรรคการเมือง 7 พรรคได้ร่วมกันเป็นพันธมิตรหลวมๆ ในปี 2548 และในเดือนเมษายนพวกเขาได้จัดตั้งพลังมหาประชาชนต่อต้านอำนาจการปกครองโดยตรงของกษัตริย์คเยนทรา


 


และภายหลังจากกระบวนการเจรจาสันติภาพเมื่อเดือนก่อน รัฐบาลเห็นชอบที่จะให้กบฏลัทธิเหมามีที่นั่งในสภาชั่วคราว 73 ที่นั่งจากทั้งหมด 330 ที่นั่ง แลกกับฝ่ายกบฏยอมส่งมอบอาวุธและกองทัพให้อยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ


 


"กษัตริย์ถูกเขี่ยไปอยู่ข้างสนามแล้ว" กุนาราช ลุยเทล บรรณาธิการคนใหม่ของหนังสือพิมพ์รายวันเดอะคันทิพเพอร์ (the Kantipur) กล่าว


 


"ตอนนี้มีโอกาสเพียงน้อยนิดที่พระองค์จะกลับมามีสถานะตามเดิม เพราะการตัดสินใจทางการเมืองทั้งหมดมาอยู่ที่พรรคการเมืองและฝ่ายนิยมลัทธิเหมาซึ่งมีที่มาของอำนาจจากประชาชน" บรรณาธิการผู้นี้กล่าว


 


"เขาเป็นกษัตริย์แต่เพียงในนาม ตอนนี้ไม่มีพื้นที่ให้เขาเล่นการเมืองเหมือนอย่างเคยแล้ว อนาคตของเขาไม่แน่นอน และตอนนี้ขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินใจว่าในระยะยาวของเนปาลนั้นต้องการสถาบันกษัตริย์หรือไม่เอาสถาบันกษัตริย์" นายมัดฮับ คูมา เนปาล, เลขาธิการทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อรวมเนปาลมาร์กซิสต์เลนินนิสต์ (the Communist Party of Nepal-Unified Marxist Leninist - CPN-UML) พรรคการเมืองอันดับสองของเนปาลกล่าว


 


พระเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์สาบสูญไปจากพื้นที่สาธารณะมาตั้งแต่หลายเดือนแล้ว โดยรถนำขบวนของราชวงศ์ซึ่งการสัญจรครั้งหนึ่งทำให้เมืองหลวงเกิดจราจรติดขัดเป็นอันถูกรัฐบาลชุดใหม่ยกเลิก การแปรพระราชฐานไปเยี่ยมราษฎรในชนบทโดยเฮลิคอปเตอร์ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน


 


และต้นเดือนนี้ กษัตริย์คเยนทราและพระโอรสคือมกุฎราชกุมารเจ้าชายพาราช (Crown Prince Paras) ถูกบังคับใช้เสียภาษีจากการนำเข้าสินค้าผ่านทางสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะทำให้กษัตริย์เป็นเหมือนสามัญชนทั่วไป


 


และเมื่อเดือนที่แล้วคณะลูกขุนของเนปาลกล่าวว่ากษัตริย์คเยนทราอาจถูกลงโทษจากการมีคำสั่งให้ปราบปรามฝูงชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา


 


แปลและเรียบเรียงจาก


Nepal's king ill-placed for a comeback: officials, analysts by Deepesh Shrestha, AFP, Dec 17, 2006

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net